“นอนกรน” ถือเป็นอีกหนึ่งอาการที่คนไทยเป็นกันมาก ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงทำให้คนที่มีอาการรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอและร่างกายอ่อนเพลียแล้ว รู้หรือไม่ว่าอาการนอนกรนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด “โรคหยุดหายใจขณะหลับ” ได้ด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ และบริษัท ฟิลลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงาน “WORLD SLEEP DAY 2019 ใครว่าการนอนเป็นเรื่องเล่นๆ” เนื่องในวันนอนหลับโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการนอน ส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับ และโรคหยุดหายใจขณะหลับ โดยมี มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ และภรรยา เกม-ดวงพร มาร่วมเผยเคล็ดลับ “นอนหลับอย่างไรให้ร่างเป๊ะใจปิ๊ง”

ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนอนกรนเกิดจากการที่ในขณะหลับช่องคอจะแคบลงมากกว่าปกติ ทำให้ลมหายใจเข้า-ออกแรงขึ้น ซึ่งเนื้อเยื่อของผนังคอ เพดานอ่อน ลิ้นไก่ และโคนลิ้นมีการสั่นสะเทือนจนเกิดเสียงดังขึ้น โดยคนที่มีอาการมาก จะพบว่าผนังคอยุบตัวลงจนอากาศไม่สามารถผ่านไปได้ชั่วขณะ หรือเรียกว่า การหยุดหายใจขณะหลับ จากสถิติพบว่า ร้อยละ 20 ของผู้ที่นอนกรนเป็นประจำมักมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วย สำหรับผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอย่างมาก โดยอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด อาจเกิดภาวะง่วงนอนกลางวันมากกว่าปกติ อาการหลับใน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้

“อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน และผู้ที่มีการหยุดหายใจขณะหลับในระดับรุนแรงน้อย คือ น้อยกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมง จะมีอัตราการเสียชีวิตจากการหยุดหายใจขณะหลับเฉลี่ยร้อยละ 8 ซึ่งหากหยุดหายใจมากกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมง จะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10-16 และเมื่อเทียบกับคนปกติแล้วจะมีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงกว่า 2-3 เท่า เสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่า 2 เท่า และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 3 เท่า ดังนั้นหากพบว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการนอนกรนเป็นประจำ แนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาอาการนอนกรนต่อไป” ศ.นพ.ชัยรัตน์กล่าว

(จากซ้าย) ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์, อาจารย์ พญ.สุภวรรณ เลาหศิริวงศ์ และ นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์

อาจารย์ พญ.สุภวรรณ เลาหศิริวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เวชศาสตร์การนอนหลับ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีอาการกรน หรือสงสัยว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ แนะนำให้ไปพบแพทย์ โดยเบื้องต้นแพทย์จะมีการซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพการนอนและมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น จากนั้นอาจจะมีการให้ตรวจสุขภาพการนอนหลับ โดยจะมีห้องตรวจพิเศษที่เรียกว่า Sleep Lab ภายในห้องนอนจะมีกล้องวงจรปิดและเครื่องมือติดที่ตัวคนไข้เพื่อตรวจวัดค่าการหยุดหายใจ และระดับออกซิเจนขณะหลับ จากนั้นจึงนำค่าทั้งหมดที่ได้มาประมวลผลว่าคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกแนวทางการรักษาในขั้นถัดไป

“โดยแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและชนิดของโรคที่เป็น โดยผู้ที่มีระดับความรุนแรงต่ำ แพทย์จะแนะนำให้ ปรับพฤติกรรมการนอนก่อน เช่น นอนหลับในระยะเวลาที่เพียงพอ คือ 8 ชั่วโมงต่อวัน นอนและตื่นให้เป็นเวลา งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดดื่มชา กาแฟ และบุหรี่ สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน จำเป็นต้องลดน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่มีความรุนแรงระดับปานกลางและมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาด้วย เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive Airway Pressure Therapy) หรือ CPAP เป็นเครื่องอัดอากาศเข้าทางช่องจมูกหรือปาก เพื่อให้ช่องคอและทางเดินหายใจส่วนต้นมีอากาศไหลเวียนได้ในขณะหลับ การใช้เครื่องมือในช่องปาก ไปจนถึงการผ่าตัด” อาจารย์ พญ.สุภวรรณกล่าว

ด้านนายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การนอนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว จากผลสำรวจด้านการนอนประจำปีของฟิลิปส์ โกลบอล “The Global Pursuit of Better Sleep Health” พบว่า ประชากรส่วนมากนอนหลับเฉลี่ยเพียงแค่ 6.3 ชั่วโมงในช่วงวันทำงาน และ 6.6 ชั่วโมงในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งต่ำกว่า 8 ชั่วโมงตามคำแนะนำ ทำให้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การง่วงในเวลากลางวัน การไม่มีสมาธิในการเรียนหรือการทำงาน เป็นต้น ฟิลิปส์ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมรณรงค์และส่งเสริมการให้ความรู้ประชาชน ให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนหลับที่มีคุณภาพ พร้อมนำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

ขณะที่ “มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์” เผยว่า ตนทำงานค่อนข้างเยอะ ทั้งงานคอนเสิร์ต อีเวนต์ ทำให้พักผ่อนไม่ค่อยเพียงพอ และมีอาการนอนกรน ซึ่งตนไม่รู้ตัวแต่คนภรรยารู้สึกได้ ทำให้ไปกระทบกับการพักผ่อนของภรรยา ส่วนอาการคือเมื่อเวลาตื่นขึ้นมา จะรู้สึกคอแห้ง ช่วงกลางวันจะง่วงเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม ทำให้เวลาทำงานต้องพยายามใช้สมาธิมากขึ้น

มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์

“ตอนนั้นรู้สึกว่าปล่อยเอาไว้คงไม่ดีกับการทำงานแน่ จึงวางแผนที่จะเข้าไปตรวจที่ Sleep Center แต่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมายังไม่มีเวลา เพราะเพิ่งกลับมาจากการพาน้องโสนและน้องสวรรค์ไปเที่ยว จึงใช้วิธีที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองคือทำแบบทดสอบ 8 ข้อ ที่สามารถบอกได้ว่าเรามีความเสี่ยงหรืออาการมากน้อยแค่ไหน” มอส-ปฏิภาณระบุ

ด้าน “เกม-ดวงพร” ภรรยา กล่าวว่า ตอนแรกรู้สึกรำคาญเพราะตนอยากนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ จากนั้นเริ่มสังเกตอาการเวลาที่เขากรน พบว่าบางครั้งเหมือนหยุดหายใจไปช่วงหนึ่ง ทำให้รู้สึกกลัวมาก จึงพยายามที่จะปลุกหรือทำให้เขาพลิกตัว เพื่อให้เขากลับมาหายใจ แต่ไม่นานก็กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก จึงเริ่มศึกษาอาการอย่างจริงจัง และทราบว่าการนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีโอกาสที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจ โรคสมอง ความจำถดถอย ง่วงนอนกลางวันและหลับใน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

“จากตอนนั้นทำให้รู้ว่ามี Sleep Center ที่เป็นแล็บสำหรับตรวจและวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับโดยเฉพาะ ด้วยความเป็นห่วงจึงชวนให้เขาไปตรวจและทำการรักษา อยากให้ทุกคนมองว่าการนอนกรนเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราโดยตรง รวมทั้งยังอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ของคู่รักและทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวได้” เกม-ดวงพรกล่าว

ถือเป็นอีกหนึ่งอาการที่ไม่ควรมองข้าม อย่าลืมเช็กลิสต์กันดูว่านอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ และหากสนใจหรือสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงโรคหยุดหายใจขณะหลับ สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่ Philips.com.sg/saveoursleep