วันที่ 5 พ.ค. นายวิมุต ทนุธรรมนอก ปศุสัตว์อำเภอเมืองนครราชสีมา รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าระบาดต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอเมืองนครราชสีมา ณ หอประชุมอำเภอเมืองนครราชสีมา ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ว่า พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เขตพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา 12 ตำบล ประกอบด้วย ต.ในเมือง ,ต.หนองระเวียง ,ต.จอหอ ,ต.พุดซา ,ต.ตลาด ,ต.หัวทะเล ,ต.หนองบัวศาลา ,ต.โพธิ์กลาง ,ต.หนองไข่น้ำ ,ต.พลกรัง ,ต.หนองจะบก และต.สุรนารี โดย 10 ตำบล ผลการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสุนัข ยกเว้น ต.พลกรัง พบเชื้อในหมู และต.โพธิ์กลาง พบเชื้อในแมว โดยหมูที่พบเชื้อเกิดจากหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ถูกสุนัขไล่กัดและมีอาการป่วยตายหลังถูกกัด 2 สัปดาห์ เจ้าของได้ตัดเอาหัวหมูนำส่งให้ปศุสัตว์และส่งไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.สุรินทร์ ซึ่งผลออกมาก็พบเชื้อพิษสุนัขบ้าดังกล่าว

จึงขอฝากให้ผู้นำท้องถิ่นแจ้งเตือนชาวบ้านในหมู่บ้าน ตำบลต่างๆที่สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้รีบชะล้างแผลด้วยน้ำเปล่าที่สะอาดและล้างด้วยสบู่ ทาแผลด้วยเบทาดีน แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อปฐมพยาบาลและเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดและห้ามผิดนัด จากนั้นให้กักขังสุนัขหรือสัตว์ลี้ยงที่กัดหรือข่วนอย่างน้อย 10 วัน เพื่อสังเกตอาการผิดปกติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ และเมื่อสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตให้นำหัวส่งห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนสัตว์เลี้ยงทั่วไปเจ้าของก็ต้องนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและโรคต่างๆตามกำหนด

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

จากการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยจนทำให้เกิดการเสียชีวิตของ ประชาชนในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการตื่นตัวในการเฝ้าระวังการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ใน พื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านความร่วมมือทั้งจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินมาตรการอย่างเต็มที่

สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 77 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 3 เมษายน 2561 และรายงานว่าพบผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้า หรือพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสัตว์จำนวน 1,216 ตัว จากกลุ่มตัวอย่าง 8,712 ตัว คิดเป็น 13.96% โดยพบมากที่สุดในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 155 ตัว จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างในจังหวัด 379 ตัว รองลงมาเป็นจังหวัดสุรินทร์พบ 109 ตัว จากกลุ่มตัวอย่าง 288 ตัว และสงขลาพบ 99 ตัว จากกลุ่มตัวอย่าง 210 ตัว ตามลำดับ

ทั้งนี้จากผลสำรวจพบสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า เป็นสุนัข-แมวไม่มีเจ้าของ 412 ตัว มีเจ้าของ 600 ตัว และไม่ทราบว่ามีเจ้าของ 116 ตัว โดยจากจำนวนสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ 1,216 ตัว แบ่งเป็นสุนัข 1,078 ตัว หรือ 88.65% แมว 50 ตัว หรือ 4.11% และอื่นๆ 88 ตัว หรือ 7.24% ทำให้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่หลายหน่วยงานต้องเร่งแก้ไขโดยเฉพาะอย่าง ยิ่งกำหนดแผนการฉีดวัคซีนทั้งในสัตว์ และประชาชนเพื่อป้องกันความเสี่ยง

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ