เมื่อไม่กี่วันก่อน ได้ไปกินข้าวเย็นที่ร้านอาหารอีสานแถบเชิงสะพานอรุณอมรินทร์ ฝั่งธนบุรี กับรุ่นพี่ที่เคารพนับถือ แล้วมีคนสั่งแกงแบบลาวๆ ชามหนึ่งมากินกัน พอได้กิน ก็ระลึกชาติขึ้นมา ว่าเราไม่ได้ทำแกงนี้กินมานานแค่ไหนแล้วนะ ทั้งๆ เป็นของอร่อย ทำง่าย แถมมีประโยชน์มากๆ

สำรับที่ว่านี้ก็คือ แกงเห็ดรวมŽ ครับ เหมาะกับช่วงต้นถึงกลางฤดูฝน เพราะตอนนี้ตลาดสดบ้านๆ ยังพอมีเห็ดป่าเห็ดทุ่งหลายชนิดขายให้กินอยู่ หรือแม้แต่กรณีคนเมือง เดี๋ยวนี้ผมก็เห็นว่า ไม่ว่าจะตามซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือรถพุ่มพวงที่วิ่งเข้าออกขายกับข้าวสดตามหมู่บ้านจัดสรร มักมีเห็ดขายทั้งแบบแยกชนิดและแบบรวมหลายอย่างในแพคเดียว นับว่าสะดวกแก่การทำแกงนี้มากเลย

คนที่ชอบอาหารอีสาน แล้วชอบแกงอีสานรสอ่อน โปร่ง เบา อยากกินผักกินเห็ดเยอะๆ รับรองว่าไม่ผิดหวัง สูตรที่จะชวนทำวันนี้นับว่าพื้นฐานที่สุดแล้วล่ะครับ

น้ำแกงหลักเราใช้น้ำคั้นใบย่านาง ซึ่งแม้เดี๋ยวนี้เริ่มมีขายสำเร็จเป็นถุงๆ แต่หากเลือกได้ ผมอยากให้หาซื้อใบสดมาล้างให้สะอาด ใส่กะละมัง เติมน้ำ แล้วขยำคั้นด้วยมือไปจนน้ำข้นเขียวอื๋อ ค่อยกรองเอาใบยุ่ยๆ ที่กลายเป็นกากสีขาวซีดๆ นั้นทิ้งไป

ข้นกว่า เขียวกว่า หอมกว่าเยอะครับ ไม่เชื่อก็ลองดู

ของอื่นๆ ก็มีพริกแกง ซึ่งใช้แค่หอมแดง พริกขี้หนูอีสาน (พริกโพน) กับตะไคร้หั่นท่อน เอาลงตำรวมในครกพอแตกๆ ก็ได้แล้ว

เห็ดอะไรที่อยากกิน เอามาล้าง หั่นเป็นชิ้นๆ ตามใจชอบ

ความหอมของน้ำแกง นอกจากตะไคร้ในพริกแกงแล้ว เราใช้ต้นหอม ใบแมงลัก และยอดชะอม

รสหวานแบบธรรมชาติๆ มาจากฟักทองมันๆ หน่อไม้ต้ม และบวบหอมครับ

หม้อนี้ ผมปรุงเค็มด้วยเกลือและน้ำปลา แต่ลูกอีสานตัวจริงเสียงจริงคงพึงใจน้ำปลาร้ามากกว่า ก็เลือกใช้ได้ตามชอบ

ไม่ต้องใส่เนื้อสัตว์อะไรหรอกนะครับ เห็ด ฯลฯ และผักหญ้าสดๆ ขนาดนี้ย่อมจะให้รสหวานโปร่งๆ แบบที่หากเรากินจนคุ้นลิ้นไปสักพัก ทีนี้ต่อไปจะโหยหาเลยเชียวแหละ

เริ่มทำโดยยกหม้อน้ำคั้นใบย่านางเขียวอื๋อนั้นตั้งไฟ ใส่พริกแกง หน่อไม้ เกลือ น้ำปลา ต้มเคี่ยวไฟอ่อนไปสัก 10 นาที จึงเริ่มใส่ฟักทอง กับเห็ดที่เนื้อไม่เละ อย่างเช่นเห็ดหูหนู เห็ดฟาง

ดูว่าชิ้นฟักทองเริ่มสุกไล่จากผิวเข้าไปได้สักครึ่งหนึ่ง จึงใส่บวบหอม ยอดชะอม และต้นหอม

พอบวบเริ่มนุ่ม ซึ่งหมายความว่าฟักทองใกล้สุกเต็มที่ ใส่เห็ดดอกอ่อนที่เหลือ และใบแมงลัก ชิมรสให้เค็มอ่อนๆ โดยเติมเกลือหรือน้ำปลา

1
3

ถ้าเพิ่งทำครั้งแรกอาจแปลกใจ ทำไมรสหวานมันมาจากไหน ก็มาจากเห็ด หน่อไม้ บวบ และโดยเฉพาะฟักทองนั่นเองครับ เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์อะไรมาชิงรส แกงนี้จะออกโปร่งๆ รสอ่อนๆ และทำให้ลิ้นเรารับรู้รสผักและเห็ดสดๆ ได้อย่างเต็มที่

ไม่กี่อึดใจหลังใส่ใบแมงลัก กลิ่นหอมอบอวลอันเป็นเอกลักษณ์ของแกงอีสานจะโชยขึ้นมาจนแทบอดใจไม่ไหว ยกลงกินได้เลยครับ

แกงที่เราลงมือคั้นใบย่านางเองจะน้ำเขียวอื๋อ หอมหวาน ได้ความสดใหม่จริงๆ สูตรที่ทำนี้เป็นแบบง่ายที่สุด บางคนอาจเพิ่มข้าวเบือ (ข้าวเหนียวแช่น้ำจนพอง) โขลกในพริกแกงนิดหน่อย หรือละลายน้ำแป้งข้าวเหนียวใส่ตอนใกล้เสร็จ เพื่อเพิ่มความข้นของน้ำแกงได้

ใครจะเพิ่ม จะลด สลับสับเปลี่ยนผักสดหรื อเห็ดก็คงสนุกดี แต่ขอให้ลองคิดถึงรส กลิ่น และความ เบาŽ อันเป็นเอกลักษณ์ของแกงเห็ดรวมนี้ไว้สักหน่อย เพราะถ้าเราใช้ผักกลิ่นแรงๆ บางทีมันก็อาจ หนักŽ เกินไปสำหรับแกงที่ไม่ได้ปรุงใส่เนื้อสัตว์น่ะครับ

อย่างไรก็ดี ทัพพีเมื่ออยู่ในมือเรา เดี๋ยวเราก็รู้เองแหละครับ ว่าเราชอบกินรสอะไรยังไงแบบไหน

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

ผมเคยอ่านที่อาจารย์ ล้อม เพ็งแก้ว ผู้รอบรู้เรื่องวัฒนธรรมเมืองเพชรเขียนไว้นานแล้ว ถึงคำคล้องจองของคนเพชรบุรี ที่ว่า ปลาเค้าแกงหน่อไม้สด ปลากดแกงหน่อไม้ดอง หมูหองแกงหน่อไม้แห้งŽ ครั้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน มีโอกาสได้เรียนถามเรื่องนี้กับตัวอาจารย์ เลยรู้ว่า คำคล้องจองสั้นๆ นี้ อาจารย์เคยเห็นเขียนด้วยลายมือบนแผ่นกระดาษ อยู่ในตู้ไม้บานกระจก ภายในอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ซึ่งท่าน พระครูสุวรรณศิลปาคม เจ้าอาวาสในสมัยนั้นบอกอาจารย์ว่า เป็น อาหารโบราณที่คนเมืองเพชรกินกันมาแต่เดิมŽ

ใครจะเป็นผู้ผูกคำชุดนี้ก็ไม่ทราบได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดอยากจะลองทำกินดูบ้าง ผมก็พบว่า จะแผงผักแบบลาวในตลาดสดก็ดี หรือรถพุ่มพวงที่วิ่งเข้าออกตามตรอกซอกซอยหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองก็ดี มักมี ปลากดŽ ตัวย่อมๆ ขายให้เราเสมอ ราคาก็ไม่แพง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมลองถามแม่ค้าว่า แล้วคนเขาซื้อไปทำอะไรกินกันจ๊ะ

“ย่างก็ได้ ต้มใส่ใบแต้วใบชะมวงก็ได้จ้ะ ฉันเห็นบางคนเขาเอาไปแกงกับหน่อไม้ดอง น่าอร่อยนะ”Ž นั่นไง ไม่ต้องเป็นคนเพชรก็ดูจะรู้จักสำรับนี้กันดี

วันหนึ่ง ผมเห็นเขียงปลาในหมู่บ้านเอาปลากดคังแม่น้ำโขงตัวใหญ่มากมาหั่นขายเป็นชิ้นๆ เลยคิดว่าจะลอง “ปลากดแกงหน่อไม้ดอง”Ž ของชาวเมืองเพชรสักหม้อหนึ่งครับ

เราก็จัดแจงแล่เอาแต่เนื้อปลา หั่นเป็นก้อนๆ ส่วนก้างนั้นอย่าเพิ่งโยนทิ้ง เก็บไว้ต้มน้ำซุปก่อน

พ้นจากปลากด ก็หน่อไม้ดองแหละครับ ที่ค่อนข้างจะหาอร่อยๆ ยากสักหน่อย ต้องเลือกอ่อนๆ ดองนานจนเปรี้ยวได้ที่ กระบวนการดองสะอาด จนน้ำดองนั้นใส หอม สามารถใช้ปรุงรสเปรี้ยวรสเค็มในหม้อแกงได้ทีเดียว

พริกแกงหม้อนี้ ผมใช้พริกแกงเผ็ดจากตลาดนัดอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ที่จริงเราจะใช้ของที่ไหนก็แล้วแต่ชอบ เพียงแต่ไม่ควรมีส่วนผสมของเครื่องเทศอย่างลูกผักชี ยี่หร่า ลูกกระวาน กานพลู ฯลฯ เดี๋ยวรสชาติจะเตลิดเปิดเปิงเกินไป

อย่างอื่นๆ ก็มีกะทิสด น้ำปลา น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลอ้อย แล้วก็ใบมะกรูด แค่นี้เอง

แม่ครัวเมืองเพชรจะเริ่มแกงอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ผมเริ่มโดยตั้งหม้อหางกะทิจนเดือดบนเตาไฟกลาง เติมเกลือเล็กน้อย เอาก้างปลาใส่ต้มไปราว 20 นาที จึงตักออก เป็นอันได้ซุปก้างปลารสหวานอ่อนๆ มา ทีนี้ก็เติมกะทิอีกนิด กะปิอีกหน่อย กับใส่หน่อไม้พร้อมน้ำดองลงไปเคี่ยวต่อราว 15 นาที กลิ่นเปรี้ยวของหน่อไม้จะโชยขึ้นมา ผสานกลิ่นกะปิจางๆ ที่สุกในน้ำกะทิ แค่นี้ก็ชวนให้ตักไปกินแล้ว แต่ไม่ได้นะครับ เราต้องไปต่อ แข็งใจใส่พริกแกงเผ็ดลงไปเลย

เคี่ยวอีกราว 10 นาที ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ตอนนี้พริกแกงจะสุกหอม พร้อมๆ กับกะทิบางส่วนเริ่มแตกมัน มีมันสีแดงๆ ลอยขึ้นมา ที่เราต้องทำ คือคะเนด้วยสายตาดูว่า ปริมาณเนื้อปลาที่เราจะใส่ในอีกไม่กี่อึดใจนี้ กับน้ำแกงในหม้อ มันได้สัดส่วนพอดีกันหรือเปล่า อันนี้เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการทำกับข้าวให้สนุกน่ะครับ ถ้าเราคิดว่าน้ำแกงน้อยไป ก็เพิ่มกะทิหรือน้ำเปล่าเข้าไปให้ได้ความข้นความใสอย่างที่ชอบ

2

เมื่อแกงเดือดอีกครั้ง ใส่เนื้อปลาลงไปเลยครับ เอาทัพพีกดๆ ให้จมน้ำแกงทั่วถึงกัน ใส่ใบมะกรูดฉีกสักครึ่งหนึ่งก่อน แล้วปล่อยให้เดือดไป 5 นาที เนื้อปลากดแม่น้ำชิ้นใหญ่ๆ แบบนี้ ถึงจะสุกช้าไปบ้าง แต่ไม่เละแน่นอนครับ

พอกลิ่นหอมๆ มันๆ ของเนื้อปลากดโชยแทรกกลิ่นเปรี้ยวของหน่อไม้ขึ้นมา ก็เป็นอันใช้ได้ล่ะครับ ใส่ใบมะกรูดที่เหลือ ชิมรสครั้งสุดท้าย ดูว่าทั้งรส กลิ่น ความข้นของน้ำแกงได้อย่างที่ต้องการแล้ว ก็ยกลง กินได้เลย

หากไม่มีปลากดแม่น้ำโขงตัวโตๆ แบบที่ผมใช้ ก็เลือกปลากดตัวย่อมๆ แทน อาจหั่นครึ่ง หรือใช้ทั้งตัวก็ได้ ปลาตัวเล็กๆ จะได้เปรียบตรงที่เนื้อมันนิ่ม นุ่มละมุนกว่า

ครั้งต่อไป ถ้าได้ปลาเค้า จะมาชวนทำ ปลาเค้าแกงหน่อไม้สดŽ นะครับ

 

การต่อยอดจากสูตรของ ประยูร จรรยาวงษ์

ใครก็ตามที่ชอบทำอาหาร คงเคยรู้สึกเหมือนผมบ้างไม่มากก็น้อย คือรู้สึกว่า สูตรอาหารบางสำรับนั้น มันแสนที่จะลงตัว พอเหมาะพอดี ไม่มีขาดมีเกิน กินครั้งใดก็อร่อย ทั้งอยากกินไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด จนพาลสงสัยว่าคนคิดเขาคิดขึ้นมาได้ตอนไหนอย่างไรเอาเลยทีเดียว

สูตรหนึ่งที่ผมยอมใจมานาน ก็คือ “หมูตุ๋นปลาเค็ม” ของ คุณประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนผู้ยิ่งยง ซึ่งแม้ท่านล่วงลับไปแล้วเมื่อ 27 ปีก่อน ทว่ารสมือของท่านในหมูตุ๋นฯ หม้อนี้ย่อมจะส่งต่อไปยังใครต่อใครอีกมากมายไม่มีวันจบสิ้น คุณประยูรใช้หมูสามชั้นติดหนัง ตุ๋นในหม้อน้ำมัน กับปลาสละเค็ม ตะไคร้ กระเทียม พริกไทย ปรุงด้วยซีอิ๊วขาวและซอสปรุงรส จนน้ำแห้ง หมูเดือดฉ่า ผิวนอกเกรียมน้ำมันนิดๆ

กลิ่นและรสเปรี้ยวซ่าของตะไคร้ ผสานกับกระเทียมพริกไทยสุกหอมในน้ำมันของชิ้นหมูเกรียม ซึ่งพลอยซึมซับรสเค็มลึกๆ ของปลาเค็มไว้อย่างเต็มที่ แถมมีซีอิ๊วขาวแต่งรสให้มีสีสันขึ้นอีก มันทำให้แม้ผมจะเคยพยายามลองเพิ่ม ลด ดัดแปลงวิธีปรุงและวัตถุดิบบางตัวให้ต่างออกไปบ้าง ทว่าก็ไม่อาจสร้างหมูตุ๋นปลาเค็มหม้อใหม่ที่พอเทียบเคียงสูตรคุณประยูรได้เลยจริงๆ

ผมจึงคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เรา “ขอยืม” มาใช้กับสำรับที่ใกล้เคียงกันน่าจะดี เช่น หมูพะโล้ โดยนึกเชื่อมโยงไปถึงขาหมูพะโล้สูตรหนึ่งซึ่งพ่อครัวใส่ปลาเค็มต้มรวมไปในหม้อด้วย กับนึกถึงพะโล้ที่บ้านเพื่อนผมคนหนึ่ง ซึ่งแทนที่จะใช้ไข่เป็ดไข่ไก่ เขาก็ใช้ไข่นกกระทาแทน

บางที การที่เราพออธิบายได้ว่า สิ่งที่เรากำลังจะต้มผัดแกงทอด ฯลฯ ต่อไปนี้ มันมี “ราก” ที่อ้างอิงได้ พูดง่ายๆ คือไม่ได้มั่วนิ่ม ก็ช่วยเรียกความมั่นใจได้ไม่น้อยนะครับ

ถ้ามั่นใจกันแล้ว ก็เริ่มทำ “หมูพะโล้ปลาเค็ม” ของเราเลยดีกว่า ค่อยๆ เตรียมไปทีละอย่างครับ เช่นว่า หั่นหมูเป็นชิ้นใหญ่ๆ ต้มไข่นกกระทาในหม้อน้ำจนสุก ปอกเปลือกไว้

ทอดปลาอินทรีเค็ม แล้วทำใจแข็งไว้ อย่าได้ซอยพริกซอยหอมบีบมะนาวลงไปเป็นอันขาด เดี๋ยวเผลอกินหมดซะก่อน

ทอดเต้าหู้แข็งพอให้ผิวนอกเกรียมๆ

ตัดตะไคร้ ทุบพอแตก หัวกระเทียมปอกเปลือกแค่เกลาๆ เอาปลายมีดจิ้มให้เป็นรูทั้งหัว

เตรียมรากผักชี เกลือ พริกไทยดำบุบ น้ำตาลอ้อย และซีอิ๊วดำหวานดำเค็ม เพื่อ “แปลงร่าง” สูตรของคุณประยูรให้มีความเป็นพะโล้มากขึ้น

ผมเพิ่มพริกขี้หนูแห้งเม็ดใหญ่ เพื่อให้มีรสเผ็ดแหลมแทรกบ้างนิดหน่อยด้วยครับ

พอเตรียมครบแล้ว ก็เอาชิ้นหมูสามชั้นลงผัดในกระทะน้ำมัน เติมเกลือ ซีอิ๊วดำหวานดำเค็ม เพื่อย้อมสีหมูให้คล้ำสวยสักครู่ จึงวางชิ้นปลาเค็มให้เข้าที่เข้าทาง สลับด้วยหัวกระเทียม พริกไทย รากผักชี พริกแห้ง และท่อนตะไคร้ทุบ แล้วเติมน้ำให้ท่วม ทยอยใส่เต้าหู้ทอด ไข่นกกระทา เติมน้ำตาลปรุงรสหวานได้อีกหน่อยถ้าชอบ

ต้มรุมไฟอ่อนไปราว 2 ชั่วโมง คอยเติมน้ำไว้อย่าให้แห้ง กับชิมให้ได้รสเค็มหวานอย่างที่ต้องการ ทั้งหมู ปลาเค็ม เครื่องปรุง และน้ำพะโล้จะค่อยๆ จัดการตัวเองให้รสชาติกลมกลืนกัน โดยที่เราไม่ต้องห่วงเรื่องการปรุงสักเท่าไหร่หรอกครับ

พอหมูสามชั้นเปื่อยนุ่มดีแล้ว มันจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของตะไคร้ เจือรสเค็มลึกๆ และกลิ่นยั่วยวนของปลาเค็มอบอวลไปทั้งหม้อ แถมไข่นกกระทาก็ให้เนื้อสัมผัสกรุบกรอบที่แปลกออกไป มีรสเผ็ดพริกแซมแทรกเล็กน้อย เรียกว่าจิตวิญญาณของกับข้าวหลายจานดูจะมารวมกันอยู่ที่นี่

พะโล้ของเราหม้อนี้ ถึงจะแปลก แต่ย่อมอร่อยถูกปากแน่นอนครับ

3
4
ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย