สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ 2561

ณ เพลานี้ หลายๆท่านคงเล่นน้ำกันอยู่อย่างเพลินใจโดยใช้อุปกรณ์หลากหลายเป็นตัวช่วยในการสาดวัดความสุขสนุกสนาน

ย้อน เวลากลับไปเนิ่นนานกว่า 100 ปี มีการบันทึกภาพเก่าของอุปกรณ์ประกอบประเพณีสงกรานต์ ที่ไม่ได้มีแต่ในสยามประเทศ หากแต่เป็นวัฒนธรรมร่วมในแดนอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา พม่า และอื่นๆอีกหลายแห่งด้วยเหตุนี้ จึงมีการบันทึกถึงเรื่องราวของประเพณีดังกล่าวที่มีมานานนมเน

หนึ่งใน นั้น คือ สงกรานต์ในพม่า ผู้เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มีผู้วาดภาพเทศกาลสงกรานต์ในกรุงมัณฑะเลย์ ตีพิมพ์ ในหน้า 13 ของ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของอังกฤษ ชื่อว่า THE GRAPHIC ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1888 หน้า 13 เมื่อ ค.ศ.1888 หรือ พ.ศ. 2431 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย

มีขนาด 14 X 10 นิ้ว แสดงภาพชาวต่างชาติขี่ม้า สันนิษฐานว่าเป็นทหารอังกฤษ ทำท่าปัดป้องสายน้ำจาก “กระบอกฉีด” ของเด็กและสตรีสวมชุดพื้นเมือง

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือมติชน เห็นภาพนี้แล้วบอกว่า “ท่าทางฝรั่งขี่ม้าไม่สนุก แต่ผู้หญิงและเด็กสนุกมาก (ฮา)”

แล้วยังวิเคราะห์ต่อไปว่า กระบอกฉีดน้ำที่เห็นในรูปลายเส้นมี 2 แบบ

แบบหนึ่งเป็นกระบอกไผ่ทั่วไป

อีกแบบหนึ่งเป็นกระบอกน้ำเต้าสลักเป็นรูปนกหรือไก่

กระบอก ไผ่ฉีดน้ำสงกรานต์มีลูกสูบดูดน้ำเข้ากระบอก (ใช้วิธีเดียวกับหลอดเข็มฉีดยา) แล้วอัดฉีดน้ำพุ่งไปที่เป้าหมาย จากนั้น รำลึกถึงวัยเยาว์ครั้งยังเป็นเด็กชายสุจิตต์ วิ่งเล่นอยู่ที่หมู่บ้านลาวพวน ในจังหวัดปราจีนบุรี

“พ่อ เป็นลาวพวน เคยทำกระบอกฉีดน้ำอย่างนี้ ให้เล่นสงกรานต์ในดงศรีมหาโพธิ์ อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี แล้วเชื่อมาตลอดว่าเป็นงานประดิษฐ์ของคนดงคนดอนบ้านนอกคอกนาเท่านั้น คนที่อื่นเจริญกว่าเขาไม่เล่นอย่างนี้หรอก เพิ่งรู้เมื่อเห็นรูปนี้ ว่ากระบอกฉีดน้ำจากไม้ไผ่แท้จริงเป็นงานสร้างสรรค์ร่วมกันของคนสุวรรณภูมิใน อุษาคเนย์นับร้อยๆปีมาแล้ว” สุจิตต์กล่าว พร้อมตบท้ายว่า ภาพนี้ ยังทำให้คิดถึงคำอธิบายของครูบาอาจารย์ที่ว่า พฤติกรรมสาดน้ำอย่างก้าวร้าวรุนแรงเริ่มก่อนจากพม่า เพื่อแสดงออกทางการเมืองต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม

“ไม่มั่นใจว่าความเข้าใจอย่างนี้จะเป็นไปได้ แต่คิดอย่างอื่นก็คิดไม่ออก จึงเอามาบอกเล่าสู่กัน” สุจิตต์กล่าว

สำหรับ นสพ. THE GRAPHIC ออกทุกวันเสาร์ พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412 ตรงกับสมัยต้น รัชกาลที่ 5) พิมพ์ต่อเนื่องมาจนปี 1932 (พ.ศ. 2475) รวม 3,266 ฉบับ ก่อตั้งโดย William Luson Thomas ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในด้านภาพพิมพ์ (ที่มาภาพ : www.old-print.com)


ที่มา มติชนออนไลน์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เผยผลสำรวจ การใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,200 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 16,500 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,970 บาท โดยปัจจัยสนับสนุนที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ส่วนหนึ่งส่งผลมาจากการที่รัฐบาลประกาศเพิ่มวันหยุดต่อเนื่อง 5 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 12-16 เม.ย. 2561 เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางกลับภูมิลำเนา และกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั่วประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์กับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 43.6 มีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ในขณะที่ ร้อยละ 31.7 คิดว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการวางแผนที่จะเดินทางไปต่างจังหวัด และรู้สึกว่าราคาสินค้าบางส่วนมีการปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำมัน ขณะที่ ร้อยละ 20.6 มีค่าใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากต้องประหยัดและใช้จ่าย เท่าที่จำเป็น

สำหรับแหล่งที่มาของเงิน ที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ส่วนใหญ่เกินครึ่ง มาจากรายได้ (ร้อยละ 71.8) เงินออม (ร้อยละ 14.1) เงินจากคนในครอบครัว (ร้อยละ 9.0) เงินกู้ยืม ซึ่งมีทั้งเงินกู้นอกระบบและในระบบ (ร้อยละ 4.3) และเงินสวัสดิการจากภาครัฐ (ร้อยละ 0.8)

เมื่อสำรวจลักษณะการทำกิจกรรม และคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยม คือ (1) ทำบุญ/สรงน้ำพระ/รดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ ร้อยละ 86.0 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 445 บาท (2) สังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ร้อยละ 61.4 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 980 บาท (3) ให้เงินพ่อ แม่ และคนในครอบครัว ร้อยละ 56.3 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,770 บาท ทั้งนี้ โดยภาพรวมประชาชนฐานรากมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เช่น ลดการสังสรรค์ เลี้ยงฉลอง ลดการซื้อของฝาก ขณะที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นจากการเดินทางพักผ่อน เล่นน้ำ ตามประเพณี และกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติ

สำหรับของซื้อ /ของฝากที่ประชาชนฐานรากคาดว่าจะซื้อให้กับตนเองและผู้อื่น พบว่า 3 อันดับแรก คือ อาหาร/ขนม (ร้อยละ 75.1) ผัก/ผลไม้ (ร้อยละ 58.0) และเสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 55.1) โดยบุคคลที่ต้องการให้ คือ คนในครอบครัว (ร้อยละ 93.2) ผู้ใหญ่ ที่เคารพ (ร้อยละ 30.9) ตนเอง (ร้อยละ 12.4) และเพื่อน (ร้อยละ 9.8)

เมื่อสอบถามถึงความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อใช้จ่าย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 15.4 มีความต้องการสินเชื่อ โดยต้องการใช้สินเชื่อบัตรกดเงินสดมากที่สุด (ร้อยละ59.3) และยังคงมีความต้องการใช้บริการผ่านช่องทาง สาขามากที่สุด (ร้อยละ 57.8)” นายชาติชายฯ กล่าว

การจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีความคึกคัก เนื่องจาก เป็นช่วงวันหยุดราชการต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าประชาชนฐานรากมีความระมัดระวัง ลดการจับจ่ายใช้สอยที่ไม่จำเป็นลงในเรื่องการสังสรรค์ เลี้ยงฉลอง และการซื้อของฝาก ในขณะที่เพิ่มกิจกรรมที่ให้คุณค่ากับตนเอง และคนในครอบครัว รวมทั้งรักษาวัฒนธรรมและประเพณีไทย

ทั้งนี้พบว่าประชาชนฐานรากบางส่วนมีความต้องการสินเชื่อระยะสั้นที่มีความสะดวก รวดเร็ว ทันใช้ เพื่อใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยังมีความเชื่อมั่นต่อการใช้บริการผ่านตัวบุคคลมากกว่าการใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งธนาคารออมสินจะยังคงประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมให้ประชาชนฐานรากใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน