ครบรอบ 80 ปี คณะบัญชี จุฬาฯ จัดปาฐกถา ชี้บทบาท Business School ไทย ต้องสร้างนิสิตนักศึกษาตอบโจทย์โลกธุรกิจในบริบท VUCAS

ในโอกาสครบรอบ 80 ปีของการสถาปนาคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิวัติธุรกิจ ปฏิรูปการศึกษา Business Transformation through Flagship Education” โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ศาสตราภิชานกองทุนเพื่อการบริหารวิชาการและการศึกษาของคณะฯ และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่าบริบทของโลกธุรกิจยุคใหม่มีลักษณะที่เรียกว่า VUCAS กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาจนยากจะคาดเดาเพื่อเตรียมการณ์รับมือ อีกทั้งยังมีความซับซ้อนจนยากที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ผลักดันให้ Business School ต้องปรับหลักสูตรในการผลิตนิสิตนักศึกษาให้ออกไปเป็นผู้นำในการนำพาองค์กรก้าวผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้

ทั้งนี้ VUCAS เป็นการสะท้อนบริบทโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปใน 5 มิติที่สำคัญคือ

ความผันผวน (Volatile) ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอัตราเร่งตัว

ความไม่แน่นอน (Uncertain) ปรากฎการณ์จากความผันผวนทำให้หลายเรื่องไม่เป็นไปตามที่คาด เช่น สหรัฐอเมริกา ผู้นำการค้าเสรี แต่กลับมาดำเนินนโยบายกีดกันการค้าเสียเอง หรือแม้แต่รถยนต์ไร้คนขับของ Tesla เกิดอุบัติเหตุในหลายพื้นที่จนเป็นผลให้ราคาหุ้นตกลงอย่างรุนแรง

ความซับซ้อน (Complex) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เกิดความซับซ้อน และมีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าเดิม เช่น การเกิดขึ้นของ Cryptocurrencies หรือ Blockchain ซึ่งผู้กำกับดูแลต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่างในการเขียนกฎให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งต้องแยกระหว่างเทคโนโลยีกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น

ความยากที่จะคาดเดา (Ambiguous) ในโลกที่มีความซับซ้อน ผันผวน และไม่แน่นอนนี้ทำให้การคาดเดาเพื่อเตรียมการณ์ที่เหมาะสมทำได้ยาก สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดคือการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องบาลานซ์ระหว่าง online และ offline ในวันที่ยังไม่รู้ว่าทิศทางการปรับตัวของธุรกิจจะไปในทิศทางใดกันแน่

มาตรฐาน (Standard) ธุรกิจกำลังเผชิญกับการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เข้มข้นขึ้น และมีการแสดงออกถึงจุดยืนในเรื่องเหล่านี้ในทุกระดับ

“ในโลกของ VUCAS ทำให้โจทย์ของ Business School เปลี่ยนไปตามความคาดหวังของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลก นิสิตนักศึกษาที่จะมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันองค์กรให้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปได้จะต้องมีลักษณะของความเป็นผู้นำ ซึ่งไม่ใช่การมาเป็นซีอีโอของบริษัท แต่หมายถึงการมีมุมมองความคิดที่จะนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนได้ ซึ่งลักษณะที่สำคัญของคนที่มีความคิดเป็นผู้นำคือ การดึงความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องมาตอบโจทย์ที่ซับซ้อน มีกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น และพร้อมยอมรับข้อแตกต่าง”

จากผลการสำรวจความเห็นผู้บริหารของบริษัทชั้นนำมากกว่า 70 แห่งทั่วโลก พบว่าส่วนใหญ่มองว่าหลักสูตร Business School ที่สอดคล้องกับบริบทโลก VUCAS ต้องให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติงานบนภาคสนามจริงมากขึ้น และเห็นผลในสิ่งที่ลงมือทำ ขณะที่อาจารย์ต้องมีประสบการณ์หรือรู้จักโลกธุรกิจจริง และประยุกต์เข้าสู่บทเรียนได้

“วิธีออกแบบหลักสูตรมีหลายวิธี แต่วิธีที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ การให้นิสิตนักศึกษาได้ทำงานจริงกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ทั้งชุมชน เอ็นจีโอ ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ สลับกับการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งมีทั้งเทคนิค และซอฟท์สกิล เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้เห็นโลกในหลายมิติ ก่อนเลือกทำโครงการที่สร้างคุณค่า หรือแก้ปัญหาให้บ้านเมืองจริงอย่างน้อย 1 โครงการ” ดร.ประสารกล่าวในตอนท้าย

ด้วยความที่วิทยาลัยดุสิตธานีมุ่งมั่นจะเป็นสถาบันการศึกษาที่ติด 1 ใน 3 ของสถาบันการศึกษาผู้นำแห่งเอเชียภายในปี 2020 ทั้งด้านการศึกษา และการฝึกอบรมด้านอุตสาหกรรมบริการในระดับชาติและระดับนานาชาติ จึงมุ่งเน้นผลิตหลักสูตรที่เป็นสหวิทยาการ ผ่านการเรียนการสอนโดยคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งส่งเสริมการวิจัย และสร้างความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยี

ล่าสุด วิทยาลัยดุสิตธานีเดินหน้าผลิตบุคลากรป้อนภาคอุตสาหกรรมบริการ ด้วยการเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจบริการ โดยต้องการสร้างคนคุณภาพเข้าสู่งานบริการที่ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม

“ดร.สาโรจน์ พรประภา” อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันงานด้านบริการมีบทบาทอย่างมาก และเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแทบทุกอุตสาหกรรมมีเรื่องของงานบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง และใช้งานบริการมาเป็นปัจจัยหลักในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งสำนักงานกฎหมาย ธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ

วิทยาลัยดุสิตธานีจึงเห็น ถึงความสำคัญในการเปิดหลักสูตรปริญญาโท Master of Business Administration (MBA) กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจการบริการ เพื่อสร้างบุคลากรสายงานบริการระดับบริหาร ที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายขององค์กร และมีความรู้รอบด้านในสายงานบริการทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

หลักสูตร ที่วิทยาลัยดุสิตธานีเปิดให้มีการเรียนการสอนนั้น จะครอบคลุมการจัดการธุรกิจการบริการทั้งหมด ซึ่งผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพในธุรกิจที่มีความหลากหลาย

โดยเน้นให้ ความรู้เรื่องของการบริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ ต่อเนื่องไปถึงการวางแผนการตลาด การบริหารงานบุคคล ตลอดจนการวิเคราะห์บัญชีและงบการเงิน ไปถึงการทำตลาดออนไลน์ และการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต

“จุดเด่นอยู่ที่ผู้เรียนสามารถเรียนจบ ได้เร็วภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปีครึ่ง โดยใช้เวลาเรียนสัปดาห์ละ 1 วันเท่านั้น ซึ่งการเรียนการสอนจะมีความเข้มข้นของเนื้อหาที่สอนโดยคณาจารย์ผู้ทรง คุณวุฒิจากแวดวงธุรกิจ และทันสมัยด้วยการเรียนการสอนแบบไฮบริด คือผสมผสานการเรียนแบบห้องเรียนเข้ากับการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด”

“ดร.สาโรจน์” กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครนักศึกษา ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากการเรียนการสอนเน้นไปที่ธุรกิจบริการ ที่ไม่ได้จำกัดแค่โรงแรมหรือร้านอาหารเท่านั้น แต่เน้นไปที่อุตสาหกรรมบริการทั้งหมด อันเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“ประสบการณ์ของ เราเป็นตัวการันตีว่าหลักสูตรของเรามีมาตรฐานระดับสากล โดยวิทยาลัยดุสิตธานีเป็นสถานศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับ การรับรองมาตรฐาน THE-ICE (The International Centre of Excellence in Tourism and Hospitality Education) และ WACS (World Association of Chefs Societies) ซึ่งเป็นมาตรฐานการศึกษาชั้นสูงเทียบเท่าสถาบันชั้นนำที่มีเพียงไม่กี่แห่งในโลก”

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 เมษายน 2561