“ความสนุกของประวัติศาสตร์อยุธยาอยู่ที่ว่า ข้อมูลแต่ละข้อมูลเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เมื่อเราหาหลักฐานหรืออะไรต่างๆ ที่มาเจอใหม่ แต่ว่าเราต้องใจกว้าง เพราะว่าถ้าเรียนประวัติศาสตร์แล้วทำใจแคบ แปลว่าเรายึดสิ่งนั้นเป็นสรณะไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นประวัติศาสตร์จะหยุดนิ่งแล้วก็ตาย” รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี
.
รวมบรรยากาศความประทับใจทัวร์ ดูละครบุพเพสันนิวาส ดูประวัติศาสตร์อยุธยา รอบแรก เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ที่นอกจากจะสนุก ยังเต็มอิ่มไปด้วยสาระความรู้ของประวัติศาสตร์อยุธยาที่ชวนค้นหาได้อย่างไม่รู้จบ…

สนใจทัวร์ประวัติศาสตร์กับมติชนอคาเดมี ติดตามได้ที่เพจ Matichon Academy และ เพจ ทัวร์มติชนอคาเดมี เราจะอัพเดทโปรแกรมทัวร์ล่าสุดและข่าวสารด้านศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

รับจัดทัวร์แบบ PrivateTour และ VIPTour ในเส้นทางศิลปวัฒนธรรม และเส้นทางทัวร์สายเกษตร

สนใจติดต่อ
0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097
หรือ line @m.academy

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก ออกประกาศเรื่องการขยายเวลาเข้าชมโบราณสถาน โดยระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ขยายเวลาเข้าชมโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามแล้วนะเจ้าคะ #จากเดิมเปิดให้บริการถึง 18.30 น. #เปลี่ยนเป็น 22.00 น. เริ่มวันที่ 4 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2561

ออเจ้าสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 19.30 น. และสามารถอยู่ภายในโบราณสถานไม่เกิน 22.00 น. เท่านั้นนะเจ้าคะ จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

ที่มา หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน พนิดา สงวนเสรีวานิช

เสียงเพลงบุพเพสันนิวาส ที่ขับร้องโดย ไอซ์-ศรัณยู ดังกระหึ่มไปทั่วคุ้งน้ำวัดไชยวัฒนาราม ปลุกบรรยากาศการท่องเที่ยวเมืองกรุงเก่าให้ดูขลังยิ่งขึ้น

ราวกับต้องมนต์กฤษณะกาลี ภาพของออเจ้าทั้งหลายชาย-หญิง ทั้งเด็กแลผู้ใหญ่ตรงหน้า แต่งกายด้วยชุดไทยกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่โบราณสถาน เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงกระแสของละครย้อนยุคเรื่องนี้ที่สร้างปรากฏการณ์อย่างแท้จริง

ที่สำคัญคือ เป็นอานิสงส์ให้กับเศรษฐกิจโดยรอบสะพัดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่เพียงการค้าขายอาหาร-เครื่องดื่ม ยังรวมกิจการให้เช่าชุดไทย พร้อมแต่งหน้าทำผม

ชุดออเจ้า ผู้ใหญ่ 250 บาท เด็ก 200 บาท สนนราคานี้รวมทั้งเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ หรือจะเป็นพัดก็มีให้บริการพร้อมสรรพ

ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่วัดไชยวัฒนารามในวันธรรมดาเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันคน ยิ่งในวันเสาร์-อาทิตย์ พุ่งทะยานขึ้นเป็นหลักหมื่นคน ทำให้ต้องมีการขยายเวลาเข้าชม (ตั้งแต่ 8 โมงเช้า) จากที่เคยปิดบริการ 1 ทุ่ม เป็น 3 ทุ่ม

ไม่ต่างจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่นี่เป็นฉากภายในห้องเรียนคณะโบราณคดีของเกศสุรางค์และเพื่อนสนิท-เรืองฤทธิ์


ศาลิสา จินดาวงษ์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา

ศาลิสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานเจ้าสามพระยา บอกว่ากระแสของละครย้อนยุคเรื่องนี้ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากสถิติ 6 เดือนก่อนออนแอร์ มีนักท่องเที่ยว 3 หมื่นกว่าคน เฉพาะเดือนนี้ (มีนาคม 2561) มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 3,000 กว่าคน


พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา มีนักท่องเที่ยวคึกคัก

นอกจากฉากห้องเรียนนางเอกของเรื่อง ผอ.ศาลิสาบอกว่า “เครื่องกรองน้ำ” ที่เรือนไทย เป็นอีกจุดเรียกแขก โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่แต่งชุดไทยกันสวยงามเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ ส่วนใหญ่จะมาถามว่าห้องเรียนอยู่ที่ไหน เครื่องกรองน้ำอยู่ที่ไหน ซึ่งเมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่ได้มาดูแค่ 2 สิ่งนี้เท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เป็นความรู้นอกห้องเรียนอีกมากมาย และทำให้ความคิดเดิมที่บางคนอาจคิดว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งที่เก่าๆ โบราณๆ เป็นที่เก็บสมบัติเปลี่ยนไป

ถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑ์ในภูมิภาคแห่งแรกของกรมศิลปากร ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นจากเหตุการณ์ใหญ่ 2 เหตุการณ์ คือ ตอนกรุแตกปี 2500 และพบโบราณวัตถุล้ำค่า คือเครื่องทองในกรุวัดราชบูรณะ และพบพระบรมสารีริกธาตุที่วัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า “ของที่เจอที่ไหนสมควรได้จัดแสดงที่นั่น” และเสด็จฯมาเปิดพิพิธภัณฑ์ด้วยพระองค์เอง

ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน

เมื่อกระแสตามรอยออเจ้าหนุนนำให้นักท่องเที่ยวไม่เกี่ยงเพศและวัยเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ปรากฏในฉากละครกันอย่างถล่มทลาย นี่จึงเป็นโอกาสที่จะสอดแทรกนำเสนอเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของสถานที่แต่ละแห่ง ดังที่ ผอ.ศาลิสาเล่าว่า ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาจึงทำป้ายเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพระนครศรีอยุธยาให้แวะเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนที่ไม่ได้มีแค่ “เครื่องกรองน้ำโบราณ”

สะพานป่าดินสอ หรือ “สะพานวานร” อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีวัดสำคัญคือ วัดบรมพุทธาราม วัดของพระเพทราชา

“มติชนอคาเดมี” ซึ่งเป็นสถาบันที่นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงความรู้ร่วมบรรยายให้ความรู้ตลอดทริปเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา จึงจัดทริป “ดูละครบุพเพสันนิวาส ดูประวัติศาสตร์อยุธยา” โดยมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในช่วงพระนารายณ์กับฝรั่งเศส พาย้อนอดีตไปรู้จักกับเบื้องหลังสถานที่ในฉากละครบุพเพสันนิวาส


ความงามของปูนปั้นที่ยังเหลือให้เห็นที่วิหารแกลบ ในวัดพุทไธศวรรย์

นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาแล้ว ยังพาไปสะพาน “ป่าดินสอ” บริเวณย่านการค้าเครื่องเขียน ที่แม่หญิงการะเกดมาช้อปปิ้งสมุดไทยและดินสอศิลาขาว “ป้อมเพชร” จุดที่นางเอกของเรื่องนั่งเรือและโบกมือทักทายกับบรรดาทหารบนป้อม “วัดธรรมาราม” สถานที่เป็นฉากก่อเจดีย์ทราย ก่อนจะลงเรือที่ท่าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ชมทัศนียภาพริมฝั่งน้ำ ไปขึ้นที่ท่าน้ำ “วัดพุทไธศวรรย์” และปิดท้ายที่ “วัดไชยวัฒนาราม”

เพื่อปูพื้นการเดินทางตามรอยออเจ้าทริปนี้เป็นไปอย่างเข้าใจมากขึ้น รศ.ดร.ปรีดีเล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า ที่เห็นจากในละครที่ขุนศรีวิสารวาจาเดินทางไปเป็นตรีทูตร่วมกับคณะทูตเจ้าพระยาโกษา(ปาน) ไปฝรั่งเศสนั้นเป็นการส่งราชทูตไปครั้งสุดท้ายแล้ว

ครั้งแรกส่งทูตไปแล้วเรือแตก ครั้งที่ 2 ส่งไปเพื่อตามข่าวครั้งแรกและทราบข่าวเรือแตก มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทราบความเรือแตกจึงส่ง “เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์” อัญเชิญพระราชสาสน์เข้ามาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ติดตามข่าวสารของไทย และเมื่อเดอ โชมองต์ จะกลับ เราจึงส่งคณะทูตไปเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งก็คือครั้งที่ขุนศรีวิสารวาจา และคณะทูตของเจ้าพระยาโกษา(ปาน) เดินทางไป ซึ่งราชทูตชุดนี้กลับมาจากฝรั่งเศสพร้อมกับ “เดอ ลา ลูแบร์” และ “โกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล”

“เป้าประสงค์การมาของเซเบอแร คือแก้ไขสนธิสัญญาที่เดอโชมองต์ทำไว้ เซเบอแรจึงเป็นคนแก้ไขสัญญาทางการค้าทั้งหมด ขณะที่ลาลูแบร์เป็นผู้แทนพิเศษที่เข้ามาเจรจาความอื่นๆ นอกเหนือจากการค้า คือการเมืองและการทหาร มาขอป้อมที่บางกอก และที่สงขลา

“ซึ่งถ้าฝรั่งเศสได้สงขลา มะริด ทวาย ตะนาวศรี และบางกอกไปแล้ว แปลว่าราชอาณาจักรสยามหายหมดเลย เหลือแค่เกาะอยุธยา และนี่ทำให้พระเพทราชาและสมเด็จพระนารายณ์ทรงวิตกกังวลพอสมควร รวมถึงขุนนางไทยที่เห็นว่าอำนาจของฝรั่งเศสคืบคลานเข้ามา”


วัดพุทไธศวรรย์ติดป้ายประชาสัมพันธ์เพจของวัด Putthaisawan

‘ม่านอาคม’เป็นเหตุ วัดพุทไธศวรรย์แทบแตก

เป็นอีกสถานที่ที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสละครบุพเพสันนิวาสไปเต็มๆ ความที่ถูกใช้เป็นฉากที่เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกด เข้าไปในสำนักดาบของวัดแห่งนี้ และได้พบกับพ่อครูชีปะขาวผู้ที่รู้ว่าการะเกดที่แท้เป็นใคร และยังได้มอบมนต์ใช้กำบังกายให้กับเธอ

“วัดพุทไธศวรรย์” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ในบริเวณที่เคยเป็นพระตำหนักเวียงเหล็ก ที่ประทับของพระองค์ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา จึงมีพระปรางค์เป็นหลัก ลักษณะเป็นพระปรางค์องค์เดี่ยว ถือเป็นหนึ่งในสองสิ่งสำคัญของวัดนี้ นอกจากพระระเบียง

เพียงแค่ก้าวเข้าไปในส่วนของระเบียงคด เสียงของเจ้าหน้าที่สาวในชุดสไบส่งเสียงเชื้อเชิญ ถ้าจะไปดูประตูม่านอาคมเชิญทางฝั่งขวานะคะ

แน่นอน นาทีนี้นักท่องเที่ยวแน่น แทบจะเข้าคิวรอถ่ายรูปกับประตูที่กลายเป็นสถานที่ต้องเช็กอินไปแล้ว

เหตุนี้วัดพุทไธศวรรย์จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมถ่ายรูปตั้งแต่เช้า แม้ไม่ถึงกับมีร้านให้บริการเช่าชุดไทยเช่นบริเวณหน้าวัดไชยวัฒนาราม แต่บางมุมก็มีผ้าซิ่นให้หญิงสาวที่นุ่งกางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้นได้ยืมเปลี่ยนชั่วคราวเพื่อขึ้นไปกราบสักการะบนพระอุโบสถ


พระตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์

สำหรับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมวัดพุทไธศวรรย์ ไม่อยากให้พลาดชม “พระตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์” อาคารปูน 2 ชั้น เป็นตำหนักเดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์

“พระตำหนัก 2 ชั้นหาได้ยากในอยุธยา ที่สำคัญซุ้มประตูด้านล่างเป็นซุ้มประตูแบบพระราชนิยม เป็น Pointed arch คือเป็นซุ้มโค้งยอดแหลมแบบวังนารายณ์

“ที่สำคัญไปกว่านั้น พระพุทธโฆษาจารย์รูปนี้ก็เดินทางไปลังกา ภายในพระตำหนักชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เลือนเต็มทนแล้ว บอกเล่าถึงประวัติของท่าน”

รศ.ดร.ปรีดีเกริ่นก่อนนำขึ้นพระตำหนักไปชมภาพจิตรกรรมที่น่าสนใจในแต่ละจุด รวมทั้งชี้ให้ดูผนังด้านหนึ่งเหนือบานหน้าต่างเขียนภาพไตรภูมิ เชื่อว่าแต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

“ไฮไลต์ของภาพที่อยากให้ชมกันคือ ภาพนางรำที่ถือเป็นแม่แบบการรำของอยุธยา ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นแม่บทของท่ารำในปัจจุบัน

“บนตำหนักนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่ขึ้นมาชม เราก็จะมุ่งไปที่ม่านอาคมกับมนต์กฤษณะกาลี” วิทยากรของทริปบอกพร้อมกับรอยยิ้ม และฝากย้ำเพื่อเป็นการตอบคำถามของผู้ที่สงสัยหลายๆ คนว่า วัดพุทไธศวรรย์ที่เห็นในละครมีสถานที่ซ้อมการต่อสู้ฟันดาบนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนักดาบพุทไธสวรรย์แต่อย่างใดเพียงแต่ชื่อมาพ้องจึงกลายเป็นแบรนด์ของสำนักดาบไป
ปริศนาพระปรางค์วัดไชย

หลังจากเดินเที่ยววัดพุทไธศวรรย์ พิสูจน์ม่านอาคมแล้วก็มาถึงเป้าหมายสุดท้าย สถานที่เหมาะแก่การเก็บภาพยามอาทิตย์อัสดงเป็นที่สุด

“วัดไชยวัฒนาราม” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยนำคติเขาพระสุเมรุกับแผนผังของปราสาทนครวัดมาเป็นต้นแบบ และดัดแปลงให้มีรูปแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

“ที่นี่ถือเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอยุธยา ซึ่งจะสัมพันธ์กับตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 ครั้งนั้นพื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วังหลัง’ ไปแล้ว คือฝั่งที่อยู่ในพระนครแต่อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นจุดที่พม่าต้องตีวังหลังให้ได้ และตีฝั่งตะวันออกคือวังหน้า ซึ่งถ้าจะตีวังหลังให้ได้ก็ต้องตั้งทัพที่ริมขอบพระนคร ฉะนั้นวัดริมน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วัดท่าการ้องลงมาจนถึงที่นี่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องรบกับพม่ามาตลอด วัดไชยวัฒนารามก็เป็นค่ายที่พม่าใช้ตั้งอาวุธยิงเข้าไปในกำแพงเมืองพระนคร” รศ.ดร.ปรีดีบอก

ต่อข้อสงสัยที่ว่า พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามที่ปรากฏในละครเรื่องดังนับตั้งแต่แวบแรกที่เกศสุรางค์ในร่างแม่หญิงการะเกดมองเห็นเป็นสีทองอร่าม เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่


รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

รศ.ดร.ปรีดีบอกว่า ต้องยอมรับว่าผู้ประพันธ์เรื่องมีการค้นคว้าพอสมควร เพราะถ้าดูบนยอดปรางค์จะเห็นรูพรุนเต็มไปหมด

“รูพรุนเหล่านั้นเกิดจากการตรึงตะปูสังฆวานร โดยเอาแผ่นโลหะที่ปิดทองคำเปลวทาบบนผิวของพระปรางค์ก่อนจะตรึงด้วยตะปู ซึ่งแผ่นโลหะที่ว่านี้เรียกว่า ‘แผ่นทองจังโก’ ทำให้พระปรางค์วัดไชย ประหนึ่งปิดด้วยทองคำเปลว เราจึงเห็นร่องรอยที่เป็นรูพรุนทั่วพระปรางค์ ซึ่งพบเฉพาะปรางค์องค์ใหญ่ และปรางค์องค์เล็กที่อยู่สี่ทิศ โดยรอบเป็นปูนสีขาว”

วัดไชยวัฒนารามเป็นจุดสุดท้ายของทริปตามรอยบุพเพสันนิวาสที่อโยธยา

สำหรับออเจ้าที่พลาด ยังมีรอบ 2 จัดขึ้นเฉพาะกิจตามเสียงเรียกร้อง ในวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2561 ยังสามารถสำรองที่นั่งเข้ามาได้ที่ โทร 08-2993-9097, 08-2993-9105 บอกก่อนว่า ต้องด่วนจี๋ เพราะที่นั่งมีจำกัดเต็มที

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่แต่งกายชุดไทย เดินทางมาเที่ยววัด และโบราณสถานในจังหวัดเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์ และอาทิตย์ เช่น วัดไชยวัฒนาราม ทุกวันนี้ผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวเกือบวันละ 20,000 คน โดยทางจังหวัดต้องบูรณการหลายหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกทุกด้าน ทั้งการจราจร ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน การไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะราคาค่าบริการที่พัก อาหาร ราคาสินค้า ทั้งนี้ เพื่อสร้างความประทับใจ โดยได้จัดทำโครงการต่อยอดอีก 36 โครงการ นับจากนี้ยาวไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ เข้าพรรษา ลอยกระทง จนถึงงานอยุธยามรดกโลกช่วงปลายปี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ไม่ใช่เพียงตามกระแสเท่านั้น

นายสุรพล สร้างสมวงษ์ นายกสมาคมนิสิตเก่านิติศาสตร์ จุฬาฯ นำคณะนิสิตเก่า 100 คน พร้อมรถยนต์กว่า 30 คัน ร่วมกิจกรรมแรลลี่การกุศล เส้นทาง กรุงเทพฯ-อยุธยา เพื่อระดมบุญบูรณะพระอุโบสถหลังเก่า ที่มีต้นโพธิ์ และรากคลุมทั้งหลัง ของวัดตะบอง อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโบราณสถานสร้างขึ้นมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ยังจะเป็นการหาเงินช่วยเหลือโรงเรียนวัดตะบองด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันในวันที่ 25 มีนาคมนี้ คณะจะเดินทางไปตามรอยเส้นทางสถานท่องเที่ยวในเมืองกรุงเก่า โดยเฉพาะวัดไชยวัฒนาราม และพระราชวังโบราณ