“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จนทำให้หลายองค์กรต่างนำระบบและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือเรื่องระบบอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่มีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดในหลากหลายอาชีพ ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาทำหน้าที่ทดแทนมนุษย์ได้ทั้งหมดในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ในความเป็นจริงหากลองวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว งานที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนนั้นมักจะเป็นงานที่มีรูปแบบการทำงานแบบเดิมซ้ำๆ หรือเป็นงานที่เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการคำนวณข้อมูลที่ซับซ้อนได้รวดเร็วและแม่นยำกว่ามนุษย์

“เทคโนโลยีด้าน AI จะมีผลเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของมนุษย์ไปในทิศทางที่ดีขึ้น งานบางอย่างจะถูกหุ่นยนต์ทดแทนแต่ก็จะเกิดงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำแทนได้ เช่น งานที่ใช้ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ตลอดจนงานบางอย่างที่มนุษย์สามารถนำจุดแข็งของหุ่นยนต์มาใช้และทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ทั้งนั้น เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่ามี 3 สายงานหลักที่หุ่นยนต์จะมาช่วยสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้

· อาชีพด้านบริการ เช่น พนักงานจองตั๋วเครื่องบิน พนักงานต้อนรับในโรงแรม – แนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคบริการมีโอกาสแซงหน้าหุ่นยนต์ภาคการผลิต โดยจะเห็นว่ามีองค์กรจากหลากหลายธุรกิจที่นำหุ่นยนต์ไปใช้ในการให้บริการ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถเข้ามาช่วยทำให้การทำงานง่ายขึ้นทั้งผู้ให้บริการและลูกค้าที่มาใช้บริการ แต่หากมีเรื่องที่ซับซ้อนหรือนอกเหนือจากที่สั่งการให้หุ่นยนต์จัดการได้ ท้ายที่สุดมนุษย์ก็ยังจำเป็นต้องเป็นผู้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

เพราะถึงแม้คอมพิวเตอร์จะสามารถประมวลผลข้อมูลมหาศาลได้รวดเร็วแค่ไหน ก็ยังไม่สามารถมาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในเรื่องของการตัดสินใจตลอดจนการแสดงความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการแท้จริงได้

· อาชีพเฉพาะทาง เช่น ผู้ช่วยแพทย์ – แวดวงการแพทย์เริ่มนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการผ่าตัด โดยหุ่นยนต์นั้นสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างไรการใช้หุ่นยนต์ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น การผ่าตัดที่ซับซ้อนในอวัยวะสำคัญ ที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของแพทย์เป็นหลัก รวมถึงยังต้องอาศัยทักษะการตัดสินใจในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่มีในมนุษย์เท่านั้นอีกด้วย

· อาชีพให้คำปรึกษา เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน – มนุษย์ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่จะช่วยให้คำปรึกษาด้านการลงทุนผ่านซอฟต์แวร์การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อแนะนำให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และข้อมูลที่ได้มีความแม่นยำสูง

อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ยังมีข้อจำกัดอยู่แค่เฉพาะคำแนะนำด้านการลงทุนเท่านั้น ยังไม่สามารถให้คำปรึกษาหรือแนะนำวางแผนการเงินเชิงลึกในด้านอื่นๆ เช่นเดียวกับมนุษย์ได้ เนื่องจากบางสิ่งมีความซับซ้อนเกินกว่าที่เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์จะเข้าใจและตอบสนองได้อย่างตรงจุด

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีสอดคล้องกับ 3 ทักษะสำคัญที่ทำให้มนุษย์ยังเหนือกว่าหุ่นยนต์ในโลกของการทำงาน คือ 1) ทักษะทางสังคม (Social Skills) เนื่องจากโลกใบนี้ประกอบไปด้วยหลายสิ่งมากมาย มนุษย์จึงรู้จักเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและพึ่งพาอาศัยกัน ผ่านการสื่อสารทั้งการพูด การฟัง การแสดงออก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางบวกให้เกิดขึ้น

2) ทักษะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) เพราะมนุษย์มีความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น และใช้สิ่งดังกล่าวในการสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ และ 3) ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพราะสมองของมนุษย์มีความซับซ้อนและมีความสามารถในการคิดได้หลากหลายรูปแบบ จนนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

“จะเห็นได้ว่าทักษะเหล่านี้ล้วนเกิดจากการเรียนรู้โดยธรรมชาติของมนุษย์เป็นทุนเดิม ถือเป็นจุดแข็งของมนุษย์ที่เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถทำได้ดีในระดับเทียบเท่า แม้การพัฒนาของเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์จะมีความก้าวหน้ามากขึ้นก็ตาม ดังนั้น มนุษย์จึงต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะดังกล่าว รวมถึงทักษะเฉพาะด้าน ตลอดจนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โลกการทำงานในอนาคตของทั้งมนุษย์และหุ่นยนต์สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ