ข้อมูลจากรายงานการศึกษาของ คอร์น เฟอร์รี่ (รหัสในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: KFY) ระบุว่า อัตราเงินเดือนของแรงงานผู้มีทักษะสูงอาจพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทั่วเอเชียแปซิฟิก โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเดือนในภูมิภาคอาจมีมูลค่ารวมสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีภายในปี 2030 ซึ่งทำให้การสร้างผลกำไรของบริษัทต่าง ๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง และส่งผลเสียต่อโมเดลธุรกิจ สำหรับประเทศไทย ภาวะขาดแคลนแรงงานจะทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (704,000 ล้านบาท) ในปี 2020 เพิ่มเป็น 27 พันล้านดอลลาร์(864,000 ล้านบาท) ในปี 2025 และสูงถึง 34 พันล้านดอลลาร์ (1,122,000 ล้านบาท)ในปี 2030

“ยุคใหม่ของการทำงานจะเกิดภาวะการมีพนักงานจำนวนมากแต่ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งหมายถึง แม้ว่าจะมีพนักงานจำนวนมากมาย แต่กลับไม่มีทักษะที่จำเป็นที่ทำให้องค์กรอยู่รอด” Dhritiman Chakrabarti, Korn Ferry Head of Rewards and Benefits for the APAC region กล่าว “ในขณะที่การขึ้นอัตราค่าจ้างโดยรวมจะสอดคล้องกับอัตราค่าเงินเฟ้อ แต่เงินเดือนของพนักงานซึ่งเป็นที่ต้องการจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมาก หากบริษัทเลือกแข่งขันเพียงแค่เงินเดือนเพื่อให้ได้พนักงานที่ดีและยอดเยี่ยมที่สุดจริงๆ”

การศึกษาเรื่องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเดือน (Salary Surge) ของคอร์น เฟอร์รี่ ได้ประเมินผลกระทบของภาวะขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะทั่วโลก (ดังรายละเอียดในการศึกษาเรื่อง Global Talent Crunch ของคอร์น เฟอร์รี่ เมื่อเร็ว ๆ นี้) ที่มีผลต่ออัตราค่าจ้างใน 20 เขตเศรษฐกิจหลักทั่วโลกใน 3 จุดเวลา คือปี ค.ศ. 2020, 2025 และ 2030 โดยครอบคลุม 3 ภาคธุรกิจ ได้แก่ บริการทางการเงินและธุรกิจ, เทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม (TMT) และอุตสาหกรรมการผลิต โดยทำการวัดผลว่าองค์กรต่าง ๆ จะต้องจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานเกินกว่าการเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าเงินเฟ้อมากเท่าใด

จากผลการศึกษา พบว่าอุปสงค์แรงงานระดับปริญญาตรีและสูงกว่าในประเทศไทยในปี 2020, 2025 และ 2030 คือ 5,737,900 คน, 5,857,280 คนและ 6,016,130 คน ตามลำดับ ในขณะที่อุปทานแรงงานในระดับปริญญาตรีของปี 2020 คือ 5,164,160 คน ปี 2025 คือ 5,137,790 คน และปี 2030 คือ 5,054,850 คน หรือคิดเป็นภาวะขาดแคลนแรงงานที่ 10%, 12% และ 16% ในแต่ละปีตามลำดับ

รายงานของคอร์น เฟอร์รี่ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบครั้งใหญ่ในเรื่องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินเดือนในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค ดังนี้

บริษัทในญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายค่าจ้างสูงสุด โดยต้องจ่ายเพิ่มขึ้นราว 468 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030

บริษัทในไทยอาจต้องจ่ายค่าแรงกว่า 34 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1,113,000 ล้านบาท) ในปี 2030

ในขณะเดียวกัน ตลาดขนาดเล็กที่มีจำนวนแรงงานจำกัดอาจจะต้องพบแรงกดดันมากที่สุด โดยในปี 2030 สิงคโปร์และฮ่องกง คาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษจากเงินเดือนคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2017*

และในปี 2030 จีนต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มมากกว่า 342 พันล้านดอลลาร์

อินเดียเป็นประเทศเดียวที่สามารถหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราค่าจ้าง ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในการศึกษาครั้งนี้ โดยอินเดียจะมีแรงงานผู้มีทักษะสูงล้นตลาดในทุกจุดเวลา

ในปี 2030 เงินเพิ่มพิเศษจากเงินเดือนโดยเฉลี่ย (จำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายมากกว่าอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อตามปกติ) ทั่วภูมิภาคต่อแรงงานผู้มีทักษะ 1 คนจะอยู่ที่ 14,710 ดอลลาร์ต่อปี แต่ฮ่องกงอาจพบอัตราที่สูงกว่าถึง 40,539 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่สิงคโปร์จะอยู่ที่ 29,065 ดอลลาร์ต่อปี และออสเตรเลีย 28,625 ดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030

เมื่อพิจารณาในภาคธุรกิจ พบว่าภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจเกิดการหยุดชะงัด จากผลกระทบของการเพิ่มค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในจีน ภาวะการขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะสูงคาดว่าจะมากกว่า 1 ล้านคนในปี 2030 ซึ่งหมายความว่า เงินเพิ่มพิเศษอาจต้องสูงถึง 51 พันล้านดอลลาร์ในช่วงนั้น ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในการศึกษาครั้งนี้

ดร. มานะ โลหเตปานนท์ กรรมการผู้จัดการ คอร์น เฟอร์รี่ ประเทศไทยและเวียดนาม เปิดเผยว่า “สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย การจ่ายค่าจ้างพิเศษเพิ่มโดยเฉลี่ยอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค โดยเฉพาะในปี 2030 การจ่ายค่าจ้างพิเศษโดยเฉลี่ยจะสูงถึง 1,122,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทยในปี 2017 ในส่วนของภาคธุรกิจ องค์กรจะมีต้นทุนด้านบุคคลากรสูงขึ้นจากการจ่ายค่าจ้างพิเศษกว่า 15% เมื่อเทียบกับการขึ้นเงินเดือนปกติ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลกำไรของการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นถ้าองค์กรใดสามารถระบุและพัฒนาทักษะความสามารถของพนักงานให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจในอนาคตได้ ก็จะส่งผลในด้านบวกกับประสิทธิภาพทางการเงินขององค์กรเช่นกัน””

การขาดแคลนแรงงานผู้มีทักษะทั่วโลกอาจทำให้นายจ้างต้องเพิ่มค่าจ้างพิเศษในแต่ละปีกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งการพุ่งสูงขึ้นของเงินเดือนนี้สงผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประเทศต่าง ๆ อาทิ

บริษัทในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายมากที่สุดในโลก โดยต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษมากกว่า 531 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030

เยอรมนีเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษราว 176 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030

สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสอาจมีสภาวะที่ดีกว่าในระยะสั้น โดยในปี 2030 เงินเพิ่มพิเศษของสหราชอาณาจักรอาจเท่ากับ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2017* และฝรั่งเศสเท่ากับ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2017*

เงินเพิ่มพิเศษเฉลี่ยต่อแรงงาน 1 คนใน 20 เขตเศรษฐกิจอยู่ที่ 11,164 ดอลลาร์ต่อปี

“การซื้อตัวผู้มีทักษะจากตลาดอื่นนับเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน แทนที่จะทำเช่นนั้น บริษัทในเอเชียแปซิฟิกจะต้องสร้างความผูกพันของพนักงานและทบทวนทักษะของพนักงานในปัจจุบันเสียใหม่” Dhritiman Chakrabarti กล่าว “ผู้นำองค์กรต้องพิจารณาว่าจะรักษาแรงงานผู้มีทักษะสูงในปัจจุบันไว้ได้อย่างไร เราต่างทราบว่า ลูกจ้างที่ได้รับโอกาสในการพัฒนาสายอาชีพ และได้รับแรงผลักดันจากภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพ และความรู้สึกว่างานของตนเองมีความหมาย มีแนวโน้มที่จะทำงานในองค์กรนั้น ๆ ต่อไป และที่สำคัญ จะมีความผูกพันต่อองค์กรและมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย”

“ในโลกของการทำงานในอนาคต ลูกจ้างที่ประสบความสำเร็จอาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสถาบันการศึกษา แต่จะเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้ และมีความยืดหยุ่นมากพอในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างรวดเร็วและมีโครงสร้างลำดับชั้นงานน้อยลง บริษัทจำเป็นต้องระบุตัวผู้ที่มีทักษะจำเป็นในอนาคตได้ และช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่” Dhritiman Chakrabarti กล่าวสริม

* ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ นำมาจากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2017

(ทำไง?) เงินเดือนคนใหม่ แซงคนเก่า

Human of Office ชีวิตมนุษย์เงินเดือน

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์

http://tamrongsakk.blogspot.com / นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

 

ผมเขียนเรื่องนี้มาจากที่เห็นคำถามอย่างสม่ำเสมอของพนักงานที่ทำงานในบริษัทมานานหลาย ๆ ปี และเมื่อเวลาผ่านไป คนเก่าที่ทำงานมานานจะพบว่าพนักงานที่เข้ามาใหม่ได้รับเงินเดือนที่ใกล้เคียงกับตัวเอง หรือเผลอ ๆ ได้มากกว่าเสียอีก ก็เลยทำให้มีกระทู้คำถามบนโลกออนไลน์หรือในห้องอบรมอยู่บ่อย ๆ

ผมจึงมาคิดทบทวนดูต้นสายปลายเหตุของปัญหานี้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงสรุปสาเหตุของปัญหาที่เป็นหัวเรื่องในวันนี้ได้อย่างนี้ครับ

1.เปอร์เซ็นต์การเติบโตของค่าจ้าง/เงินเดือนภายนอกสูงกว่าเปอร์เซ็นต์การเติบโตภายในบริษัท ยกตัวอย่างเช่น ในปีนี้กระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 310 เป็น 325 บาท ก็ขึ้นมาประมาณ 4.8 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้เงินเฟ้อประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์

บริษัทส่วนใหญ่ปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี โดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ หักลบกลบกันแล้วพนักงานได้ขึ้นเงินเดือนติดลบ 0.8 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นอย่างนี้จะไม่ให้คนนอกเงินเดือนจี้หลังคนเก่าได้ยังไงละครับ เพราะนี่คิดแค่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น ยังไม่รวมเปอร์เซ็นต์การเติบโตของค่าจ้างของตลาดแข่งขันที่เพิ่มขึ้นมากบ้างน้อยบ้างตามกลุ่มงานต่าง ๆ

แน่นอนว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ต้องไปปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ ปวช., ปวส., ปริญญาตรีสำหรับคนจบใหม่เพื่อหนีค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะมีผลกระทบกับคนเก่าที่ทำงานมาก่อนอยู่แล้วครับ

2.บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีโครงสร้างเงินเดือน หรือแม้จะมี แต่ก็ไม่เคย update โครงสร้างเงินเดือน จึงทำให้ไม่มีกติกาในการบริหารเงินเดือน และค่าตอบแทนตัวอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับเงินเดือนอย่างชัดเจน เปรียบเสมือนกับการเตะฟุตบอลโดยไม่มีกติกาแหละครับ พอไม่มีกติกา หรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาอ้างอิง หรือไม่มีหลักที่จะใช้นำมาวางแผนเกี่ยวกับเงินเดือนได้เลย ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้คนใหม่เงินเดือนไล่หลังคนเก่าหรือมากกว่าคนเก่าเพราะไม่มีกติกานั่นเอง

3.ผู้บริหารจ่ายเงินเดือนแบบ “ตามใจฉัน” คือตามใจ MD หรือตามใจเถ้าแก่ ซึ่งในใจของเถ้าแก่ หรือในใจของ MD มักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าเราจ่ายให้กับพนักงานเท่านี้ก็เยอะพอแล้ว เลยกดเงินเดือนพนักงานเอาไว้ ซึ่งถ้าบริษัทที่มีการจ่ายแบบตามใจฉันนี้ ได้มีการสำรวจตลาดแข่งขัน และทำโครงสร้างเงินเดือนขึ้นมาก็มักจะพบว่าบริษัทของเราจ่ายต่ำกว่าตลาด

เมื่อบริษัทเหล่านี้ไม่เคยสำรวจตลาดแข่งขัน ไม่เคยมีโครงสร้างเงินเดือน และกดเงินเดือนพนักงานเก่าเอาไว้ เมื่อจำเป็นจะต้องรับพนักงานใหม่จากภายนอกเข้ามา จึงพบว่าเงินเดือนคนใหม่จี้หลังหรือมากกว่าคนเก่า

4.บริษัทขาดการ “วางแผนบริหารเงินเดือนเชิงรุก” เช่น การคำนวณอัตราการเติบโตล่วงหน้าของเงินเดือนพนักงานที่มีผลการทำงานดี, มีความสามารถจะเติบโตก้าวหน้าไปกับบริษัทได้ รวมไปจนถึงพนักงานกลุ่ม talent ให้สอดคล้องกับ ca-reer path จึงทำให้บริษัทเหล่านี้มีแต่เพียงงาน routine หลักคือการขึ้นเงินเดือนประจำปี ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ และทำปีละครั้ง ปีต่อปี

5.บริษัทมีนโยบายแบบอนุรักษนิยมมากเกินไป ไม่มีนโยบายในการจ่ายให้เหนือกว่าตลาดแข่งขัน (ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจ่ายให้สูงกว่าตลาดจนเวอร์เกินไปนะครับ) เพราะกลัวว่า staff cost จะสูงเกินไป คือไปกังวลกับ staff cost มากจนไม่กล้าจะปรับเงินเดือนให้กับคนเก่าที่มีความสามารถ

แต่ลืมนึกไปว่าถ้าคนเก่ามีความสามารถลาออก จะทำให้บริษัทต้องมี staff cost ในการหาคนมาทดแทน รวมทั้งต้นทุนที่สร้างคนเก่ามากี่ปีจนวันที่เขาลาออกไปสูงกว่าการปรับเงินเดือนให้ก่อนที่เขาจะลาออกเสียอีก

6.คนเก่าไม่ยอมพัฒนาตัวเอง นี่ก็เป็นปัญหาที่ตัวพนักงานเก่าที่มักจะเจออยู่บ่อย ๆ คือพนักงานที่ทำงานมานาน แต่พอบริษัทจะมอบหมายงานให้ทำงานมากขึ้น ให้รับผิดชอบมากขึ้น หรือจะ promote เลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น จะบ่ายเบี่ยง จะปฏิเสธ บริษัทจะส่งไปฝึกอบรมเพื่อพัฒนาให้มีความรู้ มีทักษะเพิ่มขึ้น ก็ไม่ยอมไปอบรมเพื่อพัฒนาตัวเอง แต่จะอ้างเสมอ ๆ ว่างานยุ่ง งานเยอะ ไม่มีเวลาไปอบรม อายุมากแล้วเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง รู้หมดทุกเรื่องแล้วไม่ต้องไปอบรมหรอก ฯลฯ

บริษัทมักจะขึ้นเงินเดือนพนักงานประเภทนี้ไปเท่าค่าเฉลี่ย คือปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ปีละครั้ง จนในที่สุดคนใหม่เข้ามาจะเงินเดือนเท่ากับ (หรือสูงกว่า) พนักงานเก่าเหล่านี้ในที่สุด และพนักงานเหล่านี้มักจะตั้งคำถามต่อว่า ผู้บริหารว่าไม่ยุติธรรมไม่เห็นความสำคัญของคนเก่าที่ทำงานมานาน ฯลฯ

พอรู้สาเหตุของปัญหาอย่างนี้แล้ว ผมหวังว่าบริษัทที่มีปัญหานี้ คงจะเริ่มคิดหาทางแก้ปัญหาเพื่อรักษาคนเก่าที่มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถ เอาไว้บ้างแล้ว

เริ่มต้นจาก HR ควรจะเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่ผมบอกมาข้างต้นทั้งหมด เพื่อมาวิเคราะห์ หากลยุทธ์ด้านค่าตอบแทนที่เหมาะสมในการนำเสนอกับฝ่ายบริหารได้แล้วนะครับ