ถึงแม้จะเข้ามาในเมืองไทยหลายปีแล้ว แต่เรียกได้ว่าก็ยังได้รับความสนใจในการปลูกอยู่เรื่อยๆ สำหรับ “การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์” หรือการปลูกผักในสารละลายธาตุอาหารในรูปของอิออน ไม่ใช้ดิน ไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช ใช้น้ำน้อย ที่เรายังคงเห็นหลายคนหันมาปลูกผักชนิดนี้เป็นอาชีพ หรือแม้แต่ทำเป็นงานอดิเรก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ มีผู้ปลูกหน้าใหม่และหายไปอยู่เสมอ

แล้วปัจจุบันผักไฮโดรโปนิกส์ยังเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ มติชนอคาเดมีคุยกับ “ปกรณ์ พิสุทธิ์ชาน” เจ้าของบริษัท ไฮโดรแพลนท์ จำกัด ผู้ขายเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะผักไฮโดรโปนิกส์ รวมไปถึงให้คำปรึกษาในการปลูกผักไฮโดรฯและการทำการตลาด นอกจากนี้ “ปกรณ์” ยังเป็นวิทยากรสอนปลูกผักไฮโดรฯที่ “มติชนอคาเดมี” ด้วย

เทรนด์สุขภาพมา ผักไฮโดรฯยังขายได้

“ปกรณ์” พูดถึงภาพรวมของธุรกิจไฮโดรโปนิกส์ในไทยให้ฟังว่า 10 ปีที่แล้วคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักผักไฮโดรโปนิกส์มากนัก แต่ปัจจุบันเรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็เห็นผักไฮโดรโปนิกส์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เองก็อยากไปทำการเกษตรที่บ้านเกิด แต่เกษตรรูปแบบเดิมไม่ก่อให้เกิดรายได้เยอะ ขณะเดียวกันไฮโดรโปนิกส์มีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งคนรุ่นใหม่มีความรู้และเข้าใจเรื่องนี้ได้เร็ว จึงทำให้คนรู้จักผักไฮโดรโปนิกส์มากขึ้นนั่นเอง

“นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งยังมาจากเรื่องของเทรนด์รักสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อม ที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง ทำให้เกิดอาชีพที่แตกยอดไปจากการปลูกผักไฮโดรฯ เช่น การนำผักไปทำสลัดโรล หรือนำไปใช้เมนูอาหารต่างๆ จนปัจจุบันในบางฤดูกาลผักไฮโดรโปนิกส์ในประเทศไทยไม่พอจำหน่าย” ปกรณ์กล่าว

โดยช่วง 3-4 ปีก่อน ประเทศไทยมีการนำเข้าผักไฮโดรโปนิกส์จากประเทศมาเลเซียในปริมาณที่ค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันการนำเข้าลดลง และจะนำเข้ามาในช่วงที่ผักขาดตลาดจริงๆ เท่านั้น คือ ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน แต่โดยหลักแล้วจะใช้ผักภายในประเทศ

ปกรณ์ พิสุทธิ์ชาน

จะปลูกให้ได้ดี ต้องมีความรู้ การตลาดต้องได้

ปกรณ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผักไฮโดรโปนิกส์ไม่พอจำหน่าย เนื่องจากการปลูกนั้นต้องอาศัยองค์ความรู้ ซึ่งบางคนคิดว่าทำง่าย และไปทำเองแบบลองผิดลองถูก แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ รสชาติผักยังไม่ได้ ผักเป็นโรค หลายคนท้อ จึงทำให้มีฟาร์มที่เกิดใหม่ และฟาร์มที่ดับไป แต่อาจยังบอกไม่ได้ว่าประเภทไหนมีมากกว่ากัน

“คนที่มีความรู้ที่ถูกต้อง เขาก็จะมีแต่ขยายและพัฒนาต่อยอด สังเกตว่าจะมีฟาร์มที่ประสบความสำเร็จและขยายต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งฟาร์มเหล่านี้จะเป็นฟาร์มที่สนใจเรื่องมารร์เก็ตติ้งหรือการตลาด หรือเอาเรื่องการตลาดมาให้ผู้รู้หรือที่ปรึกษาดูแล ซึ่งจะทำให้การเติบโตไปได้เร็วกว่าฟาร์มที่ไม่ได้สนใจเรื่องการตลาด” ปกรณ์กล่าว และว่า บางคนไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ทำให้ใช้เวลาเยอะกว่า พอคนที่ลองผิดลองถูกเองเสียเวลา ก็จะรู้สึกท้อและเลิกทำไป เพราะบางคนคิดว่าการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ใช้หลักวิศวกรรม แต่จริงๆ แล้วใช้หลักวิศวกรรม

ทั้งนี้ ในคอร์สเรียนของ “ปกรณ์” ที่สอนที่มติชนอคาเดมี นอกจากจะสอนการปลูกแล้ว ยังเน้นไปที่เรื่องการตลาด เช่น การนำผลผลิตจากฟาร์มไปแนะนำให้ร้านอาหารที่อยู่ในบริเวณฟาร์มได้รู้จัก ซึ่งทำให้เวลาทำฟาร์ม จึงต้องดูด้วยว่าทำเลที่ตั้งคุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่

เริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 3 แสน

ปกรณ์ยังกล่าวอีกว่า ต้นทุนของการทำเป็นอาชีพที่ลงทุนต่ำที่สุดแล้วได้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้ออยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท ซึ่งจริงๆ แล้วจะใช้ต้นทุนต่ำกว่านี้ก็ได้ แต่ต้นทุนต่อต้นจะแพงขึ้น ดังนั้น ราคานี้จึงเป็นราคาที่พอเลี้ยงตัวเองได้ แต่ถ้าจะให้ดีต้องปลูกเยอะๆ แล้วขยาย เพราะยิ่งต้นทุนเยอะต้นทุนจะยิ่งถูกลงเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะทำฟาร์มขนาดใหญ่เลย ต้องทำจากเล็กไปใหญ่ พอมีตลาดแล้วค่อยๆ ขยาย

“ฟาร์มเริ่มต้นสำหรับคนที่จะทำเป็นอาชีพ เงินลงทุน 3 แสนบาทนี้ใช้พื้นที่ประมาณ 50-60 ตารางวา อาจดูเล็กแต่เราต้องมีการวางแผนการปลูก ซึ่งผมจะออกแบบให้ออกวันละ 5 วัน/รอบ รอบละ 30 กิโลกรัม จะได้คุ้มที่สุด เพื่อให้มีเงินมาหมุน ซึ่งการปลูกผักสลัดก็ดีตรงที่ว่าทำให้เรามีเงินมาหมุนเร็ว และควบคุมปัจจัยภายนอกจากการเกษตรได้หมด ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่าแรง อะไรต่างๆ ทำให้จะไม่มีเออเร่อเยอะ”

เทรนด์ปลูกเป็นงานอดิเรกมาแรง

จากธุรกิจของปกรณ์ที่ทำบริษัทเกี่ยวกับไฮโดรโปนิกส์แบบครบวงจร ตั้งแต่เมล็ดไปจนถึงวัสดุปลูก และให้คำปรึกษาด้วย พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะปลูกเป็นงานอดิเรก หรือปลูกไว้กินเองที่บ้าน เพราะที่ดินในกรุงเทพฯมีน้อย อีกกลุ่มคือวัยเกษียณ ที่อยากจะมีอะไรทำในช่วงบั้นปลาย หรือเพื่อก่อให้เกิดรายได้ด้วย และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มครอบครัว ที่ลูกๆ อาจหางานอดิเรกให้พ่อแม่วัยเกษียณทำ หรือบางครั้งเป็นผู้ปกครองที่ส่งเสริมให้ลูกๆ หัดปลูกผัก

“โดยลูกค้าของเรามาจากการตลาดบนออนไลน์ที่เราทำมาตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นเพจ กูเกิลแอด ไลน์แอด เพราะเทรนด์ของออนไลน์มาร์เก็ตติ้งมาแรง เข้าถึงคนง่าย ลงทุนต่ำ เราจึงใช้เรื่องนี้เป็นหลัก”

ปัจจุบันสินค้าที่ไฮโดรแพลนท์ขายดีที่สุดคือชุดงานอดิเรกสำหรับครอบครัว ถ้าปลูกไว้กินเองก็ประมาณ 6-7 พันบาท มีขนาด 1×1 เมตร ซึ่งจะติดตั้งให้ด้วย แต่ถ้าเป็นชุดเล็กๆ เลยราคา 2 พันบาทก็มี ซึ่งเป็นชุดเล็กที่ให้นำไปทดลองก่อนทำจริงในอนาคต อย่างไรก็ตาม แต่หากต้องการปลูกขายหรือต้องทำเป็นอาชีพ ต้องมีการตรวจคุณภาพด้วย เช่น GMP Qmark

“ปกรณ์” กล่าวทิ้งท้ายว่า อนาคตของผักไฮโดรโปนิกส์นั้น มองว่าคงไม่ค่อยมีการตัดราคากัน แต่จะมีคนที่ทำฟาร์มนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายคนที่จะอยู่ได้จริงๆ คือคนที่มีองคืความรู้ จริงใจกับลูกค้า และซื่อสัตย์กับผู้บริโภค