เรื่อง : ณัฐกานต์ สอนโยหา

การที่จะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและเติบโตได้นั้น นับเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการมือใหม่ ที่ต้องวางรากฐาน เป้าหมาย และวางแผนเรื่องการดำเนินธุรกิจให้สามารถดำรงอยู่ได้ในยุคสมัยที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น

โดยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะสามารถทำให้ธุรกิจนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ก็ยังมีองค์ประกอบอีกหลายส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน จะมีอะไรบ้างนั้น ลองไปดูแนวคิดจากการบรรยายเรื่อง “ปรับเปลี่ยนวิธีคิดธุรกิจยุคดิจิทัล” ในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การเตรียมพร้อมนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ (New Food Warrior 2019) โครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพประจำปีงบประมาณ 2562

ดร.ณัฐรินทร์ เนียมประดิษฐ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าส่งเสริมพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี กล่าวถึงวิธีคิดและจุดเริ่มต้นของการทำโครงการดังกล่าวว่า สินค้าและอาหารของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันออกไป แต่ที่ประเทศไทยนั้นยังไม่มีอาหารแปรรูปที่เห็นแล้วทำให้นึกถึงประเทศไทย จึงริเริ่มที่จะเข้ามาผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการมือใหม่ หรือที่เรียกว่า “นักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่” ให้มีความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค และผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในยุคดิจิทัล

ดร. ณัฐรินทร์ เนียมประดิษฐ์ ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าส่งเสริมพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี

“หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าเคยได้ยินคำว่า ‘เอดิสันไม่ได้ผลิตหลอดไฟขึ้นจากการพัฒนาเทียนไข แต่เกิดจากความคิดของเขาเอง’ ซึ่งเป็นเรื่องจริง หลายคนอาจคิดว่าต้องใช้กระบวนการในการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ความจริงเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น นั่นก็คือหลอดไฟไม่ได้เกิดจากการพัฒนาเทียนไข แต่เกิดจากการพัฒนาแนวคิดที่ได้จากแสงสว่างจนกลายเป็นหลอดไฟขึ้นมาในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นในกระบวนการ Design Thinking จึงเป็นกระบวนการคิดที่ต้องพัฒนาจากแนวคิดเดิม แต่ไม่ใช่การต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ แต่เป็นการคิดแบบก้าวกระโดด จนทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา” ดร.ณัฐรินทร์ระบุ

ดร.ณัฐรินทร์กล่าวอีกว่า คนเรามีอยู่ 2 ประเภท นั่นก็คือ 1.Growth Mindset คือคนที่คิดนอกกรอบ แสวงหาสิ่งใหม่อยู่เสมอ 2.Fixed Mindset คือคนที่คิดในกรอบ ปิดกั้นตัวเอง ไม่ออกจาก Comfort Zone ซึ่งการจะเป็นนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีความความรักในสิ่งที่จะทำ มีความต้องการที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ที่สำคัญคือต้องไม่ยอมแพ้ เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดแล้วนำมาพัฒนาและพร้อมที่จะเติบโต นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับวิธีคิดของตัวเราเอง ว่าต้องจะพัฒนาไปในทิศทางใด และผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

“ในอนาคตเราจะได้ยินคำว่า Disrupt มากกว่าคำว่า Change เสียอีก เพราะนี่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลง แต่คือการทำลายทิ้ง กระบวนการที่ต้องการจะสื่อออกมานั่นก็คือ โลกเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เราจึงต้องทำลายกำแพงบางอย่างเพื่อที่เราจะก้าวข้ามไป หรือเราจะเป็นคนที่ย่ำอยู่กับที่แล้วรอให้กำแพงมันทำลายเรา”

ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้แต่วงการค่ายเพลงเองก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ หากไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน จึงต้องนำแนวคิด Business Model เข้ามาใช้ เช่น การขายการบัตรจับมือของศิลปิน ขายการออกอีเวนต์โชว์ตัวต่างๆ business model จึงต้องเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงด้วย ดังนั้น พอมีนวัตกรรมเข้ามา ถ้าหากนักธุรกิจเองยังไม่มีการพัฒนา หรือทุบกำแพงออกไป ก็ทำให้มีโอกาสสูงมากที่ธุรกิจจะไปต่อไม่ได้

“อย่างที่บอกคือเราพยายามยืดอายุสินค้าหลายๆ อย่างให้ได้ยาวขึ้นจากการแปรรูปอาหาร และในขณะเดียวกันก็ยืดคุณภาพให้อยู่ได้นานขึ้นด้วย ถ้าเราสามารถพัฒนานวัตกรรมให้มันทันกับสิ่งที่มันกำลังจะเปลี่ยนแปลง เราก็จะสามารถอยู่รอดได้” ดร. ณัฐรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

ถือเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ควรหันมาให้ความสำคัญในการที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิด จากแนวคิดเดิมๆ ก้าวไปสู่แนวคิดใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ในสภาวะที่ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้

เรื่อง : ภัทรสุดา พิบูลย์

เข้าสู่โลกอนาคตอุตสาหกรรม 4.0 การแข่งขันยุคดิจิทัลจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากประชากรโลกเพิ่มขึ้น พื้นที่ทำการเกษตรลดลง และผลิตอาหารไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค จึงทำให้มีนวัตกรรมอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีด้านอาหารเข้ามาเป็นส่วนช่วยการผลิต แปรรูป และจำหน่ายสินค้า พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาที่มุ่งเน้นคุณภาพด้วย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างนักรบเชิงอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ หรือ New Food Warrior 2019 ภายในงานยังมีการบรรยายเรื่อง “แนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรมปี 2030” โดยนางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ที่มาเปิดเผยข้อมูลการเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต โดยเน้นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี มุ่งสู่การผลิตอาหารอนาคต เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร

นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมและเทคโนโลยีปี 2030 ว่า ประชากรโลกปัจจุบันมีทั้งหมด 7.5 พันล้านคน หากนับจากวันนี้ไปจนถึงปี 2030 ประชากรจะเพิ่มขึ้นอีก 1 พันล้านคน พร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นอีก 16.5% ดังนั้นอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องเตรียมรับจำนวนประชากร และผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

“เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น สิ่งที่ลดลงก็คือเรื่องพื้นที่ เพราะพื้นที่ถูกนำไปสร้างตึก และรถไฟฟ้า แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคิอความต้องการด้านอาหาร ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และผลิตอาหารในรูปแบบใหม่ที่ อาหารที่บริโภคในปริมาณน้อย แต่ในปริมาณนั้นต้องให้พลังงานและโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งสอดแทรกคุณค่าทางโภชนาการด้วย”

นางนิตยากล่าวต่อว่า ส่วนเศรษฐกิจโลกที่กำลังเติบโตในแถบภูมิภาคเอเชีย ด้วยจำนวนประชากรที่มากขึ้น ถือเป็นโอกาสให้นักธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาแปรรูปอาหารให้เป็นสินค้าในรูปแบบใหม่ และเข้ากับการดำรงชีวิต อย่างเช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันผู้สูงอายุจะเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และมีรสนิยม กำลังซื้อมากขึ้น หากอยากให้สินค้าขายได้ ก็ต้องมีจิตวิทยาต่างๆ ในการดึงดูดลูกค้า เช่น ใส่ข้อความลงในแพ็คเกจจิ้งที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกแก่

ขณะที่ผู้หญิงในปัจจุบันเริ่มออกมาทำงานมากขึ้น จึงมีอิทธิพลสูงในการจับจ่ายใช้สอย ส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานะโสด หรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะดูในเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ หรือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแบบสำเร็จรูป สามารถพกพา และราคาพอใช้ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ดูทันสมัยเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องตอบโจทย์กับกลุ่มคนเหล่านี้ และหากอยากให้สินค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น จะต้องเน้นเรื่องของคุณภาพอาหารด้วย

“เพราะคนส่วนใหญ่มักจะชอบกินอาหารสดๆ เหมือนอยู่ในชาม ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรนำกระบวนการเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถถนอมอาหาร เก็บได้นาน แต่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ปลอดภัย และทรงคุณค่าทางอาหาร มาเป็นนวัตกรรมในการผลิต”

รองผู้อำนวยการสถาบันอาหารกล่าวทิ้งท้ายว่า การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาแปรรูปอาหาร หรือนำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต จะทำให้ธุรกิจอาหารง่ายขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสเข้าสู่โลกอนาคต ที่ให้เห็นถึงการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยี หากอยากให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพ และความต้องการของผู้บริโภค