เปิดสูตร 5 อาหารพม่ารสโอชา ที่คุณสามารถทำเองได้ที่บ้าน วัตถุดิบหาไม่ยาก

มินกว่ายูเอ๊ดโตะ ยำใบบัวบก สลัดน้ำใสพม่า

“มินกว่ายูเอ๊ดโตะ” คือยำใบบัวบกของพม่า “มินกว่า” หมายถึงใบบัวบก “โตะ” หมายถึงยำ มินกว่ายูเอ๊ตโตะเป็นอาหารว่างของชาวพม่า หรือกินร่วมกับอาหารจานอื่นๆ ในสำรับ ชาวพม่านิยมกินโดยทั่วไป โดยเฉพาะทางแถบรัฐฉานซึ่งเป็นถิ่นของชาวไทใหญ่ และเมืองมัณฑะเลย์ ในเมืองไทยก็หากินได้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่นั้นมีร้านหนึ่งบนถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 13 ชื่อร้าน Burmese Restaurant and Library เจ้าของร้านมาจากเมืองตองยี ทำอาหารประเภทนี้ได้อร่อยนัก

ชาวพม่านิยมมาสมาคมกันในร้านน้ำชาเพื่อพบปะ พูดคุย นั่งเล่น ก็เลยต้องมีของขบเคี้ยวไว้ให้เคี้ยวเพลินๆ ระหว่างการสนทนาและดื่มน้ำชา ของว่างที่นิยมมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นยำใบเมี่ยงหรือยำใบชาที่เรียกว่า “ละเพะโตะ” แต่จะกินใบชากันทั้งวันก็คงตาแข็งไม่ได้หลับได้นอนกันพอดี เราก็เลี่ยงไปกินอย่างอื่นเช่น ยำใบบัวบกจานนี้ หรือถ้าเป็นฤดูฝนที่ต้นมะขามแตกใบอ่อน ก็เอามายำอรอย เพราะใบมะขามมีรสเปรี้ยวๆ มันๆ กินอร่อยนัก

ยำใบบัวบกนี้ก็คล้ายกับยำเมี่ยง เพียงแค่เปลี่ยนจากใบเมี่ยงเป็นใบบัวบกที่บางถิ่นเรียกว่าผักหนอก เพียงแต่ปริมาณใบบัวบกจะมากกว่าหน่อย วิธีทำคือเอาใบบัวบกมาซอย ใส่มะเขือเทศซอย หอมแดงซอย พริกขี้หนูสักหน่อย ใส่สารพัดถั่วทอดอย่างละนิดละหน่อย อันได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วแปยี ถั่วลูกไก่ งาขาวคั่ว กุ้งแห้งทอด กระเทียมเจียว ใส่ผงถั่วลูกไก่คั่ว (Gram flour/ Roasted Chickpea flour) บางสูตรจะใส่ถั่วเน่าย่างแล้วป่นลงไปด้วย น้ำยำนั้นประกอบไปด้วยมะนาว น้ำปลาหรือซีอิ๊ว และน้ำมันถั่วลิสง

อาหารพม่านั้นน้ำมันแทบจะเป็นส่วนสำคัญเลยทีเดียว คนพม่าชอบกินของมันๆ แม้แต่ยำก็ต้องใส่น้ำมัน น้ำยำของพม่านี้ถ้าเปรียบเทียบกับอาหารของชาวตะวันตกก็คงเป็นสลัดน้ำใสนั่นเอง

เดี๋ยวนี้เมืองไทยมีชาวพม่ามาทำงานอยู่มากมาย บางทีเธออาจจะอยู่ในครัวบ้านคุณแล้วก็ได้ ดั้งนั้น วัตถุดิบต่างๆ ในการปรุงอาหารพม่าจึงหาซื้อได้ไม่ยากนัก หาได้ตามแหล่งที่มีชาวพม่าอาศัยอยู่ บางแห่งเป็นตลาดพม่าใหญ่โตเลยทีเดียว เช่น แถวมหาชัย มีตลาดมหาชัยนิเวศน์ เป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของชาวพม่าและมอญที่อาศัยอยู่ ชาวมอญนั้นอาศัยอยู่มานานแล้ว ในแหล่งขายของแขกก็มีขาย เช่น ที่พาหุรัด

เมื่อวัตถุดิบครบแล้วก็ลงมือปรุงได้เลย นำชามโคมหนึ่งใบ ใส่ส่วนผสมต่างๆ ลงไปแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ง่ายๆ แค่นี้แต่รับรองว่าติดใจและยังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพชั้นยอด

ส่วนผสม

-ใบบัวบก มะเขือเทศ หอมแดง พริกขี้หนู

-ถั่วทอด : ถั่วแปยี ถั่วกาละแบ ถั่วปากอ้า ถั่วลิสง

-กุ้งแห้งทอด งาขาวคั่ว

-กระเทียมเจียว ผงถั่วลูกไก่คั่ว

-น้ำยำ : มะนาว น้ำปลา หรือซีอิ๊ว น้ำมันถั่วลิสง

วิธีทำ

ซอยส่วนผสมที่เป็นผักทุกอย่าง-ทอดถั่ว กุ้งแห้ง-คั่วงา-เจียวกระเทียม ปรุงรสด้วยมะนาว น้ำปลา หรือซีอิ๊ว น้ำมันถั่วลิสง-ใส่ผงถั่วลูกไก่คั่ว-คลุกเคล้าเข้ากัน


 

โมฮิงกา ขนมจีนรวมชาติ

“โมฮิงกา” เป็นอาหารยอดนิยมของพม่า จนอาจจะนับได้ว่าเป็นอาหารประจำชาติ เพราะหากพูดถึงอาหารพม่า แทบทุกคนจะต้องนึกถึงโมฮิงกาเป็นอย่างแรก คนพม่ามักจะกินกันเป็นอาหารเช้าและยังกินได้ทั้งวัน คนพม่านั้นนิยมเข้าร้านน้ำชาที่เรียกว่า “ละเพะไซ” ซึ่งร้านน้ำชาของพม่านอกจากจะขายน้ำชาแล้วก็ยังขายอาหารต่างๆ ด้วย เช่น ขนมทอดนานาชนิด ผักทอดที่เรียกว่า “อะจ่อ” เป็นของทอดของพม่า เช่น กล้วยทอด ถั่วทอด ซาโมซา บาเยีย อิ่วจาก๊วย น้ำเต้า และผักทอดต่างๆ หลายแห่งก็จะขายโมฮิงกาด้วย นอกจากร้านน้ำชาแล้วก็จะมีหาบเร่ รถสามล้อถีบ แผงลอยขายโมฮิงกาอยู่ทั่วไปตามทาง เรียกได้ว่าไปที่ไหนก็ต้องเจอขนมจีนพม่านี้ สันนิษฐานว่าชาวพม่านั้นกินโมฮิงกามาตั้งแต่สมัยพยู ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1-9 ซึ่งเก่าแก่กว่าอาณาจักรพุกามเสียอีก

โมฮิงกาคือขนมจีนพม่าที่มีน้ำแกงทำจากปลา มักเป็นปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาไน และปลาชนิดอื่นๆ หรือจะใช้ปลาหลายชนิดผสมกันก็ได้ ใสเครื่องแกงที่มีส่วนผสมของพริกแห้ง ตะไคร้ หัวหอม กระเทียม ขิง ผงขมิ้น หอมใหญ่ ใส่เนื้อปลาและหยวกกล้วย เวลากินจะโรยหน้าด้วยแป้งทอด ผักทอด หรืออิ่วจาก๊วย ใส่ไข่ต้มและผักชี น้ำของแกงจะมีสีเหลืองของขมิ้น มีลักษณะข้นเพราะใส่แป้งถั่วลูกไก่ที่เรียกว่า “แป้งแกรม” (Gram flour/Chickpea flour)

เมื่อเราสั่งโมฮิงกา หม่องคนขายจะหยิบขนมจีนลงในชาม แล้วราดน้ำแกงลงไป ใส่ไข่ต้มหั่นครึ่ง และผักชุบแป้งทอดหั่นหรือบิให้แตกเป็นชิ้นเล็ก หรือใส่อิ่วจาก๊วยหั่นเป็นชิ้นๆเอาไปทอดกรอบอีกทีแทนก็ได้ โรยหน้าด้วยผักชี ก็พร้อมรับประทาน อาจเตรียมพริก น้ำปลา พริกป่น และมะนาวไว้เพื่อปรุงรสเพิ่มตามชอบ

โมฮิงกาเป็นอาหารที่มีการผสมผสานรสสัมผัสทั้งความนุ่มของเส้นขนมจีน ความกรอบของแป้งทอด และหยวกกล้วย กับน้ำซุปร้อนๆ หอมกลิ่นสมุนไพรอ่อนๆ ถ้าได้กินในยามเช้าก็คงปลุกร่างกายและจิตใจให้ตื่นมารับวันใหม่ได้เป็นอย่างดี

ด้วยความที่คนพม่าชื่นชอบโมฮิงกาโดยไม่แยกเผ่า ไม่แยกชาติพันธุ์ ไม่แยกศาสนา และการเมือง ฉันของเรียกโมฮิงกาว่า “ขนมจีนรวมชาติ” แล้วกัน

ส่วนผสม

-ขนมจีน

-เนื้อปลา (ปลาดุก หรือปลาช่อน) ตะไคร้ น้ำ

-เครื่องแกง : พริกแห้ง ตะไคร้ หัวหอม หอมใหญ่ กระเทียม ขิง

-หยวกกล้วย ผงขมิ้น

-น้ำมันถั่วลิสง หอมใหญ่ ข้าวคั่ว ผงถั่วลูกไก่คั่ว พริกไทย น้ำปลา

-แป้งทอด ผักทอด หรืออิ่วจาก๊วยทอด

-กระเทียม หอม

-ไข่ต้ม ผักชี มะนาว พริกป่น

วิธีทำ

1.เอาหม้อใส่น้ำต้มให้เดือด-ใส่ตะไคร้ทุบ-ต้มปลาให้สุก-แกะเอาแต่เนื้อปลาพักไว้ กระดูกและหัวปลาให้ต้มต่อไปแล้วกรองเอาแต่น้ำสต๊อก

2.โขลกพริกแห้ง ตะไคร้ หัวหอม หอมใหญ่ กระเทียม ขิง แล้วพักไว้

3.หม้ออีกใบใส่น้ำ ผงขมิ้น-ต้มหยวกกล้วยที่หั่นเป็นแว่น

4.ตั้งกระทะ ผัดเครื่องแกงกับน้ำมัน-ใส่หอมใหญ่ ผงขมิ้น เนื้อปลา หยวกกล้วย ผัดให้เข้ากัน-ย้ายลงหม้อต้มปลา-ใส่ข้าวคั่ว-ผงลูกไก่คั่ว พริกไทย-เติมน้ำต้มหยวกกล้วย-เคี่ยวให้เปื่อย-ปรุงรสด้วยน้ำปลา

5.เจียวหอม-กระเทียม

6.ต้มไข่-ปอกเปลือก-ไข่ส่วนหนึ่งหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมลงไปใน
หม้อแกง-อีกส่วนผ่าครึ่งพักไว้

7.ในชาม-ใส่ขนมจีน-ราดน้ำแกง-ใสไข่ต้ม-แป้งทอด หรือผักชุบแป้งทอด โรยด้วยหอมเจียว ผักชี

8.เสิร์ฟพร้อมพริกป่นและมะนาว


 

ขอคสเวโตะ หมี่ยำพม่า

ชาวพม่านอกจากกินข้าวเป็นอาหารหลักแล้วยังนิยมอาหารเส้นด้วยอาหารเส้นของพม่ามีหลายอย่าง ได้แก่ เส้นที่ทำมาจากข้าวเจ้า เช่น ขนมจีน และเส้นข้าวซอยไทใหญ่ที่คล้ายๆ เส้นเฝอของเวียดนาม นอกจากนี้ก็ยังมีเส้นที่ทำมาจากแป้งสาลีและไข่แบบเส้นบะหมี่ของจีน

“ขอคสเวโตะ” หรือข้าวซอยโตะ มาจากคำว่า “ขอคสเว” หมายถึงเส้น “โตะ” หมายถึงยำ ขอคสเวโตะก็คือหมี่ยำพม่านั่นเอง ข้าวซอยโตะมีขายทั่วไปในพม่า เป็นอาหารริมทางอย่างที่เรียกกันว่าสรีตฟู้ด หมี่ยำนี้มีเอกลักษณ์สำคัญในการทำ คือจะยำด้วยมือเปล่า ไม่ใส่ถุงมือ ซึ่งดูแล้วอาจจะไม่ถูกสุขอนามัย แต่ชาวพม่า
ก็กินของเขาอย่างนั้น ชาวต่างถิ่นอาจจะทำใจรับยากสักหน่อย

ส่วนผสมสำคัญคือ เส้นข้าวซอย ซึ่งทำมาจากแป้งสาลีและไข่ คล้ายบะหมี่เส้นแบน แต่หนากว่า เป็นเส้นแบบแห้งขายเป็นมัดๆ เวลาใช้ต้องนำไปต้มให้สุกก่อน ใส่กะหล่ำปลีซอย แตงกวาซอยละเอียด ต้นหอมซอย ผักชีซอย เต้าหู้ทอด ผงถั่วลูกไก่ทอด (Roasted gram flour) ที่ทำมาจากถั่วลูกไก่ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าถั่วชิกพี (Chickpea)ใส่หอมเจียว กระเทียมเจียว เครื่องปรุงก็มีเพียงซีอิ๊ว น้ำมันถั่วลิสง และน้ำพริกที่ทำจากพริกป่นนำไปผัดกับน้ำมัน

วิธีก็นำส่วนผสมทุกอย่างใส่ลงในชามโคมแล้วลงมือคลุกเคล้าให้เข้ากัน เพียงเท่านี้ก็พร้อมรับประทาน มักจะเสิร์ฟพร้อมกับถ้วยน้ำซุปใสร้อนๆ ข้าวซอยโตะนี้ก็คือบะหมี่แห้งอย่างหนึ่งนั้นเอง ทำง่ายๆ อย่างนี้แต่อร่อยเหลือเกิน นึกแล้วก็อยากกินขึ้นมาในทันใด

วัตถุดิบต่างๆ นั้นหาซื้อได้ทั่วไป เส้นข้าวซอยก็มีวางขางในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือถ้าได้ไปเมืองเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ไปซื้อที่นั่นจะถูกกว่า ส่วนผงถั่วลูกไก่คั่วก็มีขายตามตลาดพม่าเสมอ เช่น ตลาดไท บางบอน และมหาชัย

ส่วนผสม

-เส้นข้าวซอย

-กะหล่ำปลี แตงกวา ต้นหอม ผักชี

-เต้าหู้ น้ำมันถั่วลิสง

-หอมเจียว กระเทียมเจียว

-พริกป่น ผงถั่วลูกไก่คั่ว ซีอิ๊ว น้ำมันถั่วลิสง

วิธีทำ

1.ต้นเส้นข้าวซอย

2.ซอยกะหล่ำปลี แตงกวา ต้นหอม ผักชี

3.ทอดเต้าหู้ หั่นเป็นชิ้นเล็ก

4.เจียวหอมและกระเทียม

5.ผัดพริกป่นกับน้ำมัน

6.ผสมเส้นข้าวซอย กะหล่ำปลีซอย แตงกวาซอย ต้นหอมซอย ผักชีซอย เต้าหู้ทอด ผงถั่วลูกไก่คั่ว หอมเจียว กระเทียมเจียว ซีอิ๊ว น้ำมันถั่วลิสง และน้ำพริก คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน


 

นานจีโตะ ยำขนมจีนแกงไก่มัณฑะเลย์

“นานจีโตะ” คือยำขนมจีนของพม่า โดยใช้ขนมจีนเส้นใหญ่แบบเดียวกับที่ใส่ในขนมจีนไหหลำที่เรียกว่า “นานจี” ส่วนคำว่า “โตะ” นั้นแปลว่ายำ อาหารจานนี้เรียกว่า “มัณฑะเลย์ มอญดิ” เพราะเป็นอาหารพื้นเมืองมัณฑะเลย์ ส่วนคำว่า “มอญดิ” นั้นเป็นคำที่ใช้เรียกขนมจีน เป็นการบอกต้นกำเนิดของขนมจีนว่ามีต้นกำเนิดจากชาวมอญ ขนมจีนนำมาใส่แกงไก่ โรยด้วยเครื่องทอดกรอบ ชาวพม่ามักกินเป็นอาหารเช้าหรืออาหารเที่ยง

อย่างแรกเลยคือต้องมีแกงไก่ แกงไก่นี้อาจเป็นอาหารเหลือจากมื้อก่อนหน้าแล้วนำมาต่อยอดเป็นอาหารจานใหม่ แต่หากไม่มีเราก็มาทำแกงไก่กันซึ่งก็ไม่ยาก ส่วนผสมมีเนื้อไก่หั่นเป็นชิ้น หอม กระเทียม ขิง ผงขมิ้น ผงมะสะหล่า (Masala) พริกป่น น้ำมันถั่วลิสง

วิธีทำแกงไก่เริ่มจากตั้งกระทะใส่น้ำมันถั่วลิสง ใส่ผงขมิ้น ตามด้วยหอม กระทียม ขิง แล้วใส่ไก่ลงผัด ใส่พริกป่น ถ้ามีพริกแบบสีแดงแต่ไม่ค่อยเผ็ดอย่างพริกปาปริกาหรือพริกเกาหลีก็จะทำให้สีสวย ปรุงรสด้วยเกลือให้หนักเค็มไว้ เพราะเวลาไปคลุกกับเส้นรสชาติจะได้พอดี ผัดสักครู่แล้วเติมน้ำเล็กน้อย เคี่ยวไปสักพัก
เมื่อไก่สุกดีก็ใส่ผงมะสะหล่าลงไปแล้วเคี่ยวต่อจนเนื้อไก่นุ่ม

เตรียมขนมจีนเส้นใหญ่ เครื่องกรอบโรยหน้าจะเป็นบะหมี่ทอด เอาแผ่นเกี๊ยวมาทอด หรือจะใช้แป้งทอด ได้ทั้งนั้น หอมเจียว ผงถั่งลูกไก่คั่ว หอมซอย ผักชี มะนาว ถ้าอยากจะใส่ผักด้วยให้ใส่ถั่วงอกลวกและกะหล่ำปลีซอย

เมื่อมีเครื่องครบก็นำเส้นขนมจีนมาใส่ในชามโคมใบใหญ่ ใส่แกงไก่ หอมเจียวและน้ำมันเจียวหอม ผงถั่วลูกไก่คั่ว ต้นหอม บีบมะนาวลงไปหน่อยแล้วใช้มือคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่จานเสิร์ฟ วางไข่ต้มลงไป โรยหน้าด้วยแป้งทอดกรอบ เสิร์ฟกับน้ำแกงจืดถ้วยหนึ่งไว้กันฝืดคอ

แกงไก่

ส่วนผสม

เนื้อไก่ หอมแดง กระเทียม ขิงสับ พริกป่น ผงขมิ้น ผงมะสะหล่า น้ำมันถั่วลิสง น้ำ

วิธีทำ

1.หั่นเนื้อไก่เป็นชิ้น-หอมแดงสับ-กระทียม-ขิงสับ-ตั้งกระทะน้ำมันแล้วใส่ผงขมิ้น หอม กระเทียม ขิงลงไปผัด-ใส่ไก่ลงผัด-เติมพริกป่น เกลือ ผัดให้เข้ากัน-เติมน้ำเคี่ยวจนไก่สุก-ใส่ผงมะสะหล่าเคี่ยวต่อไปจนเข้าเนื้อ

ส่วนผสม

-แกงไก่

-ขนมจีนเส้นใหญ่

-น้ำมันเจียวหอม หอมเจียว ซีอิ๊วขาว ผงถั่วลูกไก่คั่ว ผักชี ต้นหอม มะนาว

-บะหมี่ หรือแผ่นเกี๊ยว น้ำมัน

วิธีทำ

1.ทอดบะหมี่หรือแผ่นเกี๊ยว

2.เจียวหอม

3.ซอยต้นหอม ผักชี

4.ในชามโคมใบใหญ่ใส่ทุกอย่าง แล้วใช้มือคลุกเข้ากัน-โรยด้วยบะหมี่หรือแผ่นเกี๊ยวทอด


 

อุ๊บไก่ข้าวเหลือง คู่รักคู่รสไทใหญ่

“อุ๊บไก่” หรือ “อุ๊กไก่” เป็นอาหารของชาวไทใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉานของประเทศพม่า ทางตอนใต้ของจีน เมืองชายขอบของอินเดีย และลาว รวมทั้งทางภาคเหนือของไทย เช่นในจังหวัด
แม่ฮ่องสอน เชียงราย และตาก เท่ากับว่าอยู่กลางวงล้อมของอำนาจรัฐขนาดใหญ่ทั้งพม่า จีน และไทย

ประชากรของชาวไทใหญ่ในประเทศพม่านั้นมีมากเป็นอันดับสองรองจากชาวพม่า (ม่าน) และมักมีปัญหากระทบกระทั่งกับรัฐบาลพม่า จึงพยายามที่จะเรียกร้องเพื่อเป็นอิสระจากรัฐบาลทหารพม่า
มาโดยตลอด บางส่วนก็ย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัยในประเทศไทย จึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม และทำให้อาหารการกินของชาวล้านนาหลายอย่างได้รับอิทธิพลของอาหารไทใหญ่

“อุ๊บ” นั้นหมายถึงการปรุงอาหารโดยการอบ ในที่นี้หมายถึงการปิดฝาแล้วเคี่ยวรุมๆ จนเนื้อนุ่ม มีน้ำแกงขลุกขลิกรสเข้มข้น อาหารของชาวไทใหญ่เน้นกินผักเป็นหลัก กินเนื้อสัตว์เป็นรอง เนื้อสัตว์ที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นเนื้อไก่นั่นเอง แต่เนื้ออื่นๆ ก็นำมาอุ๊บได้ เช่น เนื้อวัว และเนื้อหมู

อุ๊บไก่นี้แต่ละท้องที่ก็มีสูตรที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่วัตถุดิบที่เหมือนกันคือ ต้องมีไก่ หอม กระเทียม และซีอิ๊ว เนื้อไก่ให้สับเป็นชิ้นทั้งกระดูก ส่วนสะโพกจะอร่อยเพราะเนื้อไม่แห้ง เครื่องแกงประกอบไปด้วยพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ขิง และตะไคร้ ตำหยาบๆ บางสูตรจะใส่ถั่วเน่าปิ้งแล้วตำลงไปด้วย หากไม่มีก็ใช้เต้าเจี้ยวหรือกะปิแทน มะเขือเทศนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ถ้าได้มะเขือส้มก็ยิ่งอร่อย เครื่องปรุงรสมีเพียงซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาวและเกลือ

วิธีทำเริ่มจากนำเนื้อไก่มาหมักกับซีอิ๊วดำและซีอิ๊วขาว ตั้งกระทะใส่เครื่องแกงไปผัดกับน้ำมันจนหอมจึงใส่มะเขือเทศสับลงไป ใส่ไก่ลงไปปรุงรสด้วยเกลือ (บางสูตรจะใส่ผงมะสะหล่าหรือผงฮินแลด้วย) คลุกเคล้าให้ส่วนผสมทั่วชิ้นไก่ ผัดสักพักให้หนังตึงๆ แล้วเติมน้ำพอท่วมชิ้นไก่ ปิดฝาเคี่ยวไฟอ่อนๆ ระยะเวลานานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นไก่บ้านหรือไก่ฟาร์ม ไก่แก่หรือไก่รุ่น เมื่อไก่นุ่มก็เป็นอันใช้ได้ และเหลือน้ำเพียงขลุกขลิก

อุ๊บไก่นี้ถ้าจะให้ดีต้องกินกับข้าวเหนียวหลือง การหุงข้าวเหลืองแบบดั้งเดิมของชาวไทใหญ่เขาไม่ได้ใส่หญ้าฝรั่นหรือขมิ้น แต่สีเหลืองนั้นจะมาจากสีของดอกกู้ด โดยนำดอกกู้ดแห้งไปต้มหรือแช่น้ำร้อนเพื่อให้สีละลายออกมาในน้ำ แล้วน้ำมันนั้นไปหุงกับข้าวเหนียว ดอกกู้ดนี้คงหายากในเมืองไทย แต่หาได้ในเมืองเชียงตุง หรือในถิ่นที่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ จึงอนุโลมให้ใส่ขมิ้นแทน เมื่อข้าวสุกจะมีสีเหลืองสวย ตักข้าวใส่ชามโคมใบใหญ่คลุกกับน้ำมันเจียวหอม ใส่เกลือสักนิดพอให้มีรสปะแล่มๆ เอาหอมเจียวโรยหน้า ข้าวเหลืองนี้ทั้งสวยทั้งหอมกินกับอุ๊บไก่อร่อยดี อุ๊บไก่ข้าวเหลืองช่างเกิดมาคู่กันโดยแท้

อุ๊บไก่

ส่วนผสม

-ไก่ส่วนสะโพก มะเขือเทศ

-พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ขิง ตะไคร้ ถั่วเน่า

-ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว เกลือ มะสะหล่า

-น้ำมัน น้ำ

วิธีทำ

1.สับไก่หมักกับซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว

2.หั่นมะเขือเทศ

3.ตำพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ขิง ตะไคร้ ถั่วเน่า

4.ผัดเครื่องแกงกับน้ำมัน-ใส่มะเขือเทศ-ใส่ไก่ลงผัด-ใส่เกลือ-ผงมะสะหล่า-เติมน้ำ-ปิดฝาเคี่ยวจนไก่นุ่ม

ข้าวเหลือง

ส่วนผสม

ข้าวเหนียว ดอกกู้ดแห้ง หรือขมิ้น น้ำ หอมแดง น้ำมันถั่วลิสง เกลือ

วิธีทำ

1.ดอกกู้ดแห้งต้มหรือแช่น้ำร้อน3-5นาที

2.ข้าวเหนียวใส่น้ำแช่ดอกผักกู้ด-เติมน้ำให้พอดี-หุง

3.ซอยหอมแดง-เจียวหอมแดง

4.ข้าวเหนียวสุก-คลุกเกลือ-น้ำมันหอมเจียว-โรยหอมเจียว


ที่มา หนังสือโอชาอาเซียน สนพ.มติชน

“ละเพะโตะ” คือ ยำใบเมี่ยง หรือยำใบชา “ละเพะ” แปลว่า ชา “โตะ” แปลว่ายำ ยำใบชานี้เป็นอาหารว่างยอดนิยมของชาวพม่า ไม่ว่าไปที่ไหนในพม่าจะต้องเห็นถาดเครื่องเขินที่เรียกว่า “ละเพะอ๊ก” เป็นช่องๆ มีฝาปิดใส่เครื่องละเพะโตะวางไว้รับแขกพร้อมกับกาน้ำชาเสมอ เครื่องละเพะในถาดนั้นประกอบด้วยใบชาหมัก และถั่วทอดชนิดต่างๆ ได้แก่ ถั่วแปยี (ถั่วแปะหลอ) ถั่วกาละแบ (ถั่วลูกไก่) ถั่วปากอ้า ถั่วลิสง งาขาวคั่ว กุ้งแห้งทอด (กุ้งนี้จะทอดทั้งตัว หรือเอาไปตำให้ฟูก็ได้) กระเทียมสด กระเทียมเจียว ชิงดองซอย มะพร้าวคั่ว พริกขี้หนู และมะเขือเทศ จะมากน้อยชนิดก็แล้วแต่ ใส่แยกไว้เป็นช่องๆ เพื่อให้แขกไปใครมาเลือกหยิบกินได้ตามชอบใจ เคี้ยวไป คุยไป จิบน้ำชาไป ภาพแบบนี้เป็นภาพชินตาที่เห็นได้ทั่วไปในพม่า

นอกจากกินเป็นอาหารว่างแล้วในพิธีกรรมต่างๆของชาวพม่าก็จะขาดถาดละเพะอ๊กเสียมิได้ ละเพะแบบนี้ถือเป็นต้นตำรับจากรัฐฉานและเมืองมัณฑะเลย์

ละเพะโตะ

ส่วนผสม
ใบชาหมัก
ถั่วทอด : ถั่วแปยี ถั่วกาละแบ ถั่วปากอ้า ถั่วลิสง
กุ้งแห้งทอด งาขาวคั่ว
กระเทียมสด กระเทียมเจียว มะพร้าวคั่ว
ขิงดองซอย มะเขือเทศ พริกขี้หนู

วิธีทำ
ซอยขิง กระเทียม มะเขือเทศ พริกขี้หนู
ทอดถั่ว กุ้งแห้ง
คั่วงา มะพร้าว
เจียวกระเทียม
ผสมทุกอย่างเข้าด้วยกัน

แต่ถ้ากินกันอย่างบ้านๆนั้น ชาวพม่ามักจะนำมายำรวมกันเรียกว่า “ละเพะโตะ” เป็นละเพะแบบย่างกุ้ง แต่ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะเมืองนี้ เพราะนิยมกินกันทั่วทุกภาพ วิธีทำคือ นำเครื่องละเพะที่กล่าวมาข้างต้นมายำรวมกัน ตัดเอามะพร้าวคั่วออก และใส่มะเขือเทศซอยลงไปด้วย ใครที่ไม่คุ้นกับใบเมี่ยงจะใส่กะหล่ำปลีซอยลงไปผสมด้วยก็ได้ แล้วปรุงรสด้วยน้ำปลา มะนาว ใส่น้ำมันถั่วลิสงลงไปแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงให้รสกลมกล่อมทั้งรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ผสานกับรสสัมผัสที่หลากหลายของเครื่องละเพะ

ต้นชานั้นเป็นพืชพื้นเมืองในพม่า ปลูกกันบนภูเขาโดยชาวปะหล่องในรัฐฉาน พม่าจึงมีใบชามากมาย นอกจากเอาชงดื่มแล้วยังนำไปหมักด้วย การหมักใบชานั้นจะนำใบชาไปนิ่ง นำมาม้วนแล้วบรรจุใส่ตะกร้าไม้ไผ่ที่มีพลาสติกรอง จากนั้นก็เอาหินทับ ให้กระบวนการหมักเป็นไปตามธรรมชาติ เพียงไม่กี่วันก็จะได้ใบชาหมัก ถ้าอยู่เมืองเหนือ การหาซื้อใบเมี่ยงหมักนั้นไม่ยาก เพราะชาวเหนือเคี้ยวเมี่ยงอยู่แล้ว แต่ชาวใต้ก็ไม่ได้ลำบากอะไรนัก เพราะเดี๋ยวนี้มีชุมชนชาวพม่าที่มาเป็นแรงงานอยู่ตามจังหวัดต่างๆมากมาย ที่ไหนมีชุมชนพม่าที่นั่นยอมมีตลาดพม่า และจะต้องมีเครื่องละเพะโตะขาย ซึ่งมีพร้อมสรรพทั้งใบชาหมัก ถั่วทอดรวมมิตร กระเทียมทอด (กระเทียมพม่านั้นเป็นกลีบใหญ่อย่างกระเทียมจีน เขาจะฝานเป็นแผ่นบางๆ เคี้ยวได้เนื้อได้หนังดี) ทุกอย่างมีขายสำเร็จรูป

 


Source โอชาอาเซียน สนพ.มติชน