“อัมพวัน พิชาลัย” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) หรือ SACICT เข้ารับหน้าที่บริหารหน่วยงานแห่งนี้ได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งผลงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” “ศักดิ์สิทธิ์ เพลิน คราฟท์” ฯลฯ ล่าสุดจัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “ทิศทางพัฒนางานจักสานไทย” ล้วนทำให้งานหัตถศิลป์ไทยเป็นที่รู้จักและเปิดมิติออกสู่สาธารณชนมากขึ้น ทั้งรูปแบบ ลวดลาย การดีไซน์ ได้ยกระดับพัฒนาไปอีกขั้น ที่สำคัญมีเป้าหมายของการไต่ชั้นขึ้นระดับโลกเลยทีเดียว “มติชนอคาเดมี” ถือโอกาสสัมภาษณ์ถึงทิศทางการทำงานหัตถศิลป์ของ ศ.ศ.ป.

เริ่มต้น “อัมพวัน” กล่าวถึงกลยุทธ์ในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมของ SACICT ว่าปี 2561 มีการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย หน่วยงานพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการงานหัตถศิลป์ เพื่อต่อยอดและผลักดันให้งานหัตถศิลป์ไทยได้รับความนิยมในวงกว้าง และเป็นหน่วยงานผู้ชี้นำทิศทางและสร้างโอกาสให้กับงานหัตถศิลป์ไทย หรือ Enchancing Navigator เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับงานหัตถศิลป์ไทย และสร้างความเชื่อมั่นในการเติบโตให้เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายสูงขึ้น

“สำหรับงานหัตถกรรมประเภทเครื่องจักสาน เรากำหนดให้เป็น Strategic Product ที่ต้องมีการพัฒนาอย่างครบวงจรและรอบด้านในปี 2561 เนื่องจากมีช่างผู้ผลิตจำนวนมากรองลงมาจากกลุ่มผ้า อีกทั้งมีวัสดุเทคนิคหลากหลาย และมีความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค ในภาพรวมจากการวิเคราะห์เชิงลึก พบว่างานศิลปหัตถกรรมสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทหลักๆ คือ งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านหรืองานหัตถกรรมชุมชน ที่ใช้ทักษะฝีมือจากช่างพื้นบ้าน ผลิตงานหัตถกรรมที่เป็นของใช้สอยทั่วไป เช่น เครื่องจักสาน ผ้าทอ เครื่องปั้นดินเผา อีกประเภทคืองานศิลปหัตถกรรมที่ใช้ทักษะฝีมือชั้นสูง เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า ที่นิยมซื้อเพื่อสะสม หรือเป็นการซื้อเพื่อการลงทุน สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต งานศิลปหัตถกรรมทั้ง 2 ประเภทนี้ยังคงได้รับความนิยม แต่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านรูปแบบ ประโยชน์การใช้สอย วัตถุดิบ และการสร้างคุณค่าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของช่างผู้ผลิต”

สำหรับงานจักสานไทยนั้น ผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. กล่าวว่า มีแนวทางพัฒนาในปี 2561 ดังนี้ 1.จัดทำสำมะโนสมาชิกผู้ผลิตหัตถกรรมจักสานให้เป็นระบบ 2.จัดเวิร์กช็อปแลกเปลี่ยนความรู้ในประเทศไทย โดยมีครูช่างจากต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้เชิงทักษะและการสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาได้ทำไปบ้างแล้ว เช่น เชิญวิทยากรจากประเทศญี่ปุ่นและเวียดนามมาทำเวิร์กช็อปร่วมกับชุมชนที่ จ.ตราด และ จ.นราธิวาส 3.การพัฒนาชิ้นงานใหม่ๆ โดยครูช่างและทายาทด้านหัตถกรรมจักสานด้วยการเดินทางไปศึกษางานในต่างประเทศ เช่น ที่ไต้หวันและฟิลิปปินส์ 4.การเชื่อมโยงให้เกิดการร่วมรังสรรค์ระหว่างช่างและชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการหรือธุรกิจระดับประเทศ ระดับโลก เช่น การทำงานของกลุ่มไม้ไผ่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี และกลุ่ม Pet Lamp จากประเทศสเปน เป็นต้น

อัมพวัน พิชาลัย

นอจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสริมอื่นๆ เช่น การจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถือเป็นกิจกรรมสำคัญ เพราะเป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องด้านการผลิต การออกแบบ และการตลาด มาเป็นแนวทางการพัฒนางานจักสานไทยอย่างครบวงจร สอดรับกับความต้องการจะพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การเกิดโมเดลหรือต้นแบบงานหัตถศิลป์ใหม่ๆ ให้ผู้ผลิตได้ศึกษาทดลองทำและสามารถแข่งขันในตลาดได้ในอนาคต

ส่วนในปี 2562 อัมพวันกล่าวว่า ศ.ศ.ป.ตั้งเป้าหมายในการจัดทำองค์ความรู้ด้านงานจักสานไทยให้ต่อเนื่อง และจะเริ่ม Strategic Product ตัวใหม่ คืองานหัตถกรรมไม้ ซึ่งมีภูมิปัญญาและเทคนิคที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และพัฒนา ทั้งในเชิงของการใช้งานและอุปกรณ์เครื่องมือ นอกจากนี้ยังจะเชื่อมโยงไปสู่ตลาด พร้อมขยายฐานผู้บริโภคงานคราฟต์สู่คนรุ่นใหม่ และขยายการทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น

สำหรับมูลค่าตลาดส่งออกงานจักสานปี 2560 มาจากหลากหลายวัตถุดิบ อาทิ ไม้ไผ่ หว่าย อ้อ กก ปาล์ม ฟางของธัญพืช ย่านลิเภา กระจูด ป่าน ผักตบชวา โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่วนปี 2561 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 35.67% โดยประเทศที่ส่งออกมากสุด คือ อิตาลี รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และสเปน

“สิ่งสำคัญในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต คือการสร้างการมีส่วนร่วมในงานศิลปหัตถกรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต ต้องทำให้ผู้บริโภคมองเห็นว่างานศิลปหัตถกรรมเป็นชิ้นงานที่มีคุณค่าในตัวเอง มีเสน่ห์ บางชิ้นแทบจะเรียกว่ามีชิ้นเดียวในโลก อีกทั้งยังเป็นเรื่องสนุกที่ผู้ซื้อและผู้ผลิตมีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้งานศิลปหัตถกรรมเหล่านั้น ไม่ได้เป็นแค่สิ่งของ วัตถุ แต่เป็นชิ้นงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่า” ผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. กล่าวปิดท้าย