หาอาชีพก่อนเกษียณ

Human of Office ชีวิตมนุษย์เงินเดือน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์


“นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด”

ผมไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าวคำคำนี้ แต่คำพูดดังกล่าวทำให้เราเห็นภาพจริงว่านักการเมืองกับพระราชามีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนต่างกัน

ทั้ง ๆ ที่เป็นการช่วยเหลือเหมือนกัน

แต่ความยั่งยืนในระยะยาวกลับมีความต่างกัน

คำพูดดังกล่าวเบื้องต้น ทำให้ผมนึกถึงวิธีการบริหารจัดการของผู้นำบางองค์กร เพราะเขาคิดว่าสิ่งที่พนักงานทำอยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะทำหน้าที่มนุษย์เงินเดือนของตัวเองอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว เขากลับมีความคิดว่าหากเราติดอาวุธให้พนักงานเหล่านั้น มีอาชีพด้วยจะดีกว่าไหม

โดยเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติการที่มีรายได้น้อย มีภาระค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวค่อนข้างสูง มีพ่อแม่พี่น้องลูกเมียต้องดูแล และอื่น ๆ มากมาย กับพนักงานอีกบางส่วนที่จะเออร์ลี่รีไทร์ในอายุ 55 ปี หรือพนักงานที่จะเกษียณอายุ 60 ปี

ด้วยการจัดคอร์สอบรมวิชาชีพให้ฟรี โดยบริษัทเป็นผู้ออกภาระค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งการอบรมวิชาชีพต่าง ๆ นอกจากเขาจะซาวเสียงพนักงานเหล่านั้นตรง ๆ ว่าต้องการฝึกอาชีพอะไร ?

อยากจะขายอะไร ?

และอยากจะมีอาชีพอะไรติดตัว ?

เขายังสอบถามพนักงานอีกว่าปีหนึ่ง ๆ ควรจะฝึกอาชีพทั้งหมดกี่ครั้ง เพราะเขาจะได้วางแผน และตั้งงบประมาณถูกว่าปีหนึ่ง ๆ เราควรจัดสรรงบประมาณสักเท่าไหร่ เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นนำไปสร้างประโยชน์ต่อตนเอง และครอบครัว

นอกจากในฝั่งขององค์กร อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับชุมชนต่าง ๆ โดยรอบบริษัท หรือโรงงานต่าง ๆ ที่เขาดำเนินธุรกิจอยู่ เพราะอย่าลืมว่าทุก ๆ บริษัทมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว ดังนั้น หากเรานำอาชีพไปให้ชาวบ้านรอบ ๆ ชุมชน เขาจะมีอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวในระยะยาว

ทุกอย่างจะวิน วินเกม

เพราะนอกจากเราจะได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ชาวบ้านยังได้อาชีพต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงปากท้องของตัวเองด้วย

เพียงแต่ช่วงผ่านมาหลาย ๆ บริษัทอาจไม่รู้ว่าถ้าจะติดต่อคนมาอบรมวิชาชีพต้องไปติดต่อที่ไหน ? ค่าอบรมเท่าไหร่ ? เขาจะมาไหม ? ถ้าบริษัทของเรา หรือชุมชนมีพนักงาน หรือคนเพียง 20-30 คนเท่านั้นเอง

ซึ่งปัญหาทุกอย่างจะหมดไป

ตอนนี้สำนักงานมติชน อคาเดมี หน่วยงานสร้างอาชีพภายใต้ชายคามติชน กรุ๊ป จัดทำคอร์สอบรมอาชีพให้กับพนักงานบริษัท และชุมชนต่าง ๆ หลายร้อยอาชีพด้วยกัน

พูดง่าย ๆ ว่าอาชีพที่เกี่ยวกับต้ม ผัด แกง ทอดมีหมด

ขนมไทย ขนมเทศมีหมด

ทั้งยังมีงานช่างฝีมือต่าง ๆ อีกเพียบ

ที่สำคัญ คนที่มาอบรมล้วนมาจากร้านอาหารดัง ๆ ทั่วประเทศทั้งสิ้น ผมลองยกตัวอย่างให้ฟังเกี่ยวกับอาชีพต้ม ผัด แกง ทอดสัก 2-3 ร้านนะครับ ไม่ทราบว่าใครเคยรู้จัก หรือเคยได้ยินร้านเฮียจกโต๊ะเดียวไหมครับ ร้านนี้นอกจากจะมีต้มเลือดหมู ราดหน้าหมูคะน้าฮ่องกงที่ขึ้นชื่อแล้ว เขายังมีเมนูปลาช่อนนานึ่งซีอิ๊ว และปวยเล้งผัดไฟแดงด้วย

สำหรับร้านนี้ “อาจารย์สมชาย ตั้งสินพูลชัย” จะเป็นคนสอน ทั้งยังสอนอย่างไม่มีการกั๊กเก็บเอาไว้เป็นอันขาด พูดกันให้ชัด ๆ คือสอนเพื่อให้ทุกคนนำไปขายได้เลย

หรืออย่างร้านเป็ดย่างแสงทอง ร้านนี้จะมีเมนูที่เกี่ยวกับเป็ดทุกอย่าง ไม่ว่าเป็ดย่าง, ข้าวหน้าเป็ดย่าง, น้ำราดเป็ด, เป็ดตุ๋นมะนาวดอง ก็จะได้ “ประพจน์ ตรีจันทร์ทอง” มาเป็นผู้สอน

หรือ ร้านครัวคุณจ๋า วัดเขายี่สาร เมนูเด็ดของร้านนี้คือน้ำพริกชะคราม, ต้มส้มปลากระบอก, หลนปูม้า, ปลาหมึกผัดกะปิ ก็จะมี “นิภาภัทร พยนต์ยิ้ม” เป็นผู้สอน พูดกันง่าย ๆ คือสอนเสร็จแล้วทำกินกันเองก่อนภายในครอบครัวได้เลย

เพื่อรอทุกคนบอกว่าอร่อยตรงกัน ค่อยเตรียมเปิดร้านต่อได้เลย

ส่วนขนมก็จะมีขนมถังแตกชาววัง, ขนมโตเกียวหลากไส้, ขนมครกสองแคว (นางเลิ้ง), ชาเขียวถั่วแดง, บลูเบอรี่ชีสเค้ก, พายไส้กรอก, พายไก่, แพนเค้กเยอรมัน และอื่น ๆ อีกกว่าร้อย ๆ ชนิด

ขณะที่ในส่วนของงานช่างฝีมือก็จะมีอบรมเกี่ยวกับการทำสวนจิ๋วในถาดแก้ว, ตัดเย็บเสื้อผ้าน้องหมา, แกะสลักเพื่อการจัดจาน, ต่อเล็บสวย 3 สไตล์, ต่อขนตาธรรมชาติ และอื่น ๆ อีกมากมายเช่นกัน

สำหรับการอบรมจะมี 2 ส่วนครับคือ จะให้ไปอบรมที่ออฟฟิศ หรือโรงงานก็ได้ หรือจะมาอบรมที่ สำนักงานมติชน อคาเดมี ก็ได้เช่นกัน ส่วนค่าอบรมจะแบ่งออกเป็นกลุ่ม กับส่วนตัว แต่ราคาเฉลี่ยโดยรวมน่าจะประมาณ 2 พันกว่าบาทขึ้นไปต่อคน ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับอาชีพที่จะอบรมด้วย ขณะที่เวลาอบรมก็จะใช้เพียง 1-2 วันเท่านั้นเอง

ถ้าสนใจลองโทร.ไปสอบถามดูนะครับที่เบอร์ 0-2954-3977-84 ต่อ 2104

เท่านั้นคุณก็จะรู้ซึ้งดีถึงคำว่า…นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ดเป็นอย่างไร