มีเรื่องเรื่องหนึ่ง ขอนำเสนอเป็นการส่งท้ายเกี่ยวกับพระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 อาจจะยังไม่ปรากฏหรือเผยแพร่ที่ใดมากนัก แต่เมื่อใครได้อ่านแล้ว ก็จะเห็นถึง “แววกวี” ที่ทรงมีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมกับที่ทรงสนใจในเรื่องของอักษรศาสตร์

เมื่อครั้งยังเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ นั้น รัชกาลที่ 10 ทรงสนพระทัยในวิชาแผนกอักษรศาสตร์ และสนพระทัยการนิพนธ์กลอน ที่ผ่านมาทรงมีผลงานไว้มากมาย แต่ ณ ที่นี้จะขออัญเชิญพระราชนิพนธ์เรื่อง “น้ำท่วม” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์แบบร้อยแก้วมาให้อ่านกัน พระราชนิพนธ์นี้ทรงไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ขณะนั้นพระชันษาเพียง 12 พรรษา แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ โดยใช้เวลาในการนิพนธ์เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ความว่า…

ตอนค่ำวันเสาร์ ขณะที่ผมกำลังรับประทานข้าวเย็นอยู่ที่บ้าน โทรศัพท์ในห้องอาหารก็ดังขึ้น คนใช้ผมรีบไปรับ เขาพูดโทรศัพท์อยู่สักครู่ใหญ่แล้วก็เดินยิ้มมาพูดกับผมว่า “ข่าวดีครับคุณหนู พรุ่งนี้คุณป้าคุณหนูจะชวนคุณหนูไปที่บ้าน เพื่อไปเล่นพายเรือและเล่นน้ำที่บ้านท่าน บ้านท่านที่อยู่ริมน้ำไงครับ น้ำที่แม่น้ำขึ้น เพราะฝนตกเลยท่วมขึ้นมาล้นสนามในบ้านหมด น้ำลึกถึงเอวเลยครับ”

ผมดีใจมาก จึงรับประทานข้าวไม่ได้มาก ผมรีบลุกขึ้นจากโต๊ะกินข้าวและไปแปรงฟัน ทำการบ้าน แล้วก็รีบเข้านอน ตลอดคืนผมนอนไม่หลับเลย เพราะผมรู้สึกเจ็บคอมาก ความจริงผมเจ็บคอมาตั้งแต่รับประทานอาหารแล้ว แต่ผมปิดบังไม่บอกใคร กลัวว่าเขาจะบอกแม่ผมและแม่ผมจะไม่ให้ผมไป ในที่สุดผมก็เลิกคิดเรื่องเจ็บคอ กลับมาคิดเรื่องจะไปเที่ยวพรุ่งนี้ ว่าจะเอาเพื่อนไปกี่คน และจะไปทำอะไรที่บ้านคุณป้าบ้าง คุณป้าผมเคยบอกว่า คุณป้าชอบให้น้ำท่วมสนามในบ้าน เพราะมีปลาอะไรๆ มากมาย มาว่ายอยู่ในน้ำที่สนาม จะได้จับไปทำอาหาร จะได้ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อปลาที่ตลาด

โอย.. ผมปวดหัวเสียแล้ว ผมรู้สึกว่าผมจะเป็นไข้เสียแล้ว แต่ผมก็ไม่ลดละความพยายามที่จะอดกลั้นความเจ็บไว้ เพราะผมคิดอยู่เสมอว่า ถ้าบอกคนอื่นผมก็จะอดไปเที่ยว

รุ่งเช้าของวันใหม่มาถึงแล้ว ผมยังนอนแซ่วอยู่บนเตียง ผมรู้สึกว่าตัวร้อนมาก ผมพยายามจะลุกขึ้น แต่ก็ลุกไม่ไหว พอดีคนใช้เห็นเข้าจึงถามว่า “คุณหนูเป็นอะไรไปครับ ดูหน้าตาแดงเชียว” ผมฝืนใจพูดว่า “เปล่า” เบาๆ คนใช้ตรงเข้ามาจับหน้าผากผมและพูดว่า “คุณหนูเป็นอะไร ตัวร้อนนี่” ผมไม่พูดว่าอะไร รู้สึกว่าไม่สบายมาก เกือบจะแข็งใจไม่ไหวแล้ว คนใช้คนนั้นรีบออกจากห้องนอนผมไป คนใช้รีบไปบอกแม่ผมมา แม่ผมรีบเข้ามาในห้องนอนผม และเอาปรอทมาให้ผมอม เมื่อชักปรอทขึ้นจากปากผม ปรอทก็ขึ้นไปถึง 37.2 ซี ผมเลยปลงตกแล้วว่าผมต้องอดไปแน่

แม่ถามผมว่า “รู้สึกตั้งแต่เมื่อไร”
ผมตอบเบาๆ ว่า “เป็นตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว”
แม่ผมถามอีกว่า “ทำไมไม่บอกเล่า”
ผมนิ่งอึ้งแล้วบอกว่า “ผมกลัวอดไปเที่ยวครับ”

“นั่นแน่จับได้แล้ว” แม่ผมพูด และแม่ผมพูดต่อไปอีกว่า “ลูกรักทำอย่างนี้ไม่ถูกนะลูก ถ้าเผื่อลูกบอกเสียตั้งแต่เมื่อวาน แม่ก็จะได้หายาให้ และตามหมอมาตรวจ และอาจจะไม่เป็นมากเท่านี้ก็ได้ ลูกอย่าเห็นแก่การเที่ยวมากเกินไป ผลเสียมีหลายอย่างนะ นี่…วันจันทร์นี้ก็จะสอบแล้ว ถ้าลูกบอกเสียตั้งแต่เมื่อวานนี้ หมอก็จะได้ให้ยา วันนี้อาจจะหายแล้ว และวันจันทร์ก็จะได้สอบ นี่ลูกไม่บอกนี่ วันจันทร์นี้ลูกสอบไม่ได้แล้ว จะต้องลาพัก ถ้าเผื่อขาดเรียนบ่อยๆ ความรู้ก็จะไม่ดี และเวลาโตขึ้นลูกก็จะลำบากมาก”

ผมรู้สึกเสียใจมากที่ผมได้ทำผิดครั้งนี้ ก็เพราะห่วงความสนุกนั่นเอง “ต่อไปนี้ ผมจะไม่ทำผิดอีกแล้ว” ผมพูดเบาๆ แล้วก็หลับไป

เรื่องนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆเรื่อง ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงได้นิพนธ์ไว้ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในด้านการเป็นกวีของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

หลังจากทรงราชย์แล้ว ในปี 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้พระราชทานภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ เพื่อจัดทำเป็น “สมุดไดอารี่” นำรายได้จากการจำหน่าย ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และร่วมสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ของโรงพยาบาลศิริราช พร้อมจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ตลอดจนสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้

สมุดไดอารี่ภาพฝีพระหัตถ์ เป็นสมุดปกแข็ง พิมพ์สี่สี ประกอบด้วยหน้าปกเป็นภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ ภาพซานตาคลอสนั่งบนเลื่อนพร้อมกล่องของขวัญ มีกวางเรนเดียร์จูงเลื่อนอยู่ มีอักษร “Ho Ho Ho” ถัดมาเป็นภาพตุ๊กตาพร้อมข้อความ “สุขใจ สุขกาย จิตใจผ่องใส พอใจอย่างพอเพียง สัมมาทิฐิ สมาธิ ปัญญา ด้วยชีวิตเรียบง่าย เดินหน้าอย่างปลอดภัยและมั่นคง”

จากนั้นเป็นภาพผู้ชายถือไฟฉายและเทียน พร้อมข้อความ “แสงไฟแห่งปัญญาพร้อมสติ ก้าวไปอย่างปลอดภัย สุขแท้จริง ไม่เสียใจ ขุ่นมัว” ถัดลงมาเป็นภาพบ้าน ต้นคริสต์มาส ตุ๊กตาหิมะและคนกำลังใส่หูฟัง มีพระปรมาภิไธยกำกับอยู่ด้านล่าง ลงวันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพฝีพระหัตถ์จาก ส.ค.ส.พระราชทาน หรือบัตรอวยพร

ส่วนด้านในสมุดไดอารี่มีข้อความระบุว่า “บันทึกแห่งความสุขที่พอเพียง แต่สมบูรณ์” จากนั้นเป็นภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จำนวน 12 ภาพ โดยเป็นภาพครอบครัวที่มีความสุข และร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ปิกนิก รดน้ำต้นไม้ เต้นรำ ทำอาหาร จากนั้นเป็นข้อความระบุไว้ว่า “ส.ค.ส.ภาพ ส.ค.ส. 4 แบบ” ภายหลังการจำหน่ายสมุดไดอารี่ภาพการ์ตูน ได้พระราชทานเงินรายได้จำนวน 40 ล้านบาท จากการจำหน่ายบัตรอวยพรและไดอารี่ภาพฝีพระหัตถ์ให้แก่รัฐบาล เพื่อนำเงินพระราชทานดังกล่าวไปสมทบทุนฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และเป็นเงินทุนการศึกษาพระราชทานแก่บุตรหลานที่อยู่ในวัยเรียนของครอบครัวที่สูญเสียผู้ปกครองจากอุทกภัย

พร้อมเป็นการพระราชทานความช่วยเหลือในการจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ ครุภัณฑ์และอุปกรณ์การศึกษาที่จำเป็นแก่โรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมจำนวน 267 แห่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพระราชทานความช่วยเหลือครั้งนี้ ว่าทรงมีพระราชดำรัสว่าจะช่วยเหลือรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำคณะผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายสมุดไดอารี่ภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างอาคาร “นวมินทรบพิตร 84 พรรษา” โรงพยาบาลศิริราช และทรงขอบคุณที่ดูแลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

อาคารดังกล่าวถือเป็นโครงการสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางแก้ปัญหาให้แก่โรงพยาบาลศิริราช โดยมีแผนกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งเมื่อการก่อสร้างเสร็จแล้ว อาคารดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางที่ทันสมัยครบวงจร เป็นการเพิ่มคุณภาพและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการทุกหมู่เหล่า อย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ

ต่อมาในปี 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงออกแบบภาพเขียนการ์ตูนฝีพระหัตถ์อีกชุด ชื่อว่า “การละเล่นไทยสมัยก่อน” เพื่อจัดทำบัตรอวยพร ประจำปี 2561 พร้อมข้อความพระราชทานพรด้วยลายพระหัตถ์ และทรงลงพระปรมาภิไธยกำกับไว้จำนวน 4 แบบ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนไทยที่บ่งบอกถึงบรรยากาศของความสงบสุข ร่มย็น สนุกสนาน รื่นเริง และความรักความสามัคคี

สำหรับรายได้จากการจำหน่ายบัตรอวยพรดังกล่าว นำไปใช้ในการพระราชกุศล เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยคุกคามต่างๆ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรไทยทั่วหล้า

ช่วงระยะเวลาที่ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยการทหาร ที่ดันทรูน นครแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย  ซึ่งนอกจากวิชาการทหารแล้ว นักศึกษาทุกคนจะต้องเรียนวิชาสำคัญอีกด้วย โดยเป็นวิชาในภาคสามัญ มีให้เลือก 3 แผนก ได้แก่ แผนกวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอักษรศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ในเวลานั้น ทรงเลือกเรียนแผนกอักษรศาสตร์ และทรงสนพระทัยในวิชาประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อย่างมากด้วย

การเรียนวิชาในภาคสามัญนี้ เป็นการเรียนหลังจากจบการฝึกวิชาทหาร 5 สัปดาห์แล้ว และเรียนต่อไปจนถึง 4 สัปดาห์สุดท้าย  คือในต้นเดือนพฤศจิกายน แล้วจะเปลี่ยนไปเรียนวิชาทหารอีก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาคสนาม สำหรับในปีต่อๆ ไป ก็จะศึกษาทำนองนี้ แต่เป็นวิชาที่สูงขึ้นไปตามหลักสูตรของวิทยาลัย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ จะต้องทรงศึกษาถึง 4 ปีเต็ม และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต และปริญญาวิชาการทหาร ต่อจากนั้นต้องเสด็จไปประจำค่ายทหารที่เมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ อีกชั่วระยะหนึ่ง

การเล่าเรียนในวิทยาลัยแห่งนี้ โดยปกติแล้วในวันศุกร์ เสาร์ และวันอาทิตย์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ หรือ ทูลกระหม่อมฟ้าชาย จะเสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่บ้านพักของ “พันตรีสำเริง ไชยยงค์” ซึ่งเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จไปแต่ประเทศไทยเพื่อคอยถวายอารักขา ซึ่งบ้านพักของพันตรีสำเริงนั้นอยู่ที่บ้านเลขที่ 47 กิลโมร์เครสเซนต์กาแรน กรุงแคนเบอร่า

“ประยุทธ สิทธิพันธ์” บันทึกถึงกิจวัตรที่สมเด็จเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ อาจจะไม่มีใครนึกถึงว่าจะทรงซักรีดฉลองพระองค์เอง ทรงทำความสะอาดรถยนต์พระที่นั่งซึ่งเป็นรถยี่ห้อโฟล์คสวาเกน นอกจากนี้ยังทรงต่อโมเดลรถถัง รถรบ เครื่องบินทหารแบบต่างๆ และทรงการบ้าน ช่วงเวลาที่ทรงพระสำราญทรงฟังแผ่นเสียงหรือเทปเพลงไทย ทรงร้องเพล  ทรงแต่งละครย่อย แต่งบทเสภา แล้วทรงอัดเทปไว้ ว่ากันว่าพระสุรเสียงที่ทรงขับเสภานั้นไพเราะมาก บางครั้งก็ทรงนิพนธ์บทกลอน ส่วนใหญ่ทรงพรรณนาถึงพระองค์ในออสเตรเลีย ซึ่งมีทั้งความยากลำบาก ขมขื่น และความคิดถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งพระญาติวงศ์ในไทย บางครั้งก็ทรงกีฬาด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ทรงกระทำ คือทรงขับรถส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรสถานที่สำคัญๆ เสด็จทอดพระเนตรภาพยนตร์บ้างเป็นครั้งคราว จากนั้นจะเสด็จกลับเข้าวิทยาลัย เวลา 22.00 น.เสมอ ทรงระมัดระวังในเรื่องพระกระยาหารและอนามัย เพราะทางวิทยาลัยมีการทดสอบร่างกายอยู่เป็นประจำ เช่น ให้วิ่งตามภูมิประเทศ 4 ไมล์ หรือ 8 ไมล์ โดยกำหนดเวลาการข้ามสิ่งกีดขวางแบบต่างๆ 9-12 สถานี และการว่ายน้ำเป็นต้น ถ้าใครไม่มีพลานามัยที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริงแล้ว จะผ่านการทดสอบร่างกายแบบนี้ไม่ได้เลย ดังนั้น พระองค์จึงทรงระมัดระวังเรื่องพระกระยาหารและพระพลานามัยอย่างที่สุด

ระหว่างปิดภาคเรียนหรือวันหยุดเทศกาล สำหรับนักเรียนใหม่ ทางวิทยาลัยจะพาไปดูงานตามกรม กองทหาร โดยมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด ในระหว่างเทศกาลอีสเตอร์ ถึงแม้ทางวิทยาลัยการทหารจะปิด แต่นักเรียนใหม่ไม่มีโอกาสได้หยุดเลย ทางวิทยาลัยกลับพาไปฝึกสนามที่ Recreation เมืองเล็กๆ ชายทะเล ห่างจากกรุงแคนเบอร่าไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 100 ไมล์

ระหว่างปิดภาคเรียนเทอมที่ 1 ตั้งแต่ 15-17 พฤษภาคม 2515 ทางวิทยาลัยให้เสด็จไปดูงานตามกรมกองทหารต่างๆ ที่นครซิดนีย์ เสด็จประทับอยู่ที่ศูนย์การทหารบกเมืองลิเวอร์พูล ตั้งแต่ 15-19 พฤษภาคม หลังจากนั้นทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปตามจังหวัดต่างๆ ทรงเยี่ยมครอบครัวพระสหายและครูอาจารย์เก่าๆ เป็นระยะทาง 800-900 กิโลเมตร เมืองที่เสด็จไปนั้น มีเมืองซิดนีย์ เมลเบิร์น นารูมา เทรดโบ ซึ่งเป็นการทัศนศึกษาไปในตัว


สมเด็จเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงเป็นนักฟุตบอลของกองร้อยที่มีชื่อ เคยได้รับถ้วย “ซอเวอเรน” ของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธมาแล้ว ทรงสนพระทัยในการเล่นกัฬาเป็นพิเศษโดยเฉพาะฟุตบอล นอกจากจะเป็นที่สนิทเสน่หาของสมเด็จพระบรมชนกและราชชนนีแล้ว ยังทรงเป็นแก้วตาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ด้วย สมเด็จย่าทรงสั่งสอนอบรมอยู่เสมอ เมื่อคราวเสด็จไปประทับที่ออสเตรเลีย สมเด็จย่าทรงห่วงใยกังวล และทรงสอนให้สมเด็จเจ้าฟ้าวชิราลงกรณให้รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์แก่พระองค์เอง และแก่แผ่นดิน

เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ได้เสด็จจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2513 ในขั้นแรกทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนคิงสกูล ที่ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหารก่อน

ต่อจากนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน นครแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งก่อนที่จะทรงผ่านเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ พระองค์จะต้องผ่านการทดสอบและการฝึกหนักในขั้นต้น เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นระยะที่หนักที่สุดในชีวิตของนักเรียนนายร้อย แต่จะลำบากยากเข็ญแค่ไหน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ก็ทรงสามารถผ่านพ้นความยากลำบากนั้นมาได้ โดยที่ทรงยังไม่เคยพบความยากลำบากเช่นนั้นเลย แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จึงทรงผ่านการฝึกหนักเช่นนั้นมาได้

สำหรับหลักสูตรวิชาการทหารของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ต้องตื่นนอนตั้งแต่เวลา 05.00 น. ออกวิ่งและออกกำลังกาย โดยกำหนดให้มีกิจกรรมตลอดเวลา เพื่อไม่ให้มีเวลาเป็นของตนเอง และยังมีกฎเกณฑ์อีกมากมาย ไม่ว่าเช้าวันนั้นจะเป็นวันที่มีอากาศหนาวเย็นจนปวดไปถึงกระดูกก็ตาม ทุกคนต้องออกไปวิ่งตามที่กำหนดไว้ หากเผลอหรือหลีกเลี่ยงจะถูกลงโทษ เช่น ยึดพื้น วิ่ง ทำงานต่างๆ ฝึกระเบียบแถว ฝึกท่าอาวุธของทหาราบ การใช้ปืนกลประจำหมู่ การใช้อุปกรณ์ในการรบ แม้กระทั่งการรับประทานอาหารก็มีกฎเกณฑ์

มหาวิทยาลัยแห่งนี้กวดขันหนักในเรื่องระเบียบวินัย การทดสอบทางร่างกาย สนับสนุนให้เล่นกีฬาทุกประเภท โดยมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยดูแลอย่างใกล้ชิดและกวดขัน ทั้งคอยบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้คลาดสายตา และยังห้ามญาติมิตรเยี่ยมอย่างเด็ดขาด ห้ามออกนอกโรงเรียน บริเวณโรงเรียนก็มีเขตกำหนดให้อยู่เหมือนนักโทษ หากใครออกไปนอกเขตที่กำหนด จะต้องถูกลงโทษทันที การเคลื่อนไหวจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังอีกสถานที่แห่งหนึ่ง หากพ้นชายคาไปแล้วจะต้องวิ่งทันที เดินไม่ได้ ใครไม่ปฏิบัติจะถูกลงโทษ

นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบด้านสุขภาพจิต เช่น ความกล้าหาญ ความรักหมู่คณะ ความรู้สึกกับเพื่อนทั้งชายและหญิง การอยู่ร่วมกับคนอื่น ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องสามารถช่วยตนเองได้ในทุกวิถีทาง เพราะถือหลักว่าหากช่วยตนเองไม่ได้แล้วจะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร เพราะนายทหารจะต้องช่วยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและรับผิดชอบอยู่เสมอ ฉะนั้น หากใครปฏิบัติไม่ได้ก็ต้องออกจากโรงเรียนไป

การอบรมวิชาการทหารใน 5 สัปดาห์แรก เรียกว่าเป็น “การทดสอบความอดทน” ของนักศึกษาว่าทนพอที่จะรับการศึกษาและฝึกหัดขั้นต่อไปหรือไม่ ซึ่งจะมีความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อครบ 5 สัปดาห์แล้ว จะมีการสอบวิชาต่างๆ ที่ได้เรียนและฝึกมา ถ้าใครสอบผ่านไปได้ ก็จะได้รับ “สายนกหวีด” แสดงว่าได้ผ่านการเป็นทหารมาแล้ว ผู้ที่ไม่ผ่านจะถูกคัดออกทันที

หลังจากสอบผ่านหลักสูตรพิเศษ 5 สัปดาห์ไปได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ก็ทรงเข้าศึกษาเป็นนักเรียนนายร้อยปีที่ 1 เทอมที่ 1 ซึ่งจะต้องศึกษาหนักในทางวิชาทหาร ต้องตื่นนอนเวลา 05.30 น. มีการตรวจห้อง เตียง เครื่องแต่งกาย ผ้าปูที่นอนต้องตึง รองเท้าต้องขัดเป็นมัน กระดุมต้องกลัดทุกเม็ด เครื่องหมายหัวเข็มขัดต้องมันเป็นเงาอยู่เสมอ หนวดเคราต้องโกนให้เรียบร้อย แม้หมึกเปื้อนที่มือก็ไม่ได้ การจัดวางข้าวของเครื่องใช้ภายในห้อง ตลอดจนการวางเสื้อผ้าจะต้องวางอยู่ตามที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งการตรวจสภาพห้องนั้นจะรวมถึงการใช้มือลูบฝุ่นตามโต๊ะเก้าอี้ หรือมุมต่างๆ ในห้องนอนด้วย หากพบข้อบกพร่องก็จะมีการจดชื่อและกำหนดรายการทำโทษทันที โดยไม่มีข้อยกเว้น

สำหรับการทำโทษ ปกติจะให้ตื่นนอนก่อน 30 นาที คือต้องตื่นตั้งแต่เวลา 05.00 น. ผู้ถูกทำโทษต้องแต่งชุดสนาม มีปืนและเครื่องหลังพร้อมด้วยจอบเสียม รวมน้ำหนักประมาณ 16-20 กิโลกรัม ออกไปยืนโต้ลมหนาวอยู่นอกบริเวณสนาม จะมีการสั่งแถวอยู่ตลอดเวลาให้หยุด หรือให้กลิ้งไปตามพื้นดืนที่แฉะ บางครั้งก็เปลี่ยนให้ไปล้างส้วม กวาดพื้น ถางหญ้า ฯลฯ แล้วแต่ผู้สั่งจะบีบคั้นทารุณเพื่อให้หลาบจำ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ไม่เคยทรงลำบากมาก่อน ไม่เคยทรงทำความสะอาดห้องบรรทมเอง เมื่อทรงอยู่ในวิทยาลัยการทหารแห่งนี้ พระองค์ต้องทรงทำเองทุกอย่าง ไม่ว่าทำความสะอาดห้อง ซักรีดเสื้อผ้าและของใช้เอง

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งลงพระกรเองใหม่ๆ ทรงรีดสนับเพลาไหม้ นอกจากนี้ในการอยู่กันหมู่มาก พระสหายก็ย่อมมีการเย้าแหย่หรือกลั่นแกล้งกันอยู่เสมอ เพื่อให้ถูกลงโทษ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ก็ทรงโดนพระสหายรุ่นพี่แกล้งเอาเหมือนกัน กล่าวคือแกล้งขอยืมรองเท้าที่พระองค์ทรงขัดเป็นมันปลาบแล้วไปใส่ให้เลอะ เมื่อถูกตรวจพบเข้าก็ต้องถูกทำโทษเช่นนักเรียนนายร้อยคนอื่นเหมือนกัน มิได้ยกเว้น ต้องทรงฉลองพระองค์ชุดสนามเครื่องหลัง 20 กิโลกรัมไปยืนโต้ลมหนาว ตั้งแต่ตี 5 แถมยังโดนให้ล้างส้วม ในการถูกสั่งลงโทษ มิได้ทรงออกพระโอษฐ์แต่อย่างใดว่าถูกกลั่นแกล้ง ทรงยอมรับโดยดุษฎี เพราะการเคารพรุ่นพี่ถือเป็นวินัยอย่างหนึ่ง

เวลา 07.00 น. เป็นเวลาที่ทุกคนรับประทานอาหารเช้า ขณะรับประทานจะต้องคอยระมัดระวังตัวให้ดี เพราะจะมีนักเรียนนายร้อยรุ่นพี่คอยซักถามหรือแกล้งจุกจิกอยู่เสมอ ทูลกระหม่อมฟ้าชายก็ทรงโดนเหมือนกัน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว รุ่นน้องจะต้องเก็บถ้วยชามของนักเรียนรุ่นพี่ทั้งหมด เวลา 08.00 น. เข้าแถวรวม ตรวจความเรียบร้อย และจะเริ่มเข้าห้องเรียนในเวลา 08.30 น. กระทั่ง 12.00 น. เป็นเวลารับประทานอาหารกลางวัน จากนั้นเวลา 13.00 น.ต้องเข้าเรียนต่อจนถึงเวลา 16.00 น. หลังจากนั้นไปจนถึงเวลา 17.30 น. เป็นการเล่นกีฬา และรับประทานอาหารเย็นในเวลา 18.00 น.

เวลา 19.30 น. เป็นการประชุม หลังจากนั้นอนุญาตให้นักเรียนชั้นสูงเข้าค้นคว้าในห้องสมุด สำหรับนักเรียนใหม่มีการฉายภาพยนตร์ อบรมระเบียบวินัย การเข้านอนสำหรับนักเรียนชั้นสูงไม่มีกำหนดเวลา แต่นักเรียนใหม่จะต้องเข้านอนเวลา 22.00 น. แต่ละวันทางโรงเรียนจะกำหนดเวลาว่างทบทวนให้วันละ 2 ชั่วโมง

การฝึกสนาม ในเทอมที่ 1 มี 3 ครั้ง ต้องไปนอนพักแรมครั้งละ 7 วันในป่าบริเวณเขาที่ติดทะเล ห่างจากโรงเรียน 75-90 ไมล์ การนอนพักแรมในป่าต้องกางเต็นท์นอน หุงหาอาหารรับประทานเอง มีการฝึกตามสถานการณ์ที่สมมุติ และมุ่งไปฝึกในฤดูฝน คือในสภาพที่ฝนตกทั้งวัน

เมื่อคราวเทศกาลอีสเตอร์ ทางวิทยาลัยพานักเรียนใหม่ไปนอนพักแรมในป่าเป็นคร้้งแรก เป็นเวลา 7 วัน ตลอดเวลานั้นทูลกระหม่อมฟ้าชายต้องกางเต็นท์อยู่ในป่าฝนตกเกือบตลอดเวลา ทรงทำอาหารไม่ได้เลย ต้องเสวยแต่ขนมปังเปล่าๆ กับน้ำพอประทังหิว แต่ก็มิได้ทรงบ่นถึงความยากลำบากที่ทรงประสบ เพราะทุกคนที่ไปร่วมด้วยกันต่างก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันทั้งนั้นตลอดเวลา 7 วันนับว่าทรงแกร่งกล้าสมชาติทหารจริงๆ

หลังจากหลักสูตรพิเศษ 5 สัปดาห์ผ่านไปแล้ว ทางวิทยาลัยอนุญาตให้นักเรียนออกนอกบริเวณได้ในตอนเย็นวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 15.30-24.00 น. ในวันเสาร์ตอนบ่ายมีการแข่งขันกีฬา ทั้งนี้ทุกคนจะต้องลงแข่งขัน โดยการเล่นรักบี้ และฟุตบอล แล้วจึงขออนุญาตให้ออกนอกวิทยาลัยได้ ตั้งแต่เวลา 17.30 น. ถึง 02.00 น. นักเรียนที่ติดเวรยามออกไปไม่ได้ก็หน้าเหี่ยว ได้แต่ยืนดูเพื่อนออกนอกบริเวณวิทยาลัย การค้างแรมนอกวิทยาลัยอนุญาตให้เพียงเดือนละครั้ง แต่ต้องเขียนรายงานห้ามออกนอกไปไกลเกินรัศมี 60 ไมล์

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษามาก ทรงปรารภกับผู้ใกล้ชิดพระองค์อยู่เสมอว่าพระองค์ไม่เก่ง ทรงทำอะไรเชยๆ ในตอนแรกๆ เนื่องจากไม่ทรงคุ้นกับสำเนียงของครูฝึกชาวออสเตรเลีย บางครั้งเขาสั่งให้วิ่งหรือชิดแถวกลับทรงยืนเฉย เพราะไม่เข้าพระทัยคำสั่ง เมื่อรู้สึกพระองค์เช่นนี้ จึงทรงตั้งพระทัยและทรงอุตสาหะวิริยะยิ่งขึ้น ประทับทอดพระเนตรหนังสือในห้องสมุดจนดึกๆเสมอ จนสามารถเรียนทันนักศึกษาทุกคน


พระนามของสมเด็จพระจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวาย ส่วนผู้ผูกดวงชะตาคือ พระธรรมวโรดม (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช นอกจากนี้ พระยาบริรักษ์เวชการ กับคุณหญิงชิต มิลินทสูต ผู้สนใจในโหราศาสตร์ ได้ร่วมผูกดวงชะตาตามตำราของพระองค์หญิงเฉิดโฉม

ปรากฏว่าพระองค์พระราชสมภพ ยามโฆสกะเศรษฐี ตามนิยายชาดก ซึ่งเกิดมาเสวยสมบัติมหาศาลของเศรษฐี ผู้ใดคิดร้ายก็พ่ายแพ้พระบารมีทุกทีไป ทรงมีเสาร์เป็นสิริ แสดงว่าบริบูรณ์ด้วยพระอิสริยยศ อุดมด้วยทรัพย์ และสำคัญที่สุดคือจะทรงมีพระชนม์ยืนยาว ทั้งพระฤกษ์ประสูติเป็นพระฤกษ์เดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ด้วย

 

มีเรื่องบันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเวลานั้น ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ในตอนนั้น ว่า “ในฐานะที่ทรงเป็นบูรพาจารย์ที่เคารพยิ่ง จึงใคร่ขอประทานพระกรุณาให้ทรงจัดผูกดวงชะตาลูกชายของหม่อมฉัน ซึ่งเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม ศกนี้ เวลา 17 นาฬิกา 45 นาที กับขอประทานหารือในอันจะขนานนามเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกนั้นด้วย หม่อมฉันได้ให้กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ มาเฝ้าเพื่อกราบทูลข้อความละเอียด หากมีพระประสงค์จะทรงทราบ”

 

จากนั้นหนึ่งเดือนต่อมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงมีจดหมายตอบกลับ “…อาตมภาพได้รับทราบพระราชประสงค์แล้ว ดวงพระชาตานั้น ได้หารือตกลงกัน และอาตมภาพได้เขียนถวาย ส่วนพระนาม อาตมภาพได้คิดและเขียนถวายตามพระราชประสงค์ แลได้ถวายพร้อมกับหนังสือนี้แล้ว…”

พระนามที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงตั้งถวาย เป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล โดยอัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปรากฏในขณะทรงพระผนวชว่า “วชิรญาณะ” ผนวกกับ “อลงกรณ์” จากพระนาม “จุฬาลงกรณ์” ของรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มา ทรงมีพระอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัยและความเรียบร้อย ความสะอาดโดยทั่วไป ไม่ทรงนิยมการฝ่าฝืนหรือละเมิดระเบียบข้อบังคับต่างๆ และทรงสนพระทัยในวิชาที่เกี่ยวกับกองทัพและทหาร ได้เสด็จไปเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่างๆ หลายแห่งอยู่เสมอ ในฐานะที่ทรงเป็นองค์รัชทายาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จพระราชดำเนิน และเสด็จแทนพระองค์ในพระราชกรณียกิจที่สมควรต่างๆ ซึ่งก็ทรงปฏิบัติพระราชกรรณียกิจนั้นๆ ด้วยความรอบคอบ และด้วยความรับผิดชอบ สำเร็จผลเป็นอย่างดีเสมอมา

นอกจากนี้ยังสนพระทัยศึกษาในพระพุทธศาสนา และกระบวนการยุติธรรมเป็นพิเศษอีกด้วย จะทรงใคร่รู้เกี่ยวกับงานด้านกฎหมาย และเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการของศาลสถิตยุติธรรมเมื่อทรงมีโอกาส ทรงพยายามหาโอกาสในวันหยุดไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช และทรงเยี่ยมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทรงสนทนาศึกษาธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติองค์ต่อไป

ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ก็ทรงสนพระทัยมากและทรงได้รับความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง คราวเสด็จไปทรงเยือนประเทศญี่ปุ่น ในฐานะทรงเป็นพระราชอาคันตุกะแห่งพระราชวงศ์ญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นกระชับใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งขึ้น ระหว่างพระราชวงศ์ และประชาชนของทั้งสองประเทศ

การที่ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงทรงมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

และเมื่อครั้งยังเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เคยพระราชทานสัมภาษณ์ในสารคดี Soul of a Nation – the Royal Family of Thailand โดยผู้สัมภาษณ์คือเดวิด โลแมกซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี เป็นคำถามเกี่ยวกับแรงกดดันที่ทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในครั้งนั้น ทรงตอบคำถามว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เพราะตั้งแต่เกิดมาในวินาทีแรกของชีวิต เราก็อยู่ในฐานะเจ้าชายแล้ว มันไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่าการเป็นปลาตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในขณะที่คุณเป็นปลาอยู่แล้ว หรือการเป็นนกตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในเมื่อคุณเป็นนกอยู่แล้ว ถ้าคุณลองถามมัน คุณรู้ไหม มันไม่ง่ายเลย พวกมันก็ไม่รู้ว่าชีวิตที่ไม่ใช่ปลาหรือนกนั้นเป็นอย่างไร”

“เราเชื่อว่าในชีวิตของทุกๆ คน ย่อมมีแรงกดดัน ความเครียด และปัญหา และนี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนต้องเผชิญ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ หลายสิ่งหลายอย่าง เราเองก็ไม่มีอะไรพิเศษ”

ในฐานะที่ทรงเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” และทรงเป็น “สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์เดียว” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระเจ้านางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพิสูจน์ให้คนไทยและทั่วโลกประจักษ์ว่า ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ตามพระบรมราชโองการและพระราชเสาวนีย์ ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สำเร็จผลเป็นอย่างดีเสมอมา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังทรงเป็นทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าชาย และทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดาเมื่อปี 2499 นั้น ทรงมีพระชนมายุเพียง 4 พรรษาเศษ นักเรียนร่วมชั้นมี 7 คน ได้แก่ ม.ร.ว.สิทธินัดดา ชุมพล, อรนิดา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, เกตนา โชติกเสถียร, เกรียงศักดิ์ ช่างเรือน, วีรวุทธิ วิรยพงศ์, สัณห์ ศรีวรรธนะ และ เกริก วณิกกุล

หลังจากทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา แล้ว ได้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จากนั้นทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เสร็จแล้วทรงการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2519

ระหว่างที่ทรงศึกษาที่ประเทศไทยนั้น หากเช้าวันไหนไม่ต้องทำการบ้าน จะทรงมีเวลาเล่นได้นาน โดยทรงจักรยานรอบสระกลมใหญ่ บางครั้งจะเสด็จฯ ไปแวะเยี่ยมกรมราชองครักษ์ และกองทหารรักษาการณ์ เพื่อทรงตรวจเรื่องการกินอยู่ แล้วก็เลยทรงเล่นหมากฮอสด้วย ด้วยความที่ทรงโปรดการเขียนรูป จึงได้รับพระราชทานเครื่องใช้ในการเขียนภาพสีน้ำมันจากสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งหลังเลิกเรียนมักทรงชวนมหาดเล็กถีบจักรยานไปเลือกมุมใดมุมหนึ่งของสวนจิตรลดา แล้วประทับเขียนรูปอย่างตั้งพระทัย แต่ภาพที่ได้แทนที่จะเป็นภาพทิวทัศน์ในบริเวณสวนจิตรฯ กลับเป็นภาพภูเขาอยู่ ในหมอก เหมือนภูมิประเทศที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ หรือบางครั้งก็เป็นภาพเรือรบจอดอยู่ในทะเล

ทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าชายทรงมีพระสุรเสียงอันดัง มักจะได้ยินก่อนเห็นพระองค์เสมอ ทรงร่าเริงแจ่มใส เมื่ออยู่ในหมู่มหาดเล็กน้อยๆ ราชองครักษ์หรือกรมวัง ซึ่งเป็นผู้ชายด้วยกัน ในวันปิดภาคเรียนหรือวันเสาร์-อาทิตย์ เมื่อเสวยเครื่องเช้าแล้วจะเสด็จลงมาเพื่อทรงเล่น โปรดที่จะเสด็จไปเล่นที่ “ค่าย 4 ชาย” เป็นค่ายที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อครบรอบวันราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีการจัดเลี้ยงฉลองที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับและร่วมงานด้วย

ครั้งนั้น ศูนย์ฝึกกำลังทดแทนค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี ได้มาร่วมงานออกร้าน โดยสร้างเป็นรูปค่าย มีหอทำด้วยไม้ไผ่กับแฝก เป็นที่ถูกพระทัยทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าชาย ที่ทรงได้ทอดพระเนตร ดังนั้น เมื่อเสร็จงานจึงทรงขอจากนายทหารผู้บัญชาการค่าย นำไปไว้ในสวนจิตรลดา และทรงขอพระราชทานอนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก่อสร้างค่ายขึ้นในบริเวณสนามตอนหนึ่ง โดยคงรูปหอไว้เหมือนเดิม ส่วนหลังคาหอที่เสียหายไปบ้าง ก็ประทานเงินส่วนพระองค์ที่ทรงได้รับพระราชทานในโอกาสที่ทรงทำความดีเป็นพิเศษ ให้จัดซื้อเสื่อลำแพนมามุงเสียใหม่

เมื่อค่ายเสร็จเรียบร้อยก็ทรงเริ่มสนุก โดยสมมติให้มีการจุดไฟเผาค่าย แล้วก็ทรงทำการดับเพลิงอย่างขะมักเขม้น พระดำรินี้ เกิดขึ้นเมื่อกองตรวจดับเพลิงร่วมกับบริษัทโตโยต้าสั่งซื้อรถดับเพลิงขนาดเล็กทูลเกล้าฯ ถวายในวันคล้ายวันประสูติ ทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าชายในเวลานั้น จึงทรงสนุกสนานในการเล่นดับเพลิงมาก ส่วนชื่อ “ค่าย 4 ชาย” ที่ทรงตั้งนั้น หมายถึงพระองค์เอง มหาดเล็ก 2 นาย และกรมวังหนุ่มผู้ร่วมในการสร้างค่ายและดับเพลิง

ทูลกระหม่อมฟ้าชายเมื่อยังทรงพระเยาว์ ชอบเสวยมาก โปรดอาหารอร่อยๆ แปลกๆ จนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้องทรงเตือน เพราะเกรงว่าจะทรงพระเจริญเกินไป แต่ก็ทูลตอบว่า “ยอมอ้วน ดีกว่ายอมอดอาหาร” ทรงเคยรับสั่งตัดพ้อกับสมเด็จแม่ว่า “เป็นลูกแม่นี่ ไม่มีความสุขเลย เพื่อนๆ เขายังได้ดูทีวีมากกว่าชายเสียอีก” นั่นเพราะโปรดทอดพระเนตรรายการหนังช่วงบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงอนุญาตให้ทอดพระเนตรโทรทัศน์ได้เฉพาะวันหยุดเรียน ถ้าบรรทมน้อยกว่า 9 ชั่วโมง ก็จะไม่ได้ทอดพระเนตร เช่น คืนวันพฤหัสบดี หรือวันเสาร์ตอนเย็นจะต้องบรรทมเร็วมาก

ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการทะนุถนอมเป็นอย่างดี กระทั่งในเดือนกันยายน พ.ศ.2504 เมื่อครั้งยังทรงเป็นทูลกระหม่อมฟ้าชาย ทรงได้รับการศึกษาในชั้นต้น โดยสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระราชชนนี ทรงอบรมด้วยพระองค์เอง ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะให้เป็นไปอย่างธรรมดา

ฉะนั้น เพื่อทรงควบคุมการศึกษาของพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยพระองค์เองได้ถี่ถ้วน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนในพระราชฐานขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โรงเรียนนี้พระราชทานชื่อว่า “จิตรลดา” เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ในการสอนใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนในโรงเรียนนี้ นอกจากพระราชโอรสและพระราชธิดาแล้ว ยังทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุตรธิดาของข้าราชบริพาร ซึ่งมีอายุวัยเดียวกันได้เข้าร่วมศึกษาด้วย เพื่อให้ทูลกระหม่อมทุกพระองค์ได้มีพระสหายเป็นบุคคลสามัญ

สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ในที่พอเหมาะ มีสนามสำหรับวิ่งเล่น มีห้องเรียนที่เหมาะแก่จำนวนนักเรียน โดย ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนนี้ นอกจากนี้ยังมีครูอาจารย์ทั้งประจำและพิเศษสำหรับวิชาอีกด้วย

โรงเรียนเริ่มเรียนเวลา 09.00 น. นักเรียนเล็กๆ จะมีรถของโรงเรียนรับส่ง นักเรียนรุ่นโตจะมาโรงเรียนเอง พอถึงเวลานักเรียนจะต้องเข้าแถวอยู่ตามห้องเรียนของตน เมื่อจัดระเบียบแถวเรียบร้อยแล้ว จึงจะเดินเข้าห้องเรียนตามลำดับ การเรียนของทูลกระหม่อมฟ้าชายนั้นเริ่มตั้งแต่พระชนมายุได้ 5 พรรษา โดยดัดแปลงชั้นล่างของพระที่นั่งอุดรในพระราชวังดุสิต เป็นห้องเรียน

เมื่อทรงย้ายมาประทับที่พระตำหนักจิตรลดา จึงได้เข้ามาศึกษา ณ โรงเรียนนี้ การเรียนดำเนินไปจนถึง 12.05 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน นักเรียนรุ่นเล็กเรียนครึ่งวัน ส่วนนักเรียนรุ่นใหญ่ก็เข้าห้องอาหาร ก่อนเข้านั่งโต๊ะจะต้องล้างมือให้สะอาด และปฏิบัติตามระเบียบของห้องอาหาร จะต้องเข้าคิวตามลำดับ อาหารก็เหมือนกันหมดทั้งครูและนักเรียน ในตอนบ่ายโรงเรียนเข้าเวลา 13.05 น. เรียนจนถึง 15.45 น. จึงเลิกเรียน

โดยปกติทูลกระหม่อมฟ้าชายจะตื่นบรรทมแต่เช้า เวลาประมาณ 07.00 น. เมื่อเสร็จธุรกิจส่วนพระองค์แล้ว เสด็จลงเพื่อออกกำลังกลางแจ้งเช่นเด็กธรรมดา มีวิ่งเอาเถิด และซ่อนหาบ้าง เวลา 08.00 น. เสด็จขึ้นสรงน้ำ เสวย แล้วเตรียมเสด็จไปโรงเรียน การไปโรงเรียนนั้นต้องตรงต่อเวลาเสมอ ไม่เคยสายเลย เมื่อเสด็จกลับจากโรงเรียนแล้ว ทรงมีเวลาทรงพระสำราญ เสด็จเข้าที่บรรทมตอนหัวค่ำ ก่อนเข้าที่บรรทมจะต้องเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนกนาถพระราชชนนี รับพระบรมราโชวาทและทรงสวดมนต์ก่อน นอกจากนั้น ยังรับการฝึกหัดให้ทำสวนซึ่งอยู่หลังโรงเรียน มีร่องผักเป็นแถวยาว จะทรงปลูกผักต่างๆ พร้อมกับพระสหาย มีทั้งพริก มะเขือ บวบ ต้นหอม ผักกาด ฯลฯ

การศึกษาของทูลกระหม่อมฟ้าชายอยู่ในเกณฑ์ดี วิชาที่โปรดมากคือวาดเขียนและปั้นรูป คณิตศาสตร์ดีมาก ทรงภาษาดีพอสมควร วิชาคัดลายมือมักได้คะแนนน้อย สมด็จพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงรับสมุดรายงานการศึกษาประจำพระองค์อยู่เสมอ ทรงตรวจตราและวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน บางคราวทรงสอบได้ที่ต่ำเกินกว่าควรซึ่งแสดงให้เห็นว่าเอาพระทัยใส่ในการเรียนน้อยไป ก็ทรงได้รับการคาดคั้นให้ทรงศึกษาให้ดีขึ้น ทูลกระหม่อมก็ทรงทำได้ แสดงให้เห็นว่าจะทรงทำอะไรให้ดีก็ทรงทำได้ ข้อสำคัญอยู่ที่จะทำหรือไม่

การศึกษาในชั้นหลังนี้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เพราะทรงสอบไล่ได้ที่ดี ทูลกระหม่อมมีพระนิสัยสมเป็นผู้ชาย โปรดเล่นเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ที่เกี่ยวกับการช่าง การก่อสร้าง ในขณะที่กำลังทรงอยากรู้อยากเห็น เมื่อทรงสงสัยสิ่งใดเป็นต้องตั้งปัญหาถาม จะทรงถามอยู่จนได้รับการอธิบายจนเป็นที่พอพระหฤทัย

 

บันทึกของ ม.ร.ว.สุมนชาติ กล่าวไว้ว่า พระนิสัยทั่วไป เท่าที่สอบถามจากผู้ใกล้ชิด ว่ามีพระทัยเร็ว ร่าเริง โกรธง่ายหายเร็ว ช่างตรัส มีน้ำพระทัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มักทรงแบ่งปันสิ่งของให้แก่พระสหายที่ทรงสนิท ทรงคุ้นเกับคนง่าย เมื่อมีพระประสงค์ในของสิ่งใด เมื่อขอพระราชทานจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ หรือพระราชชนนีไม่ได้ ก็ไม่สนพระทัยที่จะขอพระราชทานอีก ไม่ชอบเซ้าซี้ แม้เมื่อได้สิ่งที่ต้องพระประสงค์มาในภายหลัง ก็ไม่ทรงแสดงว่าดีพระทัยนัก

โปรดทหารมาก มักทรงปราศัยกับทหารมายืนยามในบริเวณพระที่นั่งเสมอๆ ในวันคล้ายวันประสูติก็ทรงชวนทหารยามมารับพระราชทานเลี้ยงอาหาร ทรงมีความจำดีมาก โดยเฉพาะรถยนต์ทรงรู้จักทุกชนิด เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่ฉลาดทั้งหลาย สมเด็จพระบรมชนกนาถมักจะทรงกล่าวว่าเป็นคนมีความคิดไกล เพราะทรงอยู่ในสมัยจรวด ต้องคอยทรงรั้งให้ลำดับเหตุผลอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอบรมทูลกระหม่อมฟ้าชายด้วยพระองค์เองเสมอ เมื่อทรงมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยจะทรงอธิบายให้เข้าใจในความผิดด้วยเหตุผลทุกครั้ง ก่อนที่จะลงโทษ

เมื่อทรงเจริญพระชันษาแล้ว เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปในงานไม่สู้จะนานนัก ก็มักจะโดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย แต่ถ้านานเกินไปในบางคราวก็ทรงมีความอดทนที่จะประทับอยู่อย่างผู้ใหญ่ได้ ในงานของเด็กๆ มักจะทรงได้รับเชิญให้เสด็จเสมอๆ และมักทรงเป็นประธานในงานนั้นๆ และมักไม่ค่อยโปรดที่จะต้องไปเป็นประธาน ในงานใดที่เสด็จอย่างนักเรียนไปกับพระสหายมาก จะประทับปะปนกันอยู่และประทับอย่างธรรมดา ไม่ใช่อย่างเจ้านายก็ทรงโปรดมาก บางคราวโปรดเกล้าฯ ให้ทรงปฏิบัติภารกิจนั้น ก็ทรงปฏิบัติได้อย่างดี ทรงมีปฏิสันถารคล่องแคล่ว ว่องไว โปรดกีฬา นาฏศิลป์ไทย และการฝีมือ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ได้เสด็จไปทรงประกอบพิธีเปิดป้ายสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ณ โรงพยาบาลเด็ก ต.พญาไท พระนคร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2505 เป็นครั้งแรกที่ทูลกระหม่อมฟ้าชายเสด็จ “ออกงาน” ด้วยลำพังพระองค์เอง และสิ่งที่ก่อให้เกิดคำวิจารณ์เช่นนั้น ก็เพราะทูลกระหม่อมฟ้าชาย ได้ทรงแสดงออกให้เห็นเป็นที่ประทับใจโดยทั่วกัน ในความเข้มแข็งแห่งพระจิต พระปฏิภาณและความกระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว ปราศจากความเคอะเขินกระดากอาย อันมักจะเป็นของธรรมดาแก่ผู้ออกงานครั้งแรกทั้งหลาย ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงปฏิบัติพระภารกิจในวันนั้นได้อย่างถูกต้องและเรียบร้อยที่สุด

สิ่งที่น่าสังเกตและก่อให้เกิดความประทับใจ คือ ในระหว่างที่นายแพทย์อรุณ เนตรศิริ นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กราบทูลถึงความเป็นมาของสมาคม ซึ่งต้องใช้เวลาอ่านยาวนานหลายนาทีอยู่นั้น ทูลกระหม่อมฟ้าชายฟังอย่างตั้งพระทัยในพระอิริยาบถอันสำรวม มิได้มีลักษณะของความเป็นเด็กปรากฏออกมาให้เห็นเลย เป็นลักษณะของผู้ใหญ่และผู้รู้โดยแท้ทีเดียว

ยิ่งกว่านั้น เมื่อนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยกราบทูลจบลงแล้ว ทูลกระหม่อมฟ้าชายยังได้ทรงแสดงให้ประจักษ์พระปฏิภาณปรีชาอันยากจะหาได้ในบุคคลวัยเดียวกันจะพึงกระทำได้ นั่นคือ การมีพระดำรัสตอบด้วย “ปากเปล่า” ปราศจากโน้ตหรือข้อความที่พิมพ์เตรียมมาเพื่ออ่านแต่ประการใด และด้วยคำข้อความที่ทรงเปล่งออกมานั้นชัดเจน ไม่ติดขัดกระท่อนกระแท่น ได้ความเต็มรูป โดยทรงกล่าวถึงความยินดีที่ได้ทรงมากระทำพิธีเปิดป้ายของสมาคม และทรงอำนวยพรให้สมาคมมีแต่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

แม้จะเป็นครั้งแรกที่ทรงออกงานและยังเป็นเด็กอยู่ แต่ทูลกระหม่อมฟ้าชายก็ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่นัยน์ตาของปวงชนแล้ว ว่าทรงพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจใดๆ ที่มีความสำคัญไปได้ ดังนั้น จึงไม่ผิดเลยที่จะมีใครวิจารณ์ไว้ว่า “จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่เปรื่องปราดยิ่งอีกพระองค์หนึ่งในอนาคต”

เป็นภาพสุดปีติของพสกนิกร เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานวโรกาสให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มูลนิธิชัยพัฒนา และร้านภูฟ้า ในงานอุ่นไอรัก ณ แปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

โดยพบว่า สมาชิกไอจี Chin meechai ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ได้โพสต์คลิปพร้อมข้อความว่า “”ขาเป็นยังไงบ้าง..” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสถามด้วยความห่วงใยต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลังพระราชทานพระราชวโรกาสให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มูลนิธิชัยพัฒนา และร้านภูฟ้า ในงานอุ่นไอรัก ณ แปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

View this post on Instagram

"ขาเป็นยังไงบ้าง.." สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสถามด้วยความห่วงใยต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลังพระราชทานพระราชวโรกาสให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มูลนิธิชัยพัฒนา และร้านภูฟ้า ในงานอุ่นไอรัก ณ แปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

A post shared by ชินดนัย​ มีชัย​ (@chin_meechai) on


ที่มา ข่าวสดออนไลน์