ว่านห่างจระเข้ ที่มายาดำ ยาระบายระดับโลก

ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรเก่าแก่ที่มีการใช้กันมานานกว่าสามพันปี มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวประเทศเยเมนในตะวันออกกลาง แล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก เป็นสมุนไพรที่คนรู้จักกันทั่วไปจนไม่รู้สึกตื่นเต้น แต่แท้ที่จริงแล้วว่านหางจระเข้เป็นยาวิเศษจากสวรรค์แท้ๆ พวกอินเดียนแดงถึงกับเรียกว่านหางจระเข้ว่า ไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์ ซึ่งก็คงเป็นเพราะเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาอวัยวะได้แทบทุกส่วน ทั้งรักษาแผล ฆ่าเชื้อ แก้ปวด แก้อักเสบ รักษาโรคท้องไส้ ใช้คุมเบาหวาน และยังใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวและผมได้เป็นอย่างดี

ในประเทศไทยเองเริ่มให้ความสนใจว่านหางจระเข้เมื่อประมาณปี 2526 เมื่อเภสัชกรสุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกูล ได้นำประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านและงานวิจัยจากต่างประเทศมาเผยแพร่ให้คนรู้ผ่านวารสารข่าวสารสมุนไพร หลังจากนั้นก็เกิดผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม แชมพู ครีมนวดผม สบู่อาบน้ำที่ใช้ว่านหางจระเข้เป็นส่วนผสมขึ้นมากมาย แต่ที่ไม่ค่อยรู้กันคือ คนไทยใช้ว่านหางจระเข้มานานในรูปแบบของยาดำ

ยาดำนั้นได้จากการเคี่ยวน้ำยางสีเหลืองจากใบว่านหางจระเข้ น้ำยางนี้อยู่ระหว่างผิวนอกของใบกับเนื้อวุ้น เมื่อตัดใบว่านหางจระเข้ยางจะไหลออกมา เมื่อนำน้ำยางสีเหลืองที่ได้ไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ จนข้นเหนียว นำไปผึ่งแดดให้แห้งจะแข็งกลายเป็นก้อนสีน้ำตาลจนถึงดำ เปราะทึบแสง มันแวววาว รสขมเหม็นเบื่อ กลิ่นชวนคลื่นไส้อาเจียน คนไทยคงใช้ยาดำมานานจนมีสำนวนว่า “แทรกเป็นยาดำ” หมายถึงคนที่ชอบไปวุ่นวายเรื่องของคนอื่นทุกเรื่องจนน่ารำคาญน่าเวียนหัว

ในยาไทยมักจะมียาดำอยู่ด้วยเสมอโดยเฉพาะยาหม้อแรกๆ ที่ใช้ในการรักษา เพื่อถ่ายของเสียที่หมักหมมออกจากร่างกายเสียก่อน ในตำรายาไทยกล่าวถึงสรรพคุณของยาดำว่า ถ่ายลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ กัดฟอกเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษไข้ ถ่ายพยาธิตัวตืด ไส้เดือน ขับน้ำดี มีฤทธิ์ไซ้ท้อง ฝนกับเหล้าขาวทาหัวฝี ทาแก้ฟกบวม ยาดำเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ รู้แต่ว่ามีปรากฏในตำราโอสถพระนารายณ์ ในตำรับทาพระเส้น และปรากฏในคัมภีร์แพทย์แผนไทยในฐานะยาระบายอยู่หลายคัมภีร์ ได้แก่ ฉันทศาสตร์ ปฐมจินดา ธาตุวิภังค์ สรรพคุณยา มหาโชตรัตน์ ชวดาร โรคนิทาน ธาตุวิวรณ์ ธาตุบรรจบ มุจฉาปักขันทิกา กษัย ส่วนตัวว่านหางจระเข้ปรากฏในคัมภีร์ตักศิลา

ยาดำนั้นมีสารกลุ่มแอนทราควิโนนพวกบาร์บาโลอิน (barbaloin) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้คล้ายๆ กับมะขามแขก มีการยอมรับว่าเป็นยาถ่ายที่ปลอดภัยในเภสัชตำรับของประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ปกติแล้วคนไทยจะไม่กินยาดำเป็นยาถ่ายตัวเดียว แต่ถ้าจะกินก็กินเท่าเม็ดถั่วเขียวแต่จะไซ้ท้องพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในวุ้นของว่านหางจระเข้ก็มีสารยาร์บาโลอินอยู่บ้าง ท่านที่มีอาการท้องผูกจะเริ่มจากกินวุ้นว่านหางจระเข้สักครึ่งแก้วก่อน ถ้ายังไม่ได้ผลจึงค่อยใช้ใบว่านหางจระเข้โดยหั่นทั้งเปลือกและวุ้นตากแห้งเก็บไว้ใช้ชงกินแบบชา รสชาติไม่เลวกินได้ไม่ยาก ช่วยให้ระบายอ่อนๆ และยังได้สารเมือกจากว่านหางจระเข้ช่วยหล่อลื่นผนังลำไส้อีกด้วย

ดับร้อนแผลไหม้ไปจนถึงแผลในกระเพาะ

สรรพคุณที่โด่งดังของวุ้นว่านหางจระเข้เห็นจะไม่พ้นการรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ทำให้ชาวบ้านหลายแห่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ว่านไฟไหม้ เมื่อถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกคราวใด ให้นึกถึงว่านหางจระเข้ไว้ก่อน แต่จะต้องรู้จักใช้ให้เป็น คือ ใช้ในปริมาณที่มากพอ โดยให้สังเกตว่าความปวดแสบปวดร้อนจะหายไป นอกจากนี้ แผลอื่นๆ วุ้นว่านหางจระเข้ก็ช่วยได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกยางสีเหลือง เพราะมีฤทธิ์ระคายเคือง มีงานศึกษาวิจัยทั้งในห้องทดลองและในคนว่า วุ้นว่านหางจระเข้ช่วยรักษาแผลให้หายเร็วได้ เนื่องจากมีสารอัลล็อคซิน (alloctin) สารอโลอิน (aloin) และอโลอิโมดิน (aloemodin) ซึ่งช่วยลดการอักเสบ และสารอัลลอคตินจะช่วยให้แผลตื้นและหายเร็วขึ้น เพาะไปกระตุ้นการเกิดใหม่ของเนื้อเยื่อ

ในหมู่หมอยาพื้นบ้านเป็นที่รู้กันดีว่า ถ้ามีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ก็ให้กินวุ้นว่านหางจระเข้ ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า วุ้นว่านหางจระเข้ช่วยลดการหลั่งของน้ำย่อยในกระเพาะและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ รวมทั้งทำให้การหายของแผลดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในการรักษาโรคกระเพาะนั้นต้องมองเป็นองค์รวม ซึ่งจะต้องดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วย โดยเฉพาะที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุ แต่วุ้นว่านหางจระเข้ก็สามารถใช้เป็นยาเสริมได้

วุ้นว่านหางจระเข้ เครื่องสำอางข้างบ้าน

ในการใช้เป็นเครื่องสำอาง วุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณในการบำรุงผิว ป้องกันสิวฝ้า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและบำรุงผมจำนวนมากในปัจจุบันมีสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้อยู่ แต่ทุกคนสามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้สดได้ด้วยตนเอง ถ้าเป็นวัยรุ่นหน้าค่อนข้างมัน จะใช้วุ้นว่านหางจระเข้เป็นรองพื้นก่อนแต่งหน้าเลยก็ได้ แต่ถ้าสูงอายุขึ้นมาหน่อย หากใช้วุ้นว่านหางจระเข้อย่างเดียวจะทำให้หน้าตึงไปสักหน่อย ให้ผสมครีมทาหน้าสักเล้กน้อย ว่านหางจระเข้ยังเป็นสมุนไพรที่ดีมากสำหรับเส้นผมช่วยทำให้ผมงอก ลดการหลุดร่วงของเส้นผม ตัววุ้นยังใช้แทนเจลใส่ผมได้ สำหรับคนผมเสีย ผมแตกปลาย ผมไม่มีน้ำหนัก แห้งกรอบ ก็สามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้ได้ ไข่แดง น้ำมันมะกอก หมักผมก่อนสระอาทิตย์ละครั้ง จะดูแลรักษาเส้นผมให้ดกดำ มีน้ำหนัก มีชีวิตชีวา มีน้ำหนัก

วุ้นว่านหางจระเข้ยังใช้เป็นยาภายในรักษาบางโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตับอักเสบ ไข้หวัด หอบหืด การใช้กับโรคเบาหวานนั้นให้รับประทานวุ้นจากท่อนใบสดยาวประมาณสามถึงสี่เซนติเมตรทุกวัน ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า วุ้นสดจากว่านหางจระเข้ช่วยลดการใช้ยาเบาหวานได้ นอกจากนี้ ยังแก้เมารถหรือเมาเรือได้ โดยให้กินวุ้นว่านหางจระเข้ยาวประมาณสองถึงสามเซนติเมตรก่อนออกเดินทาง

ตำรับยา

ยาโรคกระเพาะ

วุ้นจากใบสดกว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาว 4 เซนติเมตร แบ่งรับประทานเป็นสองครั้ง นอกจากรักษาโรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย ลำไส้อักเสบแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรงสดชื่น มีภูมิต้านทานดี

ยาบำรุงร่างกาย

ว่านหางจระเข้ทั้งเปลือก หั่นตากแดดให้แห้ง ชงกินแบบชา ช่วยบำรุงร่างกายให้ขับถ่ายสะดวก

ยารักษาไฟไหม้น้ำร้อนลวก

เตรียมวุ้นใบว่านหางจระเข้ให้พอที่จะใช้กับบริเวณแผล ล้างน้ำเอายางสีเหลืองออกให้หมด แล้วฝานเนื้อวุ้นเป็นแผ่นบางๆ นำไปวางบนแผลให้ปริมาณมากพอ จะรู้สึกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนหายไป เปลี่ยนตัวยาเมื่อรุ้สึกร้อน อาจนำวุ้นว่านหางจระเข้ไปแช่น้ำแข็งก่อนก็ได้

ยาบำรุงผม

ให้ใช้ไข่แดง น้ำมันมะกอก วุ้นว่านหางจระเข้อย่างละหนึ่งส่วน ใส่น้ำเล็กน้อย ปั่นให้เข้ากัน นำไปหมักผมที่เปียกชุ่มด้วยน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก สัปดาห์ละครั้ง สักสองครั้งก็เห็นผล วุ้นว่านหางจระเข้ยังใช้ทาบริเวณที่ผมน้อยหรือผมร่วงเพื่อให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้

ข้อควรระวัง

-การใช้ว่านหางจระเข้เป็นเครื่องสำอางต้องล้างยางสีเหลืองออกให้หมดจริงเพราะอาจทำให้ระคายผิว

-การใช้ยาดำเป็นยาระบายมีข้อควรระวังเช่นเดียวกับมะขามแขก


ที่มา หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

ขิง เพื่อคู่ใจบำรุงไฟธาตุ

ไฟธาตุในการย่อยอาหารนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เรามักไม่เห็นคุณค่าของมันจนกระทั่งเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นแหละ ถึงตอนนั้นบางทีธาตุก็แปรปรวนจนเยียวยาได้ลำบาก ขิงเป็นสมุนไพรรสเผ็ดร้อนบำรุงไฟธาตุที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ทั้งกลิ่นดีรสดี ไม่เผ็ดร้อนเกินไป มีความพอเหมาะพอควร ไม่ทิ้งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ไว้เป็นหลักฐาน เข้ากับอาหารได้หลากหลาย ใช้ได้ทั้งขิงแห้ง ขิงสด ขิงอ่อน ใช้ทำอาหารหวาน อาหารคาว เครื่องดื่ม ชา ได้สารพัด ด้วยเหตุนี้ขิงซึ่งมีถิ่นกำเนิดในจีนและอินเดียเมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน จึงกลายเป็นสมุนไพรเครื่องเทศนานาชนิดที่คนขาดไม่ได้เสียแล้ว

มนุษย์เราแต่ละคนมีธาตุลักษณะที่แตกต่างกันไป คนปิตตะที่มีธาตุไฟเด่นกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน การย่อยอาหาร กรเผาผลาญดีมาก ดังนั้นขิงอาจจะไม่จำเป็นและร้อนเกินไปสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่สำหรับคนธาตุเสมหะ คือ มีธาตุน้ำเด่น เป็นคนเจ้าเนื้อ อ้วนง่าย การย่อยไม่ค่อยดี หรือคนวาตะที่มีธาตุลมเด่นซึ่งเรามักจะพบในคนสูงอายุตัวผอมแห้ง การย่อยอาหารไม่ดี ทนร้อน ทนหนาวไม่ค่อยได้ คนสองประเภทนี้เหมาะที่จะใช้ขิงเป็นเครื่องเทศคู่ท้องอย่างมาก โดยเฉพาะคนธาตุเสมหะซึ่งมีน้ำอยู่ในตัวเยอะ ขิงจะช่วยขับน้ำ แก้จุดอ่อนของคนธาตุนี้ได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากใช้เป็นเครื่องเทศแล้ว ขิงยังเป็นยาช่วยขับลม แก้จุกเสียด อึดอัดท้องได้ดี เพราะมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลำไส้ได้ และยังเพิ่มการหลั่งน้ำดี ทำให้การย่อยดีขึ้น แม้จะใช้เดี่ยวๆ ก็ช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้ดี

ขิง แก้อาเจียนคลื่นไส้ปลอดภัยกว่า

คนสมัยนี้เวลามีอาการเมารถเมาเรือได้แต่พึ่งยาสมัยใหม่ กินแล้วก็ง่วงหัวซุกหัวซุน ทั้งที่มีสมุนไพรแก้เมารถเมาเรือที่ปลอดภัยใช้กันมานมนานอย่างขิง ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้ขิงแตกต่างจากเครื่องเทศชนิดอื่น สมัยก่อนถ้าจะเดินทางผู้ใหญ่จะให้กินน้ำต้มขิงก่อนหรือให้อมขิงไว้ อาการเมารถเมาเรือก็น้อยลง ไม่ง่วงหลับจนอาจเป็นเหยื่อของคนที่คิดร้าย

อาการคลื่นไส้อาเจียนนั้นดูเหมือนเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ในทางการแพทย์แผนไทยแล้วการที่ลมแปรปรวนพัดผิดที่ผิดทางเป็นสาเหตุของความไม่สบายกายไม่สบายใจ ลองถามผู้หญิงที่แพ้ท้องดูก็จะรู้ว่ามันทรมานเพียงใด การใช้ยาแผนปัจจุบันแก้อาการดังกล่าวบางครั้งก็มีผลข้างเคียงร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งในอดีตเคยมีบทเรียนจากกรณียาแก้แพ้ท้องชื่อ ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) เคยทำให้เด็กทั่วโลกพิการมาแล้ว ในกรณีผู้ป่วยหลังผ่าตัดก็ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะผู้ป่วยเพิ่งได้รับยาสลบมา ไม่ควรใช้ยาที่ทำให้ง่วงงุนหรือมีผลข้างเคียงค่อสมองและหัวใจอีก แต่ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนแผนปัจุบันมักมีผลข้างเคียงดังกล่าว

ขิง เพิ่มการเผาผลาญ ไล่หวัด ไล่น้ำ (หนัก)

การที่ขิงมีความร้อนจะไปช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย มีรายงานการศึกษาว่าขิงช่วยเมการเผาผลาญ จึงเหมาะกับคนเจ้าเนื้อ คนอ้วนง่าย ในทางการแพทย์แผนไทย ขิงมีความร้อนจึงช่วยลดการกำเริบของเสมหะและลมซึ่งพบในโรคหวัด ไอ หอบหืด ตำรับน้ำขิงแก้หวัดแก้ไอจึงเป็นที่รู้จักกันดี

งานวิจัยสมัยใหม่ของขิง

นอกจากการขับลม การป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนแล้ว ยังพบว่าขิงมีฤทธิ์ในการแก้ปวเแก้อักเสบ มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Helicopter pylori (H. pylori) 19 สายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์ cagA+ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร้งกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ป้องกันสมองเสื่อมอีกด้วย

ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยในคนถึงฤทะป้องกันการอาเจียนของขิง พบว่าขิงมีสรรพคุณในการป้องกันการอาเจียนจากการเคลื่อนไหว เช่น การเมารถเมาเรือ ป้องกันและบรรเทาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด ดังนั้น ขิงจึงเป็นความหวังที่จะใช้เป้นยาบรรเาและป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

ข้อควรระวัง

-หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะในการแพทย์ตะวันออกจัดว่าขิงเป็นยาร้อน เชื่อว่าการกินยาร้อนมากเกินไปอาจทำให้แท้งได้ เช่น คนสมัยก่อนจะใช้ขิง ดีปลี กระเทียม ดองเหล้าเป็นยาขับประจำเดือน

-ไม่ควรใช้ขิงในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี หากจะใช้ควรระมัดระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์

-ขิงสามารถเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาของยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ให้ระมัดระวังการกินขิงและควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

-การกินขิงในปริมาณมาก อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากขิงมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง

-ขิงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะ แต่ก็มีรายงานว่า ขิงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย H. pylori ซึ่งทำให้เกิดโรคกระเพาะ


 

จากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้ในวิถี … ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร