เรื่อง : ภัทรสุดา พิบูลย์

เข้าสู่โลกอนาคตอุตสาหกรรม 4.0 การแข่งขันยุคดิจิทัลจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากประชากรโลกเพิ่มขึ้น พื้นที่ทำการเกษตรลดลง และผลิตอาหารไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค จึงทำให้มีนวัตกรรมอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีด้านอาหารเข้ามาเป็นส่วนช่วยการผลิต แปรรูป และจำหน่ายสินค้า พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาที่มุ่งเน้นคุณภาพด้วย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างนักรบเชิงอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ หรือ New Food Warrior 2019 ภายในงานยังมีการบรรยายเรื่อง “แนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรมปี 2030” โดยนางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ที่มาเปิดเผยข้อมูลการเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต โดยเน้นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี มุ่งสู่การผลิตอาหารอนาคต เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร

นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมและเทคโนโลยีปี 2030 ว่า ประชากรโลกปัจจุบันมีทั้งหมด 7.5 พันล้านคน หากนับจากวันนี้ไปจนถึงปี 2030 ประชากรจะเพิ่มขึ้นอีก 1 พันล้านคน พร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นอีก 16.5% ดังนั้นอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องเตรียมรับจำนวนประชากร และผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

“เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น สิ่งที่ลดลงก็คือเรื่องพื้นที่ เพราะพื้นที่ถูกนำไปสร้างตึก และรถไฟฟ้า แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคิอความต้องการด้านอาหาร ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และผลิตอาหารในรูปแบบใหม่ที่ อาหารที่บริโภคในปริมาณน้อย แต่ในปริมาณนั้นต้องให้พลังงานและโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งสอดแทรกคุณค่าทางโภชนาการด้วย”

นางนิตยากล่าวต่อว่า ส่วนเศรษฐกิจโลกที่กำลังเติบโตในแถบภูมิภาคเอเชีย ด้วยจำนวนประชากรที่มากขึ้น ถือเป็นโอกาสให้นักธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาแปรรูปอาหารให้เป็นสินค้าในรูปแบบใหม่ และเข้ากับการดำรงชีวิต อย่างเช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันผู้สูงอายุจะเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และมีรสนิยม กำลังซื้อมากขึ้น หากอยากให้สินค้าขายได้ ก็ต้องมีจิตวิทยาต่างๆ ในการดึงดูดลูกค้า เช่น ใส่ข้อความลงในแพ็คเกจจิ้งที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกแก่

ขณะที่ผู้หญิงในปัจจุบันเริ่มออกมาทำงานมากขึ้น จึงมีอิทธิพลสูงในการจับจ่ายใช้สอย ส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานะโสด หรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะดูในเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ หรือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแบบสำเร็จรูป สามารถพกพา และราคาพอใช้ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ดูทันสมัยเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องตอบโจทย์กับกลุ่มคนเหล่านี้ และหากอยากให้สินค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น จะต้องเน้นเรื่องของคุณภาพอาหารด้วย

“เพราะคนส่วนใหญ่มักจะชอบกินอาหารสดๆ เหมือนอยู่ในชาม ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรนำกระบวนการเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถถนอมอาหาร เก็บได้นาน แต่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ปลอดภัย และทรงคุณค่าทางอาหาร มาเป็นนวัตกรรมในการผลิต”

รองผู้อำนวยการสถาบันอาหารกล่าวทิ้งท้ายว่า การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาแปรรูปอาหาร หรือนำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต จะทำให้ธุรกิจอาหารง่ายขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสเข้าสู่โลกอนาคต ที่ให้เห็นถึงการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยี หากอยากให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพ และความต้องการของผู้บริโภค