เรื่อง : กมลชนก ครุฑเมือง, ภาพ : สหชาติ สุวรรณราช

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีความมุ่งหวังว่าประเทศไทยจะสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม พัฒนาผู้ประกอบการจาก SME สู่ Startup ปลูกฝัง Entrepreneurial Mindset ให้กับนักศึกษารุ่นใหม่รวมถึงศิษย์เก่า

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โลกของทุกวันนี้และอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล ท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรง นวัตกรรมต่างๆ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องร่วมด้วยช่วยเหลือกัน ทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนคิดค้นเทคโนโลยีและต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ให้มีการพัฒนาขึ้นไปให้สูงที่สุด และเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พร้อมเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษา ทั้งให้ความสำคัญของการส่งเสริมผลักดันเมคเกอร์และผู้ประกอบการสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ และสร้างนวัตกรรมออกมาได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาแก่สังคมและภาค อุตสาหกรรมได้

“Innogineer Studio แห่งนี้นับว่าเป็นศูนย์เมคเกอร์สเปซที่ครบครันทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีพัฒนาต้นแบบประสิทธิภาพสูง โดยระบบนิเวศแห่งนี้จะบ่มเพาะนักศึกษาและเมคเกอร์รุ่นใหม่ให้มีพื้นที่ในการแสดงออก ฝึกฝนความรู้ความสามารถให้พัฒนายิ่งขึ้น เข้าถึงและก้าวทันเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถนำองค์ความรู้มาพัฒนาเพิ่มศักยภาพต่อยอดนวัตกรรม รวมถึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและมนุษยชาติสืบเนื่องต่อไป”นายแพทย์อุดม กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 131 ปี ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยที่สร้างคุณูปโภคแก่สังคมไทยและนานาชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งจะเป็น “World Class University” มหาวิทยาลัยระดับโลก และคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็มีความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่จะเป็น “World Class Engineering”เช่นกัน จึงเปิดศูนย์ Innogineer Studio ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดที่มุ่งหวังสร้างสังคมนวัตกรรมและผู้ประกอบการ ให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม บ่มเพาะความรู้และปลูกฝังการเป็นผู้ประกอบการ และทักษะด้านเทคนิคชั้นสูง ให้กับนักศึกษา เมคเกอร์ สตาร์ตอัพ วิศวกรและนักวิจัยสาขาต่างๆ เป็นพื้นที่อิสระทางความคิด ปลดปล่อยจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า ศูนย์ Innogineer Studio จะเชื่อมต่อกับระบบสนับสนุนของมหาวิทยาลัยมหิดล (Entrepreneurial Ecosystem) ในหลายๆส่วน อาทิ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ที่สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับนักศึกษาที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจอีกด้วย และหวังจะดึงดูดเมคเกอร์และสตาร์ตอัพเข้ามาใช้บริการ โดยศูนย์ Innogineer Studio มีพื้นที่รวมกว่า 800 ตารางเมตร ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีระดับโลกที่ประกอบไปด้วย Mechanical Studio, Milling Machine, CNC Machine Electric Studio เต็มไปด้วยความก้าวหน้าของอุปกรณ์ เช่น Electronic Supplier, Microcontroller, Oscilloscope, Power Supply และ Funtion Generator Assembly Studio มีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น 3D Scanner ความละเอียดสูงแบบหัวเข็มพร้อมเลเซอร์สแกนเนอร์ (3D Laser Scanning Arm CMM System) Prototyping Studio เช่น 3D Printer, อุปกรณ์ขึ้นรูปพลาสติกแบบ 3D Machine Studio ประกอบไปด้วย เครื่องตัดโลหะ และเครื่องกลึง
Gallery Room เป็นพื้นที่ที่แสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆ

นอกจากนี้ยังมี Co-Working Space เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม รองรับคนได้ 30-40 คน Meeting Studio พื้นที่ห้องประชุมที่รองรับผู้คนได้ 20-30 คน พร้อมทั้งมีเครื่องเสียงและจอแอลซีดีโปรเจ็คเตอร์ให้บริการ Innogineer Studio Shop ที่สำหรับจัดโชว์เคสแสดงผลงานนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งสามารถใช้งานจริงได้

“สำหรับแผนงานในอนาคตของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็น Innovation Hub ที่ใหญ่ที่สุดของทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยร่วมมือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการพัฒนาระบบรางและผังเมืองน่าอยู่ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง ในด้านศูนย์ศึกษาวิจัยและนวัตกรรมครบวงจร” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์กล่าว

ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรม ซึ่งมีตัวอย่างผลงานที่ได้ยื่นจดทะเบียนแล้ว 9 ผลงาน คือ 1.จับใจ (Jubjai) แชทบอทเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้ายนโลกออนไลน์ 2.”ฝึกฝน” นวัตกรรมบำบัดสมองและแขน 3.เดินดี (Dearndee) เครื่องกระตุ้นเท้าแบบพกพาด้วยไฟฟ้า ตามจังหวะก้าวเดิน 4. Alertz อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง 5.แม่พิมพ์หล่อซีเมนต์กระดูกแบบปรับเปลี่ยนตามกายภาพของผู้ป่วย 6.รถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสัญญาณสมอง 7.อุปกรณ์ขนาดพกพาเพื่อการตรวจวัดแร่ธาตุในพลาสมา 8.อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพา 9.การแข่งขันยานยนต์ Formula Student

เรื่อง : ธฤต อังคณาพาณิช

ากพูดถึง “สตาร์ตอัพ” หรือนักธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ที่ในช่วงไม่กี่ปีนี้ รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น รวมไปถึงนักลงทุนหลายรายก็เริ่มหันมาให้ความสนใจลงทุนในสตาร์ตอัพมากขึ้นเช่นกัน

รู้จักสตาร์ทอัพ

สตาร์ตอัพคือกลุ่มผู้ทำธุรกิจหน้าใหม่ๆ ที่คิดต่างและเข้ามาท้าทายธุรกิจเจ้าตลาดเดิม โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างสตาร์ตอัพที่มีชื่อเสียงก็ไล่มาตั้งแต่เฟซบุ๊ก กูเกิล อูเบอร์ อาลีบาบา และอื่นๆ อีกเพียบ

แม้ว่าสตาร์ตอัพจะหมายถึงกลุ่มทุนหน้าใหม่แต่ก็ไม่ได้เหมือนกับการทำ SMEs อย่างการเปิดร้านกาแฟ เพราะสตาร์ตตอัพจะมีเป้าหมายอยู่ที่การคิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามา Disrupt หรือว่าเข้ามามีอิทธิพลอย่างการแย่งลูกค้าจากตลาดเดิม ด้วยการเปิดตลาดใหม่ๆ

มีคำนิยามสตาร์ตอัพจาก “สตีฟ แบลงค์” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งสตาร์ตอัพว่า “a startup is an organization formed to search for a repeatable and scalable business model” หรือแปลได้ว่าธุรกิจที่ทำซ้ำ ๆ ได้ และมีอัตราการเติบโตที่สูง สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

แม้ว่าธุรกิจสตาร์ตอัพจะสร้างกำไรมหาศาลหากประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกมากับการที่สตาร์ตอัพเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเจ๊งสูงมาก จากธุรกิจ 90% จะเหลือรอดอยู่เพียง 10% เท่านั้น เพราะโดยมากผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะไม่มีประสบการณ์มากนัก การที่จะไปสู้กับกลุ่มธุรกิจเดิมที่มีฐานแข็งแกร่งกว่าจึงเป็นไปได้ยาก ถ้าธุรกิจที่ทำไม่ได้เจ๋งจริง ๆ รวมถึงต้องใช้งบประมาณสูงเนื่องจากการสร้างธุรกิจแบบนี้จำเป็นต้องยอมขาดทุนในช่วงเริ่มต้น เพื่อที่จะทำให้คนติดแบรนด์ใหม่

เห็นได้จากแอปพลิเคชั่นเรียกรถที่ไม่ได้มีรถเป็นของตัวเองสักคันเดียวอย่าง “อูเบอร์” ที่ในช่วงเริ่มเข้ามาในตลาดใหม่ๆ ก็ต้องสู้กับกลุ่มแท็กซี่ ใช้โปรโมชันลดแลกแจกแถมมากมาย เพื่อทำให้คนติดแบรนด์และแย่งผู้ใช้จากกลุ่มแท็กซี่เดิม ซึ่งในบางธุรกิจก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบอูเบอร์ ลงทุนไปหากไม่ดีพอ หากหมดโปรโมชั่น ผู้ใช้ก็จะกลับไปใช้แบรนด์เดิม

ดังนั้น การลงทุนในสตาร์ตอัพจึงเรียกได้ว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก เมื่อพลาดไปแล้วก็ไม่สามารถถอนทุนคืนได้เลย เปรียบเหมือนการซื้อหวยที่มีโอกาสเสียมากกว่าได้ นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่การทำธุรกิจสตาร์ตอัพไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่หากสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาล และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับโลกได้ที่เลยทีเดียว ยิ่งมีสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่าไหร่ โลกก็จะพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด

500 TukTuks ที่พึ่งพิงของเหล่าสตาร์ตอัพไทย

อย่างที่ได้กล่าวไป การทำธุรกิจสตาร์ตอัพจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนก้อนใหญ่ที่คอยประคองไม่ให้ธุรกิจที่เปรียบเสมือนต้นอ่อนเพิ่งเริ่มงอกถูกขาใหญ่เหยียบเละไปก่อน การจัดตั้งกองทุนที่ดีจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัพรายใหม่มีโอกาสรอดมากขึ้นอีกด้วย

ในต่างประเทศจะมีการตั้งกองทุนมากมาย โดยเฉพาะจากกูเกิล ที่มีโครงการสตาร์ตอัพอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นการที่สตาร์ตอัพในไทยจะประสบความสำเร็จได้ก็จำเป็นต้องมีกองทุนเพิ่มขึ้นอีก

กองทุนของสตาร์ตอัพมีชื่อเรียกว่า VC ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Venture Capital” หมายถึง ธุรกิจเงินร่วมลงทุน โดยเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนระยะยาวประมาณ 3-5 ปี ซึ่งลงทุนเหมือนเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าของกิจการในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง นอกเหนือจากการสนับสนุนทางด้านการเงินแล้ว VC ยังให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน รวมถึงการให้คำปรึกษา ช่วยชี้แนวทางในด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจที่ได้รับเงินร่วมลงทุน สามารถที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล

หนึ่งในกองทุนสตาร์ตอัพไทยที่มีชื่อเสียงก็คือ 500 TukTuks ซึ่งเป็น VC เครือข่ายของกลุ่ม 500 Startups จากซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ที่มีผู้บริหารอย่าง “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” และ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวกองทุนก้อนที่สองร่วมกับเซ็นทรัลไปเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ตั้งกองทุนมาได้ประมาณสามปี

เปิดกองทุนก้อน2หนุนสตาร์ตอัพไทยก้าวสู่เอเชีย

สำหรับกองทุนก้อนที่สองนี้ เป็นกองทุนที่ 500 TukTuks ได้จับมือกับเครือเซ็นทรัล, เครือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล), บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด และกลุ่มธุรกิจ TCP (เรดบูลส์) ร่วมระดมทุนในกองทุนที่สองอย่าง 500 TukTuks II โดยที่หวังว่าจะสามารถผลักดันสตาร์ตอัพไทยให้ก้าวเข้าไปสู่ระดับเอเชียได้ และร่วมสร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ

“กระทิง-เรืองโรจน์” เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เปิดกองทุนแรก ก็มี VC ที่สนใจเข้ามาลงทุนอีกกว่า 50 บริษัท จนถึงตอนนี้ระดมทุนในรอบถัดไปได้ทั้งหมดเกือบ 7,000 ล้านบาท ช่วยสร้างการจ้างเงินเกือบ 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

กระทิงเล่าต่ออีกว่า ในเวลานี้สตาร์ตอัพไทยยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะโต กองทุนกองหนึ่งมีอายุ 10 ปี ถ้าหากสามารถคืนกำไรได้ภายใน 10 ปี ก็เท่ากับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็มีสัญญาณที่ดีจากกลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนในกลุ่มแรก ที่เริ่มจะคืนกำไรกลับมาบ้างแล้ว

“ตอนนี้มีประมาณ 3-4 บริษัทที่ส่งเงินกลับมาแล้วประมาณเกือบ 300 ล้านบาท ถ้าคืนกำไรมา 5 บริษัทก็จะได้เงินมาประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้เราก็คาดหวังว่าบริษัทจะทำกำไรกลับมาเรื่อย ๆ จนถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,315 ล้านบาท)” กระทิง-เรืองโรจน์กล่าว

และว่า กองทุน 500 TukTuks เองถือกำเนิดขึ้นมาจากกองทุนสตาร์ตอัพอย่าง 500 starts up อีกทีหนึ่ง ซึ่งในช่วงเริ่มต้นการทำของการทำสตาร์ตอัพก็คือการลอกโมเดลธุรกิจของต่างประเทศที่มีอยู่แล้วมาให้หมด เรียกว่าเหมือนเป๊ะๆ เลยก็ได้ แต่หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ต่อยอดออกมาเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ เพราะนักลงทุนอาจมองว่าธุรกิจใหม่เอี่ยมมีความเสี่ยงมากเกินไปจนไม่อยากลงทุน ดังนั้นการลอกโมเดลที่ประสบความสำเร็จแล้วมาก่อนจึงจำเป็นสำหรับสตาร์ตอัพ

“ผมยกตัวอย่างสตาร์ตอัพจากจีนอย่าง Alibaba ที่ตอนแรกก็ลอกโมเดลของ Amazon และ Tensen ซึ่งในปัจจุบันเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก ๆ สตาร์ตอัพไทยก็ต้องเรียนรู้ที่จะนำโมเดลธุรกิจเหล่านี้มาใช้ ” กระทิงกล่าว

ทั้งนี้ ในกองทุน 500 TukTuks II จะเน้นไปที่การทำ Disruptive digital ซึ่งว่าด้วยโมเดลธุรกิจที่สามารถมีอิทธิพลกับธุรกิจใหญ่อื่นๆ ได้ จะไม่เหมือนกับกองทุนแรกที่เน้นไปที่การลอกโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้แห็นธุรกิจสตาร์ตอัพระดับ Unicorn(สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ก็เป็นได้

“ที่เรามาทำกองทุนนี้ก็เพราะว่าอยากจะได้เห็นสตาร์ตอัพที่เป็นฝีมือของคนรุ่นใหม่เข้ามา ตรงจุดนี้ผมเชื่อว่าหากมีสตาร์ตอัพที่ดีมากขึ้น ก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วย บนความหวังว่าจะเห็นสตาร์ตอัพไทยเติบโตสู่ระดับเอเชีย” กระทิงกล่าวปิดท้าย