เชื่อหรือไม่ว่าในอนาคตเราอาจต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่ทำมาจากเห็ดรา! หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นไปได้จริงหรือ ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้ โดย “เห็ดรา” นั้นเรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในแนวคิดสังคมคาร์บอนต่ำแนวคิดใหม่ แถมยังทนทานต่อไฟ และยังเป็นวัสดุป้องกันปลวกได้อีกด้วย

วัสดุสร้างบ้านดังกล่าวนี้เรียกว่าเส้นใยผสม ซึ่งใช้เห็ดราที่มีชื่อว่า Trametes versicolor หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า เห็ดหางไก่งวง มาผสมกับวัสดุจากภาคการเกษตรอย่างข้าวเปลือก และของเสียจากภาคอุตสาหกรรมอย่างเศษแก้ว ก็จะได้เป็นก้อนอิฐน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีราคาถูกกว่าพลาสติกสังเคราะห์และไม้ และยังช่วยลดปริมาณของเสียที่จะเกิดขึ้นบนพื้นโลกอีกด้วย

สำหรับขั้นตอนกระบวนการทำก้อนอิฐจากเห็ดรานี้เรียกได้ว่าใช้พลังงานน้อย และเป็นกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน หรือคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยโครงสร้างของวัสดุผสมดังกล่าวสามารถขึ้นโครงออกมาได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน

ทั้งนี้ ข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของประชากรมากกว่าครึ่งโลก โดยทั่วโลกมีการบริโภคข้าวมากกว่า 480 ล้านเมตริกตัน/ปี ซึ่ง 20% ของจำนวนนี้เป็นข้าวเปลือก ขณะเดียวกัน เฉพาะในประเทศออสเตรเลียแต่ละปีก็มีการสร้างขยะประเภทแก้วมากกว่า 600,000 ตัน ซึ่งโดยปกติแล้วทั้งเปลือกข้าวและเศษแก้วจะถูกนำไปฝังกลบ ดังนั้น การนำมาทำเป็นวัสดุใหม่จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณของเสีย

ทนไฟได้ดี

โดยอิฐจากเห็ดรายังเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี และยังรักษาอุณหภูมิได้ดีกว่าวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เช่น โพลีสเตอรีน และปาร์ติเกิลบอร์ด ซึ่งทำมาจากปิโตรเลียมหรือก๊าซธรรมชาติ

นั่นหมายความว่า เมื่อถูกเผาไหม้ อิฐจากเห็ดราจะเผาไหม้ได้ช้ากว่า ปล่อยควันและคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยกว่าวัสดุก่อสร้างอื่นๆ จึงเหมาะแก่การใช้งานในสิ่งก่อสร้างทั่วไป เพราะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในด้านอัคคีภัย

ทั้งนี้ แต่ละปีมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นหลายต่อหลายพันครั้ง และสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก็ยังมาจากการสูดดมควันและพิษของคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งการที่อิฐจากเห็ดราปล่อยควันออกมาน้อยกว่า ก็จะทำให้ผู้ประสบภัยมีเวลาหนีจากที่เกิดเหตุมากขึ้น หรือเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้มากขึ้นนั่นเอง

ทนทานต่อแมลงได้

ปัญหาปลวกขึ้นบ้านเรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของชาวออสเตรเลียมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องปลวก และรวมแล้วต้องเสียเงินเพื่อจัดการแก้ปัญหานี้ไปมากกว่าปีละ 1.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

แต่วัสดุจากเห็ดรานี้สามารถต่อสู้กับการระบาดของปลวกได้ เนื่องจากวัสดุที่มีซิลิกาเป็นส่วนประกอบอย่างข้าวเปลือกและแก้ว จะทำให้อาคารต่างๆ น่ากินน้อยลงสำหรับพวกปลวก

ดังนั้น การใช้วัสดุทนไฟได้ ต้านปลวกได้นี้ เรียกได้ว่าสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมการสร้างอาคาร และพัฒนาการรีไซเคิลขยะไปเลยทีเดียว

หลายคนอาจมีวิธีการรีไซเคิลหนังสือพิมพ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น นำมาห่อของ พับถุง ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วการน้ำหนังสือพิมพ์ไปรีไซเคิลยังทำได้อีกหลายอย่างเลย ลองไปดู 4 ไอเดียรีไซเคิลหนังสือพิมพ์ง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้กัน

1.ใช้ซับหนังสือที่เปียกน้ำ

หนังสือที่เปียกน้ำไปแล้วบางทีเราก็ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งเอง แต่กว่าจะแห้งก็ใช้เวลานาน ยิ่งหนังสือเล่มหนาก็ยิ่งใช้เวลามากขึ้นไปใหญ่ แถมยังบวมอีก วิธีการคือให้นำหนังสือพิมพ์มาพับแล้วสอดเข้าไปในหนังสือที่เปียก จากนั้นวางหนังสือเล่มที่เปียกไว้ในแนวตั้ง แค่นี้หนังสือเล่มโปรดของคุณก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

2.กระถางเพาะต้นไม้

จะให้เป็นกระถางปลูกต้นไม้เลยก็อาจจะยากไปนิด แต่หนังสือพิมพ์สามารถเอามาทำเป็นกระถางเพาะต้นกล้าได้ วิธีการนำหนังสือพิมพ์มาพับแล้วใช้แก้วน้ำเป็นบล็อคสำหรับทำทรงกระบอก เสร็จแล้วใส่ดิน เพาะเมล็ด เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตพอที่จะนำลงดินได้ ก็สามารถนำลงดินไปทั้งกระถางได้เลย ซึ่งกระดาษจะสามารถย่อยสลายไปเองได้

3.ห่อของขวัญเก๋ๆ พร้อมทำโบว์ง่ายๆ

การนำหนังสือพิมพ์มาห่อของขวัญแทนกระดาษห่อของขวัญอาจเป็นไอเดียที่เคยเห็นกันมาบ้าง แต่จะให้สวยเก๋ขึ้น คุณอาจเพิ่มริบบิ้นสีสวยๆ เข้าไป เพิ่มความน่ารักด้วยโบว์ดอกไม้ ที่วิธีการทำคือนำแบบที่ตัดเป็นรูปดอกไม้มาทาบลงบนหนังสือพิมพ์หน้าที่มีสีสวยๆ แล้วตัดกระดาษตามแบบ จากนั้นตัดดอกไม้แต่ละชิ้นด้วยสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ม้วนเข้ามาแล้วทากาว ดัดกลีบ แล้วเอาแต่ละชั้นมาซ้อนกัน ก็จะได้เป็นดอกไม้ประดับน่ารักๆ

4.ถุงกระดาษเก๋ๆ

บ้านเราอาจจะคุ้นชินกันแล้วกับถุงกระดาษ แต่ทำแบบเมื่อก่อนก็ดูธรรมดาไป วิธีการสร้างความแปลกใหม่ คือ เมื่อพับถุงกระดาษเสร็จ อาจใช้ริบบิ้นมาทำหูถุง เอาไว้ใส่ของกุ๊กกิ๊กเบาๆ ก็น่ารักไปอีกแบบ แต่ไม่ควรนำไปใส่ของทอด เพราะอย่าลืมว่าหนังสือพิมพ์มีหมึกที่มีสารตะกั่วอยู่ ซึ่งหากเรากินเข้าไปจะได้รับอันตรายได้

4 practical newspaper hacks. 📰 bit.ly/2Kzjqbp

โพสต์โดย 5-Minute Crafts เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2018