จัดเป็นนวัตกรรมการเกษตรสุดไฮเทคในอนาคต ที่บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด อิมพอตจากคูโบต้าประเทศญี่ปุ่น มาโชว์ ในงาน KUBOTA Showcase 2018 ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Power of Agri-Innovation” หรือ “พลังแห่งนวัตกรรมเกษตร”เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ อิมแพคเมืองทองธานี ฮอลล์ 5 เมื่อวันที่ 1-2กันยายนที่ผ่านมา

KUBOTA Showcase 2018 เป็นการแสดงนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรแม่นยำอย่างครบวงจร ทั้งพืชข้าวและพืชไร่ นำเสนอการใช้งานเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชในแต่ละชนิด เพื่อให้เกษตรกรไทยได้สัมผัสกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ล้ำสมัย เปิดประสบการณ์การเกษตรยุค 4.0

โดยเครื่องจักรกลการเกษตรแต่ละชนิด ที่นำมาแสดง จัดเป็นสุดยอดนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในยุคปัจจุบันและอนาคตที่จัดว่าไม่ธรรมดา แบ่งเป็น 2 โซน

โซนแรก เป็น โซนนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะจากคูโบต้า ประเทศญี่ปุ่น (Agri Machinery Innovation and KUBOTA Smart Agri System หรือ KSAS) ไฮไลท์เป็นเครื่องจักรกลการเกษตรสุดล้ำสมัย 4 เครื่อง ที่ต้องยกนิ้วให้นักคิดนักพัฒนา การทำงานของเครื่องกลแต่ละชนิด เรียกว่าแม่นยำมาก

เครื่องแรก KSAS Tractor SL60HCQMAEP เป็นแทรกเตอร์คูโบต้าติดตั้งเครื่องหว่านปุ๋ยระบบ KSAS ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์รับสัญญาณที่ใช้ร่วมกับระบบ KSAS เป็นระบบการจัดการช่วยวางแผน ปฏิบัติการ ตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาระบบการทำการเกษตร

การทำงานของแทรกเตอร์คูโบต้าติดตั้งเครื่องหว่านปุ๋ยระบบ KSAS จะส่งแผนการหว่านปุ๋ยที่กำหนดไว้ในนาแต่ละแปลงด้วยการเชื่อมต่อ KSAS Mobile ไปยังแทรกเตอร์ที่มีระบบ Wifi LAN จากนั้นแทรกเตอร์จะปรับความเร็วรถ และส่งสัญญาณไปยังเครื่องหว่านปุ๋ย เพื่อให้สามารถหว่านปุ๋ยได้ตรงตามปริมาณที่วางแผนไว้โดยอัตโนมัติ แม้จะกำหนดปริมาณปุ๋ยในแต่ละแปลงไม่เท่ากัน ก็สามารถหว่านได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

เครื่องเกี่ยวข้าว

เครื่องที่2  Combine Harvester KSAS รถเกี่ยวนวดข้าวระบบ KSAS เป็นรถเกี่ยวนวดข้าวสุดไฮเทค มาพร้อมกับเซนเซอร์วัดโปรตีน ความชื้น และปริมาณผลผลิตเกษตรกรสามารถเก็บข้อมูลข้างต้นได้ในระหว่างการเกี่ยว ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังระบบบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ KSAS เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกในรอบถัดไป (PDCA) ให้เหมาะสมแม่นยำ ลดความสูญเปล่าในการทำงาน เพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตที่ได้

เครื่องปลูกข้าวด้วยวิธีการปักดำ

เครื่องที่3  KSAS Rice Transplanter รถดำนาระบบ KSAS เป็นรถดำนา มาพร้อมกับอุปกรณ์รับสัญญาณที่ใช้ร่วมกับระบบ KSAS โดยการเชื่อมต่อ KSAS Mobile เข้ากับรถดำนา และส่งข้อมูลปริมาณปุ๋ยที่จะหยอดในแต่ละแปลงไปยังรถดำนา ปริมาณปุ๋ยจะถูกปรับโดยชุดปรับปริมาณหยอดปุ๋ยอัตโนมัติ ทำให้สามารถหยอดปุ๋ยได้ตามแผนอย่างแม่นยำในทุกๆแปลง เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มปริมาณผลผลิต และช่วยลดต้นทุนในการผลิต

โดรนระบบไฮบริจเพื่อการเกษตร

รวมถึงเครื่องมืออัจฉริยะ เครื่องที่4 Hybrid drone (Ishikawa Energy Research) เป็นโดรนระบบไฮบริจเพื่อการเกษตรสุดล้ำ ประสิทธิภาพสูง ปลอดภัยในการใช้งาน เป็นโดรนที่มีระยะเวลาการบิน (Flight Time) ยาวนานต่อเนื่องที่สุดในโลกกว่า 60 นาที ระยะการฉีดพ่น 4 เมตร โครงสร้างแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา ทำจากแมกนีเซียม มอเตอร์คุณภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่น ใช้งานง่าย ปีกสามารถพับเก็บได้ สะดวกสบายในการเคลื่อนย้าย

ต้องบอกว่าทั้ง4เครื่องจักรกลการเกษตรสุดไฮเทคที่ติดตั้งระบบ KSAS ในโซนนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะ น่าทึ่งมากจริงๆ

มาถึงโซนที่ 2 โซนเกษตรครบวงจร ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และผัก รวมทั้งแนวคิดการทำเกษตรรายได้สูง (KUBOTA (Agri) Solutions and Max Revenue Farming Concept) แบ่งเป็น5โซน จำแนกตามพืชพันธุ์การเกษตร

เครื่องขุดมันสำปะหลัง

โซนมันสำปะหลัง จัดแสดงในคอนเซปต์ “ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพมันสำปะหลัง” มีสินค้าไฮไลท์ คือ เครื่องขุดมันสำปะหลัง สามารถขุดมันได้สะอาด ช่วงลดต้นทุนกระบวนการขุดมันได้มากกว่าการขุดมันแบบเดิม

โดยมีการโชว์เครื่องจักรกล อาทิ เครื่องปลูกมันสำปะหลังรวม 4 ขั้นตอนในเครื่องเดียว ทั้งการยกร่อง การตัดท่อนพันธุ์ การปลูก และใส่ปุ๋ย ใช้คนงานแค่ 2คน ในการป้อนท่อนพันธุ์ และคนขับรถ จากปกติจะต้องใช้คนงานเตรียมดิน คนงานยกร่อง คนตัดท่อนพันธุ์ คนวางไลน์พันธุ์มัน จ้างคนเสียบ ขั้นตอนยุ่งยาก เครื่องขุดมันเป็นสินค้าที่ขายในประเทศไทยแล้ว 1-2 ปี เกษตรกรมันสำปะหลังให้ความสนใจ มีผลตอบรับดี เนื่องจากบางพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างสูง

รถตัดอ้อย

โซนอ้อย แสดงในคอนเซปท์ “ตัดอ้อยสด รายได้เพิ่ม” มีสินค้าไฮไลท์ คือ รถตัดอ้อย แทรกเตอร์ รุ่น M ติดตั้งเครื่องตัดอ้อยด้านข้าง และแทรกเตอร์ รุ่น B ติดตั้งเครื่องสางใบอ้อย รวมถึงจัดแสดงข้อมูลการเตรียมแปลงให้เหมาะกับรถตัดอ้อยและการขนส่งโลจิสติกส์

เครื่องตัดอ้อย

โซนข้าว จัดเป็นจุดเด่นของงาน กับคอนเซปท์ “เปลี่ยนมาหยอดหรือดำดีกว่า? และ เกษตรรายได้สูง”  ไฮไลท์ในโซนนี้ คือ การหยอดน้ำตม การหยอดข้าวแห้ง การปักดำ ลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ และเพิ่มคุณภาพผลผลิตข้าว รวมถึงจัดแสดงโรงสีข้าวขนาดเล็กสำหรับเกษตรรายได้สูง (Max. Revenue)

เครื่องปลูกข้าวด้วยวิธีการหยอดข้าวแห้ง

ไฮไลท์ของโซนข้าว คือ การใช้โรตารี่ยกร่องปลูกผัก และเครื่องปลูกผัก นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดของการขุดบ่อน้ำที่ใช้สำหรับการทำเกษตรรายได้สูงและเครื่องตรวจความหวานของผลไม้อีกด้วย

เครื่องจักรกลในการปลูกข้าว มีรูปแบบการปลูกทั้งโซนดินแห้งในพื้นที่ภาคอีสาน หรือนารอน้ำฝน และโซนภาคกลางเขตชลประทานที่สามารถควบคุมน้ำได้ จะเป็นเครื่องหยอดน้ำตม หรือเครื่องหยอดข้าวงอก รวมถึงมีเครื่องปักดำต้นกล้า ข้อดีของการดำนาแบบใช้รถนั่งขับ จะสามารถควบคุมระยะห่างระหว่างแปลงได้ดี มีความห่างที่แสงแดดสามารถส่องผ่านทุกทิศทาง ช่วยลดการใช้สารเคมี

เครื่องปลูกข้าวด้วยวิธีการหยอดน้ำตม

อย่าง เครื่องหยอดน้ำตม หรือหยอดข้าวงอก สามารถทำได้ 4 ขั้นตอนในเครื่องเดียว คือ ลูบดิน หยอดข้าว ชักร่อง และพ่นยา ทำงานได้ 28-36 ไร่ต่อวัน สามารถเลือกระยะการหยอดได้ตั้งแต่ 14-24 เซนติเมตร ปกตินาหว่านจะใช้เมล็ดพันธุ์ 30 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าใช้รถหยอดน้ำตม จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 8-12 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ประหยัดเมล็ดพันธุ์ ประหยัดต้นทุน 400 บาทต่อไร่ ได้ข้าวเป็นแถวเป็นแนว โอกาสการเกิดโรคแทบจะไม่มี จะแตกต่างจากข้าวนาหว่านที่จัดการยากกว่า

รวมถึงเครื่องเกี่ยวข้าว มีการออกแบบสำหรับเกี่ยวข้าวล้มและข้าวยาว มีการปรับองศาใบมีด ตลอดจนเครื่องอัดฟาง ที่สามารถนำฟางไปขายเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยหรือเพาะเห็ดได้ ไม่ต้องเผาทิ้ง ฟางแต่ละก้อนความกว้างอยู่ที่ 32-42 เซนติเมตร ยาว 80-100 เซนติเมตร ขายส่งก้อนละ 25-35 บาท

เครื่องสีข้าวหยอดเหรียญ

อีกโซนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ โซน Rice mills K-CR515CS เครื่องสีข้าวหยอดเหรียญ สำหรับพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น เป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น มีอยู่ในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้นำข้าวมาสีนำไปบริโภคแบบสดใหม่ในเวลาที่ต้องการได้ตลอดเวลา เนื่องจากความสดใหม่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพและรสชาติดี เป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการบริโภคอาหารที่ดีตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น

เครื่องปลูกผัก

มาถึง โซน Vegetable Planter เครื่องปลูกผักกึ่งอัตโนมัติแบบนั่งขับ เป็นเครื่องจักรที่ใช้สำหรับปลูกผักได้หลากหลายชนิด เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักกาดแก้ว เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกร ลดความเมื่อยล้าในการทำงานโดยการนั่งขับ

เครื่องปลูกผักกึ่งอัตโนมัติแบบนั่งขับสามารถปลูกได้พร้อมกันทีละ 2 แถว ปรับระยะห่างระหว่างแถวได้ตั้งแต่ 30 – 60 เซนติเมตร  และระยะห่างระหว่างกอได้ตั้งแต่ 23 – 70 เซนติเมตร

เครื่องปลูกผัก

ทั้งนี้ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้จัดกลุ่ม เครื่องจักรกลการเกษตรนำเข้าจากคูโบต้าประเทศญี่ปุ่น เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย 12 รายการ อาทิ 1. KSAS Tractor SL60HCQMAEP แทรกเตอร์คูโบต้าติดตั้งเครื่องหว่านปุ๋ยระบบ KSAS 2.Combine Harvester KSAS  รถเกี่ยวนวดข้าวระบบ KSAS 3.KSAS Rice Transplanter  รถดำนาระบบ KSAS

เครื่องปลูกหอมหัวใหญ่

4.Vegetable Planter เครื่องปลูกผักกึ่งอัตโนมัติแบบนั่งขับ 5.Soil crushing molded 6.Onion Planter OPK-4  เครื่องปลูกหัวหอมหัวใหญ่ หลักการคล้ายเครื่องดำนา จะมีการเพาะกล้าตัวหอมก่อน เตรียมถาดกล้าไว้ แล้วเวลารถวิ่งจะเดินตามไปเรื่อยๆ เราก็ฟีดถาดกล้าเข้าไป ค่อยๆปลูกทีละ 4 แถว เป็นเทคโนโลยีในญี่ปุ่น  7.Onion Harvester OH-4 เครื่องเก็บเกี่ยวหัวหอมหัวใหญ่ 8.Power Assist Suit WIN-1 ชุดผ่อนแรงสำหรับยกของ

9.Rice mills K-CR515CS เครื่องสีข้าวหยอดเหรียญ สำหรับพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น 10.Fruit selector for orchard 11.Seed Drill และ12.Hybrid drone (Ishikawa Energy Research) โดรนระบบไฮบริจเพื่อการเกษตร

ทั้ง12ชนิด จัดเป็นเครื่องจักรกลช่วยทุ่นแรง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มยอดขาย และลดการเกิดโรค

นอกจากนี้ยังมีบูธกิจกรรมจากสยามคูโบต้าที่น่าสนใจ อาทิ เรื่องน่ารู้อะไหล่แท้ โรงภาพยนตร์คูโบต้า ฉายหนังสั้นคูโบต้าของโลกแห่งนวัตกรรมเกษตรในอนาคต เรื่อง “ตลอดไป มีจริง” แนวโรแมนติคคอมเมดี้ ทำให้คุณซาบซึ้งไปกับความหมายของคำว่า “ดูแล” ผ่านมุมมองของตัวละครทั้ง 3  จากโลกอนาคตที่มีแต่ความเร่งรีบ ทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น จนคนบนโลกหลงลืมบางสิ่งที่เรียกว่า “จิตใจ”

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยว่า การจัดงาน KUBOTA Showcase 2018 ในโอกาสครบรอบ 40ปี ของบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเครื่องจักรกลการเกษตร โดยการรวบรวมเทคโนโลยีนวัตกรรมการทำการเกษตรที่แม่นยำล้ำสมัยจากคูโบต้าประเทศญี่ปุ่นมาโชว์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

“การจัดแสดงแบ่งเป็น 2 โซนหลัก ประกอบด้วย โซนนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะ จากคูโบต้า ประเทศญี่ปุ่น หรือ KSAS เป็นการใช้ Big DATA เพื่อทำการเกษตรแม่นยำสูง การจัดการเกษตรกรรมด้วยฐานข้อมูล เพื่อสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ และลดต้นทุนความสูญเปล่า เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคูโบต้า ประเทศญี่ปุ่น ที่สำคัญเป็นรายเดียวในประเทศญี่ปุ่นด้วย ครั้งนี้ถือเป็นแรกในประเทศไทยที่เกษตรกรจะได้สัมผัสเทคโนโลยีอันล้ำหน้าในยุค 4.0

“โซนที่ 2 คือโซนเกษตรครบวงจร ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และผัก รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก ภายใต้แนวคิดการทำเกษตรรายได้สูง ช่วยเกษตรกรในเรื่องการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและรายได้

“อย่างโซนอ้อย คอนเซ็ปท์ คือ ตัดอ้อยสด รายได้เพิ่ม ลดการเผา ไฮไลท์คือรถตัดอ้อยรุ่น SH95 และแทรกเตอร์รุ่น M9540 ที่เราติดตั้งเครื่องตัดอ้อยด้านข้าง เกษตรกรรายย่อยที่มีรถแทรกเตอร์รุ่น M9540 อยู่แล้ว และไม่ต้องการเครื่องจักรขนาดใหญ่ก็สามารถนำอุปกรณ์ตัดอ้อยไปติดได้ นอกจากนี้เรามีรถแทรกเตอร์รุ่น B2740 ขนาดเล็ก ติดเครื่องสางใบอ้อยด้วย สามารถลิดใบอ้อยออกก่อน ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าไปตัดอ้อยได้สะดวกขึ้น”นายสมศักดิ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าฯ เผย

นายสมศักดิ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าฯ บอกด้วยว่า ในส่วนโซนข้าว จะมาชวนให้เกษตรกรคิดกันว่า เลิกหว่านดีกว่าไหม เปลี่ยนเป็นหยอดหรือดำดีกว่าไหม เพราะการหว่านทำให้เปลืองเมล็ดพันธุ์มาก โดย1ไร่ เกษตรกร ใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่า 30 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปริมาณที่มาก และราคาเมล็ดพันธุ์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่เมื่อเรามาใช้รถดำนา หรือรถหยอดข้าว เกษตรกรสามารถใช้เมล็ดพันธุ์เพียงแค่ 7-15 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่และสภาพเมล็ดพันธุ์ จะช่วยเรื่องการลดต้นทุน การปลูกด้วยเครื่องจักรจะเป็นแถวเป็นแนว ต้นข้าวแข็งแรง โรคหรือเชื้อราจะทำร้ายได้ยาก แสงแดดส่องถึงโคนต้น ทำให้ต้นข้าวแข็งแรง การใช้สารเคมีจะหมดไป

“ความหวังของเรา ถ้าเราสามารถจุดประกายให้คนหันมาพัฒนาด้านการเกษตร จะช่วยให้เกษตรมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เรามีประชากรที่ทำการเกษตร 17 ล้านคน เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของประชากรไทย ถ้ากลุ่มนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเชื่อมั่นว่าประเทศไทยและเราทุกคนดีขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้ฐานของเราแข็งแรงขึ้น”นายสมศักดิ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าฯ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายสมบูรณ์ จินตนาผล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เครื่องจักรกลที่นำมาโชว์วันนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรไทยเห็นว่า วันหนึ่ง เราจะไปในทิศทางการนำระบบ KSAS เข้ามาใช้ในประเทศไทย ตอนนี้อยู่ในขั้นการศึกษาสำรวจ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ และเอกชนรายใหญ่ ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมกับการเกษตรในประเทศไทย เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวของไทยกับของญี่ปุ่นยังมีความแตกต่างกัน ฉะนั้นเราจึงต้องมาศึกษา ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยอีกครั้ง

“อย่างเครื่องจักรกล ที่อาจนำมาใช้ในอีก 4-5 ปี โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ คือ M7 เป็นแทรกเตอร์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ไม่ได้ใหญ่ที่สุดในโลก ในยุโรปและอเมริกามีใช้แล้ว 170 แรงม้า ส่วนสำคัญมีการเชื่อมข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่อพ่วง กับตัวแทรกเตอร์ ทำให้การควบคุมอุปกรณ์ต่อพ่วง สามารถทำได้จากที่นั่งคนขับได้เลย เหมือนมีไอแพดอยู่ในนั้น จะขุดให้ลึก กว้าง ความเร็วเท่าไหร่สามารถควบคุมได้จากห้องโดยสารคนขับ เนื่องจากปัจจุบันรถแทรกเตอร์ในประเทศไทย ถ้าจะปรับอะไรทีหนึ่ง เราต้องจอดรถลงไปปรับ ความแม่นยำในแต่ละพื้นที่แต่ละระยะอาจไม่เท่ากัน

“รวมถึงเครื่องปลูกผักอัตโนมัติในญี่ปุ่น ที่นำมาโชว์ เป็นเครื่องปลูกผักแบบนั่งขับ อาทิปลูกหอมใหญ่ รวมถึงเครื่องเก็บเกี่ยวหอมใหญ่ เครื่องตัวนี้ยังไม่วางขายในประเทศไทย จะต้องมีการสำรวจตลาด สภาพพืชผลของไทยก่อน การวางจำหน่าย”นายสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าฯ เผย

สำหรับเกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจนวัตกรรมการเกษตรอัจฉริยะสุดไฮเทค จากประเทศญี่ปุ่น ติดตามชมได้ในงาน KUBOTA Showcase 2018 ที่จะจัดขึ้นในอีก 2 ภูมิภาค โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น วันที่ 14-16 กันยายน 2561 และภาคเหนือ จัดที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก วันที่ 10-11 ตุลาคม 2561 นี้