หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ซึ่งหนึ่งในสถานที่ชาวญี่ปุ่นมักใช้เป็นจุดดับชีวิตก็คือ บริเวณสถานีรถไฟ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกระโดดเข้าหารถไฟที่กำลังวิ่งเข้ามานั่นเอง

ประเทศญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไขปัญหานี้ หนึ่งในนั้นคือการที่ติดตั้งหลอดไฟ LED แสงสีฟ้าไว้ที่ท้ายชานชาลาในสถานี เพื่อกระตุ้นให้ผู้โดยสารจิตใจสงบขึ้น รู้สึกผ่อนคลาย และทำให้พวกเขามีความสุขขึ้น ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะได้ผล

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามสถานีรถไฟ 71 สถานีที่มีการติดตั้งไฟ LED สีน้ำเงิน ระหว่างปี 2000-2010 และพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายลดลง 84%

ขณะที่กรุงโตเกียวกำลังสร้างที่กั้นชานชาลาให้ครบ 243 สถานีภายในปี 2023 แต่ที่กั้นนั้นก็มีค่าติดตั้งสูงมาก และบางสถานียังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศในกลุ่ม OECD ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด คือมีอัตราการฆ่าตัวตาย 17.6 รายต่อประชากร 100,000 ราย และมีการฆ่าตัวตายที่สถานีรถไฟเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง

หลายประเทศลองหันมาใช้วิธีเดียวกันกับญี่ปุ่น เช่น หลายสถานีที่อังกฤษตอนนี้ก็เริ่มทดลองใช้แสงสีฟ้าแล้ว ซึ่งมีรายงานว่า ผลจากการใช้แสงสีฟ้า ทำให้มีเหตุอาชญากรรมลดลงด้วย

อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า รถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่นนั้นโด่งดังในเรื่องของความเร็ว แต่นอกจากเรื่องของความเร็วแล้ว รถไฟญี่ปุ่นยังพิเศษในเรื่องของความลักชัวรี่ ด้วยขบวนพิเศษที่ทำให้คุณลืมภาพรถไฟญี่ปุ่นแบบเดิมๆ ออกไป เมื่อได้สัมผัสกับรถไฟระดับเจ็ดดาวสุดหรูหรา ที่มีความสะดวกทั้งพื้นที่การใช้สอยที่เป็นส่วนตัว เตียงนอนสุดพรีเมี่ยม และอาหารระดับโรงแรม

Credit: Kyushu Railway Company

รถไฟขบวนดังกล่าวมีชื่อว่า “Seven Stars” แล่นผ่านบ้านเมืองและรอบเกาะคิวชู โดยเริ่มให้บริการเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมปี 2013 ซึ่งขณะที่ขึ้นรถไฟขบวนนี้จากสถานีที่แสนวุ่นวายอย่างสถานีฮากาตะ ในเมืองฟุกุโอกะ เรียกได้ว่าเพียงแค่ก้าวเท้าขึ้นไป ก็เหมือนได้สัมผัสโลกอีกใบแล้ว ด้วยการตกแต่งภายในด้วยไม้ ให้ความรู้สึกอบอุ่น ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ดูคลาสสิก กระตุ้นให้รู้สึกเหมือนย้อนอดีตไปอีกครั้ง

Credit: Kyushu Railway Company

อิจิ มิทูกะ (Eiji Mitooka) นักออกแบบอุตสาหกรรมและออกแบบขบวนรถไฟสุดหรู “Seven Stars” ชาวญี่ปุ่นวัย 70 ปี กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทำขึ้นมาเฉพาะเพื่อรถไฟขบวนนี้เท่านั้น ตั้งแต่ที่นั่งบนรถไฟ, โคมไฟ หลอดไฟต่างๆ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ ซึ่งธีมคือการผสมผสานสิ่งต่างๆ ระหว่างตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน เช่น ภาพ mandalas ซึ่งเป็นภาพที่ได้แรงบันดาลจากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มาประดับตกแต่งเพื่อให้เกิดเป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน

Credit: Kyushu Railway Company

ส่วนงานจิตรกรรมฝาผนังสุดประณีต ไปจนถึงภาพวาดขนาดจิ๋วของมิทูกะ จะถูกแขวนไว้ตามทางเดิน จนไม่อยากจะมองข้ามรายละเอียดใดๆ ไป

Credit: Kyushu Railway Company

ขณะที่ในบริเวณเลานจ์ จะมีการใช้ “คูมิโกะ” หรืองานไม้โบราณแบบญี่ปุ่นมาติดตั้งเป็นช่องหน้าต่าง เมื่อมีแสงลอดผ่านเข้ามาก็จะแสดงให้เห็นถึงชิ้นงานที่แสนประณีตและลวดลายที่สลับซับซ้อน นอกจากนี้ ยังเห็นลายดาวสีทองได้จากฝ้าเพดาน, แกะสลักไว้ที่โคมไฟตั้งโต๊ะ และทาลงบนหน้าต่างกระจกสี

Credit: Kyushu Railway Company

ทั้งนี้ เมื่อแรกที่เข้ามาออกแบบรถไฟขบวนนี้นั้น มิทูกะบอกว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถไฟโอเรียนท์เอกซ์เพรส (Orient Express) ซึ่งเป็นรถไฟที่ดำเนินการเดินรถโดยบริษัท Compagnie Internationale des Wagons-Lits สัญชาติอังกฤษ โดยเปิดบริการเดินรถในเส้นทางจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถึงกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อ 134 ปีมาแล้ว แต่เขาต้องการจะสร้างบางสิ่งที่ทำให้นักเดินทางชาวญี่ปุ่นวัยเก๋า ได้รู้สึกหวนรำลึกไปถึงวันวาน

Credit: Kyushu Railway Company

“ผมคิดว่า เป็นเวลานานมาแล้วที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการเดินทางที่แสนยิ่งใหญ่นั้นคือการได้ไปยุโรปหรืออเมริกา เพื่อหาประสบการณ์ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง, ได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดของที่นั่น หรือได้กินอาหารที่ดีที่สุดของที่นั่น” มิทูกะกล่าว

Credit: Kyushu Railway Company

“แต่สำหรับพวกเราในยุค 50s 60s และ 70s การเดินทางที่สะดวกสบายและผ่อนคลายนั้น คือการไปในที่ที่มีการพูดภาษาญี่ปุ่น, ที่ที่เราได้กินอาหารญี่ปุ่น เหมือนกับว่าเราได้พบญี่ปุ่นอีกครั้งนั่นเอง” มิทูกะกล่าวทิ้งท้าย

คนที่ไปเที่ยวนานๆ หรือใช้ชีวิตยู่ในญี่ปุ่นแล้วใช้บริการรถไฟ อาจมีข้อสงสัยบางอย่างคล้ายกับผมว่า “ทำไมรถไฟต้องหยุดกะทันหัน” แถมหยุดกะทันหันบ่อยๆ เสียด้วย ทั้งๆ ที่ระบบโครงสร้างและวิศวกรรมญี่ปุ่นออกจะเพียบพร้อมอยู่แล้ว

คนไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นอาจจะรู้สึกแค่ว่า น่าจะเกิดเหตุอะไรบางอย่างที่สถานีรถไฟ จึงยืนคอยจนกว่ารถไฟจะใช้การได้ปกติเหมือนเดิม

จากสถิติที่บริษัทรถไฟส่งให้กระทรวงที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค คมนาคมและการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น พบว่า ที่รถไฟต้องหนุดกะทันหันส่วนใหญ่นั้น จริงๆ แล้วเกิดจากเหตุการณ์ที่คนญี่ปุ่นเลือกฆ่าตัวตายบนเส้นทางรถไฟกันนี่แหละครับ บรึ๋ยยย..

ถ้าใครเพิ่งรู้ ก็ต้องขออภัยที่เอามาบอก เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น

ตลอด 3 ปีที่ผมทำงานอยู่ในโตเกียว ผมก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ครั้งหนึ่ง ไม่ได้เห็นต่อหน้า แต่เห็นว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากรีบวิ่งเข้าไปในที่เกิดเหตุจริง เมื่อเรื่องร้ายลักษณะนี้เกิดขึ้น ทางสถานีรถไฟจะประกาศให้คนในสถานีทราบว่า Jin-Shin-Ji-Ko จินชินจิโคะ หรืออุบัติเหตุทางรถไฟที่ทำให้คนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ถ้าคุณยืนอยู่ในสถานี หรือกำลังโดยสารอยู่ในสถานีรถไฟ แล้วอยู่ดีๆ รถไฟหยุดพร้อมมีเสียงประกาศจากนายสถานี จับใจความได้โดยมี 4 คำนี้ จิน-ชิน-จิ-โคะ เท่ากับว่าคุณอยู่ใกล้ๆ เหตุการณ์ครับ

เป็นที่ทราบกันครับว่าในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนคนที่คิดฆ่าตัวตายเยอะ ถ้าพูดถึงเคสคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากรถไฟ 15 สายหลักในมืองมีมากถึง 3,145 เคสใน 10 ปีที่ผ่านมา

แล้วในจำนวนนั้นมีเคสคนพยายามฆ่าตัวตายด้วยรถไฟถึง 1,985 เคสเลยทีเดียว หรือนับเป็น 63% ของทั้งหมด

ร้ายไปกว่านั้น วิธีการของการฆ่าตัวตายด้วยรถไฟส่วนใหญ่คือ “การกระโดดเข้าหารถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ครับ”

แล้วสัดส่วนอายุที่กระทำการเช่นนี้มากที่สุดคือ “ชายหรือหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี”

โอ้ววว น้องเอ๋ย ชีวิตยังมีทางให้เดินต่ออีกมาก ทำไมถึงคิดสั้นขนาดนั้นล่ะ

แล้วเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดบ่อย ราวๆ ช่วงเปิดเรียนใหม่ๆ หลังจากมีช่วงหยุดปิดเทอมเป็นเวลานานครับ

ทางด้านผู้ใหญ่ที่กระทำการเช่นนี้ ส่วนใหญ่คือเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ถูกใช้งานหนักจากบริษัทหน้าเลือด แล้วเกิดความเครียดสุมอยู่ในอก หาทางออกไม่ได้จนต้องจบชีวิตลงแบบนั้น

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทางประเทศญี่ปุ่นเองก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ ทางสถานีรถไฟเองก็พยายามเลือกใช้ชานชาลาระบบปิด มีประตูเลื่อนปิดอัตโนมัติขณะรถไฟเทียบจอดชานชาลา แล้วค่อยเปิดประตูให้ผู้โดยสารเดินเข้าประตูรถไฟ (คือเราจะกระโดดไปที่รางตามอำเภอใจไม่ได้แล้ว ค้ายๆ รถไฟฟ้า MRT บ้านเรา)

ส่วนฝั่งบริษัทและองค์กรต่างๆ ก็พยายามหาโอกาสให้พนักงานได้หยุดหรือลางานได้มากขึ้น ไม่ต้องคอยเกรงอกเกรงใจสายตาคนรอบข้างที่จะหาว่าเราไม่มุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน

สุดท้ายนี้ต้องบอกว่า เราคนไทยโชคดีที่มีที่พึ่งทางจิตใจค่อนข้างมาก มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ในขณะที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ได้ยึดถืออะไรเหมือนคนไทยเรา นอกจากการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก พอพวกเขามีปัญหาสภาพจิตใจขึ้นมา ไม่มีใครให้ปรึกษา จึงตัดสินใจลงเอยในลักษณะนั้น

เรื่องนี้อยากบอกอะไร?

ผมอยากจะสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม จะทำอะไรอยู่ ขอให้คุณค้นหา “คุณค่า” ของตัวคุณเอง

คุณค่าของตัวเราไม่ต้องยิ่งใหญ่นัก อาจเกิดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อะไรก็ได้ที่ทำได้ทำเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อสังคมหรือเพื่อประเทศชาติครับ

ทุกชีวิตมีค่ามากเกินกว่าจะบรรยายด้วยตัวอักษร

หมายเหตุ : สาเหตุของการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดเข้าหารถไฟของคนทำงาน (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญ่ปุ่นในปี 2016)

อันดับ 1 ปัญหาโรคซึมเศร้า
อันดับ 2 ปัญหาโรคจิตเภท มีความผิดปกติของความคิด
อันดับ 3 ปัญหาความเจ็บป่วยทางร่างกาย
อันดับ 4 โรคทางจิตเวชอื่นๆ
อันดับ 5 ปัญหาความขัดสนในชีวิตประจำวัน
อันดับ 6 ปัญหาความสัมพันธ์คู่สามีภรรยาไม่ดี
อันดับ7 ปัญหาความสัมพันธ์กับคนที่ทำงาน
อันดับ 12 เหนื่อยจากงาน
อันดับ 26 ทำงานล้มเหลว
อันดับ 34 ปัญหาการเลี้ยงลูก
อันดับ 49 เป็นผู้เสียหายจากเหตุอาชญากรรม


ที่มา หนังสือ JAPAN DARK SIDE ถึงร้ายก็รัก โดย บูม-ภัทรพล เหลือบุญชู สนพ.มติชน