“บักหุ่ง” มาไกล แต่คนไทยขาดไม่ได้

มะละกอหรือที่ทางอีสานเรียกว่า หมากหุ่ง ชื่อเต็มๆ คือ หมากหุ่งกินหน่วย เนื่องจาก “หุ่ง” เป็นคำลาว หมายถึงรุ่ง หรือ สว่าง หมากหุ่งจึงหมายถึงพืชที่มีผลที่ให้ความสว่าง ซึ่งมาจากการที่คนอีสานบีบเอาน้ำมันจากเมล็ดละหุ่งมาใส่ถ้วย แล้วใส่ไส้ลงไปเพื่อใช้จุดไฟให้แสงสว่าง หมากหุ่งแดง หมากหุ่งขาว ก็คือละหุ่งแดง ละหุ่งขาว และพลอยเรียกพืชหน้าตาคล้ายกันที่มียางสีขาวแต่อยู่คนละวงศ์ว่า หมากหุ่ง “กินหน่วย” ซึ่งก็คือ มะละกอ นั่นเอง

หมากหุ่งไม่ใช่พืชพื้นถิ่นบ้านเรา ถิ่นกำเนิดของมะละกอนั้นอยู่แถวทะเลแคริบเบียน บริเวณประเทศปานามาและโคลัมเบียในปัจจุบัน ชาวสเปนนำมาเผยแพร่ในเอเชียอาคเนย์ในศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ พ.ศ.2143 ซึ่งก็คงตามๆ การเข้ามาของพริก ยิ่งมาเจอกับมะเขือเทศในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ด้วยฝีมือนักตำแห่งที่ราบสูงที่มีวัฒนธรรมการตำส้มสารพัด จึงสร้างสรรค์เมนูตำหมากหุ่งสะท้านโลกขึ้น

มะละกอเป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุย แต่ทนน้ำขังไม่ได้เลย จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มะละกอไปแพร่หลายกลายเป็นอาหารถิ่นของอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศไทย ตำบักหุ่งควรจะจดทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย เพราะเป็นเมนูที่มีเอกลักษณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายของตำรับและรสชาติ เช่น ส้มตำไทย ส้มตำปู ส้มตำโคราช ส้มตำปลาร้า ที่สำคัญมะละกอดิบมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อระบบปากท้องไส้ ขอเพียงแต่คำนึงถึงลักษณะในการทำเท่านั้น

ตำบักหุ่ง ยาล้างตระกรันในท้องไส้

ท้องไส้ของเรามีเยื่อเมือกบุไว้เพื่อป้องกันไม่ให้กรดและน้ำย่อยมาทำลายผนังลำไส้ เยื่อเมือกเหล่านี้นานวันจะมีของเสียตกค้างมาจับกันเป็นก้อนเหนียวเหมือนกับตระกรันในท่อน้ำ การกินอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ ก็ช่วยกำจัดของเสียเหล่านี้ได้ส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ช่วยทำความสะอาดอื่นๆ เช่น เอนไซม์ช่วยย่อยจากธรรมชาติ

มะละกอเป็นหนึ่งในผลไม้ไม่กี่ชนิดที่มีเอนไซม์ย่อยโปรตีนที่ชื่อ ปาเปน (papain) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเปบซิน ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีนในระบบทางเดินอาหารของคนเรา เอนไซม์ปาเปนมีอยู่มากในมะละกอดิบ และถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน ดังนั้นถ้าต้องการฤทธิ์ของปาเปนจะต้องกินมะละกอดิบที่ไม่นำมาปรุงโดยผ่านความร้อน ข้อดีของปาเปนที่ต่างจากเปบซินชนิดอื่นๆ คือ สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่เป็นกรดและเป็นด่าง จึงช่วยย่อยโปรตีนไม่ให้เราท้องอืดท้องเฟ้อ และทำให้ได้ประโยชน์จากโปรตีนอย่างเต็มที่

ปาเปนในมะละกอยังช่วยกำจัดคราบของเสียที่เกาะอยู่ตามเมือกที่เคลือบลำไส้ มะละกอดิบจึงเปรียบเสมือนน้ำยาล้างตระกรันในท่อของระบบปากท้องลำไส้ นอกจากนี้ มะละกอดิบยังมีคุณสมบัติช่วยกำจัดเนื้อที่ตายแล้ว และช่วยรักษาแผล จึงเหมาะกับคนที่มีแผลในกระเพาะและลำไส้เล็ก ตำบักหุ่งจึงเป็นเมนูสุขภาพที่ทำให้คนไทยได้กินมะละกอดิบอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และได้เอนไซม์ปาเปนเป็นผลพลอยได้มานมนาน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เพิ่งมาเริ่มหัดกินมะละกอดิบเป็นผักสลัดกันเมื่อเร็วๆ นี้เอง

อาหารช่วยระบาย และป้องกันท้องผูกในเด็กอ่อน

ในมะละกอสุกจะมีสารเพคตินอยู่มาก เมื่อเรากินมะละกอสุก สารเพคตินนี้จะดูดน้ำในลำไส้แล้วพองขยายตัวจากเดิมหลายเท่า ทำให้กากอาหารมีมากขึ้นแล้วไปดันผนังลำไส้ กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวถ่ายออกมา อาการท้องผูกก็จะทุเลาลง การกินมะละกอเพื่อช่วยระบายจึงเป็นความรู้สามัญในการดูแลตัวเองของคนทั่วโลก

จริงๆ แล้ว ทั้งมะละกอดิบและสุกต่างก็มีสารเพคติน แต่มะละกอสุกกินง่ายกว่า โดยเฉพาะเด็กอ่อน หลังจากอายุครบที่จะกินกล้วยได้ก็ควรจะให้กินมะละกอด้วยเช่นกัน โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆ ก่อน เด็กๆ จำนวนมากมักมีอาการท้องผูกตั้งแต่ยังเล็ก บางคนต้องสวนกันเป็นประจำ สาเหตุใหญ่มาจากนิสัยการกินที่ไม่ถูกต้อง ไม่ค่อยกินผักผลไม้ กินน้ำน้อย ขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นการฝึกให้เด็กกินผักผลไม้ตั้งแต่เล็กๆ ก็จะช่วยป้องกันปัญหานี้ได้

นอกจากแก้ท้องผูกได้แล้ว มะละกอยังเป็นยาแก้ท้องเสียที่ใช้กันมาก โดยเฉพาะในเด็กหรือทารก เพราะมีความปลอดภัยสูง จากรายงานการทดลองพบว่า สารเพคตินจะเป็นเมือกเหนียวลื่นๆ ที่ไปเคลือบผนังของกระเพาะและลำไส้ ช่วยลดการระคายเคืองและการอักเสบ สารเพคตินนี้ยังช่วยทำให้อุจจาระแข็งขึ้น ถ่ายเป็นก้อน ไม่เหลวเป็นน้ำ มะละกอยังมีสารที่ทำให้เชื้อแบคทีเรีย ต้นเหตุของท้องเสีย หยุดเจริญเติบโตด้วย

มะละกอ ผลไม้ชะลอความแก่

มะละกอเป็นผลไม้ที่ออกตลอดทั้งปี และร่ำรวยโอสถสารมากที่สุดชนิดหนึ่ง ที่สำคัญๆ คือสามทหารเสือ ได้แก่ วิตามินเอหรือเบต้าแคโรธีน วิตามินซี วิตามินอี ซึ่งเป็นสารช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการทำให้เกิดโรคสารพัด และเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพ อันเป็นกลไกที่นำความแก่ชรามาให้คนเรา ดังนั้นมะละกอจึงเป็นผลไม้ชะลอความแก่อีกชนิดหนึ่ง เพราะทั้งผลดิบ ผลสุก และยอดอ่อน ล้วนแต่มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มากทั้งสิ้น

ปาเปนในมะละกอยังย่อยโปรตีนให้กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายชนิดหนึ่งชื่อ อาร์จินีน (arginine) ซึ่งจะกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน ควบคุมการเจริญเติบโต ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมและรังไข่ในผู้หญิง และทำให้การทำงานของระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ จึงไปสอดคล้องกับความเชื่อของคนอินเดีย จีน และคนอีกหลายประเทศ ที่ว่า การกินมะละกอจะช่วยบำรุงสมรรถภาพของผู้ชาย ให้หน้าที่ของสามีได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

ประโยชน์ทางยาอื่นๆ ของมะละกอ

นอกจากจะเป็นผักผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ส่วนต่างๆ ของมะละกอยังใช้ประโยชน์เป็นยาได้มากมาย

ใบ – หมอยาไทยนิยมนำมาเข้ายาประคบร่วมกับใบละหุ่ง แก้อักเสบช้ำบวม พอกแผลเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยการตำพอกได้ทั้งแผลสดและแผลมีหนอง ผิวหนังอักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย ต้มกินเพื่อเป็นยาขับปัสสาวะ ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบว่า ในมะละกอมีฤทธิ์แก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ราก – พ่อวิน ตุ้มทอง หมอยาใหญ่แห่งเมืองเลย ใช้เป็นยาขับนิ่ว ซึ่งการวิจัยสมัยใหม่ก็พบว่ารากของมะละกอมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ นอกจากนี้ รากยังใช้ต้มกินเพื่อขับประจำเดือน ขับพยาธิได้อีกด้วย

ยาง – ใช้แก้พิษตะขาบกัด แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ช่วยย่อยเนื้อ

น้ำคั้นจากผลดิบใช้ลดความดันโลหิต น้ำต้มผลดิบมีสรรพคุณในการบำรุงน้ำนม

ส่วนผลมะละกอสุกสามารถใช้พอกหน้าเพื่อบำรุงผิวหน้าให้สดใส เพราะมีเอนไซม์ปาเปนซึ่งช่วยผลัดเซลล์ทำให้ผิวหน้าสดใส และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ทั้งยังมีวิตามินซี วิตามินเอ กรดอะมิโนที่ช่วยชะลอความแก่

ข้อควรระวัง

-การกินมะละกอสุกไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ถ้ากินมากไปจะทำให้ตัวเหลืองได้

-ยางมะละกอมีความเป็นพิษ หากสัมผัสโดยตรงจะทำให้ระคายเคือง การรับประทานมะละกอดิบมากไปก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้

-ยางมะละกอมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นผู้หญิท้องโดยเฉพาะสามเดือนแรกไใควรรับประทานมะละกอดิบมากเกินไป

-มะละกอมีเพคตินสูง หากรับประทานมากไปจะทำให้อึดอัดท้องได้


 

ที่มา หนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร