“เครียด – เหนื่อย – นั่งหน้าเมื่อยอยู่แต่ออฟฟิศ” ถ้าคำเหล่านี้ฟังดูช่างเข้ากับชีวิตของคุณเหลือเกินก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะคุณไม่ได้เผชิญกับสิ่งนี้คนเดียว แต่นี่คือวัฎจักรอันแสนเจ็บปวดที่เหล่ามนุษย์ออฟฟิศทั้งหลายกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศในกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 18 – 35 ปี) โดยจากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่า บริษัทประกันสุขภาพระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า “เรื่อง Work-Life ไม่ Balance” เป็นหัวเรื่องแรงแซงโค้งที่น่าสนใจสำหรับ #คนรักงาน2018 มากเลยทีเดียว

 “มนุษย์ออฟฟิศ ชีวิตไม่ง่าย

ผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของ “ซิกน่า” เผยข้อค้นพบที่น่าตกใจว่า คนไทยถึง 91% กล่าวว่าตนเองอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 86% โดยจากทุกช่วงอายุ กลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 18 – 35 ปี) เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องสมดุลของการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) รวมถึงมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน (Job stability) มากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 35 – 49 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดคือ เรื่องการเงิน (43%) ตามมาด้วยเรื่องการงาน (35%)

เครียดแล้วทำอย่างไร นายจ้างช่วยไหม?

แม้ 91% ของคนไทยจะยอมรับว่าตนเองเครียด แต่คนไทยในกลุ่มนี้อีก 81% กล่าวว่าแม้จะเครียดแต่ตนก็สามารถจัดการกับปัญหาความเครียดเหล่านั้นได้โดยใช้วิธีการพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อน นอกจากนั้นผลสำรวจฯ ยังพบว่า แม้กลุ่มวัยทำงานจะเป็นกลุ่มที่เปิดรับการรักษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มอายุอื่น แต่มีคนไทยเพียง 13% เท่านั้นที่เข้าพบบุคลากรด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาความเครียดของตนเอง โดยนอกจากสาเหตุด้านค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว ยังเกี่ยวกับความรู้สึกอับอายที่จะบอกให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้นายจ้างในประเทศไทยจำนวนถึง 63% จะให้ความสำคัญกับการจัดการความเครียดของพนักงาน (Stress management) แต่มีหนุ่มสาวออฟฟิศเพียง 30% เท่านั้นที่กล่าวว่าที่ทำงานของตนมีการให้ความช่วยเหลือในการจัดการความเครียดอย่างเพียงพอ ในขณะที่อีก 37% กล่าวว่านายจ้างไม่มีการช่วยเหลือใดๆเกี่ยวกับการจัดการความเครียดเลย นอกจากนั้นผลสำรวจฯยังเผยอีกว่า โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน (Workplace Wellness program) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยจัดการความเครียดให้กับพนักงานได้ โดยบริษัทที่มีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานจะมีจำนวนพนักงานที่รู้สึกว่าตนไม่สามารถจัดการความเครียดได้เองน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีโปรแกรมฯดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

ผลสำรวจฯยังเผยเพิ่มเติมว่า สิ่งที่พนักงานต้องการให้นายจ้างจัดหาให้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากโรคมะเร็ง ความคุ้มครองสุขภาพดวงตาและสายตา และการจัดให้มีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน ข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือมนุษย์ออฟฟิศถึง 82% บอกว่าการมีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน เช่น มีการจัดตั้งชมรมกีฬาให้พนักงานเข้าร่วม การจัดคอร์สโยคะ หรือ การขยายความคุ้มครองของประกันสุขภาพกลุ่มให้กับสมาชิกในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกองค์กรที่จะทำงานด้วย

“ป่วยแล้วมา ดีกว่าไม่มาจริงหรือ?”

เคยไหมที่ไข้ขึ้นแต่ก็ยังต้องมาประชุม? ขาหักแต่ก็ยังต้องกะเผลกมาถึงออฟฟิศ? หรืออยู่ดึกดื่นเกินจำเป็น เพราะในแผนกไม่มีใครลุกกลับบ้านสักคน? ภาวะเช่นนี้เรียกว่า Presenteeism หรือการมาทำงานแม้จะเจ็บป่วยหรือมีสภาวะร่างกายหรือสภาพจิตใจที่ยังไม่พร้อม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของงาน (Job security) จำนวนงานที่มากเกินไป (Overloaded work) วัฒนธรรมองค์กร (Work culture) ที่อาจกดดันให้พนักงานต้องแสดงตนในที่ทำงานเพื่อแสดงความทุ่มเท หรือแม้แต่การไม่ยอมรับความจริงของตัวพนักงานเอง (Denial) ที่ทำให้ฝืนร่างกายตนเองเข้ามาทำงาน โดยจากผลสำรวจฯ พบว่า คนไทยถึง 9 ใน 10 หรือราว 89% กล่าวว่าตนจะเข้ามาทำงานแม้จะเจ็บป่วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 67% โดยการมาทำงานแม้จะเจ็บป่วยหรือมีสภาวะร่างกายหรือสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity) โดยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงจาก 100% เหลือเพียง 74% เท่านั้น

เกษียณไม่สุข

ต่อเนื่องจากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่าเมื่อปีที่แล้วที่เราพบว่า 75% ของคนไทยยังไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้ในยามเกษียณ เนื่องจากขาดการเตรียมพร้อมด้านการเงินที่ดีพอ เพราะคิดว่า“ตนเองยังไม่แก่”ทำให้หลายคนตกสู่ “กับดักอายุ” (Age Trap) ในปีนี้คนไทยก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงินของตนเองเช่นเดียวกัน โดยคนไทยถึง 40% คาดว่าเมื่อเกษียณแล้วจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยเงินเก็บของตนเอง อีก 29% คิดจะพึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐในการดูแลและจ่ายค่ารักษาพยาบาล และมีคนไทยเพียง 23% เท่านั้นที่บอกว่ามีความคุ้มครองที่เพียงพอจากแผนประกันสุขภาพส่วนบุคคลที่ทำไว้

การสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่า ได้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่สี่แล้ว โดยได้สำรวจและติดตามทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองในห้าด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการเงิน และด้านการทำงาน ใน 23 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ซิกน่าจะนำข้อมูลและผลที่ได้จากการสำรวจไปใช้ในการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีความเป็นอยู่และความมั่นคงในชีวิตที่ดีขึ้นในทุกช่วงเวลาของชีวิตต่อไป

 

เล่าความจริงในสังคมญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นพร่ำบ่นกับงานไหม? มีสิครับ เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีพอใจและไม่พอใจกับสิ่งต่างๆ ได้เหมือนกัน

เราอาจจะเห็นภาพว่า คนญี่ปุ่นบ้างาน ให้ความสำคัญกับงานมากกว่าทุกๆ เรื่องในชีวิต แต่มันมีหลายประเด็นเหมือนกันครับที่พนักงานบริษัทเองก็ “พร่ำบ่น” ต่อบริษัท และอยากให้เลิกกฎเกณฑ์หรือวัฒนธรรมต่างๆ

ผลการสำรวจจาก Goo Ranking ในเว็บไซต์ญี่ปุ่น มีการจัดอันดับวัฒนธรรมหรือกฎเกณฑ์บริษัทที่พนักงานไม่ชอบตามความอึดอัด หรือจะเรียกว่าซาลารี่แมนขอบ่นก็ได้

1.”โอฟรี” หรือ Service OT

พนักงานหลายคนทำงานเกินชั่วโมงที่มีการบัญญัติตามกฎหมาย ต้องทำงานนอกเวลา แถมเจ้านายยังบอกว่าให้ตอกบัตรตรงตามเวลาเข้า-ออก หรือเป็นการทำ “โอฟรี” ที่นายจ้างกำลังทำผิดกฎหมายนั่นเอง แบบนี้จะไม่ให้บ่นได้อย่างไร

2.ต้องเข้าประชุมรวมที่ไร้ความหมาย

หลายครั้งมีการประชุมรวมที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลแม้แต่นิด บางบริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ใช้เวลาเป็นวันในการประชุม แต่ก็ยังไม่สามารถตัดสินใจหรือสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ฉะนั้น การประชุมที่ไร้ความหมายจะทำให้ความกระตือรือร้นในการทำงานของเราตกลงไป

3.ไม่สามารถกลับบ้านก่อนรุ่นพี่หรือเจ้านาย

บรรยากาศนี้ผมสัมผัสมากับตัวครับ มันจะมีรังสีอะไรบางอย่างในที่ทำงานที่เข้ามาย้ำเตือนเราว่า “รุ่นน้องหรือพนักงานที่ยังมีประสบการณ์ในบริษัทน้อยต้องขยันขันแข็งมากกว่า” บางทีเคลียร์งานเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่เห็นเจ้านายยังทำงานอยู่ เราก็ต้องหาอะไรมาทำเพื่อฆ่าเวลารอให้เจ้านายกลับก่อน

4.ต้องท่องปรัชญาหรือวิสัยทัศน์ของบริษัท

ปรัชญา วิสัยทัศน์ หรือคำขวัญองค์กรที่บริษัทตั้งไว้เพื่อให้ดูดีในสายตาของคนรอบข้างนั้น มันจะดีมากถ้าพนักงานบริษัททุกคนเห็นด้วยและทำงานให้สอดคล้องต่อปรัชญาหรือวิสัยทัศน์ของบริษัท แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าบรรยากาศที่แท้จริงของบริษัทนั้นมันสวนทางกับปรัชญาหรือวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ พนักงานหลายคนอาจจะรู้สึกอึดอัดใจที่จะต้องพูดหรือท่องคำเหล่านั้นก็ได้

5.ถูกเปลี่ยนสิ่งที่เคยกำหนดไว้แล้วอย่างกะทันหัน

เรื่องนี้ลูกน้องมักจะได้รับปัญหาจากการที่เจ้านายมาสั่งให้เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่กะทันหันทั้งๆ ที่คำสั่งก่อนหน้านี้คืออีกแบบหนึ่ง

6.ชอบใช้ผู้หญิงทำงานจับฉ่าย

เห็นได้ง่ายในออฟฟิศญี่ปุ่น ผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่ (Office Lady) จะมีหน้าที่ชงชา เตรียมน้ำดื่ม หรือทำความสะอาดทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการทำงาน

7.โดนบังคับให้ไปกินเลี้ยงสังสรรค์

หลายครั้งการทำงานทั้งวันก็เหนื่อยจะแย่ ยังต้องไปกินเลี้ยงสังสรรค์กับรุ่นพี่หลังเลิกงานทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากไป แถมบางครั้ง รุ่นพี่ก็ไม่เลี้ยง (ตามธรรมเนียมรุ่นพี่มักจะเลี้ยงหรือจ่ายเงินมากกว่า) ทำให้เราต้องออกเงินสะสมของตัวเองอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมการทำงานในญี่ปุ่นที่ผมเองก็สัมผัสได้ว่ามันมีอยู่จริงๆ หลายข้อผมเจอมาแล้วกับตัวเอง แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทนะที่จะเจอเรื่องเหล่านี้

เชื่อว่าสิ่งที่จะช่วยลดความอึดอัดเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี คือ การสื่อสารสิ่งที่เราคิดออกไปอย่างสมเหตุสมผลและรู้กาลเทศะ ใช้วิธีการพูดที่ประนีประนอม ถนอมน้ำใจกัน เช่น วันไหนผมมีธุระจริงๆ ผมก็จะบอกเจ้านายไว้ล่วงหน้า พร้อมอธิบายเหตุผลและความจำเป็นของเราไว้ก่อนเสมอ ง่ายๆ แค่นี้เองถ้าเหตุผลมันฟังขึ้น ถ้าเขาเป็นเจ้านายที่เป็นผู้ใหญ่พอ เขาจะเข้าใจเรา

ถ้าเราทำได้ เราจะมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องมานั่งอึดอัดอีกต่อไปแบบ 7 ข้อข้างต้น

อย่าลืมนะ สื่อสารไปเหอะว่าเราคิดอะไร บอกไปอย่างสมเหตุสมผลในจังหวะเวลาที่เหมาะสมครับ

ที่มา หนังสือ JAPAN DARK SIDE ถึงร้ายก็รัก โดย บูม-ภัทรพล เหลือบุญชู สนพ.มติชน

ล่าสุด แพทย์หญิงชาวจีนซึ่งทำงานต่อเนื่องนานกว่า 18 ชั่วโมง ถึงกับหมดสติขณะเดินเยี่ยมผู้ป่วย และเสียชีวิตลงด้วยโรคเลือดออกในสมองเฉียบพลัน

เรื่องนี้มีประเด็น วารสาร Lancet รายงานว่า ผู้ที่ทำงานเกินกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบหลอดเลือดอย่างเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจ โดยมีโอกาสมากถึง 33% เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ทีมนักวิจัย จาก University Collage London วิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยกว่า 42 ฉบับ โดยมีฐานข้อมูลประชากรจากประเทศในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ถึงความสัมพันธ์กันระหว่างชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ กับความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบว่า

ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยง 33%, ทำงานมากกว่า 49-54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยง 27%, ทำงานมากกว่า 41-48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยง 10%

สำหรับสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนั้น ยังไม่สามารถสรุปแน่ชัด แต่มีปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญคือ “การขาดการพักผ่อน” ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเครียดในร่างกายและทำให้ระบบการทำงานผิดปกติจน กระทั่งหลั่งสารพิษและสารเคมีบางอย่างที่เป็นผลให้หลอดเลือดหดตัวอย่าง เฉียบพลัน

เขาจึงว่า การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้านอนกระทั่งไม่ได้ทำงานทำการก็ไม่ไหวเหมือนกัน

(อ้างอิง : นิตยสาร HealthToday ก.พ.2018 คอลัมน์โรคปัญหาสุขภาพ)

 


คอลัมน์ เครื่องแนม นสพ.มติชนรายวัน

ชีวิตของมนุษย์ออฟฟิศนั้นเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้คนมีแต่ความเร่งรีบ เริ่มตั้งแต่ ตื่นเช้า เดินทางไปทำงาน เข้าประชุมติดๆ กันทั้งวัน คิดโปรเจ็กต์ ทำรีพอร์ต จนเลิกงาน รถติดกว่าจะถึงบ้าน เป็นวงจรเดิมทุกวัน โดยในระหว่างวันก็มักมีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นให้ ‘เพลีย’ ทั้งกายและใจ ขอยกตัวอย่าง 5 เรื่องที่ทำให้พวกเราเหล่ามนุษย์ผู้ทำงานในออฟฟิศรู้สึก ‘เพลีย’ และวิธีแก้เพลียแบบง่ายๆ

เพลียเพราะนอนดึกตื่นเช้า ไม่ว่าจะเป็นด้วยหน้าที่การงานที่ทำให้ต้องนั่งทำงานจนดึกดื่น หรือจะติดละครหลังข่าว เล่นเฟซบุ๊กจนเพลิน เมื่อร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวันสำหรับคนวัยทำงาน ก็จะส่งผลต่อร่างกายให้รู้สึกซึมเซาง่วงนอนในเช้าวันถัดมา หากหลีกเลี่ยงการนอนดึกไม่ได้ ก็ต้องบำรุงร่างกายเพิ่มเติม โดยการรับประทานอาหารประเภทโปรตีน จากเนื้อสัตว์ นม ไข่ หรืออาหารที่มีวิตามินซี ก็จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นได้

เพลียจากการเดินทาง คนจำนวนมากต้องเสียเวลาในการเดินทางหลายชั่วโมงในแต่ละวัน คนที่ขับรถไปทำงานก็มักจะบ่นเรื่องการจราจรติดขัด ขณะที่บางคนใช้บริการรถสาธารณะ ก็ต้องเจอกับปัญหากวนใจมากมาย เช่น คนเบียดเสียด รถไฟฟ้าเสีย รถเมล์ขาดระยะ ยังไม่นับรวมเวลาฝนตก ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เหล่านี้เลวร้ายลงไปอีก ลองแก้ปัญหาด้วยการเผื่อเวลาเดินทางอีกซักนิด เพื่อไปถึงที่หมายก่อนเวลา จะได้ไม่ต้องลุ้นเมื่อใกล้ถึงเวลาเข้างานหรือนัดหมาย แถมมีเวลาเหลือให้ผ่อนคลายก่อนเริ่มงานอีกด้วย

เพลียกับคน คนเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนุ่มสาวชาวออฟฟิศรู้สึกเพลีย ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน ที่ไม่น่ารักนัก ผู้นำพาความหดหู่มาสู่วันทำงานของเรา หลายคนอาจจะละเหี่ยใจจนถึงขั้นไม่อยากมาทำงาน หรืออยากลาออกเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าไม่อยากเพลียกับคนเหล่านี้ นอกจากหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมด้วยแล้ว เราต้องปรับทัศนคติของเราให้คิดในด้านบวก ยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล โดยทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก็พอ

เพลียเพราะขาดสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน มนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจประสบปัญหามีชีวิตส่วนตัว และใช้เวลากับครอบครัวน้อยลง อันเนื่องมาจากการเสียเวลาในการเดินทางหลายชั่วโมงต่อวัน แล้วยังต้องเจอปัญหางานด่วน ซึ่งมักทำให้ต้องทำงานล่วงเวลาอยู่เสมอ ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากการจัดสรรเวลายังไม่ดีพอ ควรแยกแยะชีวิตส่วนตัว และการทำงานออกจากกันให้ชัดเจน หาเวลาผ่อนคลายให้กับตัวเองบ้าง เพื่อพบจุดสมดุลของตัวเอง

เพลียเพราะเสียน้ำ ใครจะคิดว่าการนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะ ในออฟฟิศ แอร์เย็นๆ ก็ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ แม้ร่างกายจะไม่ได้เสียเหงื่อเลยก็ตาม ทั้งนี้ เพราะร่างกายมีการสูญเสียน้ำอยู่ตลอดเวลา หากดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อการทดแทนน้ำที่สูญเสียไประหว่างวันก็อาจทำให้รู้สึกเพลีย

เพราะเรื่องเพลียๆ ในชีวิตประจำวันเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกหนีได้  เราจึงควรหาวิธีแก้เพลียกันไป ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ข้างต้น หรือหากต้องการเติมความสดชื่นให้กับวันเพลียๆ ลองเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมสกัดจากผักและผลไม้ 8 ชนิด เลม่อน ส้ม แครอท เรดบีท กีวี่ เสาวรส แอปเปิ้ล และบลัดออเรนจ์ อย่าง “อควาเรียส” (Aquarius) รส ‘เกรปฟรุ๊ต’ เครื่องดื่มน้ำตาลต่ำ แคลอรี่ต่ำ ที่จะช่วยเติมความสดชื่นให้ร่างกาย มั่นใจด้วยฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพ เคลียร์ความ “เพลีย” ได้ง่ายๆ ให้พร้อมรับความท้าทายทุกรูปแบบในชีวิตประจำวัน