“พระธาตุพนม” ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลและอำเภอธาตุพนม จ.นครพนม ในเขตภาค 4 อยู่ฝั่งขวา (ตะวันตกของแม่น้ำโขง) โบราณสถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมนี้เรียกว่า “ภูกำพร้า” หรือ “ดอยกำพร้า” ภาษาบาลีว่า “กปณบรรพต” หรือ “กปณคีรี” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ “ขลนที” (แม่น้ำโขง) เป็นเขตแขวงนครศรีโคตรบูรโบราณ นครนี้ตำนานบอกว่าอยู่ใต้ปากเซบั้งไฟ ซึ่งเป็นสายน้ำแควหนึ่งไหลจากภูเขาแดนญวน ตกแม่น้ำโขงตรงธาตุพนม เข้าใจว่าเป็นเมืองร้างแห่งหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำเซบั้งไฟทางใต้ ลึกจากฝั่งโขงเข้าไปในประเทศลาวประมาณ 5-6 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกกันว่า “เมืองขามแท้”

ในอุรังคนิทาน ตำนานพระธาตุพนม กล่าวถึงกำเนิดแม่น้ำลำคลองต่างๆ ในภาคอีสาน มีแม่น้ำโขง เป็นต้น แล้วกล่าวถึงพุทธประวัติว่า สมัยหนึ่งเป็นปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออกโดยทางอากาศ มาลงที่ดอนกอนเนานั้นก่อน แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ทำนายว่าจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ที่ตั้งพระพุทธศาสนาแล้วล่องลงมาโดยลำดับ ประทานรอยพระบาทที่ “โพนฉัน” โปรดสุขหัตถีนาค คือพระบาทโพนฉัน อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย ปัจจุบันอยู่เขต จ.บึงกาฬ แล้ว “พระบาทเวินปลา” (เหนือเมืองนครพนม) ทำนายที่ตั้ง “เมืองมรุกขนคร” มาพักแรมที่ภูกำพร้า 1 ราตรี วิสสุกรรมเทวบุตรลงมาอุปัฏฐาก รุ่งเช้าเสด็จข้ามไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูร พักอยู่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮัง เมืองสุวรรณเขต ลาว) แล้วกลับมาทำภัตกิจที่ภูกำพร้าทางอากาศ

ขณะนั้นพญาอินทร์เสด็จมาเฝ้าและทูลถามถึงเหตุที่ประทับภูกำพร้าเพื่อเหตุอะไร? พระองค์ทรงพยากรณ์ว่าเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์นี้ คือ กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ ที่นิพพานไปแล้ว สาวกทั้งหลายย่อมนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ณ ภูกำพร้า เมื่อเรานิพพานไปแล้ว กัสสปะผู้เป็นสาวกก็จะนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุเช่นเดียวกัน ดังนี้ ตรัสปรารภเมืองศรีโคตรบูรและมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวงเทศนาโปรดพญาสุวรรณภิงคารและพระนางเทวี ประทานรอยพระบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วกลับสู่พระเชตวันและนิพพานที่กุสินารานคร

เมื่อพระบรมศาสดานิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายถวายพระเพลิงไม่สำเร็จ จนมหากัสสปะมาถึง พระเถระเจ้ามาถึงแล้ว นำพระสงฆ์กระทำเวียนวัฏฏ์ประทักษิณ 3 รอบแล้วอธิษฐาน ว่าพระธาตุองค์ใดที่จะให้ข้าพระบาทนำไประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จออกมาอยู่บนฝ่ามือ ณ บัดนี้ ดังนี้แล้ว พระบรมอุรังคธาตุก็เสด็จออกมาอยู่บนฝ่ามือของท่าน ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกโชติช่วงเผาพระบรมสรีระเองเป็นอัศจรรย์ พระเถระเจ้าห่อพระบรมอุรังคธาตุไว้ด้วยผ้ากัมพลอันดีด้วยความเคารพ ครั้นถวายพระเพลิงและแจกพระธาตุเรียบร้อยแล้ว พระเถระเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็นำพระอุรังคธาตุมาโดยทางอากาศ มาลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็ก อ.พรรณนิคม เมืองสกลนคร) ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวงเพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณภิงคาร

ฝ่ายชาวเมืองหนองหารหลวง มีพญาสุวรรณภิงคารและนางพญา เป็นต้น ได้ทราบข่าวพระพุทธองค์นิพพานต่างก็หวังว่าตนคงได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จึงเกณฑ์กันให้สร้างพระเจดีย์ไว้ 2 ลูก ให้ผู้ชายสร้างไว้ที่ภูเพ็ก ผู้หญิงมีพระนางนารายณ์เจงเวงเป็นหัวหน้า สร้างไว้ที่สวนอุทยาน (ธาตุนางเวง) ห่างเมืองสกลนคร 6 กิโลเมตร สัญญากันว่าฝ่ายใดสร้างเสร็จก่อนจะให้พระบรมธาตุได้บรรจุในเจดีย์ของฝ่ายนั้น ในที่สุดฝ่ายผู้หญิงสำเร็จก่อน ฝ่ายชายหลงอิตถีมายา พากันทิ้งงานไปช่วยผู้หญิงเสียหมด พระเจดีย์ภูเพ็กเลยไม่สำเร็จ เมื่อพระมหากัสสปะมาบิณฑบาต พญาสุวรรณภิงคารทราบว่า พระเถระอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย ท้าวเธอจึงขอแบ่ง พระเถระเจ้าถวายพระพรว่ า ที่นี่มิใช่ภูกำพร้า ผิดพุทธประสงค์ ถ้าให้ไว้ก็จะไม่เป็นมงคลแก่พระองค์และบ้านเมือง จึงให้พระอรหันต์คืนไป เอาพระอังคารธาตุ (ถ่านเพลิง) จากที่ถวายพระเพลิงมาบรรจุไว้ที่ธาตุนางเวง เพื่อบำรุงพระราชศรัทธามิให้เสีย

ท้าวพญาเมืองต่างๆ เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระอรหันต์ทั้งหลายอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรรจุที่ภูกำพร้า ก็มีความโสมนัสยินดี ได้ยกกำลังโยธามาคอยต้อนรับอยู่ ณ ภูกำพร้า คือพญานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร ยกกำลังมาปลูกพลับพลาไว้รับกษัตริย์เมืองต่างๆ ตามริมโขง (ขลนที) พญาจุลณีพรหมทัตและพญาอินทปัตถนคร เมื่อมาพร้อมกันแล้วก็ให้ไพร่พลโยธาของตนสกัดหินมุกด์หินทรายไว้คอยท่า ส่วนพญาคำแดง เมืองหนองหารน้อย ผู้เป็นพระอนุชาพญาสุวรรณภิงคารได้ทราบ ก็ยกโยธามาสมทบกับเมืองหนองหารหลวง พญาสุวรรณภิงคารให้พราหมณ์แต่งตัวนุ่งห่มด้วยเครื่องขาว 8 คน เป็นผู้อัญเชิญพระอุรังคธาตุแห่ด้วยยศบริวารมาสู่ภูกำพร้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน

เมื่อพญาทั้ง 5 มาถึงภูกำพร้าและตั้งทัพพักพลอยู่ตามที่เหมาะสมแก่อัธยาศัยแล้ว จึงประชุมปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี พญาสุวรรณภิงคารได้ปรารภขึ้นว่าให้ไปขนเอาหินในเมืองหนองหารหลวงที่ก่ออุโมงค์ค้างไว้นั้นมาก่อจะเร็วดี พระมหากัสสปะทักท้วงว่า หินฝูงนั้นก่อครั้งก่อนร้างเสียไม่เป็นมงคล พวกเราควรปั้นดินดิบก่อแล้วสุมด้วยไฟก็จะมั่นคงเป็นสิริมงคลสืบไปภายหน้า ที่ประชุมจึงตกลงให้เสนาอำมาตย์ปั้นดินก่อตามคำพระเถระนั้น แบบพิมพ์ดินกว้างยาวเอาฝ่ามือพระมหากัสสปะเป็นแบบ ครั้นปั้นดินเสร็จแล้ว ก็พากันขุดหลุมกว้าง 2 วา ลึก 2 ศอก ของพระมหากัสสปะเท่ากันทั้ง 4 ด้าน พญาสุวรรณภิงคารเริ่มขุดก่อนเป็นปฐมฤกษ์ เวียนประทักษิณจากด้านตะวันออกไป และพญาทั้งหลายก็ขุดตามลำดับจนเรียบร้อยเป็นอันดี

พระอรหันต์ทั้งหลายให้คนทั้งหลายตั้งไหน้ำไว้ทั้ง 4 ด้าน สวดด้วยราหูปริตรและคาถา “พุทธส มงคล โลเก” เพื่อเป็นมงคลแก่โลก ผู้ใดก่อด้านใดก็ให้ตักเอาน้ำในไหด้านนั้นก่อนขึ้นไปตามด้านที่ตนก่อ ดังนี้ พญาจุลณีพรหมทัต ก่อด้านตะวันออก พญาอินทปัตถนคร ก่อด้านใต้ พญาคำแดง เมืองหนองหารน้อย ก่อด้านตะวันตก พญานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร ก่อด้านเหนือ เมื่อพญาทั้ง 4 ก่อขึ้นเป็นรูปเตา 4 เหลี่ยม สูงได้ 1 วาของพระมหากัสสปะแล้วพักไว้ พญาสุวรรณภิงคารก่อขึ้นรวบยอดเข้าเป็นรูปฝาปารมีสูงอีก 1 วาของพระมหากัสสปะ จึงรวมเป็น 2 วาของพระมหากัสสปะ แล้วทำประตูเผาไฟทั้ง 4 ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก ไม้คันธรส ชมพูนิโครธ และไม้รัง มาเป็นฟืน เผา 3วัน 3 คืน สุกดีแล้วจึงเอาหินหมากคอมกลางโคกมาถมหลุม (เข้าใจว่าเป็นกรวดหรือแฮ่)

ท้าวพญาทั้ง 5 เมื่อสร้างอุโมงค์เสร็จแล้วต่างก็บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ภายในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา อาทิ เงินแท่ง ฆ้อง ปลอกทองคำหล่อเป็นรูปเรือ กระโถนทองคำบรรจุแหวนใส่เต็ม มงกุฎแก้วมรกต ปิ่นทองคำ พานทองคำ หินมุกด์ทำเป็นหีบใส่ของ ขันทองคำใส่แหวนเต็ม ขันเงินบรรจุปิ่นทองคำเต็ม กำไลมือ มงกุฎทองคำ สังวาลย์ทองคำ โอทองคำ โอเงิน และโอนาก

เมื่อพญาทั้ง 5 บริจาคของบูชาเสร็จแล้ว พระมหากัสสปะเป็นประธานพร้อมกันอัญเชิญพระอุรังคธาตุเข้าบรรจุไว้ภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูไว้ทั้ง 4 ด้าน ขณะนั้น พระบรมธาตุก็คลี่คลายผ้ากัมพลที่ห่อหุ้มเสด็จออกมาประดิษฐานอยู่บนฝ่ามือของพระมหากัสสปะ เป็นที่น่าอัศจรรย์ ท้าวพญาและประชาราษฏรทั้งหลายเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็เปล่งเสียงสาธุการอึงคะนึงไปทั่วภูกำพร้า

พระมหากัสสปะระลึกถึงคำสั่งพระพุทธเจ้า ให้นำพระอุรังคธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า แต่มิได้สั่งให้ฐาปนาไว้ชะรอยจะเล็งเห็นด้วยพระญาณว่า ต่อไปภายหน้าจะมีผู้เป็นเชื้อหน่ออรหันต์มาสถาปนาให้บริบูรณ์ต่อไป จึงกล่าวว่าพวกเราอยู่ได้ฐาปนาไว้ตามพุทธประสงค์นั้นเทอญ ขณะนั้นพระอุรังคธาตุก็เสด็จกลับเข้าไปสู่ที่เก่า ผ้ากัมพลก็คลายออกห่อหุ้มไว้ดังเดิม พญาสุวรรณภิงคารเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็ขนพองสยองเกล้าสะดุ้งพระทัยยิ่งนัก

พญาทั้ง 5 ให้สร้างประตูไม้ประดู่ปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้ที่โคน เพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมือง ให้ไปนำเอามาแต่เมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก ไปนำเสาศิลาจากลังกา 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันตก ให้ไปนำมาแต่เมืองตักกศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณภิงคารให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่งผินหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศนั้น และพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองจากเหนือมาใต้ พระมหากัสสปะให้สร้างม้าวลาหกไว้ตัวหนึ่งเป็นคู่กัน ให้ผินหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตรบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุ ไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา พระพุทธศาสนาเกิดทางใต้แล้วขึ้นไปทางเหนือ

ม้าศิลาสองตัวนี้สร้างไว้เพื่อให้ปราชญ์ผู้มีปัญญา ได้พิจารณาจักรู้แจ้งในปริศนานั้นแล