กลับจากนครศรีธรรมราชปักษ์ใต้บ้านเรา ก็โดนเพื่อนพี่น้องร้องทักถามหาของฝากกันให้วุ่น เพราะรู้ดีว่าในจังหวัดภาคใต้ด้ามขวานทองของไทย มีของอร่อยๆ ให้รับประทานมากมาย ทั้งอาหารคาวอาหารหวาน กินกันปรีดิ์เปรม ใครไปแล้วต้องมีติดไม้ติดมือกลับมาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

ครั้งนี้มีเวลาไปถึงอำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นอำเภอใหญ่อำเภอหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ในอดีตปากพนังเป็นศูนย์กลางเมืองท่าและมีความสำคัญอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจ เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และด้วยความที่พื้นที่เป็นแหลมยื่นเข้าไปในทะเล จึงเหมาะแก่การเดินเรือและการกระจายสินค้า คนสมัยโบราณเรียกอำเภอนี้ว่า “เมืองเบี้ยซัด” เป็นเมืองท่าที่ยิ่งใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปากพนัง

ต่อมามีพระบรมราชโองการจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เปลี่ยนชื่อจาก “เบี้ยซัด” เป็นอำเภอ “ปากพนัง” เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2445 เหตุที่เรียกว่าเมืองเบี้ยซัด ก็เพราะริมฝั่งแม่น้ำปากพนังแห่งนี้ คลื่นได้ซัดเอาเปลือกหอยหรือเบี้ยหอยที่สวยงามจากท้องทะเลขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งสมัยก่อนเบี้ยหอยที่สวยงามและทนทานนี้เป็นสิ่งที่ใช้แทนเงินตราในการแลกเปลี่ยนสินค้า เครื่องอุปโภค บริโภค ดังนั้น สถานที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญยิ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน ส่วนชื่อ “ปากพนัง” มาจาก “พนัง” ที่แปลว่า “กำบัง” คำว่า “ปากพนัง” จึงเป็นชื่อเรียกสั้นๆ ของ “ปากแม่น้ำพนัง” นั่นเอง

นอกจากเป็นเมืองท่าสำคัญแล้ว อาหารทะเลพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ก็อุดมสมบูรณ์เช่นกัน ปลาที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญและขึ้นชื่อของปากพนัง คือ “ปลากระบอก” ซึ่งแต่ก่อนนิยมรับประทานโดยนำมาทำเป็นปลากระบอกแดดเดียว แต่เดี๋ยวนี้นิยมทำเป็น “ปลากระบอกร้า” ที่ลื่อเลื่องกันว่ารสชาติอร่อยหนักหนา เมื่อนำมาทอดกินกับข้าวสวยร้อนๆ ถึงกับบอกว่าเอาสเต็กเนื้อวากิวมาแลกก็ไม่ยอม

ไปใต้กลับมาครั้งนี้จึงหอบหิ้ว “ปลากระบอกร้า” ขึ้นมาเป็นของฝาก เพราะเป็นหนึ่งในอาหารขึ้นชื่อของเมืองปากพนัง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ปลากระบอกเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับต้นๆ ของปากพนังเลยทีเดียว นอกจากตัวปลากระบอกแล้วก็ยังมี “ไข่ปลากระบอก” เป็นสินค้าขายดีอีกชนิดหนึ่ง ปัจจุบัน นอกจากปลากระบอกที่เป็นประมงธรรมชาติแล้ว ยังมีปลากระบอกเลี้ยงด้วย ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในต่างประเทศ

สำหรับ “ปลากระบอกร้า” เป็นปลากระบอกแปรรูป ที่นำปลากระบอกสดๆ มาควักไส้ ทำความสะอาด หมักเกลือ ในปริมาณที่พอเหมาะตามสูตร แล้วตากแดดให้แห้ง เมื่อจะรับประทาน นำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ เมื่อได้ที่แล้วรสชาติปลากระบอกร้าจะพอเหมาะ ไม่เค็มเกินไป และยังเนื้อนิ่ม ไม่แข็งเหมือนปลาเค็มทั่วไปด้วย ปัจจุบันปลากระบอกร้าปากพนังมีลูกค้าสั่งซื้อจากทั่วประเทศ บางครั้งถึงกับต้องรอคิวกันเป็นเดือนๆ กว่าจะได้กิน ส่วนสนนราคาขายขึ้นอยู่กับขนาดความเล็กใหญ่ของตัวปลา

วิธีการทำปลากระบอกร้านั้น ไม่ยาก ก่อนอื่นไปซื้อปลากระบอกมาสัก 1 กก. พร้อมเกลือเม็ด 1 ขีด จากนั้นล้างปลาให้สะอาด ขอดเกล็ด ตัดหัวปลาทิ้ง ควักไส้ออก ล้างน้ำให้สะอาดอีกครั้ง วางไว้ให้สะเด็ดน้ำ

นำเกลือเม็ดใส่เข้าในท้องปลาทุกตัว หาภาชนะเคลือบหรือภาชนะดินเผามีฝาปิด จัดวางปลาให้เป็นระเบียบ อย่าให้มีช่องว่าง หรือถ้ามีก็ให้มีน้อยที่สุด ปิดฝาพักไว้ 3-5 วัน จึงนำออกผึ่งแดดอ่อนๆ จนตัวปลาแห้ง เก็บไว้ในที่โปร่ง สามารถเก็บได้นาน 2-3 เดือน เมื่อจะรับประทานก็นำไปทอด ปลากกระบอกร้าที่ดี เนื้อปลาเมื่อนำมาทอดสุกแล้วเนื้อจะนุ่มฟูไม่แข็ง ไม่มีกลิ่นตุ และที่สำคัญห้ามลืมเด็ดขาด คือ ก่อนนำไปทอดเทเกลือจากท้องปลาก่อน และอย่าให้น้ำเข้าในท้องปลา เพราะเนื้อปลาจะเละ

แค่นี้ก็มีอาหารจานอร่อยเพิ่มขึ้นมาอีกจาน