มหาวิทยาลัยเมืองจิงโจ้ศึกษาพบว่า การดื่มน้ำเต้าหู้และบริโภคเต้าหู้เป็นประจำสามารถจะป้องกันโรคถุงลมปอดโป่งพองเรื้อรังได้ ซึ่งโรคถุงลมปอดโป่งพองมักจะเป็นกับผู้ที่สูบบุหรี่มายาวนาน ทำให้ไอและเกิดเมือกในปอดจำนวนมาก หายใจมีเสียงหวีด รู้สึกปวดแน่นหน้าอก หอบและอาการอื่นๆ

ผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์เต้าหู้เป็นประจำ วันละไม่ต่ำกว่า 75 กรัม จะได้ประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด ซึ่งพบว่าผู้ที่บริโภคอาหารทำด้วยเต้าหู้วันละไม่ต่ำกว่า 50 กรัม ยังจะช่วยป้องกันโรคถุงลมปอดโป่งพองได้ด้วย

ผลการวิจัยแสดงว่า การบริโภคถั่วเหลืองเป็นเวลานาน จะช่วยบำรุงปอดให้แข็งแรงและลดโอกาสของการเป็นโรคถุงลมปอดโป่งพองลงอีกด้วย

ที่มา : แม่บ้าน

เป็นที่ตื่นตระหนกบนโลกออนไลน์ หลังพบว่ามีการแชร์โทษของน้ำเต้าหู้ว่าทำให้เกิดโรคมะเร็ง และมีผลต่อต่อมไทรอยด์ โดยข้อมูลจากสำนักข่าวไทยที่ได้สอบถามไปยัง พ.ต.อ.หญิง สุรีรัตน์ จารุหทัย นายแพทย์ (สบ 4) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลตำรวจ และ อ.นพ.วิทวัส แนววงศ์ อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อฯ เบาหวาน ไทรอยด์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยแพทย์ทั้งสองระบุว่าแท้จริงแล้ว น้ำเต้าหู้มีประโยชน์ ไม่ได้มีโทษตามที่แชร์บนโลกออนไลน์แต่อย่างใด

พ.ต.อ.หญิง สุรีรัตน์ จารุหทัย นายแพทย์ (สบ 4) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า การดื่มน้ำเต้าหู้นั้นไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด โดยมีคนบางส่วนกังวลว่าน้ำเต้าหู้มีส่วนประกอบบางอย่างที่เหมือนกับฮอร์โมนเพศหญิง นั่นก็คือสาร Estrogen จึงทำให้คนมีความกังวลว่า การดื่มน้ำเต้าหู้จะไปกระตุ้นการเป็นมะเร็ง แต่ในทางการแพทย์นั้นยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสารบางอย่างในน้ำเต้าหู้ดื่มแล้วทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้น และการที่จะไปกระตุ้นได้ถึงขนาดนั้นต้องดื่มในปริมาณมาก ซึ่งคนปกติจะไม่ดื่มมากขนาดที่จะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้

ในทางกลับกัน น้ำเต้าหู้เป็นตัวช่วยปรับสภาพของฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือนให้คงที่ ลดอาการไม่สบายตัว อาการหงุดหงิด นอกจากนี้ยังทำให้มีผิวใสละเอียด เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยที่อยากมีผิวพรรณดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงวัยหมดประจำเดือนที่จะมีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง

“เราสามารถดื่มน้ำเต้าหู้ได้ปกติ และยังคงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับร่างกายอยู่ เพราะเป็นโปรตีนที่ค่อนข้างถูก และดี สามารถดื่มทดแทนได้สำหรับคนที่แพ้นมวัว” พ.ต.อ.หญิง สุรีรัตน์ กล่าวต่อ

ด้าน อ.นพ.วิทวัส แนววงศ์ อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อฯ เบาหวาน ไทรอยด์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ยังไม่พบข้อมูลทางการแพทย์ว่าผู้ที่ไทรอยด์ปกติ ได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอ แล้วกินถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ในปริมาณมากๆ ทำให้เกิดอันตรายต่อไทรอยด์ สำหรับคนที่เป็นโรคไทยรอยด์ทำงานน้อย หรือ Hypothyroidism และกินยาไทรอยด์อยู่ มีข้อมูลว่าการกินถั่วเหลืองหรือดื่มน้ำเต้าหู้มาก จะไปรบกวนการดูดซึมของตัวยานี้ได้ แต่ก็ยังสามารถกินถั่วเหลืองหรือดื่มน้ำเต้าหู้ได้ เพียงแค่ต้องกินห่างจากการกินยาไทรอยด์ 4 ชั่วโมง

“สำหรับข้อมูลที่ว่าน้ำเต้าหู้เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานนั้นไม่เป็นความจริงทั้งหมด โดยน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองจะมีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต มีไขมันปริมาณที่น้อย ไม่มีคอเลสเตอรอล หากไม่ได้ผสมสารเจือสี หรือผสมน้ำตาล โอกาสในการเกิดเบาหวานก็จะน้อย แต่หากน้ำเต้าหู้ที่มีปริมาณน้ำตาลเยอะก็มีโอกาสทำให้เกิดโรคเบาหวานได้” อ.นพ.วิทวัส กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม แม้น้ำเต้าหู้นั้นจะมีประโยชน์ แต่หากดื่มมากเกินไปอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายได้ ควรดื่มวันละ 1 แก้ว ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอ และเหมาะสมกับร่างกายแล้ว

สมาคมนักกําหนดอาหารแห่งประเทศไทย แนะนำเมนูน้ำดื่มสมูทตี้เพิ่มโปรตีน ซึ่งสามารถทำเพื่อรับประทานเองได้ที่บ้าน ดังนี้

น้ำเต้าหู้ (โปรตีนสูง) โดยนำน้ำเต้าหู้ทั่วไปปริมาณ 400 มิลลิลิตร ที่ใส่น้ำตาลน้อย มาใส่ เต้าหู้ขาวหลอด 1 หลอด ใส่ไข่ต้ม 1 ฟองเพิ่ม แล้วนำมาปั่นให้ละเอียด จะได้พลังงาน 520 กิโลแคลอรี โปรตีน 25 กรัม ไขมัน 20 กรัม และคาร์โบไฮเดรต 60 กรัม

“น้ำสมูทตี้ส้ม” ที่ใส่น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง มาใส่ไข่ต้ม 1 ฟองใส่แครอตต้มปอกเปลือกหั่นเพิ่ม แล้วนำมาปั่นให้ละเอียด จะได้พลังงาน 260 กิโลแคลอรี โปรตีน 7 กรัม ไขมัน 6 กรัม และคาร์โบไฮเดรต 45 กรัม

“น้ำสมูทตี้แอปเปิล” ที่ใส่น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง ใส่ไข่ต้ม 1 ฟอง ใส่มันฝรั่งต้มปอกเปลือกหั่น แล้วนำมาปั่นให้ละเอียด จะได้พลังงาน 280 กิโลแคลอรี โปรตีน 7 กรัม ไขมัน 6 กรัม และคาร์โบไฮเดรต 50 กรัม