ว่ากันว่า นมเปรี้ยว ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย ปรับระบบขับถ่ายของเราให้ทำงานดีขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้วหากเรากำลังท้องเสียอยู่ ควรดื่มนมเปรี้ยวจริงๆ หรือ

ทำไม “นมเปรี้ยว” ถึงดีต่อร่างกาย ?

ประโยชน์ของนมเปรี้ยวที่ว่ากันว่ามีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อดื่มเข้าไปจะช่วยเพิ่มจุลินทรีย์เหล่านั้นในลำไส้จากการสูญเสียผ่านการขับถ่าย ช่วยปรับสมดุลของลำไส้ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ยังคงเป็นความคิดที่ถูกต้อง ดังนั้นยังคงสนับสนุนความคิดที่ว่า การดื่มนมเปรี้ยวเป็นประจำ ช่วยลดปัญหาท้องเสีย ท้องผูก และช่วยให้การขับถ่ายเป็นไปได้อย่างปกติในทุกๆ วัน

นมเปรี้ยว ไม่ได้มีประโยชน์ทุกกล่อง

ไม่ว่าคุณจะดื่มนมเปรี้ยว หรือกินโยเกิร์ต ไม่ได้หมายความว่าคุณกำลังเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีต่อลำไส้ให้กับร่างกายคุณเสมอไป เพราะจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกายเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในนมเปรี้ยวทุกกล่อง ทุกแบบ ทุกยี่ห้อ ส่วนใหญ่กรรมวิธีการผลิตได้ผ่านความร้อนสูง ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ตายหมด

วิธีสังเกตง่ายๆ คือ การดูที่ฉลากผลิตภัณฑ์ ว่าระบุไว้หรือไม่ว่ามีจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ หากระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท UHT คือผลิตภัณฑ์นมที่เก็บได้นานกว่าปกติ มักผ่านความร้อนจนสูญเสียจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ไปเรียบร้อยแล้ว (แต่คุณค่าทางสารอาหารจากนมยังคงอยู่)

ดื่ม “นมเปรี้ยว” อย่างไร เพื่อลดอาการ “ท้องเสีย”

การดื่มนมเปรี้ยวเพื่อช่วยให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น ควรเลือกดื่มตามอาการท้องเสียที่เราเป็นอยู่

ท้องเสียเฉียบพลัน

อาการท้องเสียเฉียบพลันมักเกิดจากอาหารการกินที่อาจมีเชื้อโรคที่ทำให้ร่างกายพยายามขับเชื้อโรคนั้นออกมาผ่านการขับถ่าย มักมีอาการปวดท้องโครกคราก ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง หากติดเชื้อจะมีไข้ด้วย มักมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

ระหว่างที่มีอาการท้องเสีย หรือช่วงพักฟื้น ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสจืด ๆ งดอาหารมันเพื่อให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น งดผลิตภัณฑ์จากนมทั้งหมด อาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด รวมไปถึงเปรี้ยวจัดด้วย เพราะอาหารเปรี้ยวทำให้เสาะท้องได้เช่นกัน

ดังนั้น อาหารรสเปรี้ยว เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว น้ำผลไม้ น้ำส้มสายชู รวมถึงนมเปรี้ยว ก็ยังควรงดอยู่ จนกว่าอาการจะหายดีเป็นปกติ (อาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์) จึงสามารถกลับมาดื่มนมเปรี้ยวเพิ่มจุลินทรีย์ให้กับลำไส้ได้

ท้องเสียเรื้อรัง

หากมีอาการท้องเสียเรื้อรัง มีอาการถ่ายเหลวแบบเป็น ๆ หาย ๆ นานเป็นเดือน หรือเป็นปี อาจมีสาเหตุจากลำไส้ หรือระบบทางเดินอาหารแปรปรวน หรือลำไส้มีความไวต่อสิ่งเร้า (irritable bowel syndrome) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของใครบางคนเท่านั้น หรือที่เราเคยได้ยินกันว่าเป็นคน “ธาตุอ่อน”

อาการไม่รุนแรง มีอาการถ่ายเหลวหลังจากรับประทานอาหารที่มีแววว่าจะเสาะท้องประมาณ 15-30 นาที ถ่ายเหลวอยู่ 2-3 ครั้งก็หาย ไม่ได้ถ่ายเกิน 5 ครั้ง หรือมีไข้ ปวดท้องแบบบิด ๆ หรืออาการอื่น ๆ แต่อย่างใด

ส่วนใหญ่อาการท้องเสียเรื้อรังมักเริ่มเกิดขึ้นจากอาหารที่รับประทาน ดังนั้นหากรู้ตัวว่าเป็นคนธาตุอ่อน ควรเลือกรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการ โดยสามารถสังเกตจากอาการของตัวเองที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารนั้น ๆ ได้ อาจแตกต่างไปในแต่ละคน แต่โดยส่วนใหญ่อาจเป็นอาหารรสจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารมัน น้ำส้มสายชู กะทิ สุรา เบียร์ นมสด ชา กาแฟ เป็นต้น หรือเกิดจากความเครียด เช่น วิตกกังวล คิดมาก เศร้า กลัว ตื่นเต้น โกรธ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะมากเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียดี ๆ ในร่างกายลดหายไปหมด การลดยาปฏิชีวนะลงก็อาจช่วยได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาด้วยก่อน ห้ามหยุดยาเอง

การดื่มนมเปรี้ยว จะช่วยให้การทำงานของระบบขับถ่าย และลำไส้ดีขึ้น โดยสามารถดื่ม 1 ขวดเล็ก หรือโยเกิร์ต 1 ถ้วยเล็กเป็นประจำทุกวันได้ และควรเลือกสูตรไม่มีน้ำตาล เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำตาลที่มากเกินความจำเป็นในแต่ละวัน

ระบบขับถ่ายดี อย่าพึ่งพาแต่นมเปรี้ยว

การดื่มนมเปรี้ยวเป็นประจำทุกวัน ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้นก็จริง แต่ทางออกที่ดีที่สุด คือการรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารอย่างพอเหมาะ อาหารที่ควรรับประทานได้แก่ ผักสดวันละ วันละ 4-6 ทัพพี ผลไม้สด วันละ 3-5 ถ้วยตวง พยายามกินให้ครบในทุกมื้อ จะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ง่ายขึ้น และไม่มีปัญหาท้องเสียท้องผูกบ่อย ๆ อีกต่อไป

ที่มา : Sanook.com

ไข้หวัดใหญ่ (influenza) โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก แม้จะมีชื่อว่า “ไข้หวัด” แต่ด้วยความที่มันมีคำว่า “ใหญ่” ต่อท้าย พิษภัยของมันจึงร้ายกาจกว่าไข้หวัดธรรมดามาก

ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่มี 4 ตัว แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (Flu A) เช่น ไวรัสเอชวันเอ็นวัน (H1N1) ไวรัสเอชทรีเอ็นทู (H3N2) และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (Flu B) ซึ่งไวรัสสายพันธุ์เอเป็นตัวที่เคยก่อการระบาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้ว

ไวรัสเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สูงนัก พบว่าการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดีที่มีฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอไม่ดีนัก มีประชากรบางส่วนที่ไม่สร้างแอนติบอดี หรือสร้างแอนติบอดีได้ในระดับต่ำ

ด้วยความพยายามหาแนวทางเสริมภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ ทีมนักวิจัยจากสถาบันโภชนาการ คณะเวชศาสตร์เขตร้อนและศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก หน่วยงานสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติก คือจุลินทรีย์แลกโตบาซิลลัส พาราคาเซอิ 431 (Lactobacillus Paracasei 431) พบว่า นมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกสามารถกระตุ้นอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่

ผศ.ดร.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้เป็นการทดลองทางคลินิก (clinical trial) วิจัยในอาสาสมัครสุขภาพดีอายุ 18-45 ปี เข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน

ผลการวิจัยพบว่าในอาสาสมัครที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (ค่า HI titer น้อยกว่า 40) หากได้รับวัคซีนร่วมกับดื่มนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติก จะมีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ (seroconversion rate) ต่อเชื้อ H1N1 และ H3N2 สูงกว่ากลุ่มที่ดื่มนมที่ไม่มีโพรไบโอติก

สำหรับเชื้อ H3N2 ซึ่งวัคซีนป้องกันไม่ค่อยได้ผลนั้น การวิจัยนี้ยังพบว่าในคนที่มีภูมิอยู่แล้ว การดื่มนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกช่วยให้อัตราการตอบสนองต่อวัคซีนต้านไวรัส H3N2 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า

ส่วนไวรัส Flu B นั้น เนื่องจากอาสาสมัครกลุ่มนี้มีการตอบสนองต่อวัคซีนต้านไวรัส Flu B สูงอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการได้รับหรือไม่ได้รับโพรไบโอติกต่อภูมิคุ้มกันต้านไวรัสชนิด B

แม้การวิจัยครั้งนี้พบว่าโพรไบโอติกมีส่วนช่วยเสริมฤทธิ์ของวัคซีน แต่การวิจัยเรื่องโพรไบโอติกกับภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ในหลายประเทศได้ผลแตกต่างกัน บ้างก็พบผลดี บ้างก็ไม่พบผลแตกต่าง ส่วนการวิจัยในประเทศไทยทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ว่า โพรไบโอติกจะช่วยเสริมฤทธิ์ของวัคซีนในการเพิ่มภูมิคุ้มกันก็ต่อเมื่อคนนั้นมีภูมิคุ้มกันต่ำ แต่หากมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่แล้วก็จะไม่เห็นผล

นอกจากนี้ มีรายงานการวิจัยในต่างประเทศซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติพบว่า โพรไบโอติกจุลินทรีย์ชนิดอื่น เช่น Lactobacillus acidophilus NCFM และ Bifidobacterium animalis subsp lactis Bi-07 ก็ให้ผลช่วยลดอาการไข้ คัดจมูก และลดจำนวนวันที่ป่วยด้วยไข้หวัดในเด็กและผู้ใหญ่สุขภาพดีได้เช่นกันคุณหมอบอกว่าโดยสรุป ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือไม่เคยรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ การดื่มนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกร่วมกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่น่าจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้


ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์