รู้ไว้ก่อนเจ๊ง! นักธุรกิจดัง ชี้ 5 สาเหตุแห่งความล้มเหลวของธุรกิจ “ร้านกาแฟ”

ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักธุรกิจ-นักคิดชื่อดัง ปัจจุบันเป็นผู้บริหารสถาบันคิดใหม่ องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของ มูลนิธิบ้านอารีย์ สมาคมบ้านปันรัก และ บริษัท คิดใหม่ จำกัด (กิจการเพื่อสังคม) ซึ่งดูแลกิจการ “มรณานุสติ คาเฟ่” ย่านซอยอารีย์ ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจร้านกาแฟในปัจจุบันว่า แม้ยุคสมัยและเทรนด์ธุรกิจจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่ ธุรกิจร้านกาแฟ ยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงเสมอ และก็เป็นธุรกิจที่ติดอันดับด้านการเจ๊งสูงเช่นกัน

ส่วนสาเหตุแห่งความล้มเหลวของธุรกิจร้านกาแฟนั้น ผศ.ดร.วีรณัฐ ระบุมี 5 สาเหตุหลักด้วยกัน ประกอบด้วย

หนึ่ง แค่ตามเทรนด์แต่ขาดการใส่ใจ

มีหลายคนเลือกเปิดร้านกาแฟเพียงเพราะให้ดูโก้หรู ดูเป็นเจ้าของกิจการชิกๆ คูลๆ ทั้งที่คนคนนั้นไม่ได้หลงใหลหรือมีเทคนิคในการชงกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเลย ลำพังแค่คุณไม่รู้ว่ากำลังทำร้านนี้เพื่ออะไรก็หนักแล้ว ยิ่งคุณไม่มีความรู้ ความสามารถด้านนี้เลย โอกาสในการเจ๊งไม่สูงสิแปลก!

สอง บรรยากาศร้านไม่ดีทำคนมองผ่าน

บรรยากาศร้านมีผลต่อธุรกิจอย่างมาก เพราะคอกาแฟหลายคน นอกจากดูรสชาติ และฝีมือการชงกาแฟแล้วยังมองไปถึงสไตล์ของร้านว่ามีความน่าสนใจและน่าดึงดูดมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นแล้ว บรรยากาศ หรือ ธีมของร้าน เป็นอีก 1 ปัจจัยที่ชี้ขาดได้เลยว่าคุณ เจ๋ง หรือ เจ๊ง

สาม ทำเลที่ตั้งจุดยุทธศาสตร์ที่คนมักมองข้าม

บางที ไคลแมกซ์ ของการชี้วัดว่าร้านของคุณ จะ ล้มเหลว หรือ ประสบความสำเร็จ อาจเห็นภาพลางๆ ตั้งแต่ตอนคุณเลือกทำเลที่ตั้งแล้วก็ได้ บางคนอาจคิดว่า “จะไปยากอะไรตรงไหน ที่เขาเปิดเราก็ไปเปิดสิ” คำถามคือแล้วร้านเรามีจุดเด่นพอที่จะดึงลูกค้ามาอยู่กับเราไหม? “งั้นบุกเบิกทำเลใหม่เองเลย ไม่มีใครมาแชร์ลูกค้าด้วย” ที่ที่ไม่มีใครไปเปิด แสดงว่า ต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างเช่นเดียวกัน และที่แบบนั้นก็มีอยู่น้อยนิด ซึ่งหากคุณไม่ศึกษาให้ดีจาก “ทำเลทอง” อาจกลายเป็น “เหวลึก” ที่ตกไปแล้ว ไม่มีวันปีนกลับขึ้นมาได้เลยก็ได้

สี่ ใจเร็วด่วนได้

การทำธุรกิจหรือเปิดร้านนั้น เวลาและการยืนระยะเป็นสิ่งสำคัญมากครับ บางคนเปิดร้านไม่ถึง 3 เดือนเห็นคนเยอะ ร้านขายดีก็รีบขยับขยายทั้งที่ความจริง คนเหล่านั้นอาจมาครั้งแรกและครั้งเดียวด้วยซ้ำ บางคนเช่นกันเปิดมาสักพัก แต่ร้านเงียบ แทนที่จะเลือกหาวิธีแก้ไข ดันถอดใจทิ้งทุกอย่างเพื่อป้องกันตัวเอง ไม่ให้เข้าเนื้อไปมากกว่านี้ ทั้งที่ความจริงทางออก และการแก้ปัญหานั้นยังมีอีกหลายจุดมากมาย เพราะฉะนั้นแล้ว ใจเย็นๆ ครับ เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ของเวลาที่เหมาะสม เราจะเห็นเองว่าควรจะ เดินหน้าต่อหรือพอแค่นี้

ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา

ห้า รสชาติและบริการต้องมาคู่กัน

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเปิดร้านกาแฟแล้วล้มเหลว มักมาจาก รสชาติของกาแฟที่ไม่นิ่ง ลูกค้ามา 10 ครั้ง รสชาติไม่เหมือนกันสักครั้ง ก็คงยากที่จะรั้งลูกค้าไว้ได้ เช่นเดียวกับการบริการครับ เมื่อเราทำการค้า บริการคือสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม จะติสต์ อาร์ต อะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายแล้วหัวใจสำคัญคือการบริการครับ เมื่อร้านคุณบริการดี น่าประทับใจ ลูกค้าก็อยากเข้าหา ยิ่งถ้ารสชาติกาแฟเป็นเอกลักษณ์เฉพาะร้านแล้วล่ะก็ งานนี้แทบปิดประตู เจ๊ง กันได้เลยเหมือนกัน

“ทั้ง 5 ปัจจัยนี้ หวังว่าจะพอมีประโยชน์ ต่อผู้ที่สนใจเปิดร้านกาแฟหรือคนที่เป็นเจ้าของกาแฟ ในการนำไปปรับปรุงหรือแก้ไขร้านของตนเองไม่มากก็น้อย เพราะบริบทบางอย่างต้องอาศัยปัจจัยอื่นร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งคงมีแค่ตัวคุณที่เป็นผู้ริเริ่มเท่านั้น ที่จะสามารถสร้างคำถามและหาคำตอบได้ว่า ทำอย่างไรร้านของเราถึงจะ เจ๋ง และ ไม่เจ๊ง” ผศ.ดร.วีรณัฐ สรุปไว้อย่างนั้น

ที่มา : ต่างที่คิด ใหม่ที่ทำ By Kid Mai

ผู้เขียน : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

แม้เครื่องดื่มหลักของชาวญี่ปุ่นจะเป็นชาเขียว แต่กระแสนิยมกาแฟระดับไฮเอนด์ที่มาแรงในกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง พร้อมทุ่มทุนแลกกับกาแฟหอมกรุ่นตรงใจจนตลาดนี้เติบโตต่อเนื่อง 4 ปีซ้อนตั้งแต่ปี 2556-2560 ทำให้หลายธุรกิจ อาทิ ร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ ร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า หันมาสนใจปั้นสินค้า-บริการใหม่หวังชิงเม็ดเงินจากบรรดาคอกาแฟเหล่านี้

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า ธุรกิจใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นหลายราย อาทิ มูจิ พานาโซนิค ลอว์สัน และเซเว่นอีเลฟเว่น พร้อมใจกันเดินหน้ารุกตลาดกาแฟระดับไฮเอนด์ หลังเทรนด์นี้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้บริโภคระดับบน สะท้อนจากตัวเลขมูลค่าตลาดกาแฟแดนอาทิตย์อุทัยที่โตต่อเนื่อง 4 ปีจนแตะ 2.9 ล้านล้านเยนในปี 2560 รวมถึงการคาดการณ์กำไรของหลายธุรกิจในวงการ อาทิ ซันโทรี่ซึ่งวางเป้ากำไรของกาแฟบอส (Boss) ไว้ที่ 8 หมื่นล้านเยน เติบโต 2% หรือโคคา-โคลาที่ตั้งเป้ากำไรจากกาแฟจอร์เจีย (Georgia) ที่ 2.8 หมื่นล้านเยน เติบโต 14%

โดย “มูจิ” เชนร้านสินค้าไลฟ์สไตล์เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เข้าสู่ตลาดนี้เมื่อปีที่แล้ว ด้วยเครื่องทำบด-ต้มกาแฟสำหรับครัวเรือนราคา 32,000 เยน หรือประมาณ 9,400 บาท ซึ่งทำยอดขายไปแล้วกว่า 25,000 เครื่องหลังเปิดตัวได้เพียง 9 เดือน เช่นเดียวกับ “พานาโซนิค” ซึ่งลอนช์เครื่องคั่วกาแฟระดับไฮเอนด์ราคา 100,000 เยน หรือกว่า 29,400 บาท เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว และขายไปแล้ว 200 เครื่อง

นอกจากนี้ บรรดาเชนร้านสะดวกซื้อที่เดิมเน้นกาแฟราคาถูกเริ่มหันมาอัพเกรดคุณภาพสินค้ากลุ่มนี้ให้สูงขึ้น โดย “เซเว่นอีเลฟเว่น” ประกาศเพิ่มความเข้มข้นของกาแฟแก้วละ 100 เยน ที่ชงขายในร้านขึ้นอีก 10% ในขณะที่ “ลอว์สัน” ทุ่มโปรโมตกาแฟพรีเมี่ยมแบบซิงเกิลออริจิ้นราคาแก้วละ 500 เยนของตนเองอย่างหนัก หวังลบภาพลักษณ์กาแฟราคาถูกที่อยู่คู่กับเชนร้านสะดวกซื้อมานาน พร้อมดึงดูดคอกาแฟระดับบนเข้ามาความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงการแข่งขันในตลาดกาแฟของญี่ปุ่นที่จะดุเดือดขึ้นหลังบรรดาผู้เล่นหน้าใหม่โดดเข้าร่วมวง และต้องรอดูกันว่าจะขยายขอบเขตออกไปนอกประเทศด้วยหรือไม่

ด้านธุรกิจร้านกาแฟและร้านอาหารเองมีการปรับตัวรับเทรนด์นี้เช่นเดียวกัน ด้วยการเพิ่มแบรนด์สำหรับรองรับกลุ่มไฮเอนด์โดยเฉพาะ เช่น บริษัทโดเตอร์ นิชิเรส โฮลดิ้ง (Doutor Nichires Holdings) ซึ่งเปิดกิจการเชนร้านกาแฟโดเตอร์มาตั้งแต่ช่วงปี 2523 ได้เพิ่มแบรนด์ใหม่ “ออสโลว์ คอฟฟี่” ร้านกาแฟสไตล์สแกนดิเนเวียน หวังสื่อภาพลักษณ์ของนอร์เวย์ที่เป็นผู้บริโภคกาแฟอันดับ 1 ของโลก และก่อนหน้านี้ เชนร้านอาหาร “ร้านสกายลาร์ค” (Skylark) ได้เปิดโมเดลคาเฟ่สไตล์รีสอร์ตไปเมื่อปี 2558 เช่นกัน


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ