รูปโดย PCRP_ONGS
แปรรูปใบตองสด โลละ 5 บาท ให้เป็น จานใบตอง เหนียว ทนร้อน-เย็น ราคาขายต่อชิ้นกำไรดี

ใบตอง พืชธรรมชาติที่อยู่คู่กับคนไทยมาแต่โบร่ำโบราณ มีการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านพิธีกรรม ประเพณีต่างๆ อย่าง ลอยกระทง บายศรี การบวงสรวงต่างๆ รวมถึงนำมาทำเป็นวัสดุห่อขนม ห่ออาหาร ที่รองอาหาร หรือวางขนม ทำเป็นภาชนะใส่อาหาร ซึ่งการนำมาทำเป็นภาชนะก็ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ใช้ได้ไม่นานเท่านั้น

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ คุณอุ๊-นฤภร เข็มทอง วัย 53 ปี อดีตพนักงานโรงงานฝาจีบ ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ ที่ผันตัวมาตั้งวิสาหกิจชุมชน แปรรูปใบตองสด ที่ขายได้กิโลละ 5-10 บาท มาเป็น จานใบตอง ที่ราคาต่อชิ้น ขายได้ราคาดีกว่าเห็นๆ !

คุณอุ๊ เล่าให้ฟังว่า เธอลาออกจากงานกลับมาอยู่ที่บ้านเพื่อดูแลผู้หลักผู้ใหญ่ที่บ้าน ก็เห็นว่า ในตำบลคลองกระจง มีใบตองกล้วยตานีเยอะมาก ซึ่งคุณอุ๊ กล่าวว่า ใบตองของที่นี่ถือเป็นใบตองที่ดีที่สุดในประเทศ ชาวบ้านจะแล่ขายกันทุกวัน

แต่เมื่อใบตองล้นตลาด ไหนจะปัญหาเรื่องของปลายไหม้ ใบเหลืองเกินกว่าจะนำไปใช้งาน อีกทั้งใบตองสดคนก็ไม่ค่อยรับซื้อ เกิดการกดราคา ทำให้ขายใบตองสดได้กิโลกรัมละ 5-10 บาท เพียงเท่านั้น (คุณอุ๊ กล่าวถึงราคาของปี 60) จึงทำให้เธอเห็นว่า ชาวบ้านลำบากกันมากจริงๆ

“ก็คิดว่า ตายแล้ว ชาวบ้านลำบากกันมากเลยนะนั่น ทีนี้มันมีงานทอดกฐินแล้วโรงทานเขาต้องใช้พวกถ้วยชาม บ้านพี่ก็มีใบตอง ก็เอามานั่งเย็บเป็นถ้วยชามให้เขา ก็เห็นว่า มันขายได้ราคาดีกว่าใบตองสด ทีนี้พี่ก็อยากเอาใบตองสดของบ้านเรามาแปรรูปเป็นพวกถ้วยชามโดยไม่ต้องใช้เข็มกลัดหรือแม็ก ก็เข้าไปหาหน่วยงานให้เขาช่วย”

“ไปเรียนรู้ตั้งแต่การทำให้ใบตองแห้ง ลงทุนใช้เงินตัวเองซื้อเครื่องอัดมาทดลองขึ้นรูป เพราะทำเรื่องของหน่วยงานไปแล้วการดำเนินการมันค่อนข้างใช้เวลา เลยลงทุนเองไปก่อน ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเลยหรอก แตก เสียไปเยอะ ก็ทดลองหาวิธีแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ พี่สาวก็ถ่ายรูปลงเฟซแล้วเหมือน มีคนมาเห็น ก็ติดต่อเข้ามา ทีนี้นักข่าวก็ตามมาขอสัมภาษณ์ ออร์เดอร์ก็เริ่มเข้ามาทั้งๆ ที่ตอนนั้นก็ยังทดลองอยู่เลย” คุณอุ๊ เล่า

เธอเล่าเพิ่มเติมว่า ทดลองทำไปเรื่อยๆ ก็มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งบริจาคเครื่องอัดขึ้นรูปให้เพิ่ม และได้ผ่านการอนุมัติของโครงการ จนปัจจุบันการแปรรูปใบตองที่คุณอุ๊ทำเป็นวิสาหกิจชุมชนนี้ ดำเนินการมาได้กว่า 2 ปีแล้ว

“ตอนนี้สมาชิกในกลุ่มก็มีประมาณ 22 คนแล้วค่ะ ก็ช่วยๆ กันทำ แต่หลักๆ ก็จะเป็นพี่ พี่สาวพี่ แล้วก็หลานชาย เพราะเครื่องอัดอะไรพวกนี้มันอยู่ที่บ้านพี่ ใบตองสดๆ ก็ได้โลละ 5 บาท 10 บาทเอง แต่พอเอามาแปรรูปแล้วเราขายได้เฉลี่ยใบละ 2.50-3.50 บาท แล้วราคาก็ถูกกว่าพวกกาบหมาก พี่เลยอยากให้ชาวบ้านเขามีรายได้ดีๆ ตอนนี้ก็ชวนมาทำด้วยกันแล้วก็รับซื้อใบตองของชุมชนเพื่อเอามาแปรรูปด้วย” คุณอุ๊ กล่าว

คุณอุ๊ นฤภร เข็มทอง วัย 53 ปี
รูปโดย PCRP_ONGS

โดยข้อดีของจานใบตองของคุณอุ๊ คือ ใบตองที่ใช้เป็นใบตองคลองกระจง ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพและความเหนียวทน อีกทั้งสามารถทนทั้งความร้อนและความเย็น สามารถใส่ก๋วยเตี๋ยวตั้งทิ้งไว้ข้ามคืนได้เลย เพราะใช้ใบตองขึ้นรูปถึง 3-4 ชั้นเลยทีเดียว

“จานเรามีทั้งหมด 9 แบบค่ะ และเราขายแค่ในประเทศ ต่างประเทศมีติดต่อเข้ามานะ แต่กำลังการผลิตเราไม่ได้ใหญ่ถึงขนาดนั้น และก็ขอศึกษาเรื่องการทำธุรกิจข้ามประเทศอะไรแบบนี้ให้ดีก่อนดีกว่า ไหนจะโควิดอีกที่ต้นปีที่แล้วทำพี่แทบขายไม่ได้เลย เพราะเราขายได้กับพวกคนที่มาดูงาน คนก็ไม่มีมา ก็ทำน้อยลงทำสต๊อกไว้แล้วไปทำอย่างอื่นแทน แต่ในอนาคตก็มีขยับขยายแน่ๆ ใครสนใจอยากซื้อไปใช้ ก็ติดต่อเข้ามาปรึกษาสอบถามได้ค่ะ”

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก เข็มทอง ตอกตามา

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

รูปโดย PCRP_ONGS
รูปโดย PCRP_ONGS
เพราะอาชีพไม่ควรมีแค่หนึ่ง พยาบาลคลินิก ผุดงานเสริม ทำ บราวนี่ ฟัดจ์ ขาย สร้างรายได้อีกทาง

เรียกว่าปี 2563 เป็นปีที่แทบจะไม่ได้ขยับตัวได้ทำอะไร ผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นอกจากจะทำให้การใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปแล้ว ผลกระทบต่ออาชีพก็เจอเซอร์ไพรส์กันถ้วนหน้า เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ คุณน้ำค้าง- รัมภ์รดา เจ้ยทองศรี วัย 29 ปี พยาบาลสาวประจำคลินิกแห่งหนึ่งใน กทม.

เธอเล่าให้ฟังว่า คลินิกที่เธอทำ เป็นคลินิกเกี่ยวกับรับให้คำปรึกษาปัญหามีบุตรยาก ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ อย่าง จีน ที่เข้ามาใช้บริการ แต่เมื่อโควิดระบาด ทางคลินิกจึงได้รับผลกระทบหนักเลยทีเดียว ทำให้ต้องมีการปรับตัวกันใหม่หมด

“เมื่อก่อนทำงานรับปรึกษาการให้นมบุตร เพราะเคยเป็นพยาบาลเด็ก มีใบรับรองถูกต้อง แต่มันต้องขึ้นเวรดึกแล้วต่อ ป.โท ด้วย เลยย้ายมาทำคลินิกปรึกษาคนมีบุตรยาก พอลูกค้าไม่มี คลินิกก็ต้องปรับตัว มีการลดเงินเดือนพนักงานและผู้บริการลงเพื่อประคองๆ กันไปทั้งหมด แล้วก็หันมาทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น” คุณน้ำค้าง เล่า

แต่เหมือนยังไม่เป็นที่น่าวางใจเท่าใดนัก คุณน้ำค้างจึงคิดหางานอื่นทำ เพื่อหารายได้เพิ่ม จากความชื่นชอบและสนใจในการทำบราวนี่ บวกกับรุ่นน้องที่สนิทกันตั้งแต่สมัยเรียน อย่าง คุณจูเนียร์วิรุฬห์ สดีวงษ์ ที่มีสูตรบราวนี่ จึงมีการพูดคุยกันและร่วมกันเปิดร้าน Buddie.Bunnie ขึ้น 

“ปกติเรามีความสนใจคล้ายๆ กันอยู่แล้ว ก็เลยคุยว่า งั้นมาทำบราวนี่ขายกันไหม เพราะทางน้องเขาก็มีสูตรอยู่แล้ว ก็โอเคเปิดรับออร์เดอร์ออนไลน์กัน ใช้เวลาหลังเลิกงานมานั่งทำกัน ก่อนเปิดร้านก็ฝึกทำ มีทำทิ้งไปก็เยอะ แต่ก็พยายามปรับสูตรนั่นนี่จนมันอร่อยแล้วเลยวางขาย คนก็หันมาทำขนมขายเยอะ แต่เรามั่นใจว่าของเราอร่อยจริง แล้วเป็นสูตรพิเศษ ใส่ใจสุขภาพ ของเราเป็นบราวนี่หน้ากรอบ ที่มีความฟัดจ์ในตัว ถ้าวางไว้ในอุณหภูมิห้องปกติ ก็จะได้รสสัมผัสนุ่มๆ แต่ถ้าชอบแบบลาวา อุ่นไมโครเวฟ ประมาณ 10 วินาที ก็จะได้ลาวาเยิ้มๆ หรือจะแช่เย็นแล้วเอามาทานก็จะหนึบหนับๆ ไปอีกแบบ” คุณน้ำค้าง กล่าว

“เปิดมาไม่ถึงเดือนค่ะ ออร์เดอร์เข้าทุกวัน จากคนรู้จักบ้าง จากที่บอกต่อๆ กันมาอุดหนุนบ้าง รายได้ไม่เยอะมาก เพราะขนมส่วนใหญ่ ถ้าลงทุนเรื่องวัตถุดิบกับแพ็กเกจจิ้ง กำไรคิดออกมาแล้วก็ไม่ได้เยอะ อาศัยขายเอาจำนวน ถึงจะพอได้กินกำไร อาชีพมันก็เหมือนไฟที่ให้แสงสว่าง มี 1 ดวง ถ้ามันดับไปทุกอย่างมันก็มืดหมด แต่ถ้าเรามีไฟอีกดวงหนึ่งสำรองไว้ มันก็ยังมีสิ่งรองรับ ไม่ทำให้มืดมน เพราะเราคิดแบบนี้ด้วย เลยแฮปปี้ดีกับสิ่งที่ทำอยู่ค่ะ” คุณน้ำค้าง ทิ้งท้าย

บราวนี่ ฟัดจ์ ของร้าน Buddie.Bunnie 1 กล่อง มี 6 ชิ้น จำหน่ายในราคา 89 บาท สนใจสั่งซื้อได้ที่เพจ Buddie.Bunnie

คุณน้ำค้าง – รัมภ์รดา เจ้ยทองศรี
คุณจูเนียร์-วิรุฬห์ สดีวงษ์

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

"ข้าวตราไก่แจ้" ฉลองความสำเร็จทะยานสู่ 2,500 ล้าน รุกตลาดต่างประเทศตีแบรนด์ "ไก่แจ้" ส่งออกทั่วโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแบรนด์ “ข้าวตราไก่แจ้” ภายใต้การบริหารงานของนักธุรกิจรุ่นใหม่อย่าง “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด และ บริษัท ทีอาร์ไทยฟู้ดส์ จำกัด ได้ฉลองความสำเร็จภายใต้วิกฤตโควิด-19 พลิกธุรกิจเป็นบวกเติบโต 5 % ด้วยการจัดงาน “KAIJAE RICE SPARK เติมไฟก้าวไปด้วยกัน” ที่ศูนย์ประชุมเฮอริเทจ บางแสน เพื่อขอบคุณลูกค้า พนักงาน และผู้สนับสนุนข้าวตราไก่แจ้ มาโดยตลอด 37 ปี

“ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการเติบโตในปีนี้ของข้าวตราไก่แจ้ ที่คว้าโอกาสจากวิกฤตได้ จากยอดข้าวบริจาคที่ผู้คนให้ความไว้วางใจข้าวตราไก่แจ้เป็นข้าวที่ส่งต่อให้ผู้อื่นได้อย่างสบายใจ และทางแบรนด์เองก็มีโครงการดีๆ ที่ซัพพอร์ตโรงพยาบาล ชุมชน และผู้ประกอบการร้านอาหารมาโดยตลอด รวมไปถึงการแจกข้าวในเพจข้าวตราไก่แจ้ ให้ผู้ที่เดือดร้อนจากโควิดรอดไปด้วยกัน

“ปีนี้ข้าวตราไก่แจ้ ยังประสบความสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าสิ้นปีนี้ยอดขายจะก้าวไปถึง 2,500 ล้านบาท เติบโต 5 % แม้ในภาวะเช่นนี้ และในปีหน้าตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 10-20 % ซึ่งจะต้องมีรายได้มากกว่า 2,500 ล้านบาท โดยมุ่งขยายทิศทางธุรกิจในทุกช่องทาง รวมถึงการขยายฐานลูกค้าออกไปอีกเรื่อยๆ” ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กล่าว

ผู้บริหารข้าวตราไก่แจ้ ยังกล่าวอีกว่า จากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา แบรนด์ได้ส่งออกข้าวไปในโซนยุโรปมากขึ้นและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ปีนี้จึงเริ่มผลิตข้าวส่งออกภายใต้แบรนด์ข้าวตราไก่แจ้ เป็นข้าวหอมมะลิเกรดพรีเมี่ยม ข้าวหอมปทุมธานี รวมไปถึงข้าวเหนียว ที่หลายประเทศให้ความสนใจ โดยจะมีการออกแบบและผลิตแพ็คเกจจิ้งใหม่

นอกจากข้าวตราไก่แจ้แล้ว ปีนี้  “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” ยังเป็นผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ “ข้าวต้มมัดแม่นภา” ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในโซนยุโรป อเมริกา รวมไปถึงเอเซียอย่างประเทศ เกาหลี จีน ที่ชื่นชอบข้าวต้มมัดแบรนด์แม่นภา ที่มีให้เลือกหลายรสชาติ ความพิเศษคือ สามารถเก็บไว้ได้นาน สะดวกในการรับประทาน และที่สำคัญคือ มีสารอาหารครบและให้พลังงานสูง มีให้เลือกหลายรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นรสกล้วย รสเผือก รสมะม่วง และรสมันม่วง ชาวต่างชาติจะชื่นชอบมาก

“ปีนี้ยอดข้าวต้มมัดแม่นภาอยู่ที่ประมาณ 80 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องไปอีก เพราะหลายคนเลือกนำข้าวต้มมัดเป็นอาหารพกพาไปวิ่งเทรล เข้าป่า ตั้งแคมป์ เพราะเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เหมาะกับนักกีฬาสายเอ็กซ์ตรีม แบบวิ่งกัน 40 กิโลเป็นอย่างต่ำ”

ทั้งนี้บรรยากาศภายในงาน “KAIJAE RICE SPARK เติมไฟก้าวไปด้วยกัน” เป็นไปอย่างคึกคักและได้รับเกียรติจาก “สุนทร ธัญญวัฒนกุล” ประธานกรรมการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ขึ้นกล่าวทักทายแขกผู้มีเกียรติ และยังมีเมนูอาหารสุดพิเศษจาก เชฟยูกิ ผู้เข้าแข่งขันรายการ Top Chef Season 3 ที่งานนี้ได้รังสรรค์เมนูจากข้าวญี่ปุ่นให้กลายเป็นอาหารสุดพิเศษ และภายในงานยังมีการจับรางวัล อาทิ iPhone 12, TV 55 นิ้ว และอีกมากมาย ปิดท้ายด้วย มินิคอนเสิร์ตสุดมันส์จาก “เป๊กกี้ ศรีธัญญา”

ปิดท้ายกันอย่างสวยงามและเติมพลังกันเต็มที่เพื่อก้าวต่อไปของข้าวตราไก่แจ้สู่ความเป็นแบรนด์ข้าวไทยตราไก่แจ้ที่ทุกคนไว้วางใจ

ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล
DSC_6051

“ผงหอมศรีจันทร์” เครื่องสำอางแบรนด์ไทยที่มีประวัติมายาวนานกว่า 70 ปี กลับมาโด่งดังและถูกกล่าวขานถึงอย่างมากมายในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลได้รับไม้ต่อ และได้มีการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ พร้อมกับการเดินหน้าเกมรุกด้วยสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 200 ไอเท็ม 7 คอลเล็กชั่น และมีช่องทางขายอย่างครอบคลุม อาทิ เทรดิชั่นนอลเทรด โมเดิร์นเทรด และช่องทางออนไลน์

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รวิศ หาญอุตสาหะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด หรือเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง “ศรีจันทร์” ถึงทิศทางการดำเนินงานตลอดจนกลยุทธ์สร้างการเติบโตจากนี้ไป

โควิด-19 กระทบหนัก

“รวิศ” เริ่มต้นสนทนาว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมากระทบกับช่องทางขายของศรีจันทร์ค่อนข้างมาก โดยในห้างสรรพสินค้า โดยช่วงที่ต้องล็อกดาวน์ ทำยอดขายหายไปกว่า 80% ขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดเครื่องสำอางมีการแข่งขันลดราคามากขึ้น เพราะทุกคนก็อยากขายของ ทุกคนอยากจะเก็บเงินสดไว้กับตัวมากขึ้น จึงพยายามขายของที่อยู่ในสต๊อกออกไปให้เร็วที่สุด ศรีจันทร์ก็มีทำบ้าง ต้องทำ เพราะทุกคนทำหมด จะไม่ทำก็ไม่ได้ ช่วงนี้เรื่องลดราคาก็ยังมาแรง และดูแล้วทิศทางจะเป็นแบบนี้ไปอีกสักระยะ คงยังไม่จบง่าย ๆ

และผลกระทบอีกด้านหนึ่งก็คือ รายได้จากลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวจีนที่ซื้อสินค้าของศรีจันทร์กลับไปเป็นของฝาก เคยมีสัดส่วนรายได้ราว ๆ 5-8% ก็ลดลง และจากนี้ไปประเมินว่า แม้จะกลับมาเปิดน่านฟ้าใหม่แล้วแต่คิดว่าลูกค้าจีนจะไม่กลับมาเร็ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทางการได้ประกาศคลายล็อกทุกอย่างก็ดีขึ้น ตอนนี้แม้ว่าห้างจะกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติแล้ว และเริ่มเห็นทราฟฟิกกลับมา แต่ก็ยังไม่เหมือนเดิม ที่เห็นได้ชัดเจน คือ คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

เพิ่มโฟกัสช่องทางออนไลน์

เมื่อถามถึงการปรับตัวในช่วงที่โควิดระบาดและศููนย์การค้าถูกล็อกดาวน์ “รวิศ” กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมา ศรีจันทร์มีการขายสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว ทั้งที่ทำเองและร่วมกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้งลาซาด้า ช้อปปี้ โดยมีฐานลูกค้าอยู่ราว ๆ 1 แสนคน แต่ในแง่ของรายได้อาจจะยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่องทางจำหน่ายปกติที่เป็นร้านค้าปลีกทั่ว ๆ ไป ร้านสะดวกซื้อ ประกอบกับในช่วงโควิด ผู้บริโภคหันมานิยมสั่งซื้อสินค้าทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น บริษัทจึงหันมาโฟกัสช่องทางขายออนไลน์ และมีนโยบายจะขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น

ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่งเปิดเว็บไซต์ใหม่ 1948 beaty.com เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เพื่อขายสินค้าแบรนด์ของศรีจันทร์ แต่ในอนาคตอาจจะมีแบรนด์คนอื่น ๆ เข้ามาขายผ่านช่องทางนี้ด้วย

โปรดักต์ใหม่หัวใจความสำเร็จ

คีย์แมนศรีจันทร์ยังบอกด้วยว่า นอกจากการให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้นแล้ว บริษัทยังมีแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง และเตรียมจะเพิ่มแบรนด์ใหม่ที่จะเปิดตัวอีก 3-4 แบรนด์

การออกสินค้าใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจเครื่องสำอางต้องทำ ในธุรกิจเครื่องสำอางของทุกอย่างจะมีอายุชัดเจน ไม่ใช่อายุของสินค้า แต่เป็นอายุของกระแส และเทรนด์บนเชลฟ์ มันจะมีช่วงที่คนคลั่งไคล้สุด ๆ แต่ไม่เกิน 6 เดือนต้องเอาออก และก็จะมีของใหม่เข้ามาแทน สินค้าบางอย่าง 3 เดือนก็หมดกระแส หมดความนิยม ของพวกนี้เป็นแฟชั่น และจะถูกสลับสับเปลี่ยนตลอดเวลา ดังนั้น จึงจะต้องมีโปรดักต์ใหม่ ๆ เข้ามาเป็นระยะ ๆ

สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากในการออกสินค้าใหม่ คือ การหาความต้องการของลูกค้าให้ได้ เช่น มาจากการทดลอง การทำรีเสิร์ช การทดสอบสมมุติฐาน ขณะเดียวกันก็มีการนำข้อมูล หรือ data มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าเพื่อพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด รวมไปถึงการเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์สีที่กำลังมาแรง ฯลฯ รวมถึงการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าในคลัง

เมื่อตลาดมีการแข่งขันสูง หากเราทำออกมาได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากเท่าไหร่ โอกาสก็จะมีมากขึ้นต้องบอกเลยว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องสำอางปัจจุบันอยู่ได้ด้วยคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ จะมีตัวเก่าไม่กี่ตัวที่ยังขายได้ แต่พฤติกรรมลูกค้ายังมองหาของใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา สังเกตว่าแบรนด์ใหญ่ ๆ จะมีคอลเล็กชั่นใหม่ออกทุกเดือน

ภาวะเช่นนี้ ผู้บริโภคอาจจะซื้อของน้อยลงก็จริง แต่คนยังซื้อของพวกนี้อยู่และซื้อสินค้าที่ไม่ค่อยแพง ราคาเข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตาม ศรีจันทร์ยังมีแนวคิดและมีความสนใจที่จะทำสินค้าเจาะกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์เข้ามาทำตลาดเพิ่ม เพราะปัจจุบันศรีจันทร์มีเฉพาะสินค้าเจาะตลาดแมส

“รวิศ” กล่าวในตอนท้ายว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ศรีจันทร์ให้ความสำคัญก็คือ ไม่เพียงเฉพาะการพยายามขยายฐานลูกค้ารายใหม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น บริษัทยังเน้นการดูแลและรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจากนี้ไป มีแผนเปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ทุก ๆ เดือน เน้นกลุ่มเมกอัพ ได้แก่ ลิปสติก รองพื้น แป้ง ครีมกันแดด เพียงแต่อาจจะผลิตออกมาจำหน่ายในปริมาณที่ลดลง ไม่ผลิตออกมามาก ๆ เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการทุ่มงบฯเพื่อทำการตลาดทั้งช่องทางที่เป็นออฟไลน์ และออนไลน์ เพื่อสร้างและโปรโมตแบรนด์ผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ บิลบอร์ด โฆษณาบนรถไฟฟ้า สื่อโฆษณาในร้านสะดวกซื้อ จากแนวทางต่าง ๆ ที่วางไว้ ปีนี้คาดว่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

สำหรับตลาดต่างประเทศที่บริษัทได้เริ่มทำตลาด 1-2 ปีที่ผ่านมา ด้วยการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายใน 8 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น ฟีดแบ็กยังอยู่ในระดับกลาง ๆ เพราะเป็นช่วงเริ่มต้น และการทำตลาดสร้างแบรนด์เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ทั้งต้องเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เพราะต่างประเทศเป็นอะไรที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก แต่รีเทิร์นน้อย ตอนนี้จึงขอโฟกัสตลาดในประเทศก่อน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ภาพโดย Arut Thongsombut จาก Pixabay

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ บรรดาซีฟู้ดเลิฟเวอร์น่าจะเคยคุ้นกับการช้อปปิ้งอาหารทะเลที่ตลาดประมงพื้นบ้านอ่างศิลา จ.ชลบุรี ซึ่งย้ายมาจากสะพานปลาอ่างศิลา บริเวณฝั่งตรงข้าม แต่อีกไม่นานนี้ หรือถ้านับนิ้วคร่าวๆ ก็ราว 4 เดือน ที่ทุกคนจะได้ใช้บริการ ตลาดประมงอ่างศิลา (Fish Marketing Organization) ตลาดปลากลางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย

ฟื้นฟูและพัฒนาโดย องค์การสะพานปลา (อสป.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง มณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการ อสป. เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้การก่อสร้างโครงการตลาดประมงอ่างศิลา หนึ่งในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือและตลาดประมงอ่างศิลาขององค์การสะพานปลา คืบหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเดือนธันวาคม 2563 แน่นอนว่า ในวันที่ไวรัสโควิด-19 ยังไม่หายไปจากประเทศไทย ตลาดแห่งนี้ได้ยืนยันมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย ทั้งด้านสถานที่ ผู้จำหน่าย และสินค้าต่างๆ ซึ่งพร้อมให้บริการด้วยความมั่นใจ

“ถามว่าหวั่นกับโรคระบาด กับโควิด-19 ไหม ยอมรับว่าก็หวั่นอยู่ ซึ่งเราเตรียมการไว้แล้ว และด้วยสภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ ถ้าเขาไม่ค้าขาย เขาจะเอาอะไรกิน ดังนั้น มันต้องไปต่อ ต้องอยู่ ต้องกิน เราไม่ได้จัดนิทรรศการกันเล่นๆ เราค้าขายกันจริงๆ อยู่บนความเป็น ความตาย ความเป็นอยู่ ฉะนั้นจึงต้องเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของทุกคน” ผอ.มณเฑียรเน้นย้ำ

วันวานของ‘สะพานปลาอ่างศิลา’

แต่เดิม “สะพานปลา อ่างศิลา” มีชื่อเรียกว่า “สะพานหิน” สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสนาบดีกรมท่าสร้างสะพานหินยาวออกไปในทะเลจนพ้นเขตศิลาใต้น้ำ เนื่องจากทรงพิจารณาเห็นว่าอ่างศิลามีศิลาใต้น้ำจำนวนมาก เมื่อน้ำลงจะมีศิลาและเลนลาดออกไปจากฝั่งเป็นทางยาว ไม่สะดวกในการจอดเรือเทียบท่า

โดยสะพานปลาอ่างศิลาก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2499 ตามข้อเรียกร้องของชาวประมงชลบุรี ด้วยเหตุที่ว่า จ.ชลบุรี ไม่มีที่จอดเรือสาธารณะ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ชาวประมงจึงนำอาหารทะเลมาจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นปลา กุ้ง ปู หอย ขณะเดียวกันก็มีสินค้าท้องถิ่นเลื่องชื่ออย่าง “ครกหิน” ที่แกะสลักหินเป็นรูปร่างต่างๆ วางขายอยู่พร้อมๆ กัน

นับเป็น 1 ใน 18 ท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลา (แบ่งเป็น สะพานปลา 4 แห่ง และท่าเทียบเรือประมง 14 แห่ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน) ตั้งอยู่ริมถนนอ่างศิลา ต.อ่างศิลา จ.ชลบุรี

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ โดยให้ผู้ค้าย้ายแผงไปอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ตลาดประมงพื้นบ้านอ่างศิลา และจะพร้อมกลับมาเปิดเต็มรูปแบบอีกครั้งเดือน ธ.ค.63 นี้ ในโฉมใหม่ “ตลาดประมงอ่างศิลา”

วันนี้ของ‘ตลาดประมงอ่างศิลา’อาจนับเป็นความโชคดีที่วันนี้ อสป.มีผู้บริหารชื่อ มณเฑียร อินทร์น้อย ผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมโยธา เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ และกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งวันนี้เขายังเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์ด้านการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมถึงการปัดฝุ่นสะพานปลาอ่างศิลาที่มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ทว่า ยังไม่มีวี่แววของการแล้วเสร็จ

ภาพต้นแบบการพัฒนาตลาดประมงอ่างศิลา
‘ตลาดประมงอ่างศิลา’ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา

ผอ.มณเฑียรเล่าว่า สะพานปลาอ่างศิลาสร้างมาแล้วตั้งแต่ปี 2499 เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ชาวประมงนำสินค้าขึ้นมาขายกันตรงนั้น จนมาถึงประมาณปี 2557 สะพานชำรุดลง ทางองค์การสะพานปลาได้รับงบประมาณเป็นงบกลางจากรัฐบาล ณ ขณะนั้นมาทำการปรับปรุง ทว่า ทำอยู่ 3-5 ปีก็ไม่เสร็จ กระทั่งได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ก็เริ่มพัฒนา ปรับปรุงในหลายเรื่องตามลำดับ ซึ่งก็พัฒนาตามแนวเดิมที่มีอยู่ แต่ทำให้ทันสมัยและดียิ่งขึ้น

“เมื่อก่อนที่นั่นเป็นสะพานรกๆ เหมืนตลาดสดทั่วไป แต่วันนี้ก็ยังเป็นตลาดสดเหมือนเดิม เพียงแต่ทำให้ทันสมัยขึ้น สะอาดขึ้น แต่ถ้าดีเกินไปก็ไม่มีเสน่ห์ ดังนั้น เราต้องคงเสน่ห์ของเขาไว้ ส่วนที่เราปรับปรุงใหม่จึงมีชื่อว่า ตลาดประมงอ่างศิลา หรือ Fish Marketing Organization ตลาดปลากลางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย ตัวสะพานยื่นออกไปในทะเลราว 400 เมตร มีความสวยงามอย่างยิ่ง

“การพัฒนานี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีนโยบายจากท่านประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งอยากให้เราปรับโฉมสะพานปลาช่วยเหลือผู้ค้า โดยตรงกลางตลาด เราออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยมากยิ่งขึ้น มีหลังคาคลุมพื้นที่ แต่ยังให้รถวิ่งได้เหมือนเดิม รถดับเพลิงและเรือประมงเข้าได้เหมือนเดิม สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการค้าขาย เราลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจคาดว่าปีหนึ่งน่าจะได้ราว 3-4 พันล้านบาท รวมไปถึงการค้าขาย การเงินหมุนเวียน เพราะคนมาตลาดไม่เพียงแค่ซื้อของแต่ยังมาเที่ยว มาพักผ่อน เดินเข้ามาอาจไปเที่ยวเขาสามมุขต่อ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยคอนเซ็ปต์การพัฒนาคือ ‘แกะกุ้ง กินปู ดูปลา อ่างศิลา ชลบุรี’”

จนถึงวันนี้ ผอ.อสป.บอกว่า การพัฒนาตลาดประมงอ่างศิลาคืบหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งงบประมาณยังมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น จึงพยายามจัดหางบทีละส่วนมาปรับปรุงทีละจุด อาทิ เมื่อสร้างจุดหนึ่งเสร็จก็หาเงินเพิ่มเพื่อสร้างพื้นที่ สร้างแผงค้า พร้อมปรับปรุงส่วนอื่นๆ เช่น เพิ่มห้องน้ำ เพิ่มพื้นที่จอดรถ

ซึ่งทั้งหมดก็ทำไปเพื่อต้องการช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง

มณเฑียร อินทร์น้อย
‘สะอาด ปลอดภัย ยุติธรรม’ หัวใจแห่งการควบคุมคุณภาพ

นอกจากจะจัดโซนต่างๆ ภายในตลาดประมงอ่างศิลา ซึ่งมีทั้งโซนอาหารสด อาหารพร้อมปรุง อาหารแห้ง และของฝากแล้ว ที่นี่ยังเปิดพื้นที่ให้ชาวประมงพื้นบ้านนำเรือมาจอดเทียบท่าขายอาหารทะเลและสินค้าสัตว์น้ำนานาชนิด เพื่อตอกย้ำความเป็น Fish Marketing Organization และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งกลุ่มคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ชลบุรี
อีกด้วย

สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผู้ซื้อหมดห่วงได้ทันที เพราะเรื่องนี้มณเฑียรเน้นย้ำเรื่องความสด สะอาด ปลอดภัย และยุติธรรม โดยทุกอย่างระบุอยู่ในข้อตกลงร่วมกันกับผู้ค้าที่ทำการเช่าแผงขายเรียบร้อยแล้ว

 

“เราเน้นย้ำเรื่องความสด เพราะถ้าปลาเก่าก็ต้องขอร้องว่าให้เอาออก อย่านำมาขายที่นี่ ต้องสะอาด ไม่มีสารปนเปื้อน ถ้าใครมีหรือทำอะไรไม่ค่อยถูกก็จะแบน และเราจะเป็นมาตรฐานกลาง ให้ความยุติธรรมกับทุกคน คือจะนำเครื่องชั่งน้ำหนักวางไว้ทุกๆ 20 เมตร พร้อมสุ่มตรวจสอบแผงค้าทุกเช้าเย็น หากพบของบูดหรือเน่าจะขอร้องให้เอาออก เพราะที่ตลาดนี้เราเน้นเรื่องคุณภาพอาหารปลอดภัย

“เรื่องการจัดการต่างๆ ในตลาด องค์การสะพานปลาดูแลเองทั้งหมด เราจัดการเอง วางคอนเซ็ปต์เอง ซึ่งก็อาจใช้วิธีการบริหารจัดการของเราเอง เช่น อาศัยดูโมเดลตลาดนัดจตุจักร ตลาดสดองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (ตลาดสด อ.ต.ก.) แต่ของเราเป็นตลาดกลางทะเล การควบคุมจึงง่ายกว่า สำหรับเรื่องสุขอนามัยต่างๆ ก็เชื่อว่าทำได้ไม่ยาก เปรียบเทียบกับการควบคุมโรคก็ใช้วิธีการปิดประเทศ ถ้าไม่ปิดก็ลำบาก พื้นที่ตลาดก็เช่นกัน ระบบบำบัดเราก็กลับมาทำบนบก ไม่ทิ้งลงทะเลแม้แต่นิดเดียว นอกจากจะมีฝนตก

“ผมจึงเน้นย้ำเรื่องคุณภาพ การ์ดอย่าตก เพราะถ้าสินค้าใครไม่ปลอดภัยก็จะขึ้นไฟเหลืองเตือนด้านหลังแผง หากคุณภาพไม่ดีอีก ไฟเป็นสีแดงก็เรียบร้อย ขณะเดียวกันก็เป็นการเตือนให้ประชาชนทราบว่าไม่ควรซื้อร้านดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพสินค้า ขอโทษ แล้วจะไม่ทำอีก นี่เป็นข้อตกลงที่เราวางไว้ในระเบียบ เราไม่กลัวคนที่จะมาโวยวายหรือมาก่อหวอด แต่เรากลัวคนที่จะมาเดือดร้อนมากกว่า

“ผมบอกว่าแม้เราจะขายของแพง แต่เป็นของแพงที่แพงด้วยคุณภาพ”

วันข้างหน้าของ‘อาหารทะเล’

ไม่เพียงแต่ออกแบบให้ตลาดประมงอ่างศิลาเป็นศูนย์กลางการซื้อขายอาหารทะเลเท่านั้น เพราะ ผอ.มณเฑียรยังหวังให้ที่แห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของ จ.ชลบุรี โดยรังสรรค์ “ประภาคาร” สำหรับชมทิวทัศน์ รวมถึงสร้างสตอรี่ให้แก่สถานที่ อาทิ แนวคิดลูบแล้วรวยที่ประภาคาร, คล้องกุญแจเพื่อ
เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดแรงสนับสนุนที่ดีเยี่ยมจากท้องถิ่น

สำหรับความคาดหวังให้เกิดตลาดประมงขึ้นที่อื่นๆ ในอนาคตนั้น ผอ.อสป.อมยิ้ม ก่อนจะเอ่ยตรงๆ ว่า อยากมี แต่ทั้งหมดต้องอยู่ในบริบทการขออนุญาต ด้วยเพราะการทำสะพานแต่ละแห่งมีเงื่อนไขทางราชการอยู่ จึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง

ส่วนอนาคตของอาหารทะเล ผอ.อสป.มีทั้งแผนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก สนับสนุนครอบครัวทำประมง แปรรูปอาหารทะเล โดยองค์การสะพานปลาจะเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์ พร้อมควบคุมคุณภาพ อีกทั้งยังมีแผนการพัฒนาแพคเกจให้มีรูปแบบที่น่าประทับใจยิ่งขึ้น

“โครงการที่เราเริ่มทำแล้วมีทั้งการทำแพคเกจจิ้งที่ดี เช่น ทำแพคเกจจิ้งปลากุเลาหอมของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำหน่ายเป็นของที่ระลึกช่วงปีใหม่ตัวละ 1,000-1,700 บาท ปีที่ผ่านมาขายไป 300 ตัว ซึ่งใช้เวลาสั่งชาวประมงไปนานหลายเดือน แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่จะเปลี่ยน เช่น ระบบขายออนไลน์
จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังคิดไปถึงเรื่องการให้ของขวัญเป็นอาหารทะเลแทนกระเช้าดอกไม้ หรือกระเช้า
ของขวัญปีใหม่ จัดทำแพคเกจจิ้งดีๆ ใส่กล่องโฟมอีกชั้นหนึ่งก่อนจัดส่ง ส่วนสินค้าด้านในเป็นอาหารพร้อมปรุง แล่และหั่นเรียบร้อยแล้ว ควบคุมคุณภาพโดยองค์การสะพานปลา ถามว่าแบบนี้คนอยากซื้อมากกว่าไหม?

“ผมยังอยากทำคล้ายๆ กับวิสาหกิจชุมชน แต่เป็นกลุ่มเล็กๆ เช่น สามีออกเรือ ภรรยาแปรรูป โดยให้ อสป.รับซื้อหมด แล้วจะทำกระบวนการกลุ่มทั่วประเทศที่เรามีอยู่ เพราะเขาใช้พื้นที่เรา เมื่อไม่มีโนว์ฮาวเราก็เอาไปให้

“สุดท้ายก็อยากเชิญชวนให้มาดู มาเที่ยวตลาดปลากลางทะเลของบ้านเราก่อน เพราะอย่างน้อยก็เป็นการสนับสนุนพี่น้องชาวประมงไทย ให้เงินหมุนเวียนในบ้านเราเอง”

ที่มาหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนชนากานต์ ปานอ่ำ

การออกมาประกาศปิดบริการ “ห้างเซ็นทรัลหาดใหญ่” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ถ.เสน่หานุสรณ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ถือเป็นการปรับตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่าจะเป็นการปรับโฉมรูปแบบธุรกิจใหม่ไปในทิศทางใด

ย้อนรอยเซ็นทรัลสาขาแรกในภาคใต้

“ห้างเซ็นทรัล สาขาสุคนธา หาดใหญ่” ตั้งอยู่บริเวณถนนเสน่หานุสรณ์ ถือเป็นย่านใจกลางเมืองหาดใหญ่ ถือเป็นสาขาแรกของห้างเซ็นทรัลในภาคใต้ เปิดบริการมาตั้งแต่ 2537

โดยด้านบนอาคารเปิดเป็น”โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่” ซึ่งเปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2538

ทั้งนี้มีข้อมูลจากเว็บไซต์ CentaraHotelHatyai ระบุว่า โรงแรมดังกล่าว “ตระกูลจิราธิวัฒน์” ได้ซื้อกิจการมาจาก “โรงแรมสุคนธา” ซึ่งเปิดบริการมาตั้งปี 2515 และได้ปรับปรุงอาคารใหม่ และเปิดให้บริการภายใต้ชื่อใหม่ “โรงแรม เซ็นทรัล สุคนธา” หนึ่งในโรงแรมเครือของเซ็นทรัล เริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2538 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 มีห้องพักไว้คอยบริการ จำนวน 238 ห้อง

จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเพื่อส่งเสริมการตลาดให้แข็งแกร่งขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “โรงแรม โนโวเทล เซ็นทรัล สุคนธา” โดยการผสมผสานการบริหารจัดการระดับสากลของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งแวดวงการโรงแรม กลุ่มโรงแรม ACCOR ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการอันเป็นเอกลักษณ์ไทยจากกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทรัล

หลังจากนั้นปี 2548 ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งภายใต้ชื่อใหม่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มบริษัท “โรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา หาดใหญ่” และได้มีการพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นโรงแรมชั้นนำที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มลูกค้า

จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม 2555 ได้มีการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า “โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่” จวบจนปัจจุบัน

เปิดสาขา 2 เซ็นทรัลเฟสติวัลรับเศรษฐกิจโต

หลังจากนั้น ในวันที่ 14 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้เติบโต กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาได้มาเปิด “ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่” ตั้งอยู่ถนนกาญจนวณิช เป็นสาขาที่ 2 ในอ.หาดใหญ่ โดยใช้งบลงทุนทั้งโครงการกว่า 6,000 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 250,000 ตร.ม.

ถือเป็นศูนย์การค้าช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่กลางแหล่งท่องเที่ยวเมืองหาดใหญ่ ห่างจากห้างเซ็นทรัล หาดใหญ่ สาขาแรก ประมาณ 2 กิโลเมตร

ภายในและภายนอกศูนย์การค้า เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ พัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้า สูง 6 ชั้น พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดกว่า 250,000 ตารางเมตร บนพื้นที่ 50 ไร่ ประกอบด้วยร้านค้าปลีกภายในศูนย์การค้าฯ ชั้นนำกว่า 250 ร้านค้า

อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เพาเวอร์บาย เซ็นทรัลฟู๊ดฮอลล์ ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส ออฟฟิศเมท โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ 8 โรง โรงภาพยนตร์เอไอเอส โฟร์ดีเอ็กซ์ 1 โรง และโรงภาพยนตร์กรุงศรีไอแม็กซ์ ดิจิตอล 1 โรง บลูโอ ริทึ่ม แอนด์ โบวล์ ซับซีโร่ ไอซ์สเก็ต แห่งแรกนอกเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ศูนย์อาหาร

ปิดเซ็นทรัลหาดใหญ่ปรับโฉมธุรกิจ

“เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่” ถือว่ามีขนาดใหญ่ และทันสมัยกว่า “ห้างเซ็นทรัล สาขาสุคนธา แห่งแรกในหาดใหญ่มาก และมีข้อจำกัดเรื่องที่จอดรถ เพราะเป็นอาคารเก่า ไม่มีการสร้างที่จอดรถไว้รองรับลูกค้าเหมือนอาคารสมัยปัจจุบัน ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด-19 มีลูกค้าไปใช้บริการน้อยลงเรื่อยๆ อยู่แล้ว โดยลูกค้าส่วนใหญ่เลือกไปใช้บริการที่เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ ซึ่งมีที่จอดรถ สิ่งอำนวยความสะดวก และความทันสมัยมากกว่า

ที่สำคัญที่เป็นปัจจัยหลักในการเปลี่ยนแปลงของดลุ่มเซ็นทรัลน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจของหาดใหญ่ที่ซบเซาต่อเนื่องมาหลายปี และยังมาเจอสถานการณ์โควิด-19 เป็นเด้งที่สอง

ก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” เคยสัมภาษณ์ ประยูร วงศ์ปรีชากร ประธานก่อตั้งหอการค้าจังหวัดสงขลา ภายหลังการหารือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่องว่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่เมื่อมาเลเซีย สิงคโปร์ยังปิดประเทศ เพื่อป้องกันโควิด-19 คาดว่าต้องรอถึงต้นปีหน้า 2564 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถึงจะฟื้นกลับมาคึกคัก

ตอกย้ำด้วยคำสัมภาษณ์ของ “ทรงชัย มุ่งประสิทธิชัย” เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด นิวเอเชียทัวร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เคยคุยกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการต่างได้ข้อสรุปว่า เมื่อประเทศมาเลเซียยังปิดประเทศ ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร แหล่งบันเทิงในหาดใหญ่ สงขลา ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เพราะต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียถึง 90%

เจ้าของนิวเอเชียทัวร์ คาดว่าเมื่อมาเลเซียเปิดประเทศจะมีทิศทางขับเคลื่อนธุรกิจได้ ประมาณเดือนตุลาคม 2563 ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเตรียมแผนการตลาด โปรโมชั่นไว้รองรับชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่จะมาท่องเที่ยว

“สถานการณ์ในหาดใหญ่ตอนนี้ยังคงไม่เคลื่อนไหว ยังนิ่งอยู่ ต่างกับที่ภูเก็ตและสมุย ที่ผู้ประกอบการได้เคลื่อนไหวหารือกับคู่ค้า เอเย่นต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว”

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจในหาดใหญ่ เปิดเผยว่า อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา มีแนวโน้มว่าจะมีผู้ประกอบการปิดตัวยาวอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะโรงแรมหลายแห่งอยู่ในสภาพประกอบการขาดทุนมาก่อนนั้นแล้ว และสำหรับบางกลุ่มได้ประกาศขายโรงแรมด้วย แต่ยังไม่มีการตกลงซื้อขายจริง

ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาในอนาคตจึงต้องวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ภายใต้”ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และพฤติกรรมของคนนิยมจับจ่ายผ่านการค้าออนไลน์มากขึ้น ย่านค้าปลีกย่านดาวน์ทาวน์กลางเมืองหาดใหญ่ โดยเฉพาะตลาดของฝากชื่อดัง “กิมหยง-สันติสุข” ยังยอดร่วง-ขึ้นป้ายเซ้งกิจการเพียบ

ดังนั้น จึงต้องลุ้นกันว่า ตระกูลจิราธิวัฒน์จะเดินหน้าปรับโฉมธุรกิจบริเวณย่านใจกลางเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นทำเลทองไปในทิศทางใดต่อไป

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คุณไก่-สุภาพร เอ็ลเดรจ

คุณไก่-สุภาพร เอ็ลเดรจ วัย 41 ปี เจ้าของสินค้าจากผ้าไหม แบรนด์ SUPA East Glamor (สุภา อีสต์ แกลมเมอร์) ผู้ประกอบการอีกหนึ่งรายที่ทำธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับผ้าไหม โดยเธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ให้ฟังว่า เดิมทีเธอเคยทำงานเป็นแอร์โฮสเตสมาก่อน จากนั้นจึงผันตัวมาเป็นนักข่าว ทำไปได้สักพักเธอรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานในสายอาชีพนี้ จึงลาออกมาเริ่มธุรกิจผลิตสินค้าเกี่ยวกับผ้าไหม

เธอเผยต่อว่า หลังจากได้ไอเดียต่อยอดมาพัฒนาสินค้าจากผ้าไหมแล้ว เธอก็มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก

“ตอนนี้สินค้าของพี่หลักๆ ก็จะเป็นที่คาดผมกับหมวกผ้าไหม มีพวกต่างหูนิดหน่อย ด้วยดีไซน์ที่มันเก๋ ทันสมัยและสีสันสดใส เลยดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นได้ค่อนข้างเยอะ เพราะมันใส่ทำงานได้ ใส่ไปเที่ยวก็ได้ แล้วมันเป็นแฮนด์เมด เป็นงานฝีมือที่มีไม่กี่ชิ้นในโลก ฉะนั้นราคามันก็จะค่อนข้างสูงนิดหน่อย เพราะผ้าพี่ก็ซื้อจากมูลนิธิร้านจิตรลดาในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พวกที่คาดผม พี่ก็จ้างแรงงานชาวบ้านกับกลุ่มผู้พิการปากแหว่งเพดานโหว่ให้มาปักลาย ก็ช่วยกระจายรายได้ให้ชาวบ้านไปในตัว ตอนทำแบรนด์แรกๆ ก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะดีไม่ดี แต่ก็ลองดู เพราะอยากให้คนได้สัมผัสและส่วนหนึ่งพี่ก็มั่นใจว่ามันไปได้ เพราะเรามีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนคือกลุ่มคนที่ชอบผ้าไหม” เจ้าของแบรนด์คนเดิม กล่าว

แต่เส้นทางของการทำธุรกิจเป็นของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แล้วยิ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ยิ่งทวีความยากลำบากเข้าไปอีก

“เปิดตัวมาได้ประมาณ 2 เดือน และกำลังเตรียมจะขายคอลเล็กชั่นใหม่เลยค่ะ แต่ก็มาเจอโควิด-19 เข้า พี่ก็ปรึกษากับหุ้นส่วนที่เขาเป็นดีไซเนอร์ที่ทำงานด้วยกันว่า เราจะทำยังไงกันดี ก็ปรึกษากันและออกมาเป็นสินค้าเซตสู้โควิด คือเป็นหน้ากากกับที่คาดผม มีต่างหูทำมือด้วยนิดหน่อย พอขายได้ก็เอาเงินไปช่วยบริจาคที่โรงพยาบาล แต่มันก็ไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะคิดว่าคงขายได้แค่ช่วงโควิด แต่กลายเป็นว่า ลูกค้าจำนวนมาก สั่งซื้อเฉพาะคาดผมผ้าไหม เราเลยมองเห็นว่าไอเทมนี้เป็นสินค้าคลาสสิกที่เราจะขายได้ตลอด จากเซตโควิด ที่ทำเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนในช่วงวิกฤต กลายเป็นไอเทมประจำแบรนด์ และต่อยอดมาเป็นหมวกผ้าไหมสุดฮิต ที่สร้างรายได้หลักให้เราตอนนี้” คุณไก่ กล่าว

เธอยังเผยต่อว่า ที่ทำแบรนด์สินค้าผ้าไหมนี้ขึ้น นอกจากความรักผ้าทอมือ ผ้าไทย และผ้าไหมของเธอแล้ว คุณไก่ยังอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงผ้าไทยมากขึ้น ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัย สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ในอนาคตผ้าไทยจะยังได้รับความนิยม และอาชีพช่างทอผ้าจะได้รับการสืบทอดต่อไป

ดีไซเนอร์และหุ้นส่วนคู่บุญคุณไก่

“คนที่มาซื้อของพวกนี้ ก็เป็นคนที่ชอบเล่นโซเชียลอยู่แล้ว ช่วงโควิดคนอยู่บ้านก็ยิ่งเล่นโซเชียลกันมากขึ้น พี่ก็ยิ่งโพสต์ลงเพจร้านเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้บางคนอยู่แต่บ้านจนเครียด ก็มาซื้อไปใส่ถ่ายรูปแก้เครียดเหมือนกัน พอไปทำงานได้เขาก็ยังใส่ไปทำงานได้อีก เดือนที่แล้วก็มีรายได้ราวๆ หลักแสนเลย อนาคตก็อยากทำเป็น OEM กับ Costume made เหมือนกัน มีพวกเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ปลอกหมอน เซตผ้ารองจานให้ครอบคลุมขึ้น แต่ตอนนี้ก็กำลังหาดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์และเรื่องการเคลือบนาโนกันน้ำอยู่ พี่ก็อยากให้ผ้าไทยจะยังได้รับความนิยม และอาชีพช่างทอผ้าจะได้รับการสืบทอดต่อไป” คุณไก่ กล่าวทิ้งท้าย

สามารถเข้าไปดูและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก SUPA East Glamor

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

เป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว ที่ธุรกิจอาชีพต่างๆ ต้องหยุดชะงักลงเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าปัจจุบันบางสาขาอาชีพก็สามารถกลับมาดำเนินกิจการอาชีพได้อย่าง ปกติใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่ทั้งหมด

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ คุณบอมบ์ – ชาญยุทธ์ พัชระเศรษฐ์กุล วัย 32 ปี หนุ่มซาวนด์ เอนจีเนียร์ (Sound Engineer) หรือวิศวกรเสียง อีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินอาชีพได้ในขณะนี้ โดยคุณบอมบ์เปิดใจเล่าให้ฟังว่า ตนนั้นยึดอาชีพเป็นช่างเสียงให้กับวงดนตรีร็อก สัญชาติไทย อย่าง #วงค็อกเทล (Cocktail) มานานกว่า 6 ปีแล้ว รายได้ค่อนข้างดี แต่ก็ต้องมาสะดุดเพราะโดนพิษโควิด-19 เล่นงาน

“ผมเป็นช่างเสียงแล้วก็รับงานฟรีแลนซ์ครับ พอโควิดเข้ามา มันกระทบกับงานที่ทำโดยตรงเลยครับ เพราะพวกคอนเสิร์ต อีเว้นต์ ผับ บาร์ งดเปิดให้บริการหมดเลย ตามมาตรการปิดพื้นที่ งดกิจกรรมชุมนุมเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ก็ทำอะไรไม่ได้เลย รายได้ก็หายไปเพราะมันต้องหยุดรับงานมาตั้งแต่กุมภาฯ เลย แต่โชคดีที่ผมยังพอมีทางออกโดยการหันมาทำ แจ่วบอมบ์ น้ำจิ้มโฮมเมด ขายแทน” คุณบอมบ์ กล่าว

 

คุณบอมบ์ เล่าให้ฟังต่อว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาเป็นคนชอบทานอาหารรสจัดจ้าน เพราะที่บ้านชอบทำให้ทานตั้งแต่เด็กๆ จึงพลอยเห็นวิธีการทำอาหารต่างๆ จากคุณยายมาบ้าง ถือเป็นเรื่องโชคดีที่สามารถนำสิ่งที่เขามีอยู่มาปรับใช้ เกิดเป็นช่องทางสร้างรายได้ในยามฉุกเฉินเช่นนี้

“ปกติก็ทำกินกันที่บ้านอยู่แล้วครับ มีทำแจกให้คนรู้จักบ้าง พอเขาชิม เขาก็ถามว่า ทำไมไม่ลองมาทำขายดูบ้างล่ะ แล้วงานที่เป็นแหล่งรายได้หลักมันก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็เลยเอาเงินเก็บที่จะเอาไว้สร้างครอบครัวกับแฟนมาเป็นทุนทำน้ำจิ้มแจ่วขายสร้างรายได้ ทำออกมาขายได้ประมาณ 2 เดือน ผลตอบรับที่ได้เกินคาดครับ ลูกค้ามาจากการบอกต่อ รายได้แม้มันจะสู้งานหลักไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันก็ได้มาเป็นค่าใช้จ่ายนิดๆ หน่อยๆ เป็นอาชีพเสริมประคองตัวเองให้ผ่านไปให้ได้” คุณบอมบ์ ว่าอย่างนั้น

น้ำจิ้มแจ่วของคุณบอมบ์ เป็นน้ำจิ้มแจ่วสูตรโบราณที่ตกทอดมาจากคุณยายที่ใช้พริกคั่วเองมาทำ ไม่มีการใส่ผงชูรสและวัตถุกันเสีย รับออร์เดอร์ทำสดใหม่ อีกทั้งลูกค้ายังสามารถรีเควสต์ระดับความแซ่บของน้ำจิ้มได้อีกด้วย

“ตอนนี้มีเฉพาะน้ำจิ้มแจ่วครับ รับทำตามออร์เดอร์ทั่วประเทศ โดยจะเปิดให้สั่งอาทิตย์ละครั้ง อาทิตย์หนึ่งก็ได้ประมาณ 20-30 ขวด แต่ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่ายอดสั่งน้อยลงมาบ้างแล้วนิดหน่อย แต่ก็ยังถือว่ายังไปได้อยู่ ในอนาคตถ้าโควิดยังไม่หมดและผลตอบรับยังดีอยู่ ก็อยากจะทำข้าวเหนียวหมูขายคู่กันไป แล้วก็อยากเปิดเป็นโรงงานผลิตให้ถูกต้องไปเลย แล้วก็เพิ่มน้ำจิ้มสูตรอื่นๆ เข้ามาอีก” คุณบอมบ์ กล่าวทิ้งท้าย

“แจ่วบอมบ์” JaewBomb น้ำจิ้มโฮมเมด สูตรเด็ดจากครัวหลังบ้าน จำหน่ายในราคาขวดละ 59 บาท หากใครสนใจสั่งซื้อได้ที่ Line : bombsound และ (082) 793-6774
 
 
ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์
 
บอมบ์-ชาญยุทธ์ พัชระเศรษฐ์กุล
622443

กระแสความนิยม ‘ไม้ฟอกอากาศ’ ของคนเมืองหลวง ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งด้วยโซเชียลมีเดีย ทั้งการประมูลแบบเรียลไทม์ ขายกันแบบดีลิเวอรี่ ล่าสุดหลังคนสวย ‘ญาญ่า’ อุรัสยา เสปอร์บันด์ โพสต์ภาพคู่กับบรรดาต้นไม้นานาชนิดที่ปลูกในบ้าน พร้อมเปิดลิสต์รายชื่อต้นที่ปลูกเองยาวเหยียด ทำเอาแฟนคลับ และคนที่เลิฟการปลูกต้นไม้ต้องไปตามหามาลงกระถาง ดันราคาไม้ตัดใบ – ไม้ฟอกอากาศ แพงขึ้นผิดหูผิดตาเลยทันที

คุณอำนาจ ดอกอุบล เจ้าของสวน ขนาด 30 ไร่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี บอกกับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ว่า ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ – ไม้ตัดใบ – ไม้มงคล มานานกว่า 10 ปีแล้ว ขายปลีก และ ขายส่งแม่ค้ารายย่อยที่ต้องการนำไปขายต่อ ล่าสุด ‘ไม้ตัดใบ’ อาทิ  ฟิโลเดนดรอน ก้านพร้า คล้าน้ำ ยางอินเดีย มอนสเตอร์ร่าไจแอนท์ อโกลนีมา บรรดาไม้ตระกูลเฟิร์น ไม้เลื้อย กลับมาขายดีมาก ปัจจัยมาจาก คนอยู่บ้านช่วงโควิด มลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น และที่เห็นผลค่อนข้างชัดเจน คือ ดาราสาวหันมาชอบปลูกต้นไม้

“อยู่วงการต้นไม้มานานกว่า 10 ปี ธุรกิจนี้ไม่หวือหวาแต่ก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ล่าสุดกับสถาน การณ์โควิด-19 ช่วงแรกๆ เดือนเมษายนยอดตก แต่มาเดือนพฤษภาคม ยอดขายต้นไม้พุ่งขึ้น 2 เท่าตัว ซึ่งทางสวนไม่ได้อัพราคาขึ้น เน้นขายส่งปริมาณมาก พื้นที่ 30 ไร่ จะปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ – ไม้ตัดใบ – ไม้มงคล รวมๆ กันทั้งหมด 50,000 ต้น”

กับประเด็นที่ว่า ราคาไม้ตัดใบทะยานสูงขึ้น เพราะ ‘ญาญ่า’ เจ้าของสวน ระบุว่า มีผลมาก บางชนิดราคาเขยิบขึ้น 5 เท่าตัว แต่อย่างไรก็ตาม ราคาไม้เหล่านี้ขึ้นอยู่กับความสวยงาม ความแปลก เช่น ใบมีสีด่าง สีชมพู สีที่แปลกออกไป พวกนี้ราคาแพงอยู่แล้ว ส่วนในอนาคต ถ้าดาราเลิกฮิต ราคาก็คงกลับสู่สภาวะปกติ

ด้านของระยะเวลาการปลูก เจ้าของสวน ระบุว่า นับตั้งแต่เพาะเมล็ด จนถึง 4 เดือน จึงจะตัดขายได้ กระถางมีตั้งแต่ 4 นิ้ว ไปจนถึง 8 นิ้ว

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ธุรกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด19 ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขอนามัย ความสะอาด ความปลอดภัยของอาหารมากยิ่งขึ้น “ซันสวีท” เร่งเดินตามแผนธุรกิจปี 2563 รุกขยายตลาดสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เพื่อสุขภาพ แตกไลน์สินค้าใหม่ “มันม่วงญี่ปุ่นเผา”ออกสู่ตลาด 

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากผลประกอบการไตรมาส 1 บริษัทฯ มีทิศทางเติบโตที่ดี โดยมีกำไร 10.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9% บริษัทฯ ได้มุ่งดำเนินการตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยในไตรมาสที่ 2 ดำเนินการขยายตลาดสินค้าในประเทศและนำสินค้าใหม่ที่มีความโดดเด่นและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคออกวางจำหน่าย เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานที่หลากหลาย ซึ่งปีนี้เทรนด์รักสุขภาพได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้บริโภคให้ความใส่ใจกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น 

 

 

 

ล่าสุด ได้เปิดตัวสินค้าใหม่ “มันม่วงญี่ปุ่นเผา” ที่ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบมันม่วงสายพันธุ์ญี่ปุ่นชั้นดี มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ข้อมูลจากงานวิจัยหลายแห่ง พบว่า มันม่วงมีสาร แอนไทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ และลดการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง เป็นต้น ถือเป็นการเอาใจคนยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ โดยวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อแล้วทั่วประเทศ

นายองอาจกล่าวอีกว่า บริษัทฯ ได้ส่งสินค้าพร้อมรับประทาน (ready to eat) ตรา KC หลายชนิด วางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว ถั่วลายเสือ มันหวานญี่ปุ่นเผา รวมถึงมันม่วงญี่ปุ่นเผา ซึ่งได้ผลตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยมียอดขายสินค้ารวมเฉลี่ยประมาณ 1.2 ล้านชิ้นต่อเดือน ทั้งนี้บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะผลักดันองค์กรให้เติบโต โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตและการแปรรูป รวมถึงมีการวิจัยพัฒนา และตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะได้รับประทานสินค้าที่สะอาดและปลอดภัย ตอบโจทย์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ ทั้งเรื่องความสะดวกรวดเร็ว ความอร่อย และคุณค่าทางโภชนาการได้เป็นอย่างดี