หลังจากที่เปิดตัวโครงการ “สืบสานงานเงิน” ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป จึงได้จัดแสดง 12 ผลงานเครื่องเงินจากผู้ประกอบการและช่างฝีมือที่ผ่านการคัดเลือกและพัฒนาทักษะฝีมือในโครงการ โดยดึงอัตลักษณ์เครื่องเงินไทยในวิถีต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ ที่เน้นการตอบโจทย์ตลาดท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมยกระดับเครื่องเงินไทยสู่สายตาชาวโลก โดยจัดแสดงขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา

นางสาวปนัสยา ทองจินดาวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวว่า โครงการสืบสานงานเงินนั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการและช่างฝีมือทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมเสนอผลงานกับโครงการถึง 33 ราย และมีผู้ผ่านการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 ราย และได้สร้างสรรค์ผลงานจนกลายเป็นเครื่องเงินไทยแบบร่วมสมัยมีอัตลักษณ์โดดเด่น ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยสังคมในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยของชุมชนท้องถิ่น ช่วยต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ และสามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน Local to Global

นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดแสดงผลงานของโครงการสืบสานงานเงินทั้ง 12 ผลงาน สะท้อนถึงอัตลักษณ์เครื่องเงินในวิถีพื้นเมืองแต่ละภาคได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถแสดงถึงศักยภาพของผู้ประกอบการและช่างฝีมือ ในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จนได้ชิ้นงานที่สวยงามร่วมสมัย และสามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยทั้ง 12 ผลงาน แบ่งออกเป็นเครื่องประดับ 8 ผลงาน และสินค้าไลฟ์สไตล์ 4 ผลงาน ได้แก่ ชุดอุปกรณ์โต๊ะอาหาร กระดิ่งประดับบ้าน กระเป๋า และกล่องเก็บเครื่องประดับ

“ตอนนี้มาถึงจุดสุดท้ายของโครงการแล้ว เพราะเราเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปี ถือว่าประสบความสำเร็จ เราได้ผลงานชิ้นสุดท้ายหลังจากที่ผู้ประกอบการได้มาเรียนออกแบบ มาอบรมความรู้ทางด้านการตลาดกับเรา ซึ่งได้นำผลงานออกมาโชว์ให้เห็นกันในวันนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่าพอใจ ตอนแรกค่อนข้างกังวลใจว่าจะไม่มีคนเข้าร่วม แต่พอเห็นแบบนี้ก็ค่อนข้างชื่นใจว่าโครงการนี้สามารถช่วยเหลือชุมชนในด้านการพัฒนาตัวเองให้ไปสู่ระดับสากล เป็นไปตามแผน 100% ชุมชนเองก็ตื่นตัวให้ความร่วมมือค่อนข้างดีด้วย” นายฐวัฒน์กล่าว

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์

ด้านนางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น เครื่องประดับเงินถือเป็นกลุ่มสินค้าที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ปีละประมาณ 1,790 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 58,530 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ โดยประเทศที่เป็นอันดับต้นๆ ที่ไทยส่งออกเครื่องเงินไปนั้น ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี ประเทศจีน

“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายการส่งเสริมการค้าในด้านต่างๆ ทั้งงานแสดงสินค้า บางกอกเจมส์ แอนด์จิวเวอร์รี่ มีการจัดการเจรจาธุรกิจ Business Matching โดยนำผู้ประกอบการของไทยไปต่างประเทศ เพื่อไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของทั่วโลก โดยที่เรามีโครงการ SMEs Pro-active และในส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการ เรามีหน่วยงานที่ดูแลสินค้า นวัตกรรม และดูแลพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจโดยเฉพาะ”

นายมนตรี นนทธิ จากร้านมนตรีเครื่องเงินสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย หนึ่งในผู้ประกอบการโครงการ “สืบสานงานเงิน” กล่าวว่า ตนนั้นทำเครื่องเงินมาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว ก่อนที่จะมาเป็นช่างทำเครื่องเงินเคยทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงกลับไปอยู่บ้าน มีญาติมาสอนให้ทำเครื่องเงิน และคิดได้ว่าของดีมีอยู่บ้าน ทำไมไม่ทำ จึงหันมาทำเครื่องเงินเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้

มนตรี นนทธิ

“หลังจากเข้าโครงการกับบริษัทสยามเจมส์ กรุ๊ป แล้วมีคนรู้จักมากขึ้น ได้ไอเดียใหม่ ๆ แนวคิดที่จะพัฒนาไปสู่สากล อย่างเมื่อก่อนทำสร้อยคอ กำไล ยังไม่เกิดแนวคิดที่จะสร้างผลงานชิ้นใหม่ที่เป็นของใช้ในบ้าน แต่หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ จึงได้คำแนะนำให้ลองมาทำเป็นของใช้ดูบ้าง โดยการนำลวดลายเครื่องเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยมาติดบนชิ้นงาน” นายมนตรีกล่าว

ขณะที่นายดรณ์ สุทธิภิบาล จากร้านเครื่องเงินวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ อีกหนึ่งผู้ประกอบการโครงการ “สืบสานงานเงิน” กล่าวว่า ร้านเครื่องเงินวัวลายที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นเปิดมาได้ 20 ปี โดยที่ร้านแบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 3 ประเภท คือ เครื่องประดับ เครื่องใช้ และของตกแต่ง นอกจากงานเครื่องเงินแล้วที่ร้านยังมีงานเครื่องโลหะ งานทองและงานเพชรพลอยอีกด้วย

ดรณ์ สุทธิภิบาล

“หลังจากที่เข้าร่วมโครงการสืบสานงานเงินจากการที่ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป และผ่านการคัดเลือกเข้ามาสู่รอบจัดแสดงที่สยามพารากอน ในส่วนผลการตอบรับนั้นคิดว่ายังไม่สามารถชี้วัดทางด้านยอดขายได้ แต่การได้เข้าร่วมโครงการทำให้ได้รับการพัฒนาในเรื่องของกระบวนการต่าง ๆ ทั้งเรื่อง แนวคิดการนำอัตลักษณ์มาใช้ในการออกแบบการผลิต และแนวคิดเรื่องทางด้านการตลาด ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะนำไปสู่ของการชี้วัดยอดขายแน่นอน” นายดรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการ “สืบสานงานเงิน” จะเดินมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว แต่สำหรับในปีหน้า ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป มีแผนที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการในปีนี้ไปต่อยอดในระดับอุดมศึกษา คือการนำความรู้ในเรื่องของการออกแบบ อัตลักษณ์ชุมชน ไปถ่ายทอดต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้ต่อยอดในชิ้นงานของตนเองต่อไป

Crafts Bangkok 2018 เปิดฉากขึ้นที่ศูนย์ฯ ไบเทค บางนา จัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เป็นเวทีพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ของคนรักงานคราฟต์ ดังนั้น จึงมีนักออกแบบไม่ว่ารุ่นเล็กรุ่นใหญ่มากหน้าหลายตา มารวมตัวกันเพื่อโชว์ความคิดผ่านผลงาน ทั้งงานผ้า งานเซรามิก งานไม้ไผ่ งานกระดาษ งานเครื่องปั้นดินเผา ไปจนถึงเครื่องเงิน เครื่องทอง

สิ่งสะดุดตาและค่อนข้างไม่ซ้ำใครในงานนี้ เป็นงานหัตถกรรมกระดาษที่เรียกว่า “เปเปอร์ โทล์” (Paper Tole) หรือศิลปะการตัดกระดาษเป็นภาพ 3 มิติ บางคนเรียกให้หรูหน่อยก็ว่า “ไตรมิติศิลป์”

“paper tole หรือการตัดกระดาษเป็นรูปสามมิติ (3D) เป็นการนำรูปภาพบนกระดาษเหมือนกันหลายๆ แผ่น มาตัดแยกส่วนรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แล้วนำมาวางซ้อนเรียงกันใหม่ ให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติ ความลึกและสลับซับซ้อน สร้างความสวยงามแปลกใหม่ คล้ายกับเป็นภาพที่มีชีวิต เป็นศิลปะที่สวยงามและน่าชื่นชม งานกระดาษชนิดนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับรูปภาพที่เรานำมาตัด แต่ส่วนใหญ่เมื่อมาทำแล้ว คนมักจะทำด้วยความสุขและมีความสุข โดยเฉพาะผู้ที่รักงานหัตถกรรมกระดาษ ก็ยิ่งมีความสุขมากๆ…”

เป็นคำอธิบายง่ายๆ จาก “เสาวลักษณ์ ก่อศักดิ์วัฒนา” มัณฑนากรสาวเจ้าของแบรนด์ Zimple นักออกแบบจาก Jan 2000 ที่มาออกบูทโชว์งานฝีมือของตัวเองในงานนี้ด้วย

เสาวลักษณ์เล่าว่า เธอชื่นชอบและหลงใหลงานตัดกระดาษชนิดนี้ตั้งแต่ตอนแรกที่ไปเที่ยวประเทศออสเตรเลีย ไปเจอเพื่อนของพี่ทำงานชนิดนี้อยู่ที่เมืองเพิร์ธ เห็นแล้วจึงอยากทำบ้างจึงขอไปเรียนด้วย ไปนั่งเรียนใช้เวลาอยู่ประมาณเดือนหนึ่งก็สามารถทำได้แล้ว จากนั้นมาฝึกเองที่บ้าน

“สำหรับคนที่มีความรักความชอบงานแบบนี้มันไม่ยาก พอไปนั่งทำมันเพลินมาก เป็นการฝึกสมาธิด้วยเลยชอบ จากนั้นพอกลับมาเมืองไทยก็ทำมาเรื่อยๆ สะสมผลงานไว้ และนำออกมาแสดงครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ส่วนครั้งแรกเคยไปแสดงที่เชียงใหม่ งานเชียงใหม่ดีไซน์ วีค ของทีซีดีซี จัดที่วัดดวงดี”

เสาวลักษณ์อธิบายว่า กระดาษที่นำมาใช้ในงาน paper tole เป็นการนำกระดาษรูปภาพที่ชอบหรือที่ต้องการมาถ่ายสำเนา จำนวนขึ้นอยู่กับมิติที่เราอยากให้เกิดขึ้น แต่ส่วนมากแล้วอาจจะสักสองภาพหรือมากกว่านั้น จากนั้นก็ตัดส่วนต่างๆ ของภาพออกจากส่วนที่ใหญ่ที่สุดที่ด้านล่าง และด้านที่เล็กที่สุดที่ด้านบน เพื่อสร้างภาพชั้นหรือภาพ 3 มิติ การตัดโดยทั่วไปจะทำด้วยมีดหรือคัตเตอร์ ที่มีความคมและเที่ยงตรง เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดหากจะให้ได้ภาพสวยงามต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความรู้เกี่ยวกับมุมมองเป็นทักษะที่สำคัญ ส่วนอุปกรณ์ในการทำจะราคาสูงหน่อยชุดหนึ่งราว 1,500 บาท

“มันก็มีระดับของความง่าย ความยาก พอทำเลเวลนี้เสร็จ ก็จะอัพขึ้นไปเรื่อยๆ ยากขึ้นๆ ตอนที่ไปเรียนที่ออสเตรเลียก่อนกลับเขาให้เราทำภาพนกซึ่งยากมากก..กกก งานที่นำมาแสดงนี้เอามาจากหนังสือบ้าง อย่างหนังสือวอเตอร์ คัลเลอร์ ก็ซื้อมาแล้วซีร็อกซ์สี เอามาตัด เห็นหนังสือไหนสวยๆ ก็ซื้อเก็บไว้ แต่ก็ต้องระวังเพราะบางภาพเขามีลิขสิทธิ์ การตัดกระดาษเราก็ต้องดูความหนาของกระดาษด้วย เช่น แผ่นล่างสุดควรจะหนา 250 แกรม ถ้าบางไปเวลาติดกับกระดาษแข็งที่เนื้อไม่เนียน มันจะเห็นเท็กซ์เจอร์ไม่สวยเลยต้องใช้กระดาษหนาหน่อย ส่วนกระดาษที่ตัดใช้หนา 120 แกรมก็พอแล้ว เวลาตัดจะได้ไม่มีปัญหา

“ความสวยงามของงานเปเปอร์โทลจะอยู่ที่การซ้อนมิติให้กับภาพ สร้างมิติให้กับมัน เสมือนจริง มีความลึก ซึ่งแตกต่างจากพ็อพอัพ ที่กางปุ๊บก็โผล่ขึ้นมา พับได้เก็บได้ แต่เปเปอร์โทลดีเทลของมิติเยอะกว่า และการทำงานละเอียดกว่า งานแต่ละชิ้นก็แตกต่างกันไป อย่างงานง่ายๆ พวกดอกไม้ ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว หรือภาพแมลงไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ

ที่เมืองไทย งานหัตถกรรมกระดาษแบบนี้มีคนทำยังไม่มาก ส่วนใหญ่จะทำเป็นงานอดิเรก ที่ทำเป็นอาชีพเห็นมีเจ้าเดียวที่เน้นไปที่การตัดภาพลายไทย

หากจะทำเป็นอาชีพ เสาวลักษณ์แนะนำว่า “จะทำเป็นอาชีพก็ทำได้นะคะ แต่อยู่ที่ตัวคนทำว่าชอบมากแค่ไหน อย่างเรานี่ทำด้วยความชอบ ทำเป็นงานอดิเรกเพราะทำแล้วมีความสุข พอมีงานอะไรเช่นงานวันเกิดเพื่อน ขึ้นบ้านใหม่ ก็ให้เป็นของขวัญ เขาจะชอบมากๆ แต่ถ้าต้องมาทำเป็นอาชีพ ทำแล้วเคร่งเครียดต้องหาเงินอันนี้ก็เป็นอีกเรื่อง”

งานเปเปอร์โทลส่วนมากแล้วที่คนนิยมจะเป็นภาพดอกไม้ หรือภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพิฆเณศร์ เจ้าแม่กวนอิม เพราะใช้เป็นของแตกแต่งบ้านได้ ในฐานะมัณฑนากร เสาวลักษณ์เธอว่า จะรู้ว่าภาพแบบไหนที่คนชอบ และภาพแบบไหนที่นำไปติดผนังบ้านแล้วดูดี มีรสนิยม ดูสวยงาม เข้ากับผนังบ้านได้ และต้องดูสไตล์บ้านด้วยว่าเเป็นบ้านแบบไหน “ข้อมูลเหล่านี้หากจะทำเป็นอาชีพก็จะทำให้ขายง่ายขึ้น ที่ผ่านมาส่วนมากคนจะชอบภาพดอกไม้ ใช้ประดับบ้าน และเป็นของขวัญวันเกิด

สำหรับงานที่เธอทำมาทั้งหมด ได้ขายไปบ้างแล้ว เป็นภาพเจ้าแม่กวนอิมในราคา 29,000 บาท เป็นราคาที่เธอไม่ได้ตั้งเองแต่เป็นราคาที่คนซื้อจ่ายให้เอง

เสาวลักษณ์ ก่อศักดิ์วัฒนา เป็นมัณฑนากรที่มีผลงานเด่น คือ เก้าอี้มะเฟือง ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการส่งออกให้ไปโชว์ในงาน Maison Objet ที่ฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ทำให้กับโรงแรมเอราวัณที่ภูเก็ต และรีสอร์ตที่เกาะมัลดีฟส์


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111