“อัมพวัน พิชาลัย” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) หรือ SACICT เข้ารับหน้าที่บริหารหน่วยงานแห่งนี้ได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งผลงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” “ศักดิ์สิทธิ์ เพลิน คราฟท์” ฯลฯ ล่าสุดจัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “ทิศทางพัฒนางานจักสานไทย” ล้วนทำให้งานหัตถศิลป์ไทยเป็นที่รู้จักและเปิดมิติออกสู่สาธารณชนมากขึ้น ทั้งรูปแบบ ลวดลาย การดีไซน์ ได้ยกระดับพัฒนาไปอีกขั้น ที่สำคัญมีเป้าหมายของการไต่ชั้นขึ้นระดับโลกเลยทีเดียว “มติชนอคาเดมี” ถือโอกาสสัมภาษณ์ถึงทิศทางการทำงานหัตถศิลป์ของ ศ.ศ.ป.

เริ่มต้น “อัมพวัน” กล่าวถึงกลยุทธ์ในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมของ SACICT ว่าปี 2561 มีการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย หน่วยงานพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการงานหัตถศิลป์ เพื่อต่อยอดและผลักดันให้งานหัตถศิลป์ไทยได้รับความนิยมในวงกว้าง และเป็นหน่วยงานผู้ชี้นำทิศทางและสร้างโอกาสให้กับงานหัตถศิลป์ไทย หรือ Enchancing Navigator เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับงานหัตถศิลป์ไทย และสร้างความเชื่อมั่นในการเติบโตให้เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายสูงขึ้น

“สำหรับงานหัตถกรรมประเภทเครื่องจักสาน เรากำหนดให้เป็น Strategic Product ที่ต้องมีการพัฒนาอย่างครบวงจรและรอบด้านในปี 2561 เนื่องจากมีช่างผู้ผลิตจำนวนมากรองลงมาจากกลุ่มผ้า อีกทั้งมีวัสดุเทคนิคหลากหลาย และมีความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค ในภาพรวมจากการวิเคราะห์เชิงลึก พบว่างานศิลปหัตถกรรมสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทหลักๆ คือ งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านหรืองานหัตถกรรมชุมชน ที่ใช้ทักษะฝีมือจากช่างพื้นบ้าน ผลิตงานหัตถกรรมที่เป็นของใช้สอยทั่วไป เช่น เครื่องจักสาน ผ้าทอ เครื่องปั้นดินเผา อีกประเภทคืองานศิลปหัตถกรรมที่ใช้ทักษะฝีมือชั้นสูง เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า ที่นิยมซื้อเพื่อสะสม หรือเป็นการซื้อเพื่อการลงทุน สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต งานศิลปหัตถกรรมทั้ง 2 ประเภทนี้ยังคงได้รับความนิยม แต่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านรูปแบบ ประโยชน์การใช้สอย วัตถุดิบ และการสร้างคุณค่าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของช่างผู้ผลิต”

สำหรับงานจักสานไทยนั้น ผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. กล่าวว่า มีแนวทางพัฒนาในปี 2561 ดังนี้ 1.จัดทำสำมะโนสมาชิกผู้ผลิตหัตถกรรมจักสานให้เป็นระบบ 2.จัดเวิร์กช็อปแลกเปลี่ยนความรู้ในประเทศไทย โดยมีครูช่างจากต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้เชิงทักษะและการสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาได้ทำไปบ้างแล้ว เช่น เชิญวิทยากรจากประเทศญี่ปุ่นและเวียดนามมาทำเวิร์กช็อปร่วมกับชุมชนที่ จ.ตราด และ จ.นราธิวาส 3.การพัฒนาชิ้นงานใหม่ๆ โดยครูช่างและทายาทด้านหัตถกรรมจักสานด้วยการเดินทางไปศึกษางานในต่างประเทศ เช่น ที่ไต้หวันและฟิลิปปินส์ 4.การเชื่อมโยงให้เกิดการร่วมรังสรรค์ระหว่างช่างและชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการหรือธุรกิจระดับประเทศ ระดับโลก เช่น การทำงานของกลุ่มไม้ไผ่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี และกลุ่ม Pet Lamp จากประเทศสเปน เป็นต้น

อัมพวัน พิชาลัย

นอจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสริมอื่นๆ เช่น การจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถือเป็นกิจกรรมสำคัญ เพราะเป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องด้านการผลิต การออกแบบ และการตลาด มาเป็นแนวทางการพัฒนางานจักสานไทยอย่างครบวงจร สอดรับกับความต้องการจะพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การเกิดโมเดลหรือต้นแบบงานหัตถศิลป์ใหม่ๆ ให้ผู้ผลิตได้ศึกษาทดลองทำและสามารถแข่งขันในตลาดได้ในอนาคต

ส่วนในปี 2562 อัมพวันกล่าวว่า ศ.ศ.ป.ตั้งเป้าหมายในการจัดทำองค์ความรู้ด้านงานจักสานไทยให้ต่อเนื่อง และจะเริ่ม Strategic Product ตัวใหม่ คืองานหัตถกรรมไม้ ซึ่งมีภูมิปัญญาและเทคนิคที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และพัฒนา ทั้งในเชิงของการใช้งานและอุปกรณ์เครื่องมือ นอกจากนี้ยังจะเชื่อมโยงไปสู่ตลาด พร้อมขยายฐานผู้บริโภคงานคราฟต์สู่คนรุ่นใหม่ และขยายการทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น

สำหรับมูลค่าตลาดส่งออกงานจักสานปี 2560 มาจากหลากหลายวัตถุดิบ อาทิ ไม้ไผ่ หว่าย อ้อ กก ปาล์ม ฟางของธัญพืช ย่านลิเภา กระจูด ป่าน ผักตบชวา โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่วนปี 2561 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 35.67% โดยประเทศที่ส่งออกมากสุด คือ อิตาลี รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และสเปน

“สิ่งสำคัญในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต คือการสร้างการมีส่วนร่วมในงานศิลปหัตถกรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต ต้องทำให้ผู้บริโภคมองเห็นว่างานศิลปหัตถกรรมเป็นชิ้นงานที่มีคุณค่าในตัวเอง มีเสน่ห์ บางชิ้นแทบจะเรียกว่ามีชิ้นเดียวในโลก อีกทั้งยังเป็นเรื่องสนุกที่ผู้ซื้อและผู้ผลิตมีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้งานศิลปหัตถกรรมเหล่านั้น ไม่ได้เป็นแค่สิ่งของ วัตถุ แต่เป็นชิ้นงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่า” ผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. กล่าวปิดท้าย

Crafts Bangkok 2018 เปิดฉากขึ้นที่ศูนย์ฯ ไบเทค บางนา จัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เป็นเวทีพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ของคนรักงานคราฟต์ ดังนั้น จึงมีนักออกแบบไม่ว่ารุ่นเล็กรุ่นใหญ่มากหน้าหลายตา มารวมตัวกันเพื่อโชว์ความคิดผ่านผลงาน ทั้งงานผ้า งานเซรามิก งานไม้ไผ่ งานกระดาษ งานเครื่องปั้นดินเผา ไปจนถึงเครื่องเงิน เครื่องทอง

สิ่งสะดุดตาและค่อนข้างไม่ซ้ำใครในงานนี้ เป็นงานหัตถกรรมกระดาษที่เรียกว่า “เปเปอร์ โทล์” (Paper Tole) หรือศิลปะการตัดกระดาษเป็นภาพ 3 มิติ บางคนเรียกให้หรูหน่อยก็ว่า “ไตรมิติศิลป์”

“paper tole หรือการตัดกระดาษเป็นรูปสามมิติ (3D) เป็นการนำรูปภาพบนกระดาษเหมือนกันหลายๆ แผ่น มาตัดแยกส่วนรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แล้วนำมาวางซ้อนเรียงกันใหม่ ให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติ ความลึกและสลับซับซ้อน สร้างความสวยงามแปลกใหม่ คล้ายกับเป็นภาพที่มีชีวิต เป็นศิลปะที่สวยงามและน่าชื่นชม งานกระดาษชนิดนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับรูปภาพที่เรานำมาตัด แต่ส่วนใหญ่เมื่อมาทำแล้ว คนมักจะทำด้วยความสุขและมีความสุข โดยเฉพาะผู้ที่รักงานหัตถกรรมกระดาษ ก็ยิ่งมีความสุขมากๆ…”

เป็นคำอธิบายง่ายๆ จาก “เสาวลักษณ์ ก่อศักดิ์วัฒนา” มัณฑนากรสาวเจ้าของแบรนด์ Zimple นักออกแบบจาก Jan 2000 ที่มาออกบูทโชว์งานฝีมือของตัวเองในงานนี้ด้วย

เสาวลักษณ์เล่าว่า เธอชื่นชอบและหลงใหลงานตัดกระดาษชนิดนี้ตั้งแต่ตอนแรกที่ไปเที่ยวประเทศออสเตรเลีย ไปเจอเพื่อนของพี่ทำงานชนิดนี้อยู่ที่เมืองเพิร์ธ เห็นแล้วจึงอยากทำบ้างจึงขอไปเรียนด้วย ไปนั่งเรียนใช้เวลาอยู่ประมาณเดือนหนึ่งก็สามารถทำได้แล้ว จากนั้นมาฝึกเองที่บ้าน

“สำหรับคนที่มีความรักความชอบงานแบบนี้มันไม่ยาก พอไปนั่งทำมันเพลินมาก เป็นการฝึกสมาธิด้วยเลยชอบ จากนั้นพอกลับมาเมืองไทยก็ทำมาเรื่อยๆ สะสมผลงานไว้ และนำออกมาแสดงครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ส่วนครั้งแรกเคยไปแสดงที่เชียงใหม่ งานเชียงใหม่ดีไซน์ วีค ของทีซีดีซี จัดที่วัดดวงดี”

เสาวลักษณ์อธิบายว่า กระดาษที่นำมาใช้ในงาน paper tole เป็นการนำกระดาษรูปภาพที่ชอบหรือที่ต้องการมาถ่ายสำเนา จำนวนขึ้นอยู่กับมิติที่เราอยากให้เกิดขึ้น แต่ส่วนมากแล้วอาจจะสักสองภาพหรือมากกว่านั้น จากนั้นก็ตัดส่วนต่างๆ ของภาพออกจากส่วนที่ใหญ่ที่สุดที่ด้านล่าง และด้านที่เล็กที่สุดที่ด้านบน เพื่อสร้างภาพชั้นหรือภาพ 3 มิติ การตัดโดยทั่วไปจะทำด้วยมีดหรือคัตเตอร์ ที่มีความคมและเที่ยงตรง เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดหากจะให้ได้ภาพสวยงามต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความรู้เกี่ยวกับมุมมองเป็นทักษะที่สำคัญ ส่วนอุปกรณ์ในการทำจะราคาสูงหน่อยชุดหนึ่งราว 1,500 บาท

“มันก็มีระดับของความง่าย ความยาก พอทำเลเวลนี้เสร็จ ก็จะอัพขึ้นไปเรื่อยๆ ยากขึ้นๆ ตอนที่ไปเรียนที่ออสเตรเลียก่อนกลับเขาให้เราทำภาพนกซึ่งยากมากก..กกก งานที่นำมาแสดงนี้เอามาจากหนังสือบ้าง อย่างหนังสือวอเตอร์ คัลเลอร์ ก็ซื้อมาแล้วซีร็อกซ์สี เอามาตัด เห็นหนังสือไหนสวยๆ ก็ซื้อเก็บไว้ แต่ก็ต้องระวังเพราะบางภาพเขามีลิขสิทธิ์ การตัดกระดาษเราก็ต้องดูความหนาของกระดาษด้วย เช่น แผ่นล่างสุดควรจะหนา 250 แกรม ถ้าบางไปเวลาติดกับกระดาษแข็งที่เนื้อไม่เนียน มันจะเห็นเท็กซ์เจอร์ไม่สวยเลยต้องใช้กระดาษหนาหน่อย ส่วนกระดาษที่ตัดใช้หนา 120 แกรมก็พอแล้ว เวลาตัดจะได้ไม่มีปัญหา

“ความสวยงามของงานเปเปอร์โทลจะอยู่ที่การซ้อนมิติให้กับภาพ สร้างมิติให้กับมัน เสมือนจริง มีความลึก ซึ่งแตกต่างจากพ็อพอัพ ที่กางปุ๊บก็โผล่ขึ้นมา พับได้เก็บได้ แต่เปเปอร์โทลดีเทลของมิติเยอะกว่า และการทำงานละเอียดกว่า งานแต่ละชิ้นก็แตกต่างกันไป อย่างงานง่ายๆ พวกดอกไม้ ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว หรือภาพแมลงไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ

ที่เมืองไทย งานหัตถกรรมกระดาษแบบนี้มีคนทำยังไม่มาก ส่วนใหญ่จะทำเป็นงานอดิเรก ที่ทำเป็นอาชีพเห็นมีเจ้าเดียวที่เน้นไปที่การตัดภาพลายไทย

หากจะทำเป็นอาชีพ เสาวลักษณ์แนะนำว่า “จะทำเป็นอาชีพก็ทำได้นะคะ แต่อยู่ที่ตัวคนทำว่าชอบมากแค่ไหน อย่างเรานี่ทำด้วยความชอบ ทำเป็นงานอดิเรกเพราะทำแล้วมีความสุข พอมีงานอะไรเช่นงานวันเกิดเพื่อน ขึ้นบ้านใหม่ ก็ให้เป็นของขวัญ เขาจะชอบมากๆ แต่ถ้าต้องมาทำเป็นอาชีพ ทำแล้วเคร่งเครียดต้องหาเงินอันนี้ก็เป็นอีกเรื่อง”

งานเปเปอร์โทลส่วนมากแล้วที่คนนิยมจะเป็นภาพดอกไม้ หรือภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพิฆเณศร์ เจ้าแม่กวนอิม เพราะใช้เป็นของแตกแต่งบ้านได้ ในฐานะมัณฑนากร เสาวลักษณ์เธอว่า จะรู้ว่าภาพแบบไหนที่คนชอบ และภาพแบบไหนที่นำไปติดผนังบ้านแล้วดูดี มีรสนิยม ดูสวยงาม เข้ากับผนังบ้านได้ และต้องดูสไตล์บ้านด้วยว่าเเป็นบ้านแบบไหน “ข้อมูลเหล่านี้หากจะทำเป็นอาชีพก็จะทำให้ขายง่ายขึ้น ที่ผ่านมาส่วนมากคนจะชอบภาพดอกไม้ ใช้ประดับบ้าน และเป็นของขวัญวันเกิด

สำหรับงานที่เธอทำมาทั้งหมด ได้ขายไปบ้างแล้ว เป็นภาพเจ้าแม่กวนอิมในราคา 29,000 บาท เป็นราคาที่เธอไม่ได้ตั้งเองแต่เป็นราคาที่คนซื้อจ่ายให้เอง

เสาวลักษณ์ ก่อศักดิ์วัฒนา เป็นมัณฑนากรที่มีผลงานเด่น คือ เก้าอี้มะเฟือง ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการส่งออกให้ไปโชว์ในงาน Maison Objet ที่ฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ทำให้กับโรงแรมเอราวัณที่ภูเก็ต และรีสอร์ตที่เกาะมัลดีฟส์


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111