ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ปัจจุบันโรคซึมเศร้า กำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทย และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้ด้วยสมุนไพร 4 ชนิด ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายในบ้านเรา

1.ขมิ้นชัน มีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยซึมเศร้าเปรียบเทียบการใช้ ขมิ้นชัน 500 มก. หลังอาหารเช้าและเย็น และยาต้านซึมเศร้า (Fluoxetine 20 mg) เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เปอร์เซ็นต์การตอบสนองผลการรักษา Fluoxetine 64.7% ขมิ้นชัน 62.5% และเมื่อใช้ร่วมกันทั้ง Fluoxetine และขมิ้นชัน ให้ผล 77.8% ขนาดการรับประทาน

2.บัวบก ถูกใช้เป็นยามาแต่โบราณ ทั้งในศาสตร์อายุรเวท และการแพทย์แผนจีน บัวบกสามารถบรรเทาอาการโรควิตกกังวลได้ จากการศึกษาการใช้บัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 33 คน พบว่าเริ่มเห็นผลการรักษาที่ 1 เดือน และเห็นผลชัดเจนขึ้นที่ 2 เดือน

จากผลการศึกษานี้ จะเห็นได้ว่า บัวบกช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียดและลดอาการซึมเศร้าได้ ทำให้ความเต็มใจที่จะปรับตัวและเรียนรู้ดีขึ้น บัวบก จึงมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยโรควิตกกังวล สำหรับผู้ที่สะดวกจะใช้ใบบัวสด ก็สามารถ  คั้นน้ำจากใบบัวบกสดที่ล้างสะอาด รับประทานแบบเข้มข้น วันละ 1-2 ช้อนชา การใช้ใบบัวบกแห้ง เป็นยารับประทาน  ใบแห้ง ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา (5-10 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 150 ซีซี รอจนอุ่นหรือประมาณ 10-15 นาที แล้วจิบดื่ม สามารถรับประทานได้วันละ 2-3 เวลา หากเป็นชนิด แคปซูล รับประทานวันละ 2-3 แคปซูล ทั้งนี้ หากหวังผลบำรุงสมองคลายเครียด ควรรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน

“ข้อควรระวัง คือ บัวบก เป็นยาเย็น ไม่ควรกินทีละเยอะๆ ทุกวัน อย่างกรณีที่กินเป็นกําๆ จะต้องกินๆ หยุดๆ ไม่กินติดต่อกันทุกวัน ถ้ากินสดทุกวัน ควรกินแต่น้อย ประมาณ 3-6 ใบก็พอ คนที่อ่อนเพลียหรือร่างกายอ่อนแอมากไม่ควรกิน ถ้ากินแล้วมีอาการเวียนหัว ใจสั่น ให้หยุดกินทันที คนที่ม้ามเย็นพร่อง มีอาการท้องอืดแน่นเป็นประจํา ไม่ควรกิน และหลีกเลี่ยงการรับประทานในหญิงที่ให้นมบุตร หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะมีการศึกษาพบว่าการรับประทานต่อเนื่องติดต่อกันนานๆ พบว่าอาจยับยั้งการตั้งครรภ์ได้” ภญ.อาสาฬา ย้ำ

3.น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว น้ำมันรำข้าว มีสารสำคัญที่ช่วยทำให้นอนหลับได้ คือ ฤทธิ์ผ่อนคลาย คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับ. ด้วยสาร GABA (Gamma-aminobutyric acid) เป็นสารสื่อประสาท พบในระบบประสาทส่วนกลาง คือสมองและไขสันหลัง มีฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย คลายกังวล และทำให้หลับสบาย ยานอนหลับส่วนใหญ่ที่ใช้ในแผนปัจจุบันก็ออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับ GABA และสาร N-Acetylserotonin เป็นสารที่พบตามธรรมชาติของน้ำมันรำข้าว เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารเมลาโทนิน ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมวงจรการนอนของคนเรามีส่วนช่วยในการนอนหลับ สารตัวนี้ยังมีฤทธิ์คลายความเครียด คลายกังวล ต้านซึมเศร้า ต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องสมอง และปกป้องเซลล์รับแสงจากจอประสาทตา

4.ฟักทอง มีการศึกษา พบว่าฟักทองช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ โดยทำการสังเกตพฤติกรรมถูกบังคับให้ว่ายน้ำในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะซึมเศร้าซึ่งจะมีพฤติกรรมลอยตัวนิ่งเสมือนว่าอยากตาย แต่การให้ฟักทองอบและสารเบต้าแคโรทีนมีผลทำให้ระยะเวลาลอยตัวนิ่งลดลง และยังมีผลเพิ่มระดับเซโรโทนิน (serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine: NE) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งจะลดลงเนื่องจากภาวะซึมเศร้าให้กลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ทั้งฟักทองและเบต้าแคโรทีน ยังช่วยลดสารก่อการอักเสบในสมองได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

“การศึกษาเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฟักทองและเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟักทองในการช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า ในยุคที่คนไทยเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น ฟักทอง จึงเป็น อาหารเป็นยา ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้าได้” ภญ.อาสาฬา กล่าว

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ

วิจัยขมิ้นชันรักษาโรคกระเพาะครั้งแรกของโลก

จากการค้นคว้าเรื่องขมิ้นชันมานาน อยากสรุปว่า ยังไม่เห็นชาติไหนเก่ากว่าคนไทยในการใช้ขมิ้นชัน แม้จะมีหลักฐานว่า ขมิ้นชันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดีย แต่ว่าพืชพรรณชนิดเดียวกัน แต่ละชาติพันธุ์ก็อาจมีประสบการณ์การใช้เฉพาะถิ่นที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากแหล่งไหน ดังจะเห็นว่ารายงานการใช้ขมิ้นชันรักษาโรคกระเพาะอาหารและขับลมครั้งแรกเกิดขึ้นที่เมืองไทย

การศึกษาวิจัยขมิ้นชันในประเทศไทยเริ่มจากการเก็บข้อมูลสมุนไพรพื้นบ้านของ เภสัชกรสุพจน์ อัศวพันธนกุล ในปี 2525 ที่พบว่าคนไทยในภาคเหือใช้ขมิ้นชันเป็นยารักษาโรคกระเพาะ เนื่องจากขมิ้นชันใช้เป็นอาหารและปลอดภัย เภสัชกรสุพจน์จึงนำมาทำเป็นยาลูกกลอนใช้ในหมู่มิตรที่มีปัญหาโรคกระเพาะ พบว่าใช้ได้ผลดี จึงนำมาเผยแพร่ในวารสารสมุนไพรของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง

ในระหว่างปี 2528-2531 ภายใต้นโยบายสาธารณสุขมูลฐานของรับาลไทย มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรในโรงพยาบาลอำเภอ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน มีนายแพทย์วิษณุ ธรรมลิขิตกุล เป็นหัวหน้าโครงการ ทำให้ขมิ้นชันถูกคัดเลือกมามาศึกษาวิจัยทางคลินิกในการเป็นยารักาาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ก็พบว่าได้ผลดี โดยในเวลาไล่เลี่ยกันคือ ปี 2529 ฉวีวรรณ พฤกษ์สุนันท์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำการศึกษาวิจัยขมิ้นชันทางคลินิกใช้รักษาโรคกระเพาะพบว่าได้ผลดีเช่นกัน จึงเป็นการยืนยันสรรพคุณของขมิ้นชันที่ชาวบ้านใช้รักษาโรคกระเพาะ

ขมิ้นชัน คนไทยใช้ตั้งแต่ปากถึงทวาร

การใช้ขมิ้นชันรักษาโรคเป็นความรู้พื้นๆ ที่คนไทยทั่วไปรู้กัน ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอยา ทำให้ไม่มีการบันทึกไว้ในตำราทางการแพทย์แผนไทย ทั้งที่ความจริงแล้วคนไทยใช้รักษาโรคตั้งแต่ปากถึงทวาร

โรคปากเป็นแผล จะเอาขมิ้นชันมาฝาน ต้มอมบ้วนปาก รักษาแผลในปาก เหงือกเป็นแผล

ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จะเอาหัวขมิ้นชันกับเกลือมาคั่วให้สุก จากนั้นเอาน้ำอุ่นมาผสมแล้วดื่มกิน หรือต้ม นึ่ง ตากแห้งตำผงไว้ใส่ในอาหารกินเป็นประจำ หรือเอาหัวขมิ้น หัวไพล ตำกับเกลือกินก็ได้

โรคกระเพาะ เมื่อไหร่ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง อิ่มก็ปวด หิวก็ปวด จะใช้ขมิ้นตำคั้นน้ำกินหรือใช้ขมิ้นสดหรือแห้งผสมกับเกลือ หรือทำเป็นยาตำรับผสมกับสมุนไพรตัวอื่น เช่น ไพล ชะเอมเทศ เทียนทั้งห้า โดยกินอย่างต่อเนื่องเป็นเดือน

โรคลำไส้อักเสบ หรือ IBD ชาวบ้านทั่วไปไม่รู้จักโรคนี้ แต่ถ้าหากมีอาการท้องอืดท้องบวม ปวดเกร็งท้องบริเวณท้องน้อย แน่นท้อง ท้องอืด หน้าท้องโตขึ้นเหมือนมีลมในท้อง อาจเรอหรือผายลมมากขึ้น อุจจาระไม่ปกติ เบื่ออาหาร ชาวบ้านจะนำผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งชงกับน้ำอุ่นดื่มวันละ 3-4 ครั้ง กินติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน หรือเอาขมิ้นคั่วกับเหลือ กินเช่นเดียวกับการรักษาอาการท้องอืด

โรคริดสีดวงทวาร มีแผลที่ไหนขมิ้นต้องไปที่นั่น แม้แต่แผลที่ทวารหนักจะใช้ผงขมิ้นตัวเดียวหรือผสมกับผงรากกะเม็งหรือผงของผลบวบแห้งอย่างละเท่าๆ กัน ทาหัวริดสีดวงที่มีเลือดออก ส่วนยากินจะใช้มะขามป้อมและขมิ้นชันอย่างละเท่าๆ กัน ผสมกับน้ำผึ้งกิน

ขมิ้น ทองคำแห่งสุขภาพของคนไทย

ขมิ้นชันน่าจะเป็นสมุนไพรประจำคนตระกูลไทยโดยแท้ เพราะไม่ว่าจะเป็นไทยน้อยอย่างเรา หรือว่าไทยใหญ่ ไทยลื้อ ลาว ไทยแดง ไทยดำ ไทยในรัฐอัสสัมของอินเดีย ก็เรียกขมิ้นหรือเข้ามิ่นเหมือนกัน

มาร์โคโปโล นักเดินทางค้าขายชาวอิตาลีไปเจอขมิ้นชันครั้งแรกในจีนเมื่อเจ็ดร้อยกว่าปีก่อน คนจีนไม่นิยมกินขมิ้นเป็นเครื่องเทศหรือเป็นอาหาร แต่ในจีนตอนใต้มีการกินขมิ้นเป็นผัก และใช้เป็นสีผสมอาหารเหมือนหญ้าฝรั่น หรือว่าแถวนั้นจะเป็นถิ่นของคนตระกูลไทยลื้อ แถบสิบสองปันนา เพราะมีแต่คนตระกูลไทยเท่านั้นที่ใช้ขมิ้นในวิถีชีวิตอย่างหลากหลาย ใช้เป็นเครื่องเทศ ยา เครื่องสำอาง สีแต่างอาหาร และย้อมเสื้อผ้า

คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่า กินขมิ้นชันแล้วจะไม่แก่ กินแล้วผิวสวย เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยปรับธาตุ ช่วยย่อย บำรุงตับ บำรุงดี บำรุงเลือดลมให้ไหลเวียนดี ทำให้เลือดสะอาดบริบูรณ์ ขับเลือดเสีย ช่วยบำรุงเอ็นให้เส้นเอ็นโล่ง แก้อาการเส้นเอ็นตายเพราะลมเดินไม่สะดวก ดังนั้นจึงเปรียบขมิ้นดั่งทองคำ การกินข้าวหุงขมิ้นจึงเรียกว่ากินข้าวคำ

งานวิจัยสมัยใหม่พบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านอักเสบ ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ รักษาเข่าเสื่อม ลดการทำลายของเซลล์ต่างๆ จากโรคเบาหวาน จึงสมกับที่เป็นทองคำแห่งสุขภาพจริงๆ

ขมิ้นชันป้องกันมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร

ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาอายุวัฒนะ ในยาหมู่ ยาตำรับ ยาปรับธาตุ รวมทั้งใส่ในอาหารเพื่อทำให้อายุยืน โดยที่ไม่มีคำอธิบายมากนัก แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการศึกษาฤทธิ์ของขมิ้นชันในการใช้ป้องกันและรักษามะเร็งพบว่า ขมิ้นชันมีสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็ง ป้องกันการดูดซึมสารนี้ และป้องกันไม่ให้สารก่อมะเร็งทำปฏิกิริยากับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (ซึ่งจะป้องกันมิให้เกิดการกลายพันธุ์และการทำลายดีเอ็นเอ) นอกจากนี้ยังเพิ่มระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสารก่อมะเร็งออกจากร่างกาย และยังยั้งไม่ให้เซลล์ที่ได้รับสารก่อมะเร็งกลายเป็นเวลล์มะเร็ง มีการศึกษาการใช้ขมิ้นในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่พบว่ามีแนวโน้มที่ดี

ขมิ้นชันเป็นอาหารและเครื่องเทศอยู่แล้ว หากจะกินเป็นประจำก็ไม่มีปัญหา เพราะแม้แต่สภาพพฤกษศาสตร์ของอเมริกา (The American Botanical Council) ยังแนะนำว่าไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่กินขมิ้นชันขนาดพอประมาณ (เช่น 1-2 กรัม) ทุกวัน ยกเว้นผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด หญิงตั้งครรภ์ หรือคนที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี


จากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้ในวิถี … ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร