แม้นวัตกรรมการรักษาพยาบาลจะดีขึ้นตามลำดับ จนทำให้ประชากรมีอายุยืนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันด้วยการบริโภคของคนในปัจจุบัน ที่นิยมกินหวาน มัน เค็ม ก็นำมาสู่โรคเรื้อรัง จนกลายเป็นประชากรสูงอายุที่มีแต่โรครุมเร้าไม่แข็งแรง ฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และสุขภาพดี สู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี

ซึ่งเป็นเคล็ดลับดีๆ เนื่องในวันผู้สุงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน จากงานแถลงข่าวของ สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จัดกิจกรรมส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีมีอายุยืนยาวสมบูรณ์ ภายใต้แนวคิด“สองวัยใส่ใจสุขภาพ” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี

นางธนาภรณ์  พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ปี2560 มีผู้สูงอายุสูงถึง 11 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง 1.5% และเป็นผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยประมาณ 2 ล้านกว่าคน ขณะที่ผู้สูงอายุ 8 ล้านคนเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้ จากการสำรวจทั่วประเทศ พบว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุเกิน100ปี จำนวน 300 คน และคาดการณ์ว่าในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือจะมีผู้สูงอายุมากถึง 28% ของจำนวนประชากร สำหรับสิ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขได้คือ การไม่มีโรค มีกิจกรรมทำ ซึ่งทางกรมได้สนองนโยบายภาครัฐด้วยการส่งเสริมการจ้างงานและกองทุนเงินออม แห่งชาติให้กับผู้สูงอายุด้วย

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายก สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ประชากรของประเทศมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง นอกจากนี้แนวโน้มของผู้ที่อายุน้อยแต่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมีมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วยฉุกเฉินในห้องฉุกเฉินมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่แม้ได้รับการพิจารณาให้เข้ารักษาภายในโรงพยาบาล กลับต้องนอนพักรักษาในห้องฉุกเฉินเพื่อรอเตียง ซึ่งส่งผลเสียในด้านต่างๆทั้งด้านครอบครัว และบุคลากรที่ทำงานในห้องฉุกเฉิน

ดร.ประเสริฐ ณ นคร

ด้าน ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีต นายกราชบัณฑิตยสภา ปัจจุบันอายุ 99 ปี กล่าวถึงวิธีกิน-อยู่อย่างไร ให้อายุยืนเกิน100 ปี ว่า การที่จะทำให้อายุยืนนั้น เป็นเพราะเมื่อได้อ่านหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ จำนวน 3 เล่ม จากนั้นได้ฝึกตนเองในเรื่องการจดจำ ฝึกสมาธิ รักษาสุขภาพอนามัย และเมื่อ 3-4 ปีมาแล้วได้ไปเดินขึ้นเขา620 ขั้น ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย เพราะว่าใจมุ่งมั่น และท่องคล้ายๆยุบหนอพองหนอไปเรื่อยๆ มันทำให้จิตใจสงบนิ่ง มันก็ไม่เหนื่อย จนสุดท้ายสามารถขึ้นเขาไปได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะบังคับการหลับ การตื่นของตนเองได้ อย่างเวลานอน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดหลับอดนอน

ส่วน วิธีเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ ดร.ประเสริฐเป็นคนทานง่าย เน้นทานผัก หรือทานอะไรก็ได้ที่ไม่เผ็ดมาก ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม งดอาหารดิบๆสุขๆ ที่สำคัญไม่ดื่มสุราของมึนเมา และผลจากการปฏิบัติตามหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ ทั้ง 3 เล่ม ช่วยทำให้ตัวเขาเองเองมีความสะบายใจ ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิบัติดี คิดเพียงแต่ว่า

“เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าหรือก่อนจะเข้านอน ให้ระลึกว่าวันนี้จะทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและประเทศชาติมากที่สุดได้อย่างไร และวันนี้ได้ทำดีที่สุดแล้ว ก็รู้สึกดีใจ ภาคภูมิใจ ทั้งอดีตปัจจุบันและอนาคตองในวันผู้สูงอายุและเทศกาลวันสงกรานต์ซึ่งถือว่า เป็นวันปีใหม่ของคนไทย” ดร.ประเสริฐกล่าวทิ้งท้าย

 


ที่มา มติชนออนไลน์

ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูงพบได้ตั้งแต่อายุ 35 ปี พบได้ 1 ใน 5 หรือประมาณ 20% ซึ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่นั้น เพราะการกินเค็มจะมากับการกินหวาน กินมันควบคู่กันไป เนื่องจากจะได้รสที่กลมกล่อม ทำให้สุดท้ายมีน้ำหนักเกิน และอ้วนในที่สุด หนำซ้ำในบางรายหากมีความไวต่อเกลือ ก็มีโอกาสตัวบวม หน้าบวม น่องโต และมีโอกาสเป็นโรคไต โรคหัวใจได้เร็วขึ้น อย่างโรคไต เดิมทีจะพบได้ในคนอายุ 50 ปี แต่ขณะนี้พบอายุน้อยลง 40 ปี

สำหรับคนที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง หากลดเค็มลงได้ก็ไม่ต้องกินยาลดความดัน ดังนั้น การบริโภคอาหารก็ต้องระมัดระวัง อย่างการกินข้าวนอกบ้าน ส่วนใหญ่จะปรุงอาหารรสจัด เค็มอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นรสอาหารที่คนไทยนิยมบริโภค ไม่ว่าจะเป็นพวกไส้กรอก อาหารแปรรูปต่างๆ อาหารแช่แข็ง จะมีความเค็มมากกว่าปกติถึง 5 เท่า ขนาดน้ำจิ้ม 1 ถ้วยยังเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ยากเกินไป โดยปกติแล้วไม่ควรกินน้ำปลาเกิน 4 ช้อนชาต่อวัน หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา ซึ่งมีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม โดยหากจำกัดตรงนี้ได้ก็ช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคได้

ทั้งนี้ นอกจากลดเค็มแล้ว ยังต้องลดหวานเพื่อป้องกันโรคเบาหวานก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้คู่มือให้ความรู้เรื่องโรคไต แนะนำว่าระดับความดันโลหิตปกติ ค่าบนจะอยู่ที่ 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรลงมา ขณะที่ค่าล่างจะอยู่ที่ 80 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนระดับความดันโลหิตค่อนข้างสูง จะมีค่าบนตั้งแต่ 121-139 และค่าล่างระหว่าง 80-89 ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ และลดการรับประทานเค็ม

ขณะที่ระดับความดันโลหิตสูงมากค่าบนจะอยู่ที่ 140-159 ค่าล่างที่ 90-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ต้องพบแพทย์และลดบริโภคเค็ม แต่ที่ต้องระวังที่สุดคือ ระดับความดันโลหิตระดับอันตราย คือ ค่าบนสูงตั้งแต่ 160 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป และค่าล่าสูงตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ต้องพบแพทย์โดยด่วน และลดกินเค็ม

ทั้งนี้ เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ ก็จะมีปริมาณโซเดียมแตกต่างกัน อย่างเกลือ 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม ผงปรุงรส 1 ช้อนชา มีโซเดียม 950 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนชา มีโซเดียม 400 มิลลิกรัม เป็นต้น