นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดทดลองใช้บริการทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม

นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงกระทรวงคมนาคม โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ให้การต้อนรับ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ณ ด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอู่ตะเภา จังหวัดระยอง

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้กรมทางหลวง ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อเสริมประสิทธิภาพการเดินทางและคมนาคมขนส่งทางบก ให้เชื่อมโยงกับรูปแบบการขนส่งทั้งทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)

ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง

เป็นหนึ่งในโครงข่ายสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภูมิภาค ขยายโอกาสการค้าและการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อเส้นทางสายชลบุรี – พัทยา บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน มุ่งไปทางทิศใต้ผ่าน อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปสิ้นสุดที่บริเวณบรรจบทางหลวงหมายเลข 3 เทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ระยะทางรวม 32 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 17,784 ล้านบาท

ซึ่งกรมทางหลวงใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางซึ่งเป็นรายได้ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันมาใช้ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด และระยะต่อไป จะต่อขยายไปถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา อีกประมาณ 7 กิโลเมตร

และในอนาคตมีแผนจะขยายจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา – ปราจีนบุรี ไปเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนการศึกษาออกแบบเพื่อบูรณาการการเชื่อมต่อระหว่างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กับ โครงการรถไฟทางคู่ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียนอย่างแท้จริง

S__35135510-1024x682

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นเส้นทางสายหลักที่เชื่อมสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รูปแบบโครงการมีลักษณะเป็นทางหลวงพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร ที่ควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้ทางสามารถใช้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดเส้นทาง ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากทางแยกต่างระดับมาบประชันถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภากว่า 30 นาที

โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการมีด่านชำระค่าผ่านทาง 3 แห่ง ได้แก่ ด่านฯ ห้วยใหญ่ เชื่อมสู่บ้านอำเภอ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ด่านฯ เขาชีโอน เชื่อมสู่ทางหลวงหมายเลข 331 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และด่านฯ อู่ตะเภา เชื่อมสู่ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางประกอบด้วยระบบเงินสด (MTC) และแบบอัตโนมัติ (ETC)

ซึ่งสามารถพัฒนาสู่รูปแบบการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นในอนาคต โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง นอกจากนี้ผู้ใช้ทางยังสามารถจอดพักรถได้ ณ จุดพักรถมาบประชัน และสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างและมีแผนเปิดให้บริการภายในปี 2565

สำหรับการเปิดทดลองให้บริการในครั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ 2 ทาง คือ วิ่งต่อเนื่องจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงชลบุรี – พัทยา ที่บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน หรือเข้าจากทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท ที่ด่านอู่ตะเภา โดยไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเพิ่ม

และเมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงเดือนกันยายน 2563 จึงจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางในอัตราใหม่ตลอดเส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึง ด่านอู่ตะเภา รถยนต์ 4 ล้อ 25 – 130 บาท รถยนต์ 6 ล้อ 45 – 210 บาท และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป 60 – 305 บาท ตามลำดับ

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ถือเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สำคัญ ช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสการค้าและการลงทุน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต สร้างความกินดี อยู่ดีให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา – มาบตาพุด ด่านฯ อู่ตะเภา เปิดทดลองให้ประชาชนได้ใช้บริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง เพื่อทดสอบระบบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน คาดว่าจะมีรถมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 36,000 คันต่อวัน

ที่มา : มติชนออนไลน์

การเดินทางท่องเที่ยวนั้นทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและท้าทาย แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าการเดินทางท่องเที่ยวบางครั้งก็ทำให้เราเจ็บป่วยได้ อย่างแย่ก็คือคุณอาจเป็นไข้ได้หลังจากเดินทางเป็นระยะเวลานาน ซึ่งคุณอาจคิดว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการติดเชื้อจากคนป่วยที่ไอค็อกแค็กอยู่ข้างหลังคุณ หรือการที่ต้องนั่งรวมอยู่กับคนเป็นร้อยคนเป็นเวลาหลายชั่วโมง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณป่วยได้ แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นต้องทำให้คุณประหลาดใจแน่นอน!!!

จากข้อมูลของสมาคมการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ รายงานว่า ตัวกรองในระบบระบายอากาศของเครื่องบินสามารถกำจัดเชื้อโรคและจุลินทรีย์ในอากาศได้ 99.9% นอกจากนี้ อากาศครึ่งหนึ่งที่ถูกดูดเข้ามาในเครื่องระบายอากาศ ก็รีไซเคิลมาจากภายในห้องโดยสาร ส่วนที่เหลือเป็นอากาศบริสุทธิ์จากภายนอก

ดังนั้น อากาศจึงไม่น่าจะใช่สาเหตุที่ทำให้ป่วยได้ แล้วเป็นเพราะอะไร

เหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้เราเจ็บป่วยหลังจากนั่งเครื่องบินก็คือ “ถาดวางอาหารหลังเบาะ” นั่นเอง!!!

งานวิจัยชิ้นใหม่จาก Travelmath ที่ให้นักจุลชีววิทยาไปทำการศึกษา ซึ่งพบว่าถาดรองอาหารหลังเบาะนั้นความสกปรกมาเป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ยังมีห้องน้ำ, หัวเข็มขัดนิรภัย และบริเวณปุ่มเหนือศีรษะ

โดยนักวิจัยได้ทำการสำรวจ 4 เที่ยวบินจากสนามบินที่แตกต่างกัน และติดตามการเกิดเชื้อ ซึ่งพบว่า ถาดรองอาหารหลังเบาะนั้นพบเชื้อสูงถึง 2,155 CFU/ตารางนิ้ว รองลงมาคือปุ่มเหนือศีรษะ 285 CFU/ตารางนิ้ว ปุ่มกดน้ำในห้องน้ำ 265 CFU/ตารางนิ้ว และบริเวณรัดเข็มขัดนิรภัย 230 CFU/ตารางนิ้ว

ทั้งนี้ Drexel Medicine เคยอธิบายไว้ว่า บริเวณถาดรองอาหารหลังเบาะนั้นเป็นเหมือนแหล่งเพาะพันธุ์แบคทีเรียชั้นดี เพราะเป็นจุดที่เราใช้วางขนม, ดื่มน้ำ, กินอาหาร หรือแม้แต่ทำกิจกรรมอื่นๆ ทำให้นอกจากอาจมีเศษอาหาร ยังมีสิ่งอื่นๆ วางอยู่บนนี้ ตั้งแต่กระดาษทิชชู่ใช้แล้ว, เศษเล็บ ไปจนถึงแพมเพิร์สเด็กใช้แล้ว

ทางที่ดีก็คือ ในการนั่งเครื่องบินครั้งถัดไป อาจเตรียมผ้าเช็ดทำความสะอาดป้องกันเชื้อแบคทีเรียไปด้วย เพื่อเซฟตัวเองจากการสัมผัสสิ่งสกปรกนั่นเอง