1 เมษายน 2565 – กรุงเทพฯ มติชนอคาเดมี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัททัวร์เอื้องหลวง จำกัด และ สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ จัดแถลงข่าวและพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นเศษฐกิจภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเปิดตัวโปรเจกต์พิเศษ “เที่ยวล่อง ท่องตำนาน” กับ 3 เส้นทางพิเศษ ดึงกูรูด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมทริป โดยมี นางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ  บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทยฯ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารของการบินไทย และคณะผู้บริหารของมติชน ร่วมเป็นเกียรติในงาน

นายกิตติพงษ์ สารสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าและการตลาด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังกันเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน รวมถึงการขยายกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีความสนใจในด้านศิลปวัฒนธรรม ประกอบกับนโยบายของภาครัฐที่จะปรับให้โรคโควิด-19 จากโรคระบาด (pandemic) เป็น โรคประจำถิ่น จะส่งผลต่อนโนบายการท่องเที่ยว การเดินทางภายในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นสัญญาที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทางมติชนจะเป็นผู้จัดโปรแกรมทัวร์และขาย ทัวร์เอื้องหลวงร่วมทำการขาย และสายการบินไทยสมายล์จะเป็นผู้ให้บริการในการทำการบิน นับเป็นการนำจุดแข็งของทั้ง 3 บริษัทมาเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งด้านบริการระดับลักซ์ชัวรี่ ด้านวิทยากรผู้มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งมาทำหน้าที่ไกด์ นอกจากนี้ยังนำ Black Silk Blend กาแฟดริปแบบพรีเมียมที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ร่วมพัฒนาและผลิตให้เฉพาะแก่การบินไทย ซึ่งให้บริการผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจบนเที่ยวบินของการบินไทย มาเสิร์ฟให้เป็นพิเศษกับทริปสุพรรณบุรีอีกด้วย

นางสาวสุชาฎา ประพันธ์วงศ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี)   กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่ทัวร์มติชน อคาเดมี และ ทัวร์เอื้องหลวง และสายการบินไทยสมายล์ ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม โดยนำเอาจุดแข็งของมติชน อคาเดมี ที่จัดทัวร์ศิลปวัฒนธรรมมากว่า 10 ปี มุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวพร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์              อารยธรรม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรม  ผ่านโบราณสถานและโบราณวัตถุ ผ่านตำนานและเรื่องเล่าที่มีหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ชัดเจน เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจอดีต ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยและต่างประเทศ    

ที่สำคัญทัวร์มติชน อคาเดมี ยังมีความโดดเด่น ในเรื่องของผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวิทยากรกว่า25 ท่าน ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของมติชน ในการนำเสนอข้อมูลเรื่องราวและเรื่องเล่าที่ล้วนเจาะลึกและมีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ผ่านการศึกษาและค้นคว้ามาอย่างดี  แต่ละท่านต่างรู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่ตัวเองชอบและศึกษามาเฉพาะแต่ละเส้นทางอย่างเข้มข้น อุดมไปด้วยเกร็ดความรู้ เรื่องเล่าในอดีตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จะเป็นการเดินทางที่ได้ทั้งความรู้ ความบันเทิงและสนุกสนาน

ในส่วนของความร่วมมือในครั้งนี้นั้นเพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับลูกค้าทัวร์มติชนอคาเดมีและทัวร์เอื้องหลวง โดยการนำเอาบริการที่ยอดเยี่ยมของการบินไทยมาเสริมความแข็งแกร่งทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ภายใต้สโลแกนที่ว่า “เที่ยวล่อง ท่องตำนาน” ไปกับกูรูด้านประวัติศาสตร์ของมติชนอคาเดมีและบริการแบบฉบับ             การบินไทย  เพื่อส่งเสริมให้คนไทยและชาวต่างชาติได้เห็นถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของโลก อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรุ่งโรจน์และรุ่งเรืองในอดีต ให้คงอยู่และเป็นสถานที่ควรอนุรักษ์สืบสานและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒธรรมต่อไป

การลงนามข้อตกลงความร่วมมือนี้นอกจากจะจัดโปรแกรมทัวร์ศิลปวัฒนธรรม นำร่อง 3 เส้นทาง ได้แก่ ชวนเที่ยวเมืองสุพรรณฯ เล่าวรรณกรรม “ขุนช้าง-ขุนแผน” จ.สุพรรณบุรี ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2565,              ทัวร์ชมมรดกโลก แห่งลังกาทวีป ณ ประเทศศรีลังกา (โคลัมโบ แคนดี้ ดัมบุลลา สิกิริยา) 5 วัน 4 คืน กำหนดเดินทางช่วงเดือนสิงหาคม 2565 และ พาเลาะริมโขงตามตำนาน ‘อุรังคธาตุ-พญานาค-ศรีโคตรบูร’ จังหวัดนครพนม-สกลนคร 3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกันในโปรเจกต์ “ทอดน่อง ท่องฟ้า” โดยนำคลิปจากรายการ “ทอดน่อง ท่องเที่ยว” ของ คุณขรรค์ชัย บุนปาน และ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ มาเปิดบนเครื่องบินสายการบินไทยสมายล์ พร้อม              ซับไตเติ้ล  เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าของไทยสมายล์ และเป็นการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทย อีกด้วย

อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ผู้ร่วมทำทริปเปิดเส้นทางศรีลังกา เล่าถึงความพิเศษทั้ง 3 ทริปว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมกันเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไปยังวงกว้างผ่านการท่องเที่ยว ทำให้คนทั่วไปได้รู้ถึงความสำคัญของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยทั้ง 3 ทริปจะเป็นเส้นทางแห่งศิลปวัฒนธรรมที่มีความน่าสนใจแตกต่างกัน กล่าวคือ   ทริปวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณฯ ทริปแรกของโปรเจกต์นี้ ซึ่งนอกจากจะได้เปิดมุมของวรรณคดีขุนช้าง-ขุนแผน โดยมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ร่วมเดินทางไปด้วย และสิ่งที่พิเศษมากๆ คือ ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณขรรค์ชัย บุนปาน เปิดบ้านเรือนขุนช้างต้อนรับเป็นครั้งแรก

8 เสาวนา การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม

ทริปที่ 2 จะพาไปเลาะริมโขงตามตำนาน ‘อุรังคธาตุ-พญานาค-ศรีโคตรบูร’ จังหวัดนครพนม-สกลนคร นมัสการเกจิอาจารย์ชื่อดัง โดยมีนักวิชาการประวัติศาสตร์ อย่าง รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมทริปด้วย และทริปที่ 3 พาบินข้ามฟ้าไปเยือนประเทศศรีลังกา ซึ่งตัวผมเองจะเป็นผู้นำคณะพาชมมรดกโลก ตามรอยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พร้อมเรียนรู้ประวัติเหตุการณ์สำคัญของพุทธศาสนา พาชมพระราชวังเก่าที่ประทับของกษัตริย์ในราชวงศ์สุดท้ายของศรีลังกา เพลินกับเกร็ดความรู้ด้านการเมืองในยุคล่าอาณานิคม เรียกว่าเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวที่พิเศษและรับรองว่าจะเป็น ทริปเที่ยวที่สนุกและได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหนอย่างแน่นอน

ทริปโปรเจกต์พิเศษ 3 เส้นทางแห่งประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม จะเปิดให้จองสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกบัตร รอยัล ออร์คิด พลัส หรือ ROP สามารถจองที่นั่งได้ก่อนใครในวันที่ 19-20 เมษายน 2565 และบุคคลทั่วไปสามารถจองที่นั่งได้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2565 ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 08-2993-9097, 08-2993-9105 หรือ Line OA : @matichon-tour

จองทัวร์

“การบินไทย” เอาดีด้านอาหาร-เครื่องดื่ม ทดแทนรายได้ขายอาหารบนเครื่องบินที่หายไป เตรียมนำ “น้ำพริกลงเรือ” ขายในเซเว่นฯ ช่วงสงกรานต์นี้ 

วันที่ 29 มีนาคม 2564 ข่าวสด รายงานว่า นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ครัวการบินมีแผนเร่งเพิ่มรายได้การจำหน่ายอาหารภาคพื้น เพื่อทดแทนรายได้จากการจำหน่ายอาหารบนเที่ยวบินที่ชะลอตัวในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยปีนี้จะเร่งหาพันธมิตรธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้าอาหารและเครื่องดื่มของครัวการบินไทย

เบื้องต้นได้เร่งเจรจาเปิดตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มเติมไปยังห้างสรรพสินค้า ร้านโมเดิร์นเทรด และร้านสะดวกซื้อ ล่าสุดได้ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) เตรียมจำหน่ายเมนูน้ำพริกลงเรือ ในร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ รวมทั้งมีแผนจำหน่ายเมนูฮาลาล นำร่องข้าวหมกไก่เป็นเมนูแรก

นอกจากนี้ยังได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ที่มีสาขากว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ จัดทำระบบซัพพลายเชนรองรับบริการคลาวด์ คิตเช่น หรือครัวกลาง รวบรวมเมนูอาหารจากครัวการบินไทย และอาหารจากร้านเด็ดทุกภูมิภาครองรับการขยายฐานลูกค้าประเภทอาหารกล่องมากขึ้น

“การบินไทย” เดินหน้าหาของมาขายต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นเบเกอรี่ยอดฮิตอย่าง “ครัวซองต์”

ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พยายามหารายได้เพิ่ม ด้วยการนำอาหารและสินค้าต่าง ๆ มาจำหน่าย เพื่อช่วยพยุงธุรกิจการบิน ที่สร้างความฮือฮาในช่วงที่ผ่านมาคือ “ปาท่องโก๋ การบินไทย” รวมถึงสินค้าหมวดแฟชั่น เช่น กระเป๋าที่ดัดแปลงจากเสื้อชูชีพ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด การบินไทย เกาะกระแสขนมยอดฮิตอย่าง “ครัวซองต์” โดยนำมาวางจำหน่าย ณ ภัตตาคารอร่อยล้นฟ้าไม่ต้องบินก็ฟินได้ ชั้น 2, บริเวณโถงอาคาร 1 การบินไทยสำนักงานใหญ่, และสาขาการบินไทย สำนักงานสีลม

สำหรับครัวซองต์การบินไทย มาในรูปแบบ DIY ครัวซองต์ ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกท็อปปิ้งได้ด้วยตัวเอง ได้แก่ Coconut sauce , Dark chocolate sauce, Lemon curd , Dulcey topping และ Almond sauce และสามารถเพิ่มความอร่อยเเละมิติของรสชาติไปอีกขั้นกับ Roasted Coconut, Almond Sliced, Crusted Macadamia, Hazelnut และ Cashew Nut

โดยตัวครัวซองต์ขายราคาชิ้นละ 75 บาท ส่วนท็อปปิ้ง อย่างละ 18 บาท เริ่มจำหน่ายวันนี้ (3 มี.ค.) เป็นวันแรก

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

“การบินไทย” ผุดคีออสขายปาท่องโก๋-ผลิตภัณฑ์จากร้าน Puff & Pie แห่งแรกที่อาคาร EnCo C ชั้น 1 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ เผยเริ่มขายตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มกราคม 2564 เป็นเวลา 3 เดือน

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่กระแสปาท่องโก๋ของการบินไทยได้รับการตนอบรับที่ดี ล่าสุดบริษัทฯ ได้เปิดตัว Kiosk แห่งแรก สำหรับจำหน่ายปาท่องโก๋ของการบินไทย ทอดสดใหม่จากเตา รับประทานคู่กับสังขยามันม่วงสูตรพิเศษ และผลิตภัณฑ์จากร้าน Puff & Pie และเครื่องดื่มที่เป็น Signature ของการบินไทย อาทิ น้ำผลไม้รวม น้ำมะขาม น้ำมะนาวอัญชัน และเบเกอรี่ ของฝ่ายครัวการบิน ที่อาคาร EnCo C ชั้น 1 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันนี้-31 มกราคม 2564 เป็นเวลา 3 เดือน ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ เวลา 06.30 น. เป็นต้นไป จนกว่าสินค้าจะหมด

756390

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และนางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน ร่วมเปิดบูธจำหน่ายอาหารโดยครัวการบินไทย ในกิจกรรม “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ทานได้” ที่อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทการบินไทย ถนนวิภาวดีรังสิต

นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัทการบินไทยฯ เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การบินไทยต้องหยุดทำการบินชั่วคราว ขณะเดียวกันการบินไทยต้องสร้างรายได้ด้วยการเปิดครัวการบินไทยเพื่อส่งมอบความอร่อยจากครัวไปให้ผู้โดยสารทั้งหลายเหมือนรับประทานบนเครื่องบิน รวมทั้งให้ประชาชนทั่วไปได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยของอาหารจากเชฟของครัวการบินไทยด้วย จึงจัดกิจกรรม “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ทานได้” จำหน่ายอาหารเมนูพิเศษหลากหลายเมนูจากครัวการบินไทย ให้ประชาชนที่ชื่นชอบความอร่อยได้สัมผัสรสชาติอาหารเหมือนที่ให้บริการบนเครื่องบิน โดยทีมเชฟนานาชาติจากครัวการบินไทยที่มีประสบการณ์ในการทำอาหารขึ้นเครื่อง ทั้งสายการบินไทยเองและสายการบินต่างชาติ มาปรุงสดๆ ด้วยวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานระดับสากล ในราคาสุดคุ้ม

อาทิ ซูชิ โดยเชฟชาวญี่ปุ่น สปาเก็ตตี้คาโบนาร่า และพาสต้าเบคอน โดยเชฟชาวฝรั่งเศส จากครัวอาหารยุโรป และ ไก่ชาวามา สไตล์อาราบิค โดยเชฟชาวจอร์แดน จากครัวฮาลาล และเมนูขนมหวาน ได้แก่ เครปซูเซทเสิร์ฟพร้อมไอศครีมชาไทย โดยเชฟชาวฝรั่งเศส จากครัวขนมหวาน เป็นต้น รวมทั้งเครื่องดื่มต่างๆ อาทิ น้ำผลไม้รวม ชามะขาม อัญชัญมะนาว รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากครัวการบินไทยอีกมากมาย ในราคาสุดคุ้ม และพิเศษ! โปรโมชั่นสมัครเพื่อรับสิทธิ์การเป็นผู้แทนจำหน่ายร้านพัฟแอนด์พาย เฉพาะภายในงานนี้เท่านั้น

ทั้งนี้ งาน”อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ทานได้” เริ่มตั้งแต่วันที่ 29-31 กรกฎาคม 2563 พิเศษสุดสำหรับสัปดาห์นี้ มีเมนูอร่อยสุดอาหารใต้ที่ส่งตรงจากภัตตาคารการบินไทย จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ แกงเหลืองใต้ปลากระพงหน่อไม้ดอง, แกงไตปลา, น้ำพริกกุ้งเสียบ, ลูกชิ้นปลาภูเก็ต และแกงไตปลาแห้งจากจังหวัดกระบี่ บินข้ามฟ้ามาให้ฟินกันเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีเมนูนานาชาติสุดฮิตที่ได้รับความนิยมจัดมาเสิร์ฟให้เต็มอิ่มกันถึงที่ ตั้งแต่ไก่เนยเสริฟ์พร้อมแป้งนาน หรือข้าวบาสมาตี (Butter Chicken, Gobi Masala with Plain Naan or with Basmati rice), ไก่ชาวามา (เคบับ), ข้าวขาหมู สไตล์ไต้หวัน (Stewed Pork leg with steam rice – Taiwanese Style), ข้าวหน้าเนื้อ (Gyudon), ข้าวหน้าไก่เทอริยากิ (Chicken Teriyaki Don), ซีซาร์สลัดพร้อมแซลมอนรมควัน (Caesar Salad with Smoked Salmon), ยำแซลมอนแซ่บและไก่ยอ, พาสต้าคาโบนาร่า (Carbonara Pasta), พาสต้าเบค่อน (Bacon Tomato concasse), ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น, เนื้อย่างจิ้มแจ่ว, มาการอง รวมถึงเบเกอรี่, เครื่องดื่ม และสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ในราคาสุดคุ้มให้เลือกมากมาย

พิเศษสุดสำรับจากครัวการบินไทย โดยทีมนานาชาติครัวการบินไทย พร้อมปรุงเมนูอร่อยเด็ดให้ชิมกันสดๆ ทุกวันพุธ-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 (หรือจนกว่าสินค้าจะหมด) ณ โถงอาคาร 1 ชั้น 1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดีรังสิต งานนี้ขากินห้ามพลาด!!

คุณวรางคณา ลือโรจน์วงศ์
หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563 เห็นชอบให้ บมจ.การบินไทยเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย 2483 และเห็นชอบให้กระทรงงการคลังถือหุ้นในการบินไทยน้อยกว่า 50%

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อการบินไทยเข้าฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย จะหยุดการจ่ายหนี้ทุกอย่าง และรีเซตทุกอย่างใหม่ เช่น มูลหนี้ พนักงานกว่า 20,000 คน ที่จะต้องปลดอย่างน้อย 30% หรือประมาณ 6,000 คน โดยจ่ายค่าชดเชย 10 เดือน ตามกฎหมายแรงงาน ปรับโครงสร้างบริษัท เส้นทางบิน ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการฟื้นฟูประมาณ 1 ปี

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างนี้ การบินไทยจะต้องมีเงินสดเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและค่าดำเนินการ เช่น จ่ายเงินเดือนพนักงาน อาจจะต้องกู้เงินหรือเพิ่มทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อและอยู่ได้สักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ ทางการบินไทยยืนยันว่ามีเงินสดอยู่ก้อนหนึ่งที่สามารถนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้

“แผนฟื้นฟูทางบอร์ดและผู้บริหารชุดใหม่ต้องเป็นผู้ทำร่วมกับเจ้าหนี้ เมื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟูแล้วต้องลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นลง เจรจาลดหนี้กับเจ้าหนี้ไทยและต่างชาติ ซึ่งตอนนี้ทุกคนพร้อมเจรจาหมด เพราะธุรกิจการบินซบเซาทั่วโลก จนรู้มูลหนี้สุดท้ายแล้ว จะมาดูว่าจะมีการแปลงหนี้เป็นทุนหรือไม่ เช่น คลังมีหนี้อยู่ 12,000 ล้านบาท หนี้สหกรณ์อีก 6 หมื่นล้าน จะแปลงหนี้เป็นทุนหรือไม่”

ข้อมูลวิเคราะห์สถานภาพทางการเงินของการบินไทยระบุว่า ฐานะการเงินของการบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ต้องพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น และฟื้นฟูกิจการในระยะยาวโดยด่วน เนื่องจากขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดเสถียรภาพทางการเงิน และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่า ปี 2563 การบินไทยจะมีผลขาดทุน 59,062 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมอยู่ที่ 219,198 ล้านบาท และจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบสูงถึง 47,297 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้น กระแสเงินสดของบริษัทจะหมดในเดือนมิถุนายน 2563

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การดำเนินการฟื้นฟูมี 10 ขั้นตอน หลังจากนี้ กระทรวงการคลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% โดยการบินไทยจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้ เมื่อศาลรับคำร้อง ส่งหมายให้เจ้าหนี้ จะทำให้การบินไทยได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 ประชุมเจ้าหนี้อนุมัติผู้จัดทำแผน จากนั้นศาลตั้งผู้ทำแผน เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ จัดประชุมเจ้าหนี้อนุมัติแผน ดำเนินการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน แต่งตั้งผู้บริหารแผน และดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งถึงเวลาแล้วที่การบินไทยจะต้องปรับตัวและมีการเอกซเรย์ปัญหาต่าง ๆ ทุกด้านให้มีความถูกต้อง เช่น การบริหารจัดการ

“คมนาคมจะเสนอชื่อบุคคลประมาณ 15 คน ที่มีความรู้ความสามารถประสบการณ์ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านบุคคล การเงิน บริหาร การบิน ที่ปราศจากการแทรกแซงให้เป็นผู้จัดทำแผน โดยจะเสนอชื่อให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จะเร่งดำเนินการเร็วที่สุด คาดว่าก่อน มิ.ย.จะยื่นฟื้นฟูต่อศาลได้ ทั้ง 10 ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ส่วนจะหยุดออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับผู้จัดทำแผนและการบินไทย แต่จากโมเดลของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ใช้เวลา 14 เดือน ออกจากการฟื้นฟู และกลับมามีกำไรปีละ 2 พันล้านเหรียญ ทั้งหมดที่ทำเป็นสิ่งที่เรามีต้นแบบ มีการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ไม่ได้ต้องการทำลายการบินไทย อย่าตื่นตระหนก เพราะเป็นกันทั่วโลก”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

“การบินไทย” ขยายเวลาหยุดบินชั่วคราวเดือนมิถุนายนต่ออีก 1 เดือนตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนฯ เผยยังรอประเมินสถานการณ์เดือนกรกฎาคมอย่างใกล้ชิด ยันยังให้บริการเที่ยวบินพิเศษเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งรับคนไทยกลับบ้าน-ขนส่งสินค้า

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีคำสั่งขยายเวลาห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาหยุดทำการบินชั่วคราวต่ออีก 1 เดือนในเดือนมิถุนายน 2563 นี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับในเดือนกรกฎาคม 2563 นั้นบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและประเมินสถานการณ์ เพื่อกลับมาทำการบินทันทีเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์จากทั่วโลกอย่างใกล้ชิด และยังพิจารณามาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ของแต่ละประเทศ มาตรการปิดประเทศ (Lockdown) และความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร

โดยขณะนี้บริษัทฯ ได้มีแผนเตรียมความพร้อมในการให้บริการไว้แล้ว และจะแจ้งกำหนดการที่แน่นอนให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงทำการบินในเที่ยวบินพิเศษในเส้นทางระหว่างประเทศเพื่อรับคนไทยกลับบ้าน รวมทั้งให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

วันที่ 19 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบเต็มคณะ ไม่ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยยังคงใช้ตึกสันติไมตรีหลังนอก เป็นสถานที่ประชุมแทนประห้องประชุม 301 เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวาง จัดสถานที่เว้นระยะห่างของผู้เข้าร่วมประชุม ตามมาตรการของสาธารณสุขในช่วงสถานการณ์โควิด-19

โดยมีวาระสำคัญคือ กระทรวงคมนาคม เสนอแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบให้ใช้แนวทางดังกล่าว เพื่อกำหนดแผนการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างหนี้

ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ครม.และคนร.ตัดสินใจเรื่องการบินไทย โดยใช้แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย โดยจะยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง และหามืออาชีพมาแก้ไขและปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ไม่ต้องการลอยแพพนักงานการบินไทยกว่า 2 หมื่นคน และมั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแล้ว การบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ นำชื่อเสียงและเป็นทูตสันตวไมตรีเผยแพร่ความเป็นไทยได้ต่อไปอีก

“รัฐบาลยืนยันจะสนับสนุนแผนฟื้นฟูการบินไทยต่อไป แม้การบินไทยจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอีกแล้วก็ตาม” นายกฯ กล่าว

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีที่พรรคกล้า และผู้รู้ด้านกฎหมายและการเงินหลายท่าน ได้นำเสนอแนววิธีการแก้ปัญหาวิกฤตการบินไทย โดยเฉพาะช่องทางการฟื้นฟูโดยกระบวนการที่ระบุไว้ในกฎหมายล้มละลาย

“ผมเห็นว่าสังคมมีความเข้าใจในแนวคิดนี้มากขึ้น รวมไปถึงหลายคนในรัฐบาล รวมถึงอาจารย์วิชา มหาคุณ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมากที่สุดท่านหนึ่งในประเทศ ได้แสดงความเห็นไว้ในเรื่องนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งของบทความล่าสุดของท่านได้กล่าวว่า กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กฎหมายล้มละลายจึงเหมาะอย่างยิ่งกับ บริษัทมหาชนจำกัด อย่างการบินไทย เพราะถือว่าเป็นองค์กรธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินกิจการได้ แต่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้”

“ผมจึงขอยํ้าอีกครั้งนะครับว่าในส่วนเรื่องของข้อเสนอค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาทของรัฐบาลนั้น การบินไทยควรเข้ากระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายก่อน แล้วรัฐบาลค่อยค้ำประกันหนี้ให้นะครับ “เงินใหม่จะมีสิทธิมากกว่า เงินเดิม” เพราะกฎหมายระบุว่าหนี้สินที่มีการกู้ยืม ‘หลัง’ คำสั่งฟื้นฟูของศาล จะมีสิทธิเหนือกว่าหนี้สินที่การบินไทยมีอยู่เดิม (มาตรา 90/62 ทวิ พ.ร.บ. ล้มละลาย)” นายกรณ์กล่าว

แต่หากปล่อยกู้หรือค้ำประกันเงินกู้ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู หนี้ส่วนนี้จะมีสิทธิเพียงเทียบเท่าหนี้เก่า ทั้งๆ ที่เวลานี้เราควรเจรจาลดภาระหนี้เก่าลงก่อน หนี้ก้อนใหญ่ของการบินไทยเป็นหนี้เช่าซื้อเครื่องบิน เวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะเจรจาต่อรองลดหนี้ส่วนนี้ เพราะอุตสาหกรรมการบินยํ่าแย่ทั่วโลก หากเจ้าของเครื่องบินคิดจะยึดไปก็ไม่สามารถจะขายต่อให้ใครได้ สู้ยอมเจรจากับการบินไทยดีกว่า

กระบวนการฟื้นฟูมีไว้เพื่อช่วยให้กิจการสามารถกลับมาเข้มแข็งได้ด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะกลัวเสียหน้าครับ นี่คือโอกาสทองที่จะเริ่มใหม่ ด้วยโครงสร้างและยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้จริง ถือเป็นการล้างบาปความผิดพลาดในการบริหารจัดการการบินไทยมาหลายยุคหลายสมัย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

การบินไทยคัมแบ๊ก! 1 ก.ค. เริ่มกลับมาบินระหว่างประเทศ 37 เมือง แต่ขายตั๋วแค่ 30% ยังหยุดบินเวียนนา-โรม-ซัปโปโร-ฟุกุโอกะ

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การบินไทยมีแผนเริ่มกลับมาทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป รวมทั้งสิ้น 37 เมือง

ซึ่งมีการปรับลดเส้นทางบินลงบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบริษัท และปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้เปิดให้บริการระบบการสำรองที่นั่งในเดือนก.ค.แล้ว แต่เปิดให้สำรองเพียง 30% ของเที่ยวบินที่มีเท่านั้น

ทั้งนี้ได้วางแผนเริ่มทำการบินโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงดังนี้ 1.เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 ไปยัง 32 เมืองได้แก่ โอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, ปักกิ่ง สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน, บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก วันละ 1 เที่ยวบิน

นิวเดลี วันละ 1 เที่ยวบิน, แฟรงก์เฟิร์ต วันละ 1 เที่ยวบิน , กวางโจว สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน, ฮานอย วันละ 1 เที่ยวบิน , โฮจิมินห์ วันละ 1 เที่ยวบิน , ฮ่องกง วันละ 1 เที่ยวบิน, อิสลามาบัด สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, จาการ์ตา สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน

การาจี สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, กัวลาลัมเปอร์ สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน, ลอนดอน วันละ 1 เที่ยวบิน, มะนิลา สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน, มิวนิก สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน โอซาก้า สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, ปารีส สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, เพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน

พนมเปญ วันละ 1 เที่ยวบิน, โซล สัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน , เซี่ยงไฮ้ สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน, สิงคโปร์ สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, ซิดนีย์ สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน, ไทเป วันละ 1 เที่ยวบิน, โตเกียว (สนามบินฮาเนะดะ) สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, โตเกียว (สนามบินนาริตะ) สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, เวียงจันทน์ วันละ 1 เที่ยวบิน และย่างกุ้ง วันละ 1 เที่ยวบิน

และ 2.เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. จำนวน 5 เมือง ได้แก่ เดนปาซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, ธากา ประเทศบังกลาเทศ สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน, ละฮอร์ ปากีสถาน สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, นาโงย่า สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และซูริก สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน

ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศที่การบินไทยไม่ได้กลับมาทำการเปิดบิน โดยได้หยุดทำการบินต่อไปอีก เช่น เมืองมิลาน, โรม, มอสโก, เวียนนา, สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน, ซัปโปโร, ฟุกุโอกะ, เซนได, กาฐมาณฑุ, ออสโล ประเทศนอร์เวย์, โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เป็นต้น

สำหรับการเส้นทางบินในประเทศนั้น มีแผนที่จะให้สายการบินไทยสมายล์เข้ามาบินทดแทนการบินไทยทุกจุดบิน

อย่างไรก็ตาม แผนการเริ่มทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศดังกล่าวอาจมีเปลี่ยนแปลงได้ หากในอนาคตรัฐบาลมีคำสั่งขยายเวลาการห้ามบินเข้าและออกสำหรับเที่ยวบินโดยสารเชิงพาณิชย์ออกไปอีก ซึ่งตามคำสั่งล่าสุดมีการห้ามบินเข้าและออกไทยจนถึงวันที่ 31 พ.ค.63

รายงานข่าวจากสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นสายการบินบริษัทลูกของการบินไทย แจ้งว่า ไทยสมายล์จะกลับมาทำการบินเส้นทางในประเทศอีกครั้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 เป็นต้นไป

โดยจะทำการบินจำนวน 10 จุดบิน คือ กระบี่, ขอนแก่น, นราธิวาส, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่, อุดรธานี, อุบลราชธานี, เชียงราย และเชียงใหม่ ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศนั้นยังไม่มีกำหนดเวลาที่จะเปิดการทำการบินแต่อย่างใด

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์