ข่าวดี!

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 14 รอบที่ 2 เพื่อไปทำงานเกาหลีใต้ในกิจการบริการ โควตา 3,188 คน สมัครผ่านออนไลน์ระหว่าง 16 – 17 มี.ค. 67

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานประกาศรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 14 รอบที่ 2 ประเภทกิจการบริการ (เพศหญิง) เพื่อสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ในโรงแรม รีสอร์ทคอนโดมิเนียม ที่พักทั่วไปและร้านอาหารเกาหลี โดยในรอบนี้ได้รับโควตาผู้สอบผ่าน จำนวน 3,188 คน ผู้สนใจสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ toea.doe.go.th ระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2567 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งภายหลังจากดำเนินการทดสอบเสร็จสิ้น จะประกาศรายชื่อผู้ที่มีคะแนนรวมสูงสุดลงมาจนครบจำนวนที่กำหนดตามโควตา และผู้มีรายชื่อตามประกาศดังกล่าวจะมีสิทธิยื่นใบสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบฯ พร้อมขึ้นทะเบียนไว้ 2 ปี นับแต่วันประกาศผลการทดสอบ

นายสมชายฯ กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นต้องเป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 18 – 39 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สายตาไม่บอดสี ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง และไม่เป็นโรคที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรือเป็นโรคติดต่อตามที่ทางการเกาหลีกำหนด มีความประพฤติดี ไม่มีประวัติกระทำผิดทางอาญาหรือเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคง เป็นบุคคลซึ่งไม่ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ไม่มีประวัติการถูกเนรเทศ เคยถูกปฏิเสธการเข้าสาธารณรัฐเกาหลี หรือเคยกระทำผิดกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี ไม่เคยพำนักอาศัยในสาธารณรัฐเกาหลีด้วยวีซ่า E-9 หรือ E-10 และต้องไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิด ทั้งนี้ผู้ที่อยู่ระหว่างรอสัญญาจ้างงานของประเภทกิจการอุตสาหกรรมการผลิต และกิจการเกษตรและปศุสัตว์ สามารถสมัครเข้ารับการทดสอบได้ และเมื่อผ่านการทดสอบสามารถรายงานตัวสอบผ่านเข้าระบบกิจการบริการจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรอคัดเลือกจากนายจ้างในลำดับแรก

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาวิธีการลงทะเบียน คุณสมบัติผู้สมัครและเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ toea.doe.go.th เมนูข่าวประชาสัมพันธ์ หัวข้อ ประกาศรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 14 ประเกทกิจการบริการ 2 (เพศหญิง) หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

เกาหลี ครั้งที่ 2-02

“โฆษกแรงงาน” แจง กรณีผู้จบ ป.ตรี ตกงานสูง มีหลายสาเหตุ อาทิ จบสาขาตลาดไม่รองรับ ค่านิยมเรียนตามเพื่อน ทำงานต่ำกว่าวุฒิ ศึกษาต่อ ไม่ต้องการทำงาน เปลี่ยนงานใหม่เพื่อหาประสบการณ์ รับช่วงธุรกิจครอบครัว เป็นต้น กระทรวงแรงงาน มีมาตรการส่งเสริมการมีงานทำ จับคู่คนกับงานผ่านสมาร์ทจ็อบเซ็นเตอร์ แก่คนไทยทุกกลุ่ม เพิ่มประสิทธิภาพให้บริการ สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย เข้าถึงตำแหน่งงานว่าง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้อย่างมั่นคง

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวตัวเลขของผู้จบปริญญาตรีตกงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่นนั้น พบว่า ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาย้อนหลัง 5 ปี (2556-2560) มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีปีละประมาณ 300,000 คน และข้อมูลการจ้างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในเดือนพฤษภาคม 2561 ยอดคนตกงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมากถึง 170,900 คนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีใหม่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเดิม ซึ่งในภาพรวมการตกงานมีหลายสาเหตุ เช่น การเลือกเรียนในสายที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่เป็นการเลือกตามกระแส ค่านิยม หรือเรียนตามเพื่อน ทำให้เกิดปัญหาตกงาน หรือได้งานทำไม่ตรงกับสาขาที่เรียน หรือทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีบางส่วนยังไม่ต้องการหางานทำ เนื่องจากอยู่ในช่วงการตัดสินใจที่จะศึกษาต่อ หรือพักอยู่กับบ้าน ผู้ที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี บางส่วนมีความต้องการเพียงใบรับรองคุณวุฒิเท่านั้น เพราะครอบครัวมีธุรกิจหรืออาชีพที่ต้องการให้บุตรหลานรับช่วงต่อ รวมถึงเป็นผู้ที่ลาออกจากงานเดิม และต้องการเปลี่ยนงานใหม่เพื่อหาประสบการณ์ในการทำงาน

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการแก้ไขและป้องกันปัญหาการว่างงานในกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยได้ดำเนินโครงการสำรวจความต้องการของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถึงระดับปริญญาตรี เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวจัดส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดหางาน อีกทั้ง ยังได้มีบริการแนะแนวอาชีพ แก่นักเรียนที่จะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาได้ทราบถึงอาชีพและลักษณะอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเลือกสาขาที่เรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่มีตลาดแรงงานรองรับ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 180,180 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 22,345 อัตรา โดยผู้สนใจสามารถเลือกใช้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ รถบริการจัดหางานเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ทางเว็บไซต์ http://smartjob.doe.go.th และ Smart Job Center Application By Smartphone หรือโทรสายด่วน 1506 กด 2

“ขอให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ว่างงาน หรือผู้ที่กำลังจะหางานทำมั่นใจได้ว่า กระทรวงแรงงาน จะยังคงดำเนินการส่งเสริมการมีงานของคนไทยทุกกลุ่มในทุกรูปแบบไปอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกมีขั้นตอนที่ทันสมัย สอดคล้องตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้อย่างมั่นคง” นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันพ่อครัวแม่ครัวไทย ยังคงเป็นที่ต้องการของร้านอาหารไทย โรงแรม สถานประกอบกิจการท่องเที่ยวและบริการในต่างประเทศ จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในปี 2560 มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ตำแหน่งคนครัว จำนวน 3,224 คน ส่วนในปี 2561 (1 มกราคม-30 เมษายน 2561) จำนวน 1,101 คน มีรายได้เฉลียประมาณ 40,000-90,000 บาทต่อเดือน ประเทศที่พ่อครัวแม่ครัวไทยนิยมเดินทางไปทำงาน ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือ เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้เป็นแรงงานทักษะ (Skilled labour) ตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของกระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบนโยบายให้ กพร. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการฝึกอบรมผู้ประกอบอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก ดำเนินการแล้ว 3,318 คน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7,740 คน

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ มีฝึกอบรมกว่า 60 หลักสูตร เช่น การประกอบอาหารไทยยอดนิยมในต่างประเทศ การประกอบอาหารเชิงธุรกิจ การบริการอาหารและเครื่องดื่มสู่ความเป็นเลิศ ศิลปะ การตกแต่งอาหาร การแปรรูปอาหารทะเล รวมถึงเมนูอาหารไทยดั้งเดิม แกงมัสมั่น แกงจืดฟักไก่ หมู ลอดช่อง ข้าวเหนียวมูน ข้าวคลุกกะปิสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น การฝึกอบรมเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีทักษะสร้างความโดดเด่น เอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในด้านรสชาติ ความพิถีพิถัน ความประณีต คุณค่าของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สร้างมาตรฐานอาหารไทยให้เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติมากขึ้น เพิ่มช่องทางในการมีงานทำในต่างประเทศ พร้อมทั้ง กพร. ยังมีการจัดคอร์สฝึกอบรมภาษาต่างประเทศทั้งอังกฤษ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลี หรือสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทาง ‭www.dsd.go.th‬ หัวข้อ It’s Your Choice

“สำหรับคนที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศในตำแหน่งคนครัว นอกจากจะเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว อยากเชิญชวนให้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกับทาง กพร. ด้วย เนื่องจากในแต่ละประเทศมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันในการรับเข้าทำงาน เช่น ญี่ปุ่นต้องมีประสบการณ์ 10 ปีขึ้นไป หรือผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 สิงคโปร์ต้องขอใบอนุญาตประเภท S-pass ซึ่งเป็นใบอนุญาตทำงานสำหรับคนต่างชาติ ที่มีทักษะฝีมือในระดับกลาง เป็นต้น และหากเดินทางกลับมาทำงานในประเทศก็ยังได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างวันละ 400 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้าง วันละ 510 บาท นอกจากนี้ กพร. ยังมีการทดสอบฯ สาขาผู้ประกอบอาหารไทยในต่างประเทศ สำหรับผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมและทดสอบฯ สามารถสอบถาม และดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ‭www.dsd.go.th‬ หัวข้อ กำหนดการฝึกอบรม หรือ โทร 1506 กด 4” อธิบดี กพร. กล่าว