กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าส่งเสริมให้ความรู้กฎหมายแรงงาน และความปลอดภัยในการทำงานแก่ผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ตามโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมตรวจคุ้มครองสิทธิแรงงานต่อเนื่องหลังเข้าทำงานแล้ว

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้ดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และความมั่นคงในชีวิต โดยการฝึกอบรมทักษะอาชีพ ส่งเสริมการมีงานทำทั้งรูปแบบของแรงงานในระบบและนอกระบบ รวมไปถึงการคุ้มครองให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฏหมาย กสร. ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในการบรรยาย ให้ความรู้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐทั่วประเทศที่เข้ามารับการฝึกทักษะอาชีพ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปในหลายจังหวัดแล้ว

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการเข้าไปส่งเสริมให้มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานแล้ว เมื่อผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้เข้าสู่ระบบการจ้างงานในสถานประกอบกิจการหรือเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน กสร. ก็จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจติดตามเพื่อคุ้มครองให้ได้รับสิทธิประโยชน์และได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานต่อไป

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กสร.ได้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองที่ดียิ่งขึ้น โดยกำหนดให้การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง และลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน สำหรับกำหนดการเกษียณอายุขึ้นอยู่กับว่านายจ้างจะกำหนด หรือตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้เกษียณอายุเมื่อไร กรณีที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุเกษียณหรือกำหนดไว้เกิน 60 ปี กฎหมายให้ลูกจ้างที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิที่จะแสดงเจตนาต่อนายจ้างว่าจะเกษียณอายุ และเมื่อแจ้งต่อนายจ้างแล้ว ก็จะมีผลเมื่อครบ 30 วันนับแต่วันที่แจ้ง ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างที่ขอเกษียณอายุด้วย

“ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน และลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน” อธิบดี กสร. กล่าว และว่า สำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีความผิด โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ หากลูกจ้าง นายจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร 1506 กด 3